xs
xsm
sm
md
lg

มายากราฟิก ศิลปะที่โลกบันเทิงขาดไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพยนตร์และโฆษณาคือสื่อที่ทรงอิทธิพลต่อคนทั่วทั้งโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาคุณภาพโดยตลอด แต่ทุกวันนี้หากมีเพียงภาพสวย เสียงดี ดาราเด่น ไม่เพียงพอเสียแล้วต่อความต้องการของผู้ชม

ดังนั้น ผลงานทาง วิชวลเอฟเฟกต์ (Visual Effect) หรือคอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphic: CG) จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเติมเต็ม จากจุดเล็กๆ เติบโตต่อเนื่องอย่างถล่มทลาย ด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพให้เกิดความสมจริง จนบางครั้งคนดูก็แยกไม่ออก และต้องยอมรับว่าภาพยนตร์สมัยนี้ขาด CG ไม่ได้อีกแล้ว

จากผลงานภาพยนตร์ในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจของภาพยนตร์เป็นที่น่าจับตามอง โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมของ Ticket box office สูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งร้อยละ 50 ของภาพยนตร์ทำเงินทั้งหมดนั้นมีการใช้เทคนิค Visual Effect หรือ computer graphic (CG) มหาศาลในการสร้างชิ้นงาน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าแนวโน้มของผู้ชมจะให้ความนิยมชัดเจน เป็นที่คาดหวัง และต้องการของตลาดพอสมควร...
ฉัตรชาญ สุทธิไพศาล ผู้จัดการประจำประเทศไทย ออโตเดสก์กล่าว

เนื่องจากวงการภาพยนตร์คือการขายจินตนาการจากผู้ประพันธ์ ดังนั้นในการสื่อจินตนาการเหล่านั้นออกไปเป็นเรื่องราวเป็นรูปธรรมผ่านภาพยนตร์ หากสร้างออกมาแล้วไม่มีความสมจริง ก็ไม่สามารถสื่อจินตนาการออกไปได้อย่างชัดเจน ตรงนี้คือจุดที่ทำให้ผู้ชมทั่วโลกมีความต้องการชมผลงานการใช้ CGในภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเป็นการเสริมสร้างจินตนาการแล้ว ยังเป็นการสร้างอรรถรสในการรับชมแก่ผู้ชม ให้สามารถเข้าถึงงานศิลปะเหล่านั้นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

วงการศิลปะภาพยนตร์จาก CG นั้นมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วิถีในการรับชมเปลี่ยนแปลงตาม โดยเมื่อก่อนทำภาพยนตร์สามมิติด้วยการใช้กล้องหลายตัวถ่ายภาพแล้วนำภาพมาซ้อนกัน จนอาจเกิดอาการปวดหัวจากการใส่แว่นชม ซึ่งในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น อย่างเมืองนอกจะเริ่มมี Experience หรือประสบการณ์ร่วม การโต้ตอบจากผู้ชมมากขึ้น อย่างการใส่ละอองน้ำ ที่นั่งที่เคลื่อนไหวตามภาพ เพื่อเพิ่มความสมจริง ซึ่งในส่วนของภาพยังจำเป็นต้องใช้การสวมแว่นอยู่

การสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาผ่านเทคโนโลยีCG เสมือนเป็นศิลปะยุคใหม่ เป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์งานจากจินตนาการ มีบทบาทอย่างมากในการลดข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจไม่สามารถทำได้จริงหรืออาจต้องทุ่มทุนมหาศาล อีกทั้งเมื่อก่อนการใช้CGจะต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ แต่บัดนี้ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญสูง เพียงรู้จักเรียนรู้จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่คุณภาพงานจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับทักษะและจินตนาการของผู้สร้างเองด้วย

ด้านผู้เชี่ยวชาญจากฮอลลีวูด ไนเจล ซัมเนอร์ (Nigel Sumner) หัวหน้ากลุ่มงานดิจิตอล, อินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ แมจิก ยกตัวอย่างระดับความต้องการ CG ที่เพิ่มขึ้นจากเรื่อง Jurassic Park ภาคแรกมี CG ทั้งหมด 31 ช็อต ที่เหลือยังมีการใช้โมเดลหรือหุ่นจำลองเช่นเดียวกับ Star wars ในภาคแรกๆ 10 ปีให้หลังกับ Jurassic Park ภาค 3 (เมื่อ 4 ปีที่แล้ว) มีฉาก CG 280 ช็อตเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ส่วนในภาพยนตร์แอนิเมชันที่ใช้ CG ทั้งเรื่อง คือประมาณ 1,200-1,600 ช็อตต่อเรื่อง จึงเห็นได้ว่าการใช้ CG ในวงการภาพยนตร์มีความต้องการมากขึ้นอย่างชัดเจน

ล่าสุดผลงาน Avatar โดยเจมส์ คาเมรอน ใช้ CG มากถึง 1,800 ช็อต ได้รับความร่วมมือจากสตูดิโอทั่วโลกร่วมกันสร้างขึ้นอย่างตึงมือ เป็นการนำภาพที่ถ่ายทำสดมารวมกับ CG ตลอดเรื่อง

ส่วนกระแสที่กำลังมาแรงคือการชมภาพยนตร์สามมิติแบบที่ต้องใส่แว่น เพราะงานทุกชิ้นต้องละเอียดขึ้น การจัดเรียงภาพต้องทำเพิ่มขึ้น 2 เท่าสำหรับตาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งในปัจจุบันที่ฉายใน I-max จะไม่ได้เป็นขนาดภาพเดียวกันทั้งเรื่อง คือเป็นเฉพาะส่วนที่เป็นสามมิติเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะกลับมาเป็นภาพขนาด 35 มม.

เสริมความเข้มข้นด้วยวิธีการนำเสนอมุมมองผลงาน CG จากกูรูระดับโลกอีก 2 ท่านอย่าง เอียน โคป (Ian Cope) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสาร บริษัท ไรซิ่ง ซัน พิคเจอร์ส และเดสมอน ชาน (Desmond Chan) ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมเทคนิคและผู้จัดการฝ่ายการผลิต บริษัท อิมเมจิ โปรดักชั่น

เอียน โคป ได้แนะนำเทคนิคในการสร้างCGว่าหากเป็นการสร้างฉากที่แสดงความเป็นอนาคตหรือเทคโนโลยีขั้นสูงเหนือปัจจุบัน จะต้องสร้างฉากอนาคตที่คนในยุคปัจจุบันดูแล้วน่าเชื่อว่ามีความเป็นไปได้จริง

การทำงานออกแบบชิ้นงานจะมีการสร้างผลงานแบบร่างซึ่งยังไม่ละเอียดสวยงามเพื่อให้ผู้กำกับได้ดูก่อนที่จะเริ่มนำไปใช้จริง ซึ่งCGมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างฉากที่โลดโผนหรืออาจเป็นอันตรายต่อนักแสดงให้สมจริงมากยิ่งขึ้น โดยส่วนที่สร้างขึ้นประกอบกับภาพจริงจะต้องผสมกลมกลืนกันกับฉากทั้งหมด ตรงกับการเคลื่อนไหวของนักแสดง และจำเป็นต้องตามในทุกช็อตทุกซีนที่มีCGปรากฏอยู่

นอกจากนี้ CG ยังสามารถทำพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดเป็นฉากยิ่งใหญ่ได้ด้วยการเติมองค์ประกอบภาพเข้าไปอย่างสมจริง มีมิติ เรื่องราว หรือแม้แต่ชิ้นงานที่เป็นการฝืนกฎธรรมชาติด้วยการย้อนคืนสิ่งที่ถูกทำลายไป อย่างในเรื่อง Harry Potter ภาคล่าสุดได้ใช้ชิ้นวัตถุทั้งหมดราว 400 ชิ้น ผู้สร้างเอฟเฟกต์จะต้องศึกษารายละเอียดจากเรื่องราวของภาพยนตร์หรือหนังสือต้นฉบับว่าส่วนใดควรอยู่ในภาพยนตร์และนำเสนอความคิดเห็น

ด้าน เดสมอน ชาน ได้อธิบายถึงกระบวนการทำแอนิเมชันว่า ก่อนสร้างชิ้นงานต้องกำหนดบุคลิกลักษณะของตัวละคร ทำความเข้าใจในทีมงานให้ตรงกันถึงลักษณะ ชุดของตัวละครในแต่ละฉาก โดยชี้ให้เห็นทุกรายละเอียดทั้งพื้นผิว สัดส่วน สีสัน รวมทั้งการจัดวางวัตถุ จำเป็นต้องสร้างวัตถุแยกชิ้นขึ้นและจัดวางลงทีละชิ้นๆ โดยสามารถใช้โปรแกรมช่วยเหลือในเรื่องการกำหนดทิศทางลาดเทของวัตถุ

ในการทำแอนิเมชันขึ้นมาฉากหนึ่งต้องมีการทำ story board โดยแบ่งเป็นหลายภาคส่วน ได้แก่ ขั้นของการทำ story review แสดงรายละเอียดของฉากอย่างง่ายๆ ต่อไปเป็นการสร้างตัวละครขึ้นมาโดยยังไม่ต้องใส่รายละเอียดของพื้นหลัง เพียงใช้รูปร่างรูปทรงพื้นฐานในการจัดวางองค์ประกอบฉากเท่านั้น โดยต้องใช้ในจำนวนมากเพื่อให้ใกล้เคียงกับลักษณะวัตถุในความเป็นจริง เมื่อตัวละครถูกต้องเรื่องตำแหน่งและการเคลื่อนไหวแล้วก็จะทำพื้นหลังให้สมจริง ก่อนเป็นงานขั้นสุดท้าย ซึ่งในหนึ่งเฟรมจะมีเลเยอร์ภาพซ้อนกันอยู่จำนวนมากเพื่อให้ภาพเกิดมิติที่ชัดเจนเหมือนจริงที่สุดทั้งการเคลื่อนไหว มิติ สี ทิศทางและความนวลของแสง

ส่วนในวงการภาพยนตร์ไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ฉัตรชาญ สุทธิไพศาล ผู้จัดการประจำประเทศไทย ออโตเดสก์ บอกว่า สำหรับผลงานภาพยนตร์ไทย หากภาพไม่สวยงามไม่ดี ผลตอบรับติดลบ ก็จะกลายเป็นกระแสกดดันให้วงการภาพยนตร์ไทยต้องพัฒนาขึ้นได้







กำลังโหลดความคิดเห็น