“ปุ้ง..ปั้ง..” เสียงพลุดอกไม้ไฟ ศิลปะชิ้นเอกที่กำเนิดจากจีนแผ่นดินใหญ่อายุเก่าแก่ ที่ไม่เคยล้าสมัยไปตามกาลเวลา ยังคงตรึงใจทุกคนให้หยุดนิ่ง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงขั้นตอนว่ากว่าจะมาเป็นงานแสดงพลุแต่ละชุดได้นั้น ต้องทุ่มเทครีเอทีฟกันขนาดไหน
ครั้งนี้ M-Lite ได้พูดคุยกับคุณ “คริสโตเฟอร์ วู” ผู้จัดการทั่วไปของกลอเรียส กรุ๊ป และกลอเรียส เอนเตอร์เทนเมนท์ โปรดัคชั่น รวมทั้งเป็นสมาชิกของ American Pyrotechnics Association หรือสมาคมดอกไม้เพลิงแห่งอเมริกา เป็นแชมป์ดอกไม้ไฟของจีนในระดับนานาชาติ ผู้สร้างสรรค์ลีลาดอกไม้ไฟในงานใหญ่ๆ มาแล้วทั่วโลก และสืบทอดความชำนาญนี้จากรุ่นสู่รุ่น
คุณคริสโตเฟอร์ วู เล่าว่า เขามีหน้าที่ในการคิดและจัดลำดับการจัดแสดงดอกไม้ไฟหรือปฏิบัติการด้าน Pyrotronix PTX Firing System โดยการสร้างสรรค์งานนี้จะมีตัวซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเฉพาะสำหรับงานออกแบบการแสดงดอกไม้ไฟคือ Pyro - Digital ช่วยในการจัดลำดับตามความเหมาะสม ระหว่างจำนวนพลุแต่ละชุด จากทีมงานทำพลุต่างหากอีกส่วนหนึ่ง จัดทำพลุไว้ตามธีม ตามรูปที่ได้วางแผนและออกแบบเรียบร้อยแล้ว
การจัดลำดับนั้นจะต้องทำงานควบคู่ ขนานกันไประหว่างเส้นของเวลาและเสียงดนตรี การออกแบบเรื่องจังหวะนั้นผู้ทำจะต้องฟังเพลงเพื่อจับจังหวะต่างๆ ของเพลง นำมาจัดลำดับพลุให้ตรงกับเสียงจังหวะแต่ละครั้งไป
“ในการจัดทำนั้นเจ้าของพลุจะไม่ใช่คนออกแบบลำดับการแสดง จึงต้องคิดสร้างสรรค์เองทั้งหมด โดยต้องนำเพลงที่ต้องการใช้ประกอบการแสดงนั้นใส่เข้าไปในโปรแกรม เพื่อให้โปรแกรมสามารถคำนวณว่า เพลงที่นำมาใช้มีจังหวะเท่าใด และจุดจังหวะใดบ้างที่ควรจะปล่อยพลุขึ้นฟ้า”
หน้าของซอฟต์แวร์โปรแกรมจะเป็นเหมือนแบบจำลอง ที่แสดงให้เห็นว่าหากจุดจังหวะตามเพลงนั้น จะยิงพลุขึ้นมาในลักษณะใด รูปแบบภาพรวมออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีตัว Time Codeเป็นตัวกำหนดทำให้สามารถออกแบบและซ้อมเรื่องลำดับการแสดงไปในตัว ส่วนในการจุดพลุขึ้นฟ้านั้นจะใช้คลื่นความถี่ไฟฟ้า โดยในหนึ่งทีมนั้นจะใช้แรงคนถึง 17 คน
“แม้จะมีโปรแกรมช่วย ผู้ทำจะต้องรู้ว่าพลุแต่ละลูกใช้เวลาเท่าใดในการลอยขึ้นฟ้าและแตกตัว มีจำนวนพลุในชุดทั้งหมดกี่ลูก รวมทั้งรู้ขอบเขตเวลาว่าการแสดงแต่ละชุดต้องใช้เวลาเท่าใด เช่นหากใช้ 1 นาทีในจำนวนพลุที่กำหนดมาก็จะต้องหาเพลงที่มีความยาวและจังหวะเหมาะสมกันให้ได้”
สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการจัดแสดงงานดอกไม้ไฟคือ เมื่อจำเป็นต้องจัดแท่นวางพลุหลายชุดไว้ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จึงต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะหลังจากชุดแรกที่จุดขึ้นฟ้าแล้ว ลูกไฟที่ร่วงลงมาแม้เพียงสะเก็ดเดียวก็อาจไปจุดชนวนของชุดอื่นๆ ได้ ดังนั้น พลุชุดอื่นที่รอคิวอยู่ด้านล่างจะต้องถูกคลุมด้วยผ้าใบที่เป็นฉนวนกันไฟ
ล่าสุดทีมของคุณคริสโตเฟอร์ วูจะร่วมจัดแสดงในงานแสดงและประกวดพลุนานาชาติเฉลิมพระเกียรติดวงประทีปพราวนภา เทิดราชาราชินี บารมีศรีแผ่นดิน ที่ประเทศไทยในเร็วๆ นี้ด้วย โดยจัดแสดงในธีมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยทั้งอาหารและธรรมชาติ รวมทั้งการแสดงถึงสายฝนโดยมีต้นไม้ดอกไม้เบ่งบานรองรับสายฝนและเกี่ยวกับโครงการทำฝนเทียมเพื่อบรรเทาความยากลำบากของชาวนาไทย
ไม่ว่าจะผู้ผลิตหรือผู้ชมความปลอดภัยถือเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สุด อย่ามัวเพลินกับความสวยงาม จนละเลยที่จะระวังสะเก็ดไฟดวงเล็กๆ เหล่านั้น
กำหนดงานแสดงและประกวดพลุนานาชาติฯ หรือ Thailand's Festival of International Fireworks in Honor of Their Majesties โดยมีตัวแทนจากหลากหลายประเทศเข้าแข่งขัน
ครั้งที่ 1 : 13 ธันวาคม 2552 กทม./จ.นนทบุรี
ครั้งที่ 2 : เดือนสิงหาคม2553 อ.หัวหิน/เมืองพัทยา
ครั้งที่ 3 : เดือนธันวาคม 2553 จ.ภูเก็ต/จ.ระยอง
ครั้งที่ 4 : เดือนสิงหาคม 2554 จ.ขอนแก่น/จ.เชียงใหม่
ครั้งที่ 5 : เดือนธันวาคม 2554 กทม./จ.นนทบุรี/จ.สุพรรณบุรี
หรือสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.mod.go.th