xs
xsm
sm
md
lg

โยคะ...ช่วยชีวิตเธอ "เล็ก ฉัตริษา ศรีสานติวงศ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


...เสียงความเจ็บปวดคือเพื่อน ถ้าวันหนึ่งไม่รู้สึกเจ็บปวดวันหนึ่งมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่...

“เล็กเกือบจะเป็นอัมพาตเพราะการหกล้ม” คำพูดของ เล็ก-ฉัตริษา ศรีสานติวงศ์ บ่งบอกให้ได้ทราบว่าตนเองจะต้องหันมาดูแลสุขภาพให้มากขึ้นกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ 7-8 ปีที่ผ่านมา เล็ก-ฉัตริษา พิธีกรชื่อดังต้องประสบอุบัติเหตุจากการลื่นหกล้มอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

จากที่เคยเป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก ทั้งบาสเกตบอล ว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ อย่างหักโหม ซึ่งตอนนั้นก็ยังคงคิดว่าตนเองเล่นกีฬาแล้วร่างกายต้องแข็งแรง ไม่เคยมีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด จนกระทั่งเธอเองมาลื่นหกล้มตกบันได อาการที่เรียกว่า โรค “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” จึงเกิดขึ้นกับเธอ

“หลังจากตกบันได เล็กรักษาอยู่ 2 ปี คุณหมอเอกซเรย์ไม่พบอะไร อัลตราซาวนด์ก็ไม่พบ ไปทำไคโรแพรกติก จัดเรียงกระดูกก็ไม่ดีขึ้น เราทำทุกวิธี กินยาจีน ฝังเข็ม มันก็ได้แค่แรกๆ ที่รู้สึกว่าหาย แต่ก็เริ่มกลับมาเจ็บอีก และเริ่มปวดมากยิ่งขึ้น ที่ร้ายแรงที่สุด หยิกขาตัวเองแล้วมันชา เหมือนขาไม่มีความรู้สึก ตกใจมาก ไปหาหมอ หมอแนะนำให้เราผ่าตัด”

เมื่อเธอได้ยินคำว่าผ่าตัดออกมาจากปากของคุณหมอ อาการจิตตกจึงเริ่มเกิดขึ้นและความกลัวจึงเริ่มเข้ามาทำให้เธอต้องเริ่มหาวิธีในการรักษาตนเองให้ได้และไม่ยอมรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

“เราจิตตกไปเลย และเริ่มคิดว่าต้องผ่าตัดตัวเองและต้องหันมาดูแลตัวเอง เล็กเคยไปนวดแผนไทยแล้วรู้สึกว่าดีขึ้นแต่มันไม่หายขาด สักพักก็กลับมาปวดอีก แต่มีช่วงหนึ่งที่ไปฝึกโยคะ เราก็ลองเอามาดัดแปลงให้เป็นโยคะในแบบของตัวเอง ที่ต้องเอามาดัดแปลงเป็นเพราะท่าโยคะมันมีบางท่าที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วย ที่มีอาการปวดคอ ไหล่ ไปจนถึงหลัง ”

ระยะเวลากว่า 6 เดือนที่เล็ก ฉัตริษา เรียนรู้และฝึกฝน นำท่าโยคะแบบดั้งเดิมมาดัดแปลงให้เกิดเป็นโยคะเพื่อสุขภาพของคนที่มีอาการปวด และเกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และเรียกท่าต่างๆ เหล่านั้นว่า โยคะ ฉัตริษา

หลังจากที่เริ่มหาคำตอบให้ตัวเองได้แล้วว่าอาการเหล่านั้นหายได้อย่างไร เธอจึงเริ่มศึกษาถึงเรื่องอาการต่างๆ อย่างลงลึก ศึกษาจากตำรากายภาพ และเรียนรู้เส้นประสาทของคนเรา และเริ่มหันมารู้จักการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกวิธี เช่น การเดิน ยืน นั่ง นอน ให้ถูกวิธี รู้จักฝึกบริหารร่างกายให้เหมาะกับตนเอง

จากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไป รู้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะสำคัญกว่าสุขภาพของตนเอง ทำงานหาเงินได้เท่าไหร่ ต้องใช้ในการรักษาตนเองทั้งหมด

“เรารู้สึกว่ายิ่งหาเงินมากเท่าไหร่ ก็ต้องเอาไปลงที่หมอทั้งหมด เสียทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ และเสียเงิน จนเกิดอุบัติเหตุมันทำให้ทราบว่า คำกล่าวที่ว่า “อโรคายา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นยังไง ทำให้หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น”

“ถ้าให้เปรียบร่างกายเหมือนบ้านสักหลังหนึ่ง เราเองอยู่กับบ้านหลังนี้มานานแค่ไหน แต่ไม่เคยรู้เลยว่าระบบของบ้านเราเองเป็นยังไง ระบบเลือดก็เหมือนน้ำประปาที่หล่อเลี้ยง พอเราเจ็บก็มานั่งร้องโอดโอย แต่ถ้าเริ่มรู้จักเรียนรู้ระบบร่างกาย ก็จะสามารถดูแลตัวเองได้”

นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า วิธีการที่จะสังเกตว่าตนเองเป็นหรือไม่นั้น อาการของการปวดหลัง ไหล่ ธรรมดา สามารถส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ต้องสังเกตตนเองว่ากินยาแก้อักเสบแล้วหายหรือไม่ หากไม่หายและยังมีอาการเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

การศึกษาเรื่องราวของกายภาพเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้เล็กได้ค้นพบว่าการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยแบบนี้คือการออกกำลังกายที่เหมาะสม

“คำแนะนำของคุณหมอที่หลายคนไปพบมานั้นบอกว่า เมื่ออาการของโรคดีขึ้นก็ให้ออกกำลังกาย แต่การออกก็ควรทำให้เหมาะสม ซึ่งผู้ที่เป็นอาการแบบนี้ไม่ควร เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพราะเราเป็นนักกีฬามาก่อนเลยทำให้รู้ว่าการเคลื่อนไหวมีผลต่อกระดูกสันหลังที่เป็นมาก จึงควรออกกำลังกายเบาๆ ค่อยๆ ฟื้นฟูร่างกาย การออกกำลังกายเร็วๆ ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แต่มันกลับทำให้เกิดอาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น”

หากแต่อาการของผู้ที่มีโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แล้วต้องการที่จะฟื้นฟูร่างกายนั้นปัจจัยที่จะทำให้สภาพร่างกายกลับเป็นปกตินั้นต้องขึ้นอยู่กับอายุ ความเสื่อมของกระดูก น้ำหนักตัว กล้ามเนื้อ และที่สำคัญการกดทับของกระดูกที่ทับเส้นประสาทว่ามากน้อยแค่ไหน

“จะฟื้นฟูได้มากแค่ไหนต้องอยู่ที่ปัจจัยเหล่านั้นด้วยนะคะ ว่าจะสามารถคืนสู่สภาพเดิมได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเล็กเอง การกดทับของกระดูกทับเส้นประสาทไม่มากนัก เราค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตนเอง และบังเอิญที่เราสามารถเจอกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาทั่วไป หลายคนมาปรึกษาเราทางโทรศัพท์แต่เราไม่สามารถบอกได้ ต้องมาเจอด้วยตนเอง และคนที่มาขอคำแนะนำให้ช่วยบางคนหาย บางคนก็ไม่หาย มันขึ้นอยู่ที่วินัยของแต่ละคนด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่”

ก่อนที่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะถามหา ควรคำนึงถึงการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองก่อนว่าเป็นอย่างไร ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างถูกวิธีหรือไม่ ไม่ต้องย้อนดูอะไรทั้งสิ้น เพราะการสังเกตอิริยาบถว่าถูกวิธี ทำอะไรผิดไปบ้างคือสิ่งสำคัญ

“บางคนนั่งทำงานนานๆ อาจจะเกิดอาการบาดเจ็บกับตัวเอง ถ้าเรายืน เดิน นั่ง นอน ผิดไปอาจจะเกิดโรคเรื้อรังได้ ถ้าเรานั่งทำงานหลังโค้งงอบ่อยๆ ร่างกายจะปรับสภาพไปตามสภาพที่เป็น เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้านั่งหลังงอบ่อยๆ แล้วรู้สึกสบาย พอให้นั่งหลังตรง นั่งไม่ได้ ต้องเริ่มปรับตัวทำให้ถูกท่า”

“เล็กเองนั่งหลังตรงมาจนเมื่อเริ่มรู้สึกว่าหลังเริ่มงอ มันจะหายใจไม่ออก รู้สึกอึดอัด ใครก็ตามที่รักษาหายแล้วยังนั่ง เดิน ยืน นอนที่ผิดปกติ ก็สามารถกลับไปเป็นได้เช่นกัน”

จากอาการเจ็บปวดและเรียนรู้รักษาตัวเองมาโดยตลอด ทำให้เธอหายขาดจากอาการปวด กลายเป็นคนที่แข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม คล่องแคล่วมากขึ้น และยังคงบอกเล่าเรื่องราวและคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวได้อย่างมีความสุข

“บอกไว้ก่อนเลยว่า อย่าทำให้ตัวเองอยู่ในความประมาท ไม่ว่าจะพื้นบ้านลื่น อย่าทำให้บ้านมีอันตราย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ต้องคอยดูแลท่านให้ห่างไกลจากการปีนต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน หรืออะไรก็ตาม ถ้าผู้สูงอายุเป็นแล้วร่างกายจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ และถ้าจะหกล้ม จำไว้เลยว่าอย่าเอาก้นลง ให้เอาข้อศอกหรือแขนลงแทน ระวังในเรื่องของการเดิน ยืน นั่ง นอน โดยเฉพาะคนวัยทำงานจะเกิดอาการเจ็บปวดที่ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังได้ ”

“เล็กอยากจะบอกว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของเราก็คือ เสียงของตัวเอง ซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่จะคอยบอกเรา เล็กว่าความเจ็บปวดคือเพื่อน ทำไมเราไม่ฟังเสียงของตัวเอง วันหนึ่งถ้าเราไม่รู้สึกเจ็บปวดขึ้นมามันจะเป็นเรื่องใหญ่”


***********************

สอบถามข้อมูลได้ที่ 

“บ้านฉัตริษาโยคะ”
  503/13 ซ.วิภาวดี 42 แยก 4 ถ. วิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. Tel 0-2941-0492 Fax 0-2561-2809 Mobile: 086-7044409 

www.chatrisayoga.com
*******************
 
ภาพโดย : ธนารักษ์ คุณทน



กำลังโหลดความคิดเห็น