xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ส่งทีมช่วย ตร.ร่วมเชือด"ราเกซ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"แบงก์ชาติ-ตลาดหลักทรัพย์" พร้อมส่งพยาน-หลักฐาน ช่วยตำรวจและอัยการเอาผิด "ราเกซ" เผยยึดเป็นเงินคืนแล้วหลักพันล้าน มั่นใจแบงก์ปัจจุบันไม่ซ้ำรอยบีบีซี นายแบงก์ชี้ลากคอ "ราเกซ" ยกระดับมาตรฐานแบงก์-สกัดคนโกง แต่ไม่แน่ใจสาวถึงนักการเมือง


นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.พร้อมจะสนับสนุนเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมกับพยานตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นซึ่งตอนนี้พยานหลายคนเกษียณอายุไปเยอะแล้ว หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักอัยการ ซึ่งทำหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาและแพ่งต่อไป ฉะนั้น จะมีทั้งโทษจำคุกและชำระค่าสินไหมด้วย คาดว่าการฟ้องร้องจนถึงขั้นตอนศาลฎีกาจะสิ้นสุดได้ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ขณะที่คดีนี้อายุความส่วนใหญ่ถึง 15 ปี จึงไม่น่าจะหมดอายุความ เพราะแม้บางการกระทำเกินอายุความบ้าง แต่ก็มีการกระทำต่อเนื่อง

"เมื่อได้ตัวนายราเกซมากลับมาดำเนินคดีในไทยแล้ว ถือว่าได้ตัวจำเลยก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ แต่ต้องจัดทำสำนวนใหม่ ซึ่งได้ข้อมูลจากการสืบจากศาล และแม้ที่ผ่านมาคดีบีบีซีที่มีการฟ้องร้องกันในศาลชั้นต้นกว่า 20 คดี หรือมูลหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท ก็ชนะคดีหมด ขณะนี้กำลังยื่นศาลอุทธรณ์และอยู่ระหว่างกระบวนการยึดทรัพย์กันอยู่ จากปัจจุบันยึดมาได้หลักพันล้านบาท แต่มั่นใจว่าชนะคดีนี้หรือไม่เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเป็นกระบวนการศาล”

อย่างไรก็ตาม การติดตามทรัพย์สินของนายราเกซบางรายการที่มีการโอนย้ายถ่ายเทให้แก่บุคคลอื่นเชื่อว่าจะสืบหามาได้ และ ธปท.ได้ประสานให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ช่วยติดตามต่อไป ส่วนกรณีกลุ่มนักการเมือง 16มาเกี่ยวข้องด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้ตรวจสอบเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ของตัวผู้บริหารเอง

เชื่อแบงก์ไม่ซ้ำรอยบีบีซี

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีระบบการตรวจสอบที่ดี ทำให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนบีบีซีเป็นไปได้ยาก เพราะ ธปท.มีระบบการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ประกอบกับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีการตรวจสอบภายในอยู่แล้ว และผู้ถือหุ้นมีการดูแลกันมากขึ้น รวมถึงนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ ทำให้การทุจริตในลักษณะเดิมเป็นเรื่องที่ยาก

สำหรับกรณีนายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ในคดียักยอกทรัพย์และทำความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์เมื่อปี 2522 วงเงินความเสียหาย 2,127 ล้านบาทนั้นขณะนี้ประเด็นดังกล่าวได้ตัดสินเรียบร้อยแล้ว โดยศาลอังกฤษไม่ส่งตัวกลับมายังไทย เนื่องจากติดเรื่องข้อกฎหมายไทยและอังกฤษต่างกัน

ตลาดหุ้นพร้อมส่งข้อมูลเพิ่ม

นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ สายงานตรวจสอบภายในและกำกับกิจกรรมองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีการดำเนินคดีกับนายราเกซ สักเสนา ที่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติ (พรบ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พศ 2535 มาตรา 307, 308,309,311,313,และ 315 นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของอัยการ แต่หากอัยการต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมที่จะมีการดำเนินการแต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประสานขอข้อมูลมาแต่อย่างใด

"ในฐานะที่ปรึกษาของธนาคารบีบีซี ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อผู้บริหารมีการทำผิดฉ้อโกงกับบริษัทจดทะเบียนนั้นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ตลาดลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แต่หากอัยการมีการขอข้อมูลเราพร้อมที่จะมีการส่งให้" นายสุทธิชัยย้ำ

นายแบงก์ยิ้มสกัดโกงแบงก์

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า กระบวนการดำเนินคดีกับนายราเกซครั้งนี้จะช่วยให้เกิดบรรทัดฐานในระบบการเงินมากขึ้น และเชื่อว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวบุคคลกระทำการทุจริตดังเช่นกรณีดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกมีประสบการณ์ในลักษณะของความเสียหายจากการทุจริต จึงทำให้จะต้องมีการผ่านกระบวนการขั้นตอนทางศาล อย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการดำเนินคดี เกี่ยวกับการทุจริตในศาลยุติธรรม

"กรณีการทุจริตดังกล่าวได้เกิดขึ้นและมีความผิดในประเทศไทย แต่นายราเกซก็ได้มีการหลบหนีไป และได้ส่งผลเสียต่อประเทศ จึงทำให้ทางการของไทย จำเป็นจะต้องส่งเรื่องไปยังศาลแคนาดาเพื่อให้ส่งตัวนายราเกซกลับมา ส่วนในเรื่องของการดำเนินคดีนี้ จะนำไปสู่การสาวถึงตัวนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังกรณีดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้เพราะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางการไทยเป็นผู้ดำเนินการ" นายโฆสิตกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีบีบีซีเกิดจากการไม่มีการตรวจสอบทางการเงิน (เช็ค บาลานซ์) ที่ดี แต่ในปัจจุบัน ทุกธนาคารมีการรู้เรื่องนี้มากขึ้น ทำให้มีการใช้เช็ค บาลานซ์เข้ามาควบคุม รวมไปถึ ธปท. ก็เข้ามามีบทบาทและตรวจสอบธนาคารอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกอย่างก็จะสามารถควบคุมบริหารความเสี่ยงได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น