xs
xsm
sm
md
lg

‘ในหลวง’ ของเรา ความจงรักภักดีของคนไทยในโลกไซเบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในวาระมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช เวียนกลับมาอีกคำรบหนึ่ง นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคนไทยทั้งประเทศที่จะได้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดอันเป็นที่รักยิ่ง

ขอนำไปรู้จัก ‘ในหลวง’ ของเราผ่านโลกไซเบอร์

http://candlefortheking.com
เริ่มจากเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดย CAT หรือ กสท. ซึ่งเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยร่วมจุดเทียนชัยและร่วมลงนามถวายพระพรบนอินเทอร์เน็ต เป็นเว็บไซต์ที่เน้นการลงนามโดยเฉพาะ มีภาพแสงเทียนสวยงามประกอบ สามารถเข้าไปชมและร่วมลงนามได้ง่าย เพียงคลิก ลงชื่อ และเลือกข้อความที่อยากจะบอกพระองค์ท่าน

http://king.ilovethailand.org
เป็นเว็บไซต์ที่ต่อเนื่องจากครั้งที่พระองค์ทรงเข้ารักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช เนื้อหาประกอบด้วยแถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง ภาพบรรยากาศของประชาชนที่ร่วมถวายพระพร และส่วนที่เปิดให้ผู้เข้าชมสามารถถวายพระพรผ่านเว็บไซต์

http://www.raorakprajaoyuhua.com
นอกจากจะเปิดให้ร่วมลงนามถวายพระพรในหลวงของเราแล้ว เว็บไซต์นี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระองค์ท่านในด้านต่างๆ ทั้งพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาท และโครงการในพระราชดำริ

http://webhost.m-culture.go.th/king
รวบรวมพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านต่างๆ ให้ประชาชนผู้สนใจได้ศึกษาหาความรู้จากสิ่งที่พระองค์ทรงทำไว้ตลอดทรงครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา ศาสนา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

http://www.royjaithai.com
รวบรวมพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์เอาไว้อย่างครบถ้วน และยังมีประวัติของบูรพกษัตริย์ไทยและบรรพบุรุษของไทยที่ปกป้องผืนแผ่นดินนี้เอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดความรู้หลากหลายไว้ให้เลือกอ่าน

http://palaces.thai.net
เป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักพระราชวัง เว็บนี้มีความโดดเด่นตรงที่รวบรวมภาพพระราชพิธีต่างๆ เอาไว้เป็นจำนวนมากถึงกว่า 2,000 รูป

http://kanchanapisek.or.th/kp8/art
เว็บไซต์นี้รวบรวมผลงานด้านศิลปะ 5 แขนง-ภาพถ่าย จิตรกรรม หัตถกรรม ดนตรี และภาพถ่ายของพระองค์ไว้ให้พสกนิกรได้ชมกันอย่างจุใจ

http://www.ch7.com/news/news_speech.aspx
เว็บไซต์ของทางสถานีโทรทัศช่องเจ็ดสี ซึ่งทางสถานีได้รวบรวมพระบรมราโชวาทที่ได้นำออกอากาศของทุกวันมารวบรวมไว้

http://www.supremeartist.org/thai/music/index.html
เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นยังรวบรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ไว้ทั้งหมด ทั้งเนื้อร้อง ประวัติความเป็นมาไว้ครบหมดทุกเพลง

http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php
เป็นเว็บไซต์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยจะเป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริที่ขึ้นอยู่กับงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยส่วนมากจะเกี่ยวกับการเกษตร

จากใจเว็บมาสเตอร์

"สำหรับประเด็นด้านเทคนิค เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อันดับแรกที่จริงต้องดูไทม์ไลน์ (ระยะเวลา) ของแต่ละเว็บฯ ก่อน แต่ละเว็บฯ ที่เห็น จะถูกสร้างด้วยเวลาที่ต่างกัน ซึ่งไทม์ไลน์ตรงนี้ มันจะสะท้อนเทคโนโลยีมีใช้อยู่ในขณะนั้น เรื่องแรกคือเรื่อง เทคโนโลยีในช่วงเวลาที่มีการจัดสร้างเว็บไซต์นั้น และ ต่อมาก็คือข้อจำกัดในการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งทำให้แต่ละเว็บฯ จะให้บริการได้ไม่เท่ากัน เช่น บางเว็บฯ ถูกสร้างมาเพื่อเผยแพร่เนื้อหาในแง่ใดแง่หนึ่งเท่านั้น และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของเว็บฯ นั้น"

เสนา สุขขี เว็บมาสเตอร์มากประสบการณ์ผู้คร่ำหวอดในวงการอินเทอร์เน็ต ให้ความเห็นเกี่ยวกับเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติต่างๆ ซึ่งเสนาได้แบ่งเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับพ่อหลวงของเราออกเป็น 3 ประเภท

"แบบแรก คือเว็บฯ ถูกสร้างจากภาครัฐ อันนี้จะถูกสร้างโดยใช้งบประมาณไม่มาก เท่าที่หลายๆ โครงมีแนวคิดคือ ให้ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล ไม่ต้องเกินจริง ซึ่งก็เข้ากับแนวคิดพอเพียงนะ ต่อมา ก็คือเว็บฯ ถูกสร้างโดยหน่วยงาน หรือองค์กรอื่น แนวนี้ก็จะเน้นออกแบบอะไรหน่อย เพื่อให้ดูหวือหวาขึ้น เช่น http://www.royjaithai.com/home.php ส่วนกลุ่ม .or นั้นจะมาแนวเรียบๆ"

ซึ่งแน่นนอนว่า นอกจากเนื้อหาดีๆ ข้างในแล้ว ความสวยงามของเว็บไซต์นั้นย่อมมีผลต่อผู้ดูบ้าง ไม่มากก็น้อย

"เรื่องความสวยอย่างที่บอก มันเป็นเรื่องของไทม์ไลน์เว็บฯ ด้วย อย่างเว็บฯ http://kanchanapisek.or.th/ นี่ จัดสร้างไว้นานมากแล้ว ถ้าดูซอร์ซ ไฟล์ (Source Files) จะเห็นเลยว่า เขียนขึ้นด้วยมือแน่ๆ คือ พิมพ์โค้ด (code) จากโน้ตเพด (Notepad) สร้างเว็บไซต์โดยตรงเลย

"ซึ่งถ้าดูคร่าวๆ ไทม์ไลน์ของเว็บฯ เหล่านี้ จะมี 3 ส่วน คือ หนึ่ง สร้างนานแล้ว ออกเรียบๆ ไม่เน้นกราฟฟิกหวือหวา หน้ากว้างเว็บไซต์ ไม่กว้างมาก (เพราะแต่ก่อนคนใช้รีโซลูชัน แค่ 600x800) สอง ใช้กราฟฟิคหรือตกแต่งด้วยเฟรชมากขึ้น แต่ยุคนี้ยังไม่เป็นระเบียบ แต่ดูดีขึ้น และ สาม คือเว็บที่สร้างในยุค CMS (ใช้เครื่องมือกลุ่ม Contents Management System เข้าช่วย)"

ความสวยงามหรือความหวือหวาของเว็บไซต์เหล่านี้ส่งผลถึงคนเข้าชมมากไหม เพราะทุกเว็บไซต์นั้น ก็ล้วนแต่ทำขึ้นมาด้วยด้วยความศรัทธาในตัวพระองค์ท่านทั้งสิ้น เสนาก็ให้คำตอบว่า

"ในแง่ผู้ใช้ตอบได้ว่า ใช่ เพราะเวลาผ่านไป คนได้เห็นเว็บฯ อื่นๆ ที่มีการแข่งขันกันสูง ก็จะพยายามหาลูกเล่นใหม่ๆ มาใช้กันมากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานรัฐก็จะไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้ามองจากมุมของรัฐตั้งไว้ มันก็ไม่จำเป็นเหมือนกัน เวลาคนเข้าเว็บฯ รัฐ มักจะต้องการเข้าถึง เนื้อหาโดยตรง ซึ่งความเรียบง่ายมันก็ทั้งดีและไม่ดีนะ

และเมื่อถามถึง เว็บไซต์ที่มีการนำเอาข้อได้เปรียบของโลกไซเบอร์สเปซ มาใช้ อย่างเว็บไซต์ที่มีการจุดเทียนชัยถวายพระพรออนไลน์ เว็บมาสเตอร์ก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะแนวคิดแบบนี้นั้นมีมานานแล้ว

"จริงๆ แล้วแนวคิดนี้มันก็มีมานานพอสมควร เช่นการลอยกระทงทางเน็ต แต่หลังๆ กระแสการใช้เฟลชมาเป็นลูกเล่นก็กลับมาอีกครั้ง เพราะเฟลชพัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้น อีกอย่าง เว็บไซต์แบบนี้เค้าจะมาจากสายการสร้างแบบ CMS อย่างที่บอก มันเป็นยุคล่าสุด ที่จะมีรูปแบบเป็นมาตฐานนะ

และสุดท้ายเว็บมาสเตอร์อย่าง เสนา ที่ถือได้ว่า เป็นคนไทยเต็มตัวคนหนึ่งก็ทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องของเว็บไซต์เหล่านี้ไว้ว่า

"การนำเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ต หรือการนำข้อมูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาไว้ในเว็บไซต์นั้น เป็นสิ่งดี ทั้งในแง่ของการเผยแพร่ข้อมูลสู่มวลชนในวงกว้าง เพราะ www เข้าถึงได้จากทั่วโลก และอีกแง่หนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นแหล่งอ้างอิงให้แก่คนทั่วไปได้

“เพราะจริงๆ แล้ว ข้อมูลต่างๆ เช่นพระราชกรณียกิจ หรือภาพงานพิธีสำคัญๆ หรือแม้กระทั่งภาพอย่างไม่เป็นทางการของพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ ล้วนเป็นสิ่งที่ประชาชนรักและเคารพ หากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ในอินเตอร์เน็ตก็ยากที่ประชาชนจะได้รับรู้ และติดตาม โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดซึ่งเดินทางลำบาก

“ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ มาจัดสรรให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ นอกจากจะเป็นการเชิดชูพระเกียรติของพระองค์แล้ว ยังนำความปลาบปลื้มมาแก่ผู้ที่พบเห็น และได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดี นำความชื่นใจมาสู่คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในแผ่นดินไหนก็ตาม"

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น