“390 บาทจ้า 390 บาท เลือกเลยจ้า หยิบเลยจ้า ราคาไม่แพง”
น้ำเสียงเจื้อยแจ้วของแม่ค้าวัยกลางคนในสำเพ็ง เรียกความสนใจจากเด็กๆ และหญิงสาวหลายต่อหลายคน ให้หยุดแวะที่ลังกระดาษใบใหญ่ข้างกายแม่ค้าที่มีสินค้าสุดฮิตบรรจุอยู่เต็มลัง
หากใครมีโอกาสแวะไปเยือนสำเพ็ง คงเห็นพ้องกันว่าจำนวนคลื่นคนที่เบียดเสียดกันอยู่ตามแผงลอยขายตุ๊กตาหน้าตาคล้ายๆ ตุ๊กตาบลายธ์ (Blythe) นั้น ช่างมากมายล้นหลามราวกับ 'แจกฟรี' ก็มิปาน
ภาพผู้คนที่เบียดเสียดกันมุงดูและเลือกซื้อบลายธ์สำเพ็งคราวละหลายๆ กล่องนี่เอง ทำให้เราอดสังสัยไม่ได้ว่า ในมุมมองคนเล่นบลายธ์แท้ราคานับหมื่นนับแสนบาทนั้น เขามองปรากฏการณ์ความนิยมของตุ๊กตาคล้ายบลายธ์นี้ด้วยสายตาแบบไหน
เสียงสะท้อนจากสาวกบลายธ์
“ไม่แฮปปี้อย่างแรง”
ศักรวัสตร์ ตระการสันติกุล นักสะสมบลายธ์ตัวพ่อผู้เป็นเจ้าของ 'น้องบลายธ์' ของแท้ลิขสิทธิ์ถูกต้องกว่า 350 ตัว และเจ้าของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกกระเป๋าใส่บลายธ์ เอื้อนเอ่ยความรู้สึกที่มีต่อบลายธ์เก๊และเจ้าของบลายธ์เก๊เหล่านั้น ก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า
“บลายธ์เก๊วางขายตามลังเบียร์แถวสำเพ็งเต็มไปหมด เห็นแล้วไม่แฮปปี้ ไม่ถูกต้องครับ ลอกเลียนแบบกันอย่างนี้ พ่อแม่ที่คิดว่าหากซื้อบลายธ์จริงราคาแพงให้ลูกอาจไม่คุ้มค่า เลยซื้อของลอกเลียนแบบที่ราคาถูกให้แทนก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างมีเงิน แล้วยังซื้อของเก๊อยู่ เราจะคาใจนะว่าทำไมเขานิยมชมชอบบลายธ์พวกนั้น”
นอกจากนี้ ศักรวัสตร์ยังอธิบายคร่าวๆ ถึงหลักการสังเกตและจับผิดบลายธ์เก๊ว่า แค่สัมผัสวัสดุบนตัวบลายธ์ก็บอกได้ถึงความแตกต่างแล้ว ทั้งลักษณะเนื้อพลาสติก โครงร่าง แขนของบลายธ์จริงจะไม่กางออกมากๆ เหมือนกับบลายธ์ปลอม ของจริงจะหน้าเรียบ ไม่มีคิ้ว ส่วนบลายธ์ปลอมโครงหน้าจะผิดสัดส่วน ไม่คม ดูหนาๆ
อย่างไรก็ดี แม้กระแสบลายธ์เก๊กำลังฟีเวอร์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศักรวัสตร์รู้สึกว่าคุณค่าของบลายธ์แท้จะหม่นหมองลงไปเมื่อถูกเลียนแบบ
“เป็นเจ้าของบลายธ์จริงจะรู้สึกภูมิใจมากกว่านะ คุณค่าทางจิตใจระหว่างคนที่มีของจริงกับของปลอมเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว นานๆ ไปเกิดเบื่อก็ขายต่อได้ในราคาที่ค่อนข้างสูงต่างกับของปลอมแน่นอน”
ในความเห็นของสาวกบลายธ์ผู้นี้ การมาถึงของบลายธ์เก๊ตัวละไม่กี่ร้อยบาทที่วางขายเกร่อในย่านสำเพ็ง จึงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบลายธ์จริงเพียงเล็กน้อย และเขาก็เชื่อมั่นว่า บริษัททาการ่า (Takara) ผู้ผลิตบลายธ์ของจริงในญี่ปุ่น คงไม่ปล่อยให้ บลายธ์เก๊ทั้งหลายลอยนวลเป็นแน่ เร็วๆ นี้คงมีมาตรการจับกุมหรือเข้มงวดในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์บลายธ์มากขึ้น
ไม่ได้ก็อบนะ จะบอกให้
ข้อสังเกตของศักรวัสตร์เรื่องการเข้มงวดกับสินค้าละเมิดลิขสิทธ์ ชวนให้นึกถึงบางถ้อยคำจากแม่ค้าสำเพ็งที่บอกกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
“ใครหาว่าก็อป ขอบอกว่าไม่ใช่ของก็อบนะจ๊ะ มีไหมคำว่า 'บลายธ์' บนกล่องน่ะ ไม่มีเลยสักคำ”
ขณะที่ผู้คนยังคงคึกคักอยู่รายรอบ จู่ๆ ป้าอร (นามสมมุติ) ก็ออกตัวแรง ทั้งที่ยังไม่มีใครว่าอะไรสักคำ ราวกับว่ากระแส 'บลายธ์ก็อบ ณ สำเพ็ง' ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ อีกมุมหนึ่งก็ทำให้แม่ค้าพ่อค้าเกิดความหวั่นระแวง ดังที่ลูกสาวของป้าอร สละเวลาค้าขายมาขยายความให้ฟังว่า
“กลัวเทศกิจค่ะ กลัวเขามาจับ เขาหาว่าเป็นของก็อป ถ้าไปถามแม่ค้าในสำเพ็ง เรื่องตุ๊กตาเลียนแบบบลายธ์ ไม่มีใครเขาอยากบอกหรอก ตัวพี่เองก็รู้แค่ว่าของส่งมาจากเมืองจีน มีคนจีนส่งมา ไม่รู้มากไปกว่านี้ค่ะ ตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาส่งมายังไง”
น้ำเสียงหวั่นๆ ของลูกสาวป้าอรที่ขอร้องไม่ให้เอ่ยนามจริงของเธอกับแม่ คล้ายเป็นภาพแทนของผู้ค้าที่ดูจะระแวงและหวาดกลัวกับข้อกล่าวหาทำนองว่าขายสินค้าปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ หรือละเมิดลิขสิทธิ์
และอาจเพราะความหวาดระแวงที่ว่านี้เอง จึงทำให้ป้าอรต้องปล่อยหมัดเด็ดออกมาเป็นระยะ
“ไม่ใช่บลายธ์นะจ๊ะ ไม่ใช่บลายธ์ บนกล่องมีคำว่าบลายธ์สักตัวไหม ไม่มีเลยจ้ะ”
จริงของป้า แม้รูปลักษณ์ตุ๊กตาหัวโต ตากลมบ้องแบ๊ว เสื้อผ้าสวยสดที่บรรจุในกล่องพลาสติกใสนั้น มองผ่านๆ อาจจะแลดูคล้ายคลึงกับน้องบลายธ์ตัวละเป็นหมื่นเป็นแสนบาทของชาวไฮโซ แต่สินค้าของป้าก็ไม่ใช่ 'Blythe' สักหน่อย เพราะบนกล่องเขียนไว้ว่า 'Blybe' ต่างหาก
สีสันบลายธ์เก๊
นอกจากความเห็นของสาวกบลายธ์และปากคำจากแม่ค้าแล้ว ทัศนะของคนที่เลือกซื้อตุ๊กตาคล้ายบลายธ์จากสำเพ็ง ก็เป็นแง่มุมที่ไม่อาจละเลย ด้วยอาจเชื่อมโยงไปสู่เหตุปัจจัยที่ลึกลงไปว่า หากไม่นับความคล้ายคลึงเพียงผาดเผินที่เหมาะสำหรับซื้อหาไปฝากลูกเด็กเล็กแดงแล้ว 'บลายธ์สำเพ็ง' ยังมีเสน่ห์อื่นใดอีกบ้าง จึงเรียกความสนใจจากผู้คนได้อย่างล้นหลาม
“น้องบลายธ์ที่ขายในสำเพ็ง เขาจะไม่เรียกกันว่า 'บลายธ์ก็อบ' นะครับ แต่เขาจะเรียกว่า 'น้องสำเพ็ง' บางคนเขาก็เรียกว่าน้อง 'เกือบเหมือนบลายธ์'”
เป็นคำบอกกล่าวอย่างอารมณ์ดีจาก แจ็ค-กรัณฑรัชต์ สุขน้อย หนุ่มหน้ามนที่หลงใหลการ 'คัสตอม' ( Custom) หรือดัดแปลง 'น้องสำเพ็ง' ให้มีรูปโฉมที่ไฉไล เพิ่มดีกรีความคล้ายคลึงบลายธ์แท้ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นเดียวกับที่ในแวดวงคนรักบลายธ์นิยมนำบลายธ์ไปคัสตอม เช่น ขัดหน้าให้เรียบเนียน ซึ่งคำว่า คัสตอม ย่อมาจาก Customize ซึ่งมีความหมายว่า 'ทำขึ้นเอง' โดยในแวดวงคนเล่นบลายธ์มักเรียกสั้นๆ ว่า คัสตอม ส่วนคำว่าโม ก็หมายถึง โมดิฟาย (modify) ที่แปลว่าดัดแปลง
แจ็ค ขยายความกับเราว่า คัสตอม มักใช้กับการดัดแปลงในส่วนเล็กๆ เช่นขัดหน้า เปลี่ยนขนตา เปลี่ยนสีตา แต่การโม ก็คือเปลี่ยนรูปลักษณ์ตุ๊กตาใหม่ทั้งตัว
แจ็คบอกว่าเขาไม่ได้ทำขายหรือเป็นมือวางอันดับหนึ่งในการก็อบปี้บลายธ์ แต่แจ็คเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะบริหารการจัดการอุตสาหกรรม ที่รู้สึกสนุกกับการดัดแปลง ตกแต่งน้องสำเพ็งที่มีหน้ามันสะท้อนแสง ให้มีผิวหน้าที่ดูเรียบเนียน นุ่มละมุนขึ้น
“เสน่ห์ของน้องสำเพ็งอยู่ที่ความสนุกในการโมดิฟายครับ เวลาผมซื้อมาแล้วก็ต้องโมดิฟายหรือคัสตอมอัพเกรด แต่ถ้าผมมีบลายธ์แท้จริงๆ ผมก็ไม่กล้าคัสตอมเองหรอก ซื้อมาตั้ง 6,000 บาท ถึงแม้ผมจะรู้สึกว่าผมมีฝีมือโอเคแล้ว แต่ผมจะยอมเก็บเงินอีก 2,000 บาท เพื่อไปคัสตอม ร้านไฮโซๆ ที่เขารับดัดแปลง รับโมดิฟายบลายธ์โดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นน้องสำเพ็ง เราสามารถเล่นกับมันได้เต็มที่”
นั่นเป็นเรื่องสมมติ แต่เมื่อวันนี้ แจ็คยังไม่ได้ครอบครองบลายธ์แท้ การคัสตอมน้องสำเพ็งให้ดูดีจึงเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย ดังที่แจ็คแจกแจงขั้นตอนการคัสตอมให้เราฟังคร่าวๆ
“เริ่มแรก ผมก็จะแยกหัว ถอดตาออกมา พอเหลือหน้าเปล่าๆ ก็จะขัดหน้าด้วยฟองน้ำชนิดพิเศษเรียกว่า เมจิค สป็อค ขัดสีออกให้หมด พอขัดสีออกหมดแล้วหน้าน้องสำเพ็งก็จะยังลื่นๆ มันๆ ผมก็จะเอากระดาษทรายเบอร์ 600 ขัดวนไปเรื่อยๆ แล้วระหว่างขัด ก็เอาฟองน้ำเช็ดออกด้วย เพราะมันจะมีฝุ่น มีเศษพลาสติกจากการขัด จากนั้น เราก็ใช้กระดาษทรายเบอร์ 1000 ขัดให้ละเอียดมากขึ้น
“จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการตกแต่งปาก ซึ่งเป็นอะไรที่ยากที่สุดแล้ว เพราะการจะทำให้ดูเหมือนของแท้หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การกรีดปากนี่แหละครับ ซึ่งการจะกรีดปากให้ดูมีมิติ เผยอนิดๆ ก็จะอยู่ที่ขั้นตอนนี้ เพราะปากของน้องสำเพ็งเป็นปากที่ไม่มีมิติอะไรเลย ผมก็ต้องนำไปตกแต่งให้มันมีมิติ มีริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง ทำให้ปากมันยิ้มได้ แต่ถ้าเป็นของแท้ เวลาเขาไปคัสตอม เขาจะมีเครื่องมือที่ใช้ตกแต่งแบบราคาแพงพอสมควร เป็นเครื่องมือจากญี่ปุ่น เอาไว้แต่งปาก เซาะร่องจมูก แต่สำหรับผม ผมจะตกแต่งด้วยการใช้ตะไบชุดเล็ก แต่มันก็จะไม่ละเอียดเท่ากับร้านคัสตอมแพงๆ”
สำหรับแจ็ค การกำเนิดขึ้นของน้องสำเพ็งหรือบลายธ์สำเพ็ง ได้กลายเป็นที่มาของงานอดิเรกที่ทำให้เขาสนุกกับมัน และใช้เวลาว่างไปกับการครีเอตไอเดียและลูกเล่นต่างๆ ขณะเดียวกันแจ็คก็สะท้อนว่า สำหรับคนที่มีฝีมือในการคัสตอม และดัดแปลงได้อย่างชำนาญ ทั้งมีเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง มีประสิทธิภาพ ก็สามารถทำให้น้องสำเพ็งดูดีคล้ายคลึงบลายธ์แท้ได้มากที่สุด และน้องสำเพ็งจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกกว้านซื้อไป ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่กำลังเดินทางสู่กระบวนการคัสตอมอย่างพิถีพิถัน
หากเป็นเช่นนั้น เราจึงอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า การคัสตอมได้อย่างแนบเนียนอาจนำไปสู่การปลอมแปลงว่าเป็นบลายธ์แท้ ดังที่ศักรวัสตร์แสดงความกังวล
ต่างระดับ...ก็สุขได้
แต่ไม่ว่าบลายธ์แท้ บลายธ์ปลอมหรือน้องสำเพ็ง ต่างก็ล้วนมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่นนี้แล้ว คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ในความต่างของระดับราคา ยังมีความสุขที่ไม่ว่าคนรักตุ๊กตาแบบไหน ก็สามารถครอบครองได้ไม่ต่างกัน
ดังที่ สุดารัตน์ บุตรพรหม หรือ ตุ๊กกี้ นักแสดงและตลกสาวมากความสามารถ ทั้งเป็นนักสะสมตุ๊กตาบลายธ์ สะท้อนแนวทางของเธอว่า แม้จะเล่นบลายธ์แท้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป ก่อนจะแสดงความเห็นถึงกระแสบบลายธ์ปลอมที่สำเพ็งว่า จริงๆ แล้วที่สำเพ็งก็มีร้านที่ขายบลายธ์แท้ ซึ่งเธอก็ซื้อบลายธ์ตัวแรกจากที่นี่
“แต่ที่บอกว่าก็อบปี้ขาย เขาไม่ได้ขายตามร้าน เขาขายตามทางเดิน ซึ่งคนที่เล่นบลายธ์จะดูออกเลยว่าเป็นของปลอม อย่างราคาตอนนี้ก็อยู่ที่ 300 บาท จากที่เมื่อก่อนขาย 900 บาท ตุ๊กกี้ว่าดีนะ เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่มีรายได้ เพราะไม่ว่าขนาด องค์ประกอบต่างๆ ของบลายธ์ปลอมก็คล้ายบลายธ์แท้ มันต่างกันแค่ที่ผิว ผม แล้วบลายธ์แท้จะหักมือได้ แต่ของปลอมจะหักไม่ได้ ยืนแข็งอย่างเดียว ผิวที่สัมผัสก็จะหยาบกว่าของแท้ ผมก็จะหยาบกว่า แต่ที่สำคัญก็คือ บลายธ์ปลอมสามารถนำไปโมได้ด้วย ตุ๊กกี้เคยซื้อบลายธ์ปลอมแล้วนำไปโม พอโมเสร็จก็เอามาหลอกให้หลานเล่น มันเหมือนบลายธ์แท้มาก ”
แต่ไม่ว่าจะดัดแปลงได้เหมือนแค่ไหน บลายธ์แท้ ก็ย่อมเป็นบลายธ์แท้ กระนั้น ก็ใช่ว่าของปลอมจะไร้แง่มุมดีๆ ดังความเห็นที่ตุ๊กกี้ทิ้งท้ายไว้
“ต่อให้ก็อบปี้เหมือนแค่ไหนมันก็ยังมีความต่างระหว่างของแท้-ของปลอม ซึ่งอยู่ที่ผู้บริโภคว่าเขาเลือกที่จะบริโภคแบบไหน ถ้าเกิดว่ารักด้วยใจ สะสมด้วยใจ หรือว่ามีเงินจริงๆ ก็ซื้อของแท้ไป แต่ถ้าคิดว่าแค่ฉาบฉวย ซื้อไว้เล่นขำๆ หรือสำหรับเด็กที่เห่อของและเบื่อเร็ว ก็ควรจะซื้อของปลอม แต่คนที่มีของจริงในมือ แค่หลับตาข้างเดียวดูก็รู้ว่าปลอม ติ่งหูมันก็ดูออก จับผมก็รู้เลย แขนก็ไม่เหมือนกัน งอขาก็ไม่ได้”
คุณค่าระหว่าง ของแท้-ของปลอม
แม้กลุ่มเป้าหมายอาจจะต่างกัน แต่เมื่อทั้งบลายธ์แท้ บลายธ์ปลอม บลายธ์สำเพ็ง ต่างก็กำลังไต่ระดับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มุมมองจากนักการตลาดที่มีต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำว่า 'คุณค่า' ถูกยกนำมาเปรียบเทียบกัน ระหว่างสินค้าออริจินัลและของเลียนแบบ เช่นที่ อาทิตย์ โกวิทวรางกูร นักการตลาด ให้เหตุผลในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อมีตุ๊กตาบลายธ์ปลอมเกิดขึ้นในตลาด คุณค่าของสินค้าออริจินัลจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงย่อมขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน
“ถ้าหากเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ต้องการตุ๊กตาบลายธ์จริง แค่ต้องการอะไรสักอย่างหนึ่งให้ชีวิตมีสีสัน เล่นกับมันได้ ในแง่นี้ ตุ๊กตาบลายธ์ก็ไม่ได้มีคุณค่าเพิ่ม เพราะเขาอาจเจอทางเลือกอื่น ประหยัดกว่า ตอบโจทย์ได้เหมือนกัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนที่มีเงินอยู่แล้ว และไม่ได้รู้จักตุ๊กตาบลายธ์ พอไปเห็นตัวที่เลียนแบบก่อนเกิดความสนใจ แล้วค่อยไปศึกษาข้อมูลของจริง กลุ่มนี้อาจจะหันมาหาของที่เป็นออริจินัลจริงๆ เพราะเขามีกำลังซื้อที่มากพอ แล้วก็ค่านิยมของเขาก็ไม่อยากได้ของกระจอก ในแง่นี้พอมีของปลอม คุณค่าของตุ๊กตาบลายธ์จริงก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งมันแล้วแต่กลุ่มผู้บริโภค”
สำหรับตัวจุดกระแสหลักให้ตุ๊กตาบลายธ์ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างและแพร่หลาย นักการตลาดคนเดิมมองว่า ในเมืองไทยมีกลุ่มดาราเป็นตัวจุดกระแส เพราะแรกเริ่มเดิมที คนที่เล่นตุ๊กตาบลายธ์จะอยู่ในวงสังคมชั้นสูงที่มีเงิน แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งมีดาราหลายคนเริ่มหันมานิยมเล่นและบางคนก็ทำเป็นธุรกิจด้วย
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงวิธีการทำการตลาดของตัวตุ๊กตาบลายธ์เองที่พยายามสร้างกระแสความสนใจผ่านสื่อ ทั้งที่อาจจะมาจากกลุ่มคนเล่นหรือเจ้าของสินค้าก็ได้ และในบุคลิกของตุ๊กตาบลายธ์เองก็มีลูกเล่นเยอะให้สาวกได้สนใจกันไม่น้อย เช่น น่ารัก หัวโต ตาโต แต่งตัวได้
“มันรวมไปถึงการที่เขาพยายามเซตรูปตุ๊กตาบลายธ์ลงในสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือ อินเทอร์เน็ต พอคนเห็นก็เกิดความสนใจ โดยเฉพาะการส่งต่อทางอีเมล มันสร้างแรงดึงดูดได้มากพอสมควร ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งให้ตุ๊กตาบลายธ์ได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้น แล้วแต่คนจุดกระแสหลักว่าเขาจะสร้างกระแสให้มันได้รับความนิยมต่อเนื่องไหม และทุกวันนี้เราก็ได้เห็นสินค้าที่นอกเหนือจากตุ๊กตาบลายธ์ เช่น เสื้อยืดสกรีนรูปตุ๊กตาบลายธ์ ซึ่งมันก็เป็นการต่อยอดหรือจุดกระแสให้มันฮิตต่อไปได้”
……….......
ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า 'น้อง Blybe' หรือ 'น้องสำเพ็ง' เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง ด้วยการมีเสื้อยืด กระเป๋า สกรีนภาพออกมาเจาะตลาดบ้าง ก็อาจจะทำให้ตลาด Blythe และ Blybe เพิ่มความสนุกเร้าใจยิ่งขึ้นก็เป็นได้ ใครจะรู้
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK