xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปแท็กซี่ ด้วยใบเสร็จกันโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุ้นเคยกันบ้างหรือเปล่า เมื่อเวลาใช้บริการแท็กซี่แล้วจะได้รับใบเสร็จรับเงิน เหมือนกับการซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วไป หากใครยังไม่เคย ปี 2553 นี้รับรองจะได้เจอแน่ๆ ซึ่งแท็กซี่ที่ให้บริการใบเสร็จจะมีสติกเกอร์สีเขียว มีข้อความว่า ‘Printer’ หรือ "มีใบรับเงิน" อยู่ที่หลังคารถ

เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศนโยบายกำหนดให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่รับจ้างที่จะจดทะเบียนใหม่ ต้องมีการติดตั้งเครื่องระบบออกใบเสร็จที่มิเตอร์คำนวณค่าโดยสารภายในรถ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา

ส่วนรถเก่าหรือรถที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 4 มกราคม 2553 ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ ว่าจะติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าในอนาคตประชาชนนิยมใช้บริการแท็กซี่ที่มีใบเสร็จ รถเก่าก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นแบบมีใบเสร็จได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับมาตรฐานแท็กซี่บ้านเราให้เท่าทันสากลโลก ซึ่งการพิมพ์ใบเสร็จ 1 ใบต่อ 1 เที่ยว มีต้นทุนประมาณ 10-15 สตางค์

ใบเสร็จเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

สมสุข ประภาสเพ็ญ ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่ง กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า ในการติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จ ผู้ขับแท็กซี่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนเองประมาณ 800-1,000 บาท ต่อเครื่อง ซึ่งการติดตั้งครั้งเดียวใช้ได้ตลอด 9 ปี โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตมิเตอร์อยู่หลายบริษัทให้บริการติดตั้ง

“มันเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการให้บริการผู้โดยสารที่ใช้บริการรถแท็กซี่ เรามีการเปิดใช้บริการรถแท็กซี่มา 30 ปีแล้ว แต่ไม่มีการพัฒนา ปีนี้เราก็พัฒนาให้มีใบเสร็จ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2553 เป็นต้นไป กำหนดว่าจะต้องมีใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้โดยสาร”

ที่ผ่านมาทางกรมการขนส่งทางบกได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นด้วยว่าควรมีใบเสร็จ เพราะเป็นการเสริมบริการให้แก่ประชาชน และคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชนเอง

หลายคนคงสงสัยว่า เมื่อรถแท็กซี่บริการถึงที่หมายปลายทางและจ่ายค่าเดินทางแล้วไม่รับใบเสร็จได้ไหม ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่ง ไขความสงสัยว่า

“มีเครื่องออกใบเสร็จแล้วต้องใช้ครับ ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด หมายถึงเมื่อออกรถต้องกดให้เครื่องมิเตอร์ทำงาน พอถึงปลายทางใบเสร็จจะออกมา และต้องให้ผู้โดยสาร ถ้าไม่ให้จะถือว่ามีความผิด ปรับไม่เกิน 1,000 บาท บังคับเลยครับว่า ต้องให้ออกใบเสร็จและต้องรับ เพราะถ้าให้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับก็จะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น และคงจะไม่รับกัน เราจึงบังคับว่าต้องมอบใบเสร็จนี้ให้แก่ผู้ใช้บริการ”

ส่วนผู้โดยสารจะเก็บไว้หรือไม่ก็แล้วแต่สะดวก แต่แนะนำว่าควรเก็บไว้เพื่อประโยชน์ คือ การตรวจสอบเวลาลืมของ หรือถ้าเจอคนขับมารยาทแย่ ก็จะสามารถเก็บข้อมูลเพื่อใช้ร้องเรียน และใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบได้

ทั้งนี้ หากผู้โดยสารคนใดที่ไม่ได้รับการบริการที่เป็นธรรม สามารถโทร.มาแจ้งที่ 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้โดยสารคือผู้รับประโยชน์ : ใบเสร็จกันโกง

ในส่วนของผู้ให้บริการรถแท็กซี่โดยภาพรวมแล้วเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แม้ว่าจะมีเสียงบ่นกระปอดกระแปดบ้าง อย่าง ปรีชา อันทะชัย กรรมการสหกรณ์แท็กซี่ แสดงความเห็นว่า การติดตั้งเครื่องพิมพ์ใบเสร็จสามารถช่วยไม่ให้แท็กซี่โกงค่าโดยสารได้ คือการมีใบเสร็จออกมา สามารถคำนวณระยะทางและค่าเดินทางว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หากรู้สึกว่าถูกโกงก็สามารถตรวจสอบและร้องเรียนได้เลย

“ดูตามตารางที่อยู่หลังเบาะได้ว่าระยะทางเท่าไหร่ ค่าโดยสารประมาณไหน ถ้าดูแล้วรู้สึกว่าราคาแพงเกินไป โดยไม่สมเหตุสมผล ผู้โดยสารก็ร้องเรียนได้

“แต่สำหรับคนขับแท็กซี่เองก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่นักหรอก มันเป็นการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม การติดตั้งก็ยุ่งยาก ลำบาก ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่หมด คนขับแท็กซี่ไม่มีใครอยากติดตั้งหรอก”

ปรีชา บอกว่า ตำแหน่งที่ต้องติดตั้งเครื่องมิเตอร์ที่สามารถพิมพ์ใบเสร็จออกมาได้คือ ส่วนของผู้โดยสารตอนหน้าบริเวณเหนือเครื่องเสียง ซึ่งตามกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องบริเวณนี้เท่านั้น

ด้าน อุทัย จุมพลเมือง คนขับแท็กซี่ส่วนบุคคล ผู้ยึดอาชีพนี้มากว่า 23 ปี ที่ให้ความเห็นว่า เขาเห็นด้วยกับการติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จนี้อย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ให้บริการและสร้างความเชื่อใจของคนใช้บริการ

“ดีนะ มันทำให้ผู้โดยสารเชื่อใจเรา เชื่อมั่นว่าเราไม่โกง เพราะมีการบอกระยะทาง ราคา ซึ่งมันก็ยุติธรรม พอมีใบเสร็จเราก็สะดวกในการให้บริการลูกค้า โดยเฉพาะชาวต่างชาติหรือคนต่างจังหวัดที่กลัวการหลอกลวงของแท็กซี่”

บางครั้งที่อุทัยเคยขับรถให้บริการชาวต่างชาติแล้วถูกเรียกใบเสร็จหลังให้บริการ และบ่อยครั้งที่ผู้ใช้บริการยื่นกระดาษและปากกาให้เขาเขียนชื่อ เบอร์รถ ค่าโดยสาร เพื่อนำไปประกอบการขอเบิกค่าเดินทางจากบริษัทหรือหน่วยงาน

ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งราว 1,000 บาทต่อคัน แต่อุทัยบอกว่า ค่าใช้จ่ายจำนวนไม่มาก แต่สร้างประโยชน์ให้แก่วงการแท็กซี่ได้มากกว่า และถึงแม้ว่าจะเสียเวลาในการรอใบเสร็จก็คุ้มค่า

“มีใบเสร็จก็ยุ่งยากนิดหนึ่ง แต่มันก็คุ้ม ผมเห็นแท็กซี่ส่วนบุคคลหรือบางชมรมทำออกมา ผมเคยถามว่า ทำทำไม? เขาตอบว่ามันเป็นผลดีต่อเราเอง เพราะเอาระบบเมืองนอกมาใช้ เหมือนเวลาเราไปซื้อของร้านสะดวกซื้อ ก็จะมีใบเสร็จบอกราคาและบอกเงินทอนออกมา”

ส่วนผลเสีย อุทัย บอกในมุมของแท็กซี่ว่า ไม่มี มีแต่ผลดี เพราะทำให้ผู้ใช้บริการเชื่อใจ และคนขับเองก็ทำให้มีความซื่อสัตย์ในการให้บริการด้วย

เขายกตัวอย่างวิทยุสื่อสารที่เคยติดตั้ง ราคาราว 3 หมื่นกว่าบาท ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เป็นการเสียเงินเปล่า ส่วนการติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จเป็นเรื่องดีสำหรับตัวเขาและผู้โดยสาร ถ้าให้เลือกเขาเลือกที่จะติดตั้งเครื่องนี้

อีกหนึ่งมุมมองจาก วสันต์ สงวนรัตน์ คนขับแท็กซี่ชมรมเจริญเมือง เล่าถึงเรื่องราวการติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จสำหรับแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ในปีนี้ เขาบอกว่า

“รู้ข่าวนี้มานานแล้ว ส่วนมากเวลาเขา (กรมขนส่งทางบก) อยากได้อะไร ก็จะบังคับมาเลย รถผมคันเก่า เช่ามาขับก็ไม่มีเครื่องนี้นะ ส่วนจะมีหรือไม่มีผมว่าคล้ายๆ กัน มุมของคนขับแท็กซี่อาจจะมีผลเสียนิดหน่อยคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เสียเวลา เพราะเวลาของเราต้องหาเงิน เราไม่ค่อยได้รับประโยชน์หรอก ส่วนคนที่ได้ประโยชน์แน่ๆ ก็คือผู้โดยสาร”

คนขับแท็กซี่คนเดิมอธิบายว่า ใบเสร็จที่ออกมาบอกวันที่ เวลา ระยะทางต้นทาง-ปลายทาง ใช้เวลาไปเท่าไหร่ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ทำให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบ และร้องเรียนได้เมื่อไม่ได้รับการบริการที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การมีเครื่องออกใบเสร็จจะสามารถป้องกันการโกงค่าโดยสารได้จริงหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งในส่วนของผู้โดยสารที่เป็นคนไทยน่าจะมีภูมิคุ้มกันพอสมควร แต่กับผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ยังไม่แน่ใจว่าใบเสร็จจะเป็นคำตอบได้จริงหรือไม่

จำเป็นหรือไม่กับใบเสร็จ

เมื่อมีผู้ให้บริการก็ต้องมีผู้ใช้บริการในมุมมองของประชาชนคนทั่วไปที่ต้องใช้บริการแท็กซี่กันเป็นประจำและบางครั้งบางคราวได้สะท้อนออกมา ซึ่งก็มีหลากหลายความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับคนที่เห็นด้วยก็มีมุมมองไม่ต่างจากที่กล่าวมาแล้ว

“การมีใบเสร็จถือเป็นเรื่องดี เพราะในต่างประเทศเขาก็มีกันทั้งนั้น มันช่วยประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สามารถตรวจสอบระยะทาง หรือเวลาได้ เก็บไว้เป็นหลักฐานได้ อย่างเวลาลืมของอะไรก็สามารถติดตามทะเบียนรถได้” นวนนท์ วงศ์ขจิตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ความเห็น

ส่วน ฐิตินันท์ ศรีสถิต นักเขียนสารคดีกล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไหร่ และถ้าให้ดีแท็กซี่เองก็น่าจะมีทางเลือกให้ผู้ใช้บริการว่าจะรับใบเสร็จหรือไม่รับก็ได้

“เรื่องพวกนี้มันก็แล้วแต่คนนะ คือมันน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่ลืมของในแท็กซี่ หรือคนที่จะเอาใบเสร็จไปเบิกออฟฟิศเป็นค่าเดินทาง เพราะใบเสร็จจะมีข้อมูลครบและยืนยันได้ แต่สำหรับเราแล้ว กระดาษพวกนี้อาจไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไหร่ เพราะไม่เคยลืมของในแท็กซี่ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ทางที่ดี แท็กซี่เองก็ควรมีให้เลือกว่าจะเอาหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเราคงไม่เอา”

แต่ก็มีมุมมองที่น่าสนใจที่ค่อนไปทางสีเขียวเหมือนกัน

เมื่อ ณัฐภรณ์ เหลืองพิพัฒน์ อดีตพนักงานบริษัท แสดงทัศนะว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกใบเสร็จครั้งนี้ เพราะคิดว่าเป็นการสิ้นเปลื้องกระดาษโดยใช่เหตุ ที่สำคัญเรื่องการขึ้นแท็กซี่นั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคน 2 คน คือคนขับกับคนนั่ง เมื่อราคาของค่าใช้บริการก็ถูกระบุอยู่บนมิเตอร์เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องออกมาเป็นใบเสร็จให้สิ้นเปลืองอีก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ใบเสร็จนี้ก็อาจมีประโยชน์กับคนที่ใช้เบิกค่ารถกับบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ ซึ่งเชื่อว่าคงมีน้อยบริษัทที่จะมาใส่ใจเรื่องนี้

“เวลาเราจ่ายเงินให้แท็กซี่เสร็จมันก็จบแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องเก็บใบเสร็จไว้ดูเลย แล้วลองคิดต่อไป แท็กซี่คันหนึ่งต้องใช้กระดาษเท่าใด วันๆ หนึ่งมันต้องออกมาอีกเท่าไร คนส่วนใหญ่ที่เขาเอาใบเสร็จก็เอาไปทิ้งทั้งนั้นแหละ ดูกันไม่ถึง 5 วินาทีหรอก ส่วนเรื่องโกง โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าคงไม่สามารถช่วยได้ เพราะหากเขาจะโกงจริง ถึงจะมีใบนี้ออกมา เขาก็ยังโกงได้อยู่ดี”

.......

เอาเป็นว่าโดยรวมแล้ว การติดตั้งเครื่องออกใบเสร็จในรถแท็กซี่น่าจะส่งผลทางบวกมากกว่าลบ แม้ว่าคำตอบจะยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ แต่ในระยะยาวแล้ว ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภค ส่วนเรื่องความสิ้นเปลืองที่ ณัฐภรณ์ตั้งข้อสังเกตไว้ คงต้องร่วมกันหาทางออกต่อไป

ท้ายที่สุดแล้ว ในยามที่แท็กซี่ทั้งหลายไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเปิดเสรีกันอย่างตามใจ แต่ใบเสร็จค่าโดยสารของแท็กซี่อาจะเป็นความเชื่อมั่นและเชื่อใจของผู้โดยสาร สามารถอุ่นใจในฐานะผู้บริโภคด้วยกระดาษแผ่นเดียวก็เป็นไปได้

*******
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร






กำลังโหลดความคิดเห็น