xs
xsm
sm
md
lg

โลกร้อน-ร้อนโรค 8 ชนิดปลายอดนิยมแฝงสารพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ผ่านมา ข่าวผู้เสียชีวิตจากการกินลูกชิ้นที่ทำจากปลาปักเป้านั้น ได้ทำให้คนไทยอกสั่นขวัญแขวนกันไม่น้อย นับเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้คนไทยลุกขึ้นมาตื่นตัวและระแวดระวังด้านอาหารการกินมากขึ้น บางคนถึงกับเลิกกินลูกชิ้นปลาไปเลยก็มี หรือไปกินบุฟเฟต์ร้านหมูกระทะเนื้อกระทะก็หลีกเลี่ยงที่จะกินเนื้อปลา เพราะกลัวว่าเป็นปลาปักเป้า

แต่ในทุกวันนี้ อันตรายจากการบริโภคแบบใหม่ในการบริโภคปลา ซึ่งถือกันว่าเป็นอาหารสุขภาพกำลังคืบคลานเข้ามาหาอย่างเงียบๆ และที่น่าสนใจก็คือ ภัยร้ายที่ว่า มันมากับอาหารบ้านๆ ธรรมดาๆ ที่บริโภคกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

หากวลี ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ที่พูดกันมานมนาน จะยังเป็นจริงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ใครเลยจะคิดว่า กิจวัตรประจำวันของมนุษย์ที่ส่งผลต่อภาวะแวดล้อม และทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนตามมานั้น วันหนึ่ง มันจะส่งผลร้ายมาถึงปากท้อง มาถึงจานกับข้าวของทุกคนในครัวเรือน

แม้จานกับข้าวของคนรักสุขภาพที่นิยมกินปลา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอาหารที่ดีและสะอาดก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น

ในการเสวนา ‘โลกร้อน โรคร้าย โรคติดต่อที่ต้องติดตาม’ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกันถึงอันตรายจากสารพิษ 'ทอกซิน' ที่แฝงมากับอาหารที่เชื่อกันมานมนานว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพอย่างอาหารทะเล
ซึ่งในรายงานกล่าวว่ามีปลาทั้งหมด 8 ชนิดที่พบสารทอกซินตกค้างอยู่ ประกอบด้วย ปลากะพงแดง, ปลากะพงขาว, ปลาอินทรีย์, ปลาน้ำดอกไม้, ปลากะรัง, ปลาสำลีน้ำลึก, ปลาขี้ตังเบ็ด และปลาไหลมอร์เรย์ ทั้งนี้ยังรวมถึง หอยแครง และ หอยแมลงภู่ ด้วย

ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดมาจากสัตว์ทะเลเหล่านี้ไปกินสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่งซึ่งมีทอกซินอยู่เป็นอาหาร จนทำให้ทอกซินเหล่านั้นตกค้างอยู่ในเนื้อปลา
แล้วผู้บริโภคจะทำอย่างไร?

เพราะโลกร้อน?

“โลกร้อนไม่ทำให้เกิดทอกซินนะ แต่โลกร้อนทำให้น้ำทะเลมันอุ่นขึ้น ทำให้ธาตุอาหารที่อยู่ในแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลที่อุ่น สาหร่ายจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบรรดาสาหร่ายนี่จะมีสาหร่ายชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างสารพิษได้ด้วย และพอปลาไปกินสาหร่ายชนิดนี้ก็จะเกิดการสะสมสารพิษในปลาตัวเล็ก และปลาตัวอื่นที่มากินปลาตัวเล็ก ก็เกิดการสะสมเข้าไปสู่ปลาตัวอื่นที่ใหญ่กว่า จนกระทั่งวันหนึ่งคนไปจับปลาตัวใหญ่มากิน ก็เกิดการถ่ายทอดสารพิษเข้าสู่ร่างกายของคนได้”

ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงที่มาที่ไปของทอกซินเจ้าปัญหาที่เป็นอันตรายต่อคน ซึ่งเจ้าสารทอกซินเหล่านี้นั้น ส่งผลร้ายหลายประการต่อคนที่บริโภคมันเข้าไป โดยมันจะทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ปวดเกร็งหน้าท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ใน 12 ชั่วโมงแรกอาการจะรุนแรงมาก หลังจากนั้นก็จะมีอาการทางระบบประสาท จะคันตามริมฝีปาก ใบหน้า มือ และเท้า คันแบบปวดแสบปวดร้อน

จะเห็นได้ว่าอาการที่เกิดจากทอกซินนั้น ไม่ธรรมดา ซึ่งพิษทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวปลาเอง หากแต่เกิดจากสาหร่ายที่ปลาพวกนั้นบริโภค

“เราเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า 'ไดโนแฟลกเจลเลต' เป็นสาหร่ายสายยาวๆ ซึ่งจะไปเกาะติดกับสาหร่ายชนิดอื่นที่ลอยน้ำอยู่ เราเจอสาหร่ายพวกนี้มากในบริเวณที่มีน้ำขุ่น มีปะการังที่ถูกทำลาย ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้ก็จะไปอาศัยเกาะอยู่ที่ซากปะการังด้วย ถ้าปลาเข้าไปในเขตปะการัง ก็ไปกินสาหร่ายชนิดนี้ เกิดการสะสมของสารพิษในปลาห่วงโซ่อาหารจนมาถึงคน”

และเมื่อสอบถามไปยัง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้อีกท่าน ถึงผลกระทบจากสาหร่ายชนิดนี้ในไทย ดร.ชวลิต ก็ให้คำตอบว่า ในไทยนั้น ยังไม่มีการตรวจพบอย่างจริงจัง หากแต่ในประเทศอื่นนั้นมีการประกาศเตือนมาสักพักแล้ว

“มีคำเตือนมานานแล้วนะ ทางญี่ปุ่นก็มีคำเตือนและมีข้อแนะนำว่า ปลาบางชนิดที่พบในแนวปะการังจะเป็นปลาที่เป็นพิษ เช่น ปลากะพง ปลาเก๋าลายหินอ่อน เป็นชนิดที่มีพิษมากที่สุด เจอบ่อยที่สุด อาจเป็นเพราะว่าปลาเหล่านี้มันไม่สามารถขับสารพิษออกไปจากร่างกายได้เหมือนปลาตัวอื่นๆ ก็เลยสะสม”

ซึ่งการแก้ปัญหานั้นทั้ง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ และ ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา ได้กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่านอกจากการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนที่ทำให้น้ำอุ่นขึ้นแล้ว จะละเว้นจากการปล่อยของเสียจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมลงไปในน้ำอีกด้วย

“ถ้าครัวเรือนไม่ยอมบำบัดน้ำเสียก็จะแก้ไม่ได้ ปุ๋ยที่คุณใส่ในภาคการเกษตรต้นไม้ก็ดูดได้นิดเดียวที่เหลือก็ไหลลงมาในทางน้ำ มันต้องแก้ที่ตรงนั้น และที่ต้องแก้คืออย่าทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำทะเลจะได้ไม่อุ่นขึ้น” ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา กล่าวทิ้งท้าย

ห่วงโซ่อาหาร (ที่เป็นพิษ)

อาจจะไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ข่าวนี้ยังไม่รู้กันแพร่หลายในสังคมไทย อาจเป็นเพราะว่า ในบ้านเรานั้นยังไม่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคทอกซินในปลานี้โดยตรง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คนในบ้านเราจะไม่ต้องระวังตัวใดๆ เลย
ดังนั้น คนที่เกี่ยวพันกับปลาเหล่านี้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ข้อมูลชุดนี้ไว้ อย่างน้อยก็เพื่อจะได้หาหนทางป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายแรง นับตั้งแต่พ่อค้าขายปลา คนทำอาหาร ไล่ไปจนถึงคนผู้รักการบริโภคปลา

“ผมไม่เห็นรู้ข่าวเลย ที่สะพานปลาเขาก็ยังขายกันโครมๆ โดยเฉพาะกะพงแดง กะพงขาว กับหอยแมลงภู่ ผมยังเพิ่งรับมาเยอะเลย เพราะเป็นของที่ขายดีอยู่แล้ว”

ประจักษ์ ลำเภาทอง หรือ เฮียจักษ์ เจ้าของกิจการรถกระบะขายอาหารทะเล แสดงอาการตกใจเล็กน้อยกับข่าวที่ได้รับรู้

“ถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆ ช่วงแรกๆ คงแย่กันหน่อยนะ ไม่ใช่แย่เพราะขายไม่ได้ แต่เพราะไม่รู้จะรับอะไรมาขายแทนมากกว่า คงต้องรอดูสักพักว่าคนซื้อเขาจะหันไปเลือกกินอะไรแทน อย่างปลากะพงแดงก็ไม่น่าจะหาอย่างอื่นมาแทนยาก กินปลาอื่นอาจแทนก็ได้ แต่ราคาจะแพงกว่าท่านั้นแหละ หรือไม่ก็ต้องกินอย่างอื่นแทน

“ก็ง่ายๆ เลย ถ้าวันนี้ตั้งใจจะทำต้มยำปลากะพง แต่ทางการบอกว่ากินไม่ได้ ก็คงต้องเปลี่ยนเป็นทำต้มยำกุ้งแทนก็ได้ ลองดูในรถผมสิ ยังเหลืออาหารทะเลอีกตั้งแหลายอย่าง ปลากระบอกเอย ปลาทูเอย แล้วหอยแมลงภู่ก็ช่างมัน กินไม่ได้ก็ไม่ต้องรับมา หอยแครงกินไม่ได้กินหอยอื่น”

ในตอนนี้นั้นอาหารทะเลที่ถูกสงสัยว่ามีสารพิษปนเปื้อนนั้นยังมีแค่ไม่กี่ชนิดก่อน ซึ่งก็ยังพอมีหนทางเอาตัวรอดกันไปได้ทั้งคนกินและคนขาย แต่ถ้าวันใดวันหนึ่ง อาหารทะเลกลายเป็นพิษไปทั้งหมดคนขายจะทำอย่าง

“งั้นผมก็เลิกขาย เปลี่ยนไปขายอย่างอื่นแทน ขายผักก็ได้ ถ้าถึงวันที่โลกมันเป็นแบบนั้นจริงผมคงไม่สนใจอะไรแล้วล่ะ ไม่ต้องรวยก็ได้เพราะอีกไม่นาน โลกคงจะแตกอย่างที่เขาพูดกันจริงๆ”

ส่วนทางด้านพ่อครัวสุดหล่ออย่าง อิ๊ก-บรรณ บริบูรณ์ ซึ่งเป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างพ่อค้ากับผู้บริโภค ก็กล่าวถึงสถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้ว่า

“ถ้าถามผมนะ ผมว่าเรายังไม่ควรตื่นตระหนก เพราะว่ามันเป็นข่าวการพบสารพิษในปลาที่เมืองนอก และก็ยังไม่มีการออกมาประกาศห้าม และผมก็เชื่อว่าในบ้านเรามีคนส่วนน้อยที่กินปลาหรือกินหอยแบบหนักมาก ถ้าเกิดกินหนักขนาดนั้น ก็ควรจะลดลงหน่อยอยู่แล้ว เพราะโดยปกติการบริโภคอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปก็ไม่ดีอยู่แล้ว

“ในบ้านเรายังไม่มีเรื่องของการบริโภคปลาเหล่านี้แล้วเป็นอะไร ผมว่า ถ้าเกิดมันเข้ามาในประเทศเราแล้ว ก็น่าจะมีการประกาศเตือน แต่ตอนนี้มันยังมาไม่ถึงบ้านเรา จริงอยู่ที่ทะเลมันไม่มีกำแพงกั้น แต่นั่นก็ยังถือว่าห่างไกลกันพอสมควร”

แล้วถ้าปัญหานี้ลามเข้ามาจริงๆ แล้วพ่อครัวอย่างอิ๊กจะทำอย่างไร

“ถ้ามันเกิดเป็นเรื่องขึ้นมาจริงๆ ในฐานะคนทำอาหาร ก็คงจะต้องเลือกเอาวัตถุดิบอื่นมาใช้ ทำเพื่อความสบายใจของผู้บริโภค ถ้าสมมุติเราไม่สามารถกินปลากะพงแดงได้ ก็อาจจะนำเอาปลาอื่นๆ มาใช้ ก็น่าจะใกล้เคียงกัน

“ทุกวันนี้คนทำอาหารสามารถหาวัตถุดิบได้หลากหลาย เมื่อก่อนเราอาจจะใช้วัตถุดิบที่มีและหาได้ในบ้านเราหรือใกล้ๆ เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ เราสามารถนำเอาวัตถุดิบจากที่ไหนมาใช้ก็ได้ ดังนั้น มันจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา ถ้าปลาบางชนิดกินไม่ได้ขึ้นมาจริงๆ

“อย่าลืมว่าอาหารทุกอย่าง ถ้ากินมากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น อย่างเนื้อวัวถ้ากินมากก็อาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ อาจจะเรียกได้ว่าทุกอย่างมันมีข้อเสียของมัน ดังนั้นจะกินอะไรก็ให้พอดีๆ ดีกว่า”

ส่วนคนกินปลา ซึ่งเป็นห่วงโซ่สุดท้ายนั้น ย่อมได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แน่นอน แต่ทว่า กับปลาและหอยที่กล่าวมาข้างต้น กลับไม่ส่งผลกระทบมากเท่าไหร่ เพราะอย่างไร ผู้บริโภคก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อยู่

“มันมีผลกระทบแน่นอน แต่ก็อาจจะไม่มาก เพราะว่าในกรุงเทพฯ นั้น คนนิยมกินปลาน้ำจืดกันมากกว่าปลากะพงแดงหรืออาหารทะเลอื่นๆ นี่อาจจะนิยมกันตามเมืองชายฝั่ง
พลอย รอยเจิม วิทักขมนตรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้ที่ตัดสินใจจะไม่กินสัตว์ใหญ่และกินแต่ปลาไปทั้งชีวิตบอกเช่นนั้น

“ปกติแล้วดิฉันไม่กินสัตว์บก แต่กินอาหารทะเลและพวกปลาน้ำจืดแทน เพราะนอกจากเหตุผลที่ว่า ไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ใหญ่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเรื่องสุขภาพ แต่พอมาได้ยินข่าวนี้ก็ตกใจเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ทานกินเป็นหลักส่วนใหญ่ก็คงจะไม่กระทบอะไรนะ ส่วนมากจะกินปลาน้ำจืดพวกปลาช่อน ปลานิล ปลาดุกมากกว่า เพราะเราอาศัยอยู่ในภาคกลาง ในกรุงเทพฯ ปลาพวกนี้หาง่ายกว่าปลาทะเลมาก ตลาดที่ไหนก็มี

“แต่ถ้าวันหนึ่งปัญหาอาหารมีสารพิษนี้คืบคลานมาถึงปลาน้ำจืดพวกเราก็ต้องหันไปทานผักอย่างเดียวแล้ว”
………

แล้วนักนิยมบริโภคปลาจะป้องกันตัวอย่างไร

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าเรายังอยากกินปลากินหอยพวกนี้ จะต้องมีการจัดการกับวัตถุดิบเหล่านี้อย่างไร จึงจะปลอดภัยไร้กังวล...

ก็ต้องเสียใจด้วยนะครับ ที่จะต้องบอกว่ามันไม่มีทางทำให้สะอาดได้ดังเดิม หนทางแก้ทางเดียวที่มีอยู่ก็คือ การทำสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ลดการปล่อยน้ำเสีย และงดกิจกรรมที่จะทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้น

ขอย้ำว่านี่คือหนทางเดียว ที่จะได้กลับไปกินปลาอร่อยๆ อีกครั้ง
บางครั้งมนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเสียบ้าง ถ้าอยากให้โลกใบนี้อยู่กับเราไปนานๆ

..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน





กำลังโหลดความคิดเห็น