บ้าน 3 ชั้น เนื้อที่ของบ้าน 90 ตารางวา ในย่านสุทธิสาร ของ ดาราหนุ่มหน้าตี๋ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ที่หันมาเอาดีทางด้านออกแบบเฟอร์นิเจอร์ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และในขณะนี้กำลังทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์ eco อีกด้วย
กล่องแห่งความสุข
ท็อปเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้บ้านอยู่แถวนานา ซึ่งเขาบอกว่าเปรียบเสมือนกล่อง ใบหนึ่ง และการที่เติบโตมากับกล่องใบนั้นมาตั้งแต่เด็ก ล้วนเต็มไปด้วยความสุขและความอบอุ่นจากครอบครัว
“ผมเดินออกมานอกบ้านไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่ออกมาเล้วเจอสนามเด็กเล็ก มีที่ให้ขี่จักรยาน บ้านผมออกมาหน้าบ้านก็เป็นฟุตปาธ รอบๆ บ้านเป็นแหล่งของอะโกโก้ เราเองก็เจอคนเยอะแยะ ตอนนั้แม่ทำธุรกิจผ้าไหม เจอชาวต่างชาติค่อนข้างเยอะ แล้วหลังบ้านของผมมันติดกับที่เปลี่ยนชุดของคนที่ทำงานในอะโกโก้ เราเองไม่มีสิทธิ์ออกไปเจอไอดินกลิ่นหญ้าเหมือนเพื่อนคนอื่นเขา”
แม้บ้านที่ นานา จะเป็นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นของครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง ที่อยู่ด้วยกันมา มีความผูกพันมีความรักให้กันและกัน
“เราโชคดีที่ครอบครัวของเราอบอุ่น ถึงบ้านตรงนั้นจะไม่ใหญ่มากนัก แต่พอเรากลับมาจากโรงเรียนเราเจอทุกคน ทุกคนมารวมกันแล้วมีความสุข เราไม่ต้องการบ้านใหญ่ที่กลับมาจากโรงเรียนแล้วไม่เจอใคร พ่อแม่ไปทำงาน”
บ้าน=หลุมหลบภัย
เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เขาได้ย้ายจากย่านนั้นมาอยู่ในย่านสุทธิสาร พร้อมกับครอบครัวขนาดกลาง มีพ่อ แม่ พี่น้อง อีก4 คน บ้านหลังนี้จึงถูกสร้างเพื่อคำนึงถึงการใช้งานมากกว่าตกแต่งเอาไว้เพื่อความสวยงาม
“บ้านหลังนี้เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ของบ้านจะซื้อเอาเอง เลือกซื้อกันเองตลอด แต่ก็มีเฟอร์นิเจอร์ของคุณพ่อบ้าง เพราะคุณพ่อเป็นคนชอบเก็บเฟอร์นิเจอร์เก่า แล้วบ้านหลังนี้จะเน้นการนำเฟอร์นิเจอร์เก่ามาตกแต่ง ก่อนหน้าที่จะย้ายเข้ามามีการคุยกับอินทีเรียก่อนว่าเราต้องการยังไง ลักษณะไหน เพราะบ้านเราเน้นเรื่องการใช้งานก่อน แล้วทำในสิ่งที่เหมาะสมกับสิ่งที่เรามีอยู่ เลือกจากการสังเกตวิถีชีวิตของคนในบ้านก่อนว่าเป็นยังไง จากนั้นก็นำเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าที่เรามีมาแมตช์กัน ส่วนเรื่องตกแต่งอื่นๆ เรื่องความสวยงามมันเป็นเรื่องท้ายๆ ที่เรามอง”
จากนั้นเขาจึงพาเราเดินชมรอบๆ บ้าน ริมทางเดินบันไดขึ้นชั้น 2 ทาผนังด้วยสีเหลือง มีภาพครอบครัวที่เขาบอกว่าเป็นมุมที่สวยที่สุด เนื่องจากเป็นมุมที่มีภาพครอบครัวอันแสนอบอุ่น ขึ้นไปชั้นสองเป็นห้องนอนของพ่อแม่ และห้องนอนส่วนตัวของท็อปเอง
“ในห้องท็อป จะเป็นทั้งห้องทำงาน ห้องนอน มองไปทางขวาจะมีตู้ที่เป็นของสะสม ผมชอบเก็บของจากที่ไปเที่ยวมา ไม่มีอันไหนที่ชอบที่สุดหรอกครับ เพราะของทุกชิ้นที่ผมเก็บจะมีเรื่องราวต่างๆ ของมันอยู่ในตัว แต่ชิ้นที่เป็นความทรงจำของผม คือ Miss Fruity เป็นงานที่ผมต้องทำ ธีสีส ส่งเป็นตัวจบ และภูมิใจกับมันมาก
ห้องส่วนตัวของท็อปจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือห้องทำงาน กับห้องนอน ห้องทำงานตอนนี้จะค่อนข้างเต็มไปด้วยของที่เราออกแบบเอาไว้ เพราะเป็นช่วงที่กำลังจะทำร้าน eco shop แล้วก็อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องนอน จะเห็นว่าในห้องนอนของผมจะไม่ชอบให้อะไรเข้าไปอยู่ในนั้น ห้องสีเหลี่ยมก็เป็นแบบนั้น ไม่มีรูปภาพของตัวเองมีแต่เตียงนอน เพราะเราอยากให้มันเป็นที่นอนพักผ่อนโดยไม่ต้องมีอะไรมารบกวน”
ห้องนอนคือมุมโปรดที่สุดมุมหนึ่งของเขา เขาบอกว่ามันเป็นคล้ายกับห้องสารพัด ที่มีสิ่งของเต็มไปหมดเลย แต่ถ้าหากช่วงไหนมีงานข้าวของจะเต็มห้อง แต่ช่วงไหนไม่มีงานจะโล่ง เพราะงานทุกอย่างเราเอากลับมาทำที่ห้อง
“ถ้าให้ผมนิยามคำว่าบ้านล่ะก็ ผมว่าเป็นเหมือน หลุมหลบภัย เป็นอะไรที่มันรู้สึกว่าเข้ามาแล้วปลอดภัย เหมือนเวลาเราก้าวออกจากรั้วประตูบ้านแล้วมันเจออะไรมากมายเยอะแยะ วุ่นวาย พอเราเข้ามาในบ้านเป็นเสมือนเกราะที่คอยป้องกันเราจากทุกสิ่ง ”
แม้ว่าช่วงนี้งานของเขาจะค่อนข้างยุ่ง แต่เมื่อมีเวลาว่าง เขามักจะชอบอยู่บ้าน ใช้เวลาในการพักผ่อนอย่างเต็มที่ อยู่เฉยๆ นั่งดูทีวี แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงพักผ่อนก็มักจะคิดอยู่ตลอดเวลา
eco เฟอร์นิเจอร์สไตล์ ท็อป
ถามถึงความสนใจในเรื่องของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเขาจบมาทางด้านนี้โดยตรง การศึกษาต่อทางด้านออกแบบของจากวัสดุเหลือใช้ จึงทำให้เกิดมีเก้าอี้ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมากจากการพบเห็นในช่วงเวลาที่ออกไปต่างจังหวัด
“เก้าอี้ need คือผลงานการออกแบบชิ้นแรกที่เป็นวัสดุที่เหลือใช้ ตอนนั้นท็อปเองเห็นเขาเอาไม้มากั้นรองไว้ไม่ให้รถเลื่อน เราก็ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบๆตัวมาประดิษฐ์ งานออกแบบของผมจะมีเรื่องเล่า มีกริมมิกที่สนุกๆ นอกจากเก้าอี้ยังมีโคมไฟ ที่เราออกแบบเอง”
ในฐานะนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์คนหนึ่ง เขาบอกว่าอยากจะให้ทั้งเจ้าของบ้านและอินทีเรียเองมีความคิดในการตกแต่งร่วมกัน อินทีเรียเองต้องสามารถรับฟังความต้องการของเจ้าของบ้านด้วยว่าชอบบ้านแนวไหน และเจ้าของบ้านเองก็ควรจะรับฟังคำแนะนำที่ดีจากอินทีเรียเช่นกัน และอยากให้ทุกคนคำนึงถึงเรื่องการใช้งานมากกว่าความสวยงาม แต่ถ้าทำให้ทั้งสองอย่างบาลานซ์กันก็เป็นเรื่องที่ดี
**********************************
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ