xs
xsm
sm
md
lg

สภาฯ ล่ม! วังน้ำวนเดิมๆ ของการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘สภาฯ ป่วน! ล่ม 2 ครั้ง ในสัปดาห์เดียว’

ข่าวสั้นๆ ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเมื่อสัปดาห์ก่อน เชื่อว่า หลายๆ คนที่ได้อ่านก็คงอดหัวเราะแกมเบื่อหน่ายไม่ได้กับสภาพการเมืองไทยที่เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นยุคนี้หรือยุคไหน

แต่หากใครคิดจะใช้เรื่องนี้กล่าวโจมตีบรรดาผู้แทนไทย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) ว่าเป็นคนไร้ความรับผิดชอบ ก็ขอให้รีบเปลี่ยนความคิดโดยด่วน เพราะเชื่อว่าหลายคนคงไม่ทราบว่าแต่ละท่านนั้นมีภารกิจเยอะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการไปลงพื้นที่ ประชุมพรรค สัมมนา งานปาฐกถา ประชุมกับแกนนำพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เดินตามหลังรัฐมนตรี เยี่ยมนักโทษที่ดูไบ หรือไม่ก็เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ

แล้วอย่างนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปนั่งประชุมในสภาฯ ที่น่าเบื่อ อืดอาด ยืดยาด แถมยังกินเวลาตั้ง 2 วันต่อ 1 สัปดาห์อีกด้วย

แต่อย่างว่า ถึงเวลาจะหายากซะแค่ไหน แต่บรรดาท่านสมาชิกสภาฯ ผู้ทรงเกียรติหลายท่านก็ยังต้องไปทำหน้าที่อันแสนลำบากนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (รวมไปถึงฉบับก่อนหน้านี้ด้วย) มีข้อบังคับอยู่ข้อหนึ่งว่า สมาชิกจะขาดประชุมสภาเกินกว่า 1 ใน 4 ของการประชุมทั้งหมด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ ไม่ได้ มิฉะนั้นสมาชิกภาพที่มีอยู่ อาจจะปิ๋วไปได้ทุกเมื่อ (แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยมีผู้แทนฯ คนไหน หลุดจากตำแหน่งโดยวิธีนี้ก็ตาม)

ด้วยเหตุนี้เอง ประชาชนผู้เสียภาษีทุกท่านจึงได้มีโอกาสเห็นการใช้สิทธิขาดประชุมอย่างเต็มที่ของบรรดาผู้ทรงเกียรติหลายต่อหลายคน หรือไม่ก็บางคนที่ขาดเกินแล้วก็แก้เขินโดยการฝากบัตรไว้กับเพื่อนสมาชิกให้ช่วยเสียบให้หน่อยเวลาโดดร่ม จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง เวลาถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าเป็น ส.ส.-ส.ว.เถื่อน
อย่างไรก็ตาม ถึงประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องสิวๆ แต่กลับบรรดาท่านผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ส.ส. ให้ประพฤติดี มีวินัย ไม่โดดประชุม โดยเฉพาะฟากฝั่งรัฐบาล กลับไม่คิดเช่นนั้น

เพราะถึงยังไงการเข้าประชุมครบองค์ ก็ช่วยเสริมภาพลักษณ์ หน้าตา เกียรติภูมิ ของฝ่ายรัฐบาลให้ดีขึ้น แถมยังเป็นการปิดโอกาสฝ่ายตรงข้ามไม่ให้โจมตีว่า 'รัฐบาลไร้น้ำยา' อีกด้วย

ที่สำคัญยังเป็นเครื่องรับประกันว่า กฎหมายหรือการลงมติต่างๆ ที่รัฐบาลผลักดันจะสำเร็จไปด้วยดี อย่างที่เห็นในสัปดาห์ก่อนที่รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ 3 วาระรวด ภายในเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ทุกคนจะมีโอกาสเห็นภาพท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้จัดการรัฐบาล และประธานวิปรัฐบาล ต้องเดินตาม โทรศัพท์เรียกสมาชิกกันจ้าละหวั่น พร้อมกับคำขู่ที่แสนน่ากลัวว่า “ใครโดดประชุม บ่อยๆ คราวหน้าจะไม่ส่งลงเลือกตั้ง” ทำราวกับเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองขู่นักเรียนยังไงยังนั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาก็ดูไม่ค่อยสำเร็จตามที่คาดไว้เท่าใดนัก (ก็บอกแล้วไงว่า คนมันงานยุ่ง!!)

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อสภาพรัฐสภาไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง แล้วต่อไปอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรจะเดินไปในทิศทางเช่นไร

รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะของผู้ที่คลุกคลีกับวงการการเมืองมานาน ผ่านระบบพรรคมาทั้ง ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และชาติไทยพัฒนา มองปรากฏการณ์เรื่องสภาฯ ล่มบ่อยๆ ว่า เป็นการสะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบของบรรดาผู้ทรงเกียรติ ที่ไม่ยอมใส่ใจในหน้าที่การงานของตนเอง จนทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

“หาก ส.ส.ทำตามหน้าที่เข้าร่วมประชุมก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องนับองค์ประชุม เพราะสภาฯ จะเต็มอยู่เสมอ ที่สำคัญ เรื่องพวกนี้ ยังสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะเล่นเกมการเมืองมากเกินไปของนักการเมือง

“ที่เห็นๆ เลยก็คือเวลาฝ่ายค้านไม่พอใจอะไร ก็มักจะใช้วิธีขอนับองค์ประชุม แล้วตัวเองก็วอล์กเอาต์ หรือเดินออกจากสภาฯ ไปทำให้จำนวนสมาชิกในองค์ประชุมไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด”

นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรี ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า สมัยนี้ถือเป็นยุคที่ปัญหานี้มากกว่ายุคก่อน ซึ่งอาจจะมีผลมาจากช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังมีการขับเคี่ยวทางการเมืองกันอย่างหนัก จนทำให้สมาชิกบางคน ไม่ใส่ใจกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ หวังเพียงแต่จะกดดันฝ่ายบริหารไม่ให้ทำงานได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็คงต้องเรียกร้องให้สื่อมวลชนและประชาชนช่วยกันตรวจสอบด้วย

“จริงๆ คนพวกนี้ไม่ค่อยกลัวกฎหมายหรอก เขากลัวสื่อ เพราะสื่อมีอิทธิพลสามารถทำให้คนบางคนยับยั้งชั่งใจในการที่จะทำอะไรบางอย่างได้ ถ้าสื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยที่อะไรถูกเป็นถูก อะไรผิดเป็นผิด ไม่มีคำว่าเกรงใจหรือว่าไม่มีวาระซ่อนเร้น สื่อจะกลายเป็นอาวุธที่สำคัญในการที่จะแก้ไขปัญหาชั่วร้ายต่างๆ ในสังคมได้”

ไม่ใช่แค่ รศ.ดร.เสรี เท่านั้นที่มองเช่นนี้ เด็กๆ ซึ่งต่อไปจะเจริญเติบโตเป็นอนาคตของชาติก็ยังมีความเห็นที่สอดคล้องกัน อย่าง อดิศักดิ์ ทิพย์แก้ว นักเรียนชายชั้น ม.1 จากโรงเรียนวัดสังเวช ก็แสดงทัศนะว่า การที่ผู้ทรงเกียรติพร้อมใจกันโดดการประชุมสภาฯ หลายต่อหลายครั้ง ถือเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความไร้การรับผิดชอบอย่างมาก และไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

“ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องแย่มาก ขนาดผมเป็นนักเรียนทำผิดกฎของโรงเรียน เช่นมาสาย โดดเรียน ก็ยังถูกครูลงโทษให้เก็บเศษขยะในโรงเรียน สวดมนต์ วิ่งรอบสนามฟุตบอล หรือไม่ก็ตัดคะแนน แต่นี่เป็นถึงบุคคลระดับประเทศ ทำแบบนี้ไม่เหมาะสมมากๆ ทางที่ดีก็น่าจะไล่ออกหรือไม่ก็ตัดเงินเดือนไปเลยดีกว่า”
..........

แม้หลายคนจะเอือมระอา และไม่ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็ตาม แต่แน่นอนถ้าเป็นไปได้ ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดเช่นกัน ทางออกที่น่าจะได้ผลที่สุด ก็เห็นจะมีแต่การรอคอยให้บรรดาผู้ทรงเกียรติ เลิกงานยุ่ง และรู้สำนึกพอว่า ในฐานะที่เป็นผู้แทนควรจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ไม่เช่นนั้น ต่อให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นร้อยอย่างก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบรรดาผู้แทนฯ เหล่านี้ได้อย่างแน่นอน
………...................

เปิดตำนานสภาฯ ล่ม

หากให้นับจำนวนครั้งที่เกิดเหตุการณ์สภาฯ ล่มในการเมืองไทย เชื่อว่าถึงจะต่อสิบมือสิบเท้าก็คงนับได้หมดแน่นอน เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยเสียเหลือเกิน

อย่างสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ อายุไม่ถึง 2 ปี แต่ก็ยังล่มเป็นสิบครั้งแล้ว ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นกฎหมายเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของคนจำนวนมาก) อย่าง พระราชบัญัญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ..... หรือจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แบบช่วงที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทน นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งในตอนนั้นเพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสอยลงจากเก้าอี้ หลังกล่าวหาว่าแอบไปเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน เนื่องจากไปจัดรายการชิมไปบ่นไป ซึ่งเขาทำมานานหลายปีแล้ว
 
เรื่องราวในครั้งนั้น ทุกคนคงจำได้ว่า เหตุของสภาฯ ล่มไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นความตั้งใจของเหล่าผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่พร้อมใจกันโดดประชุม เนื่องจากไม่อยากให้พ่อครัวหัวป่าก์กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 ซึ่งคนที่ดูจะมีบทบาทมากที่สุด ตอนนั้นเห็นจะไม่พ้นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา ที่ถึงกับลงทุนยืนหน้าประตูห้องประชุมแล้วกวักมือเรียกบรรดา ส.ส. ให้ออกจากห้องประชุมสภาฯ เป็นการด่วน

ส่วนที่หวุดหวิดจะล่มแหล่ไม่ล่มแหล่ก็มีหลายครั้ง อย่างช่วงที่พรรคเพื่อไทยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายกันถึงดึกดื่นค่ำมืด พรรคฝ่ายค้านที่กำลังอภิปรายอย่างเมามันก็กลัวจะไม่มีคนดู ก็เลยขอให้ประธานปิดประชุม แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย สถานการณ์ยืดเยื้อกันสักพักก่อนที่ ส.ส.อาวุโส อย่างนายไพจิตร ศรีวรขาน จะขอนับองค์ประชุม ขอไปสักพักก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าเกิดสภาฯ ล่มก็หมายความปิดญัตติ หมดสิทธิ์อภิปราย ต้องลงมติเลย ดังนั้นจึงต้องรีบแก้เกมด้วยการโทษฝ่ายรัฐบาลว่าทำไมไม่ยอมให้เลื่อนการประชุม และถอนคำขอให้นับองค์ประชุมลงไปในที่สุด

และนอกจากสภาฯ ชุดนี้จะมีปัญหาสภาฯ ล่มซ้ำซาก สภาฯ ก่อนหน้านี้ก็มีไม่แพ้กัน อย่างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นถือเสียงรัฐบาลเกินครึ่งมาหลายร้อยเสียงก็ยังล่มซะหลายครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งสุดท้ายทางแก้ของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็โยกผู้อาวุโสอย่าง นายเสนาะ เทียนทอง ออกจากประธานวิปรัฐบาล หลังเห็นประสิทธิภาพที่ดูแล้วน่าจะแปรผกผันกับประสบการณ์ทางการเมืองที่อวดอ้าง แน่นอนคราวนั้นผู้เฒ่าโกรธจัด จนเป็นเหตุให้ต้องแตกหักกับผู้นำหน้าเหลี่ยม หันมาตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ก่อนสุดท้ายจะกลับไปจูบปากกับท่านผู้นำตามเคย

ส่วนด้านวุฒิสภาก็ถือว่าใช่ย่อย แม้จะไม่ล่มแต่ด้วยการมีคนโดดประชุมอยู่บ่อยครั้ง ก็ทำให้เกิดเรื่องน่าฮือฮาได้เช่นกัน โดยเฉพาะสมัยของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก ที่เกิดกรณีการส่งตัว นายเฉลิม พรหมเลิศ อดีตรองประธานวุฒิสภาที่ก่อคดีพรากผู้เยาว์ ซึ่งในครั้งนี้ตำรวจยื่นเรื่องของนำตัวนายเฉลิมไปดำเนินคดี แต่ด้วยจำนวนสมาชิกที่เข้ามาประชุมน้อยไปสักหน่อย ทำให้ผลลงมติออกมาว่า 'ไม่อนุญาต' อย่างเฉียดฉิว แน่นอนช่วงนั้นวุฒิสภาถูกถล่มอย่างหนักจากประชาชน แต่คนดูหนักสุดเห็นจะไม่ใช่คนที่โหวตสนับสนุน แต่เป็นคนโดดประชุมที่ถูกสื่อมวลชนเอาประจานตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน
………...................

 
สุดยอดผู้แทนฯ

หลายคนอาจสงสัยว่า เห็นบรรดา ส.ส.-ส.ว. เขาโดดประชุมกันบ่อย แล้วอย่างนี้เมืองไทยเราไม่มีผู้แทนฯ ขยันๆ กับเขาสักคนเลยเหรอ

แน่นอนขึ้นชื่อว่า 'คน' ก็ต้องมีคนดีคนไม่ดีปะปนกันไป บรรดาผู้แทนฯ ก็เช่นกัน อย่างล่าสุดก็มีการมอบรางวัลให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเยี่ยมนี้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับรางวัล ก็คือ นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็งลำไส้ เพราะเข้าประชุมครบถ้วน ไม่ขาดการประชุมเลยแม้จะป่วยสักแค่ไหนก็ตาม

ส่วนฝากฝั่งของสมาชิกวุฒิสภาก็คือ นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ที่เข้าประชุมครบถ้วน ชนิดคนปกติยังต้องอาย แถมยังขยันตั้งกระทู้ เสนอกฎหมายเป็นประจำอีกด้วย
………...................
 
เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพ Click






กำลังโหลดความคิดเห็น