xs
xsm
sm
md
lg

“รมย์รุจี พันธุ์สิน ” นักสำรวจเรือนร่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมย์รุจี  พันธ์สิน หรือ สา
รอบอกเท่าไหร่...สะโพกของหญิงสาวไซส์ไหน ล้วนแต่ผ่านมือของเธอในการคำนวณออกมาเพื่อให้บรรดาสาวๆ มีความมั่นใจออกมาตั้งแต่ภายในสู่ภายนอกแล้วทั้งสิ้น

“รมย์รุจี พันธุ์สิน ” หรือ “สา” ดีไซเนอร์ชุดชั้นในแบรนด์น้องใหม่ที่มีความเป็นแฟชั่นอยู่ในตัวอย่างแบรนด์ Boudoir by Disaya นอกจากเธอจะออกแบบชุดชั้นในแล้ว เธอยังเป็นดีไซเนอร์มือขวาแห่งแบรนด์ Disaya แบรนด์ไทยที่กำลังติดอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ก้าวเข้าไปอยู่บนรันเวย์ต่างประเทศ

1

ถามถึงชื่อแบรนด์ที่อ่านแล้วมีความแตกต่าง และมิได้หมายถึงชุดชั้นในเลยแม้แต่น้อย เธอบอกกับเราว่า Boudoir ที่มีความหมายถึงห้องส่วนตัวหรือห้องนอนของผู้หญิง ที่มีความซุกซนและขี้เล่นอยู่ในตัวเอง เต็มไปด้วยความน่ารักแต่แฝงไปด้วยความมีเสน่ห์

การก้าวเข้ามาทำงานของสา ได้เกิดจากความมุ่งมั่นและตามความฝันของเธอมาตลอด แม้ว่าในตอนเด็กๆ อาจจะแอบฝันเอาไว้ว่าอยากเป็นอินทีเรียดีไซน์

“ตอนเด็กอยากเป็นอินทีเรียดีไซน์ เพราะเราเป็นคนชอบแต่งบ้าน ชอบทำงานอะไรเกี่ยวกับศิลปะ ตอนนั้นก็เลยคิดอยากจะเป็นอินทีเรีย แต่พอโตขึ้นเราก็เริ่มรับรู้ว่าเราเป็นไม่ได้ เพราะเราเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยเก่ง มันก็เลยไปยากนิดหนึ่ง แต่ยังไงเราก็ยังชอบงานศิลปะอยู่ดี ชอบแฟชั่น รักการแต่งตัว จึงมุ่งมั่นที่จะทำงานในด้านศิลปะ”

“สาเรียนศิลปะมาตั้งแต่ยังเด็กแล้วค่ะ เรียนอยู่กับอาจารย์ให้อาจารย์สอนวาดรูปทุกวัน ออกไปวาดรูปข้างนอกบ้าง จนวันหนึ่งอาจารย์เอารูปที่สาวาดไปส่งประกวดก็ได้รางวัลกลับมา ”

นอกจากผลงานในวัยเด็กแล้วในช่วงที่เธอเรียนอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกมัณฑนศิลป์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้เล่าถึงความประทับใจที่เป็นเสมือนใบเบิกทางในการก้าวเข้าสู่ถนนแห่งแฟชั่นก็คือการได้รับคัดเลือกในการประกวดโครงการ Thailand Fashion Designers Contest 2005, "A Passion For Design And Style" ของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และในช่วงปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย สาได้มีโอกาสฝึกงานทางด้านออกแบบให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โครงการพัฒนาดอยตุง

“ในช่วงที่สาจบมาตอนแรก ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร วันหนึ่งเพื่อนมาสมัครที่ Disaya แล้วชวนให้สามาสมัครด้วย แต่เราก็ได้เป็นดีไซเนอร์ที่ Disaya สาเองก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงเลือกสา แต่พอมาทำงานเริ่มเข้าใจว่า การทำงานของเราเองเป็นไปในทิศทางเดียว มีความเป็น เฟมินิน คล้ายกัน”

ถ้าไม่ได้เป็นดีไซเนอร์เธอบอกกับเราว่าอย่างไรก็ตามก็จะไม่ละความพยายามที่จะเป็นดีไซเนอร์ อย่างที่ตัวเองได้ฝันเอาไว้ตั้งแต่แรก

2.

นอกจากการออกแบบชุดชั้นในแล้ว เธอยังเป็นดีไซเนอร์มือขวาในการออกแบบเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ Disaya ที่ขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในเหล่าบรรดาเซเลบริตีชื่อดังในยุโรป

“หากให้พูดถึงความแตกต่างระหว่างการออกแบบชุดชั้นในกับเสื้อผ้าต่างๆ แล้ว มันก็ยากง่ายต่างกันไปคนละแบบ ชุดชั้นในเองจะมีความยากตรงที่ต้องละเอียดอ่อน เพราะว่าผู้หญิงใส่ไว้แนบเนื้อ และต้องทำให้ผู้หญิงเองรู้สึกสบาย เนื้อผ้าต้องไม่กระด้าง ซึ่งเราก็ต้องเป็นหนูทดลองของตัวเองก่อนว่ารู้สึกยังไง มันเป็นเรื่องที่ต้องลองกันนานกว่าจะได้ออกมาแต่ละตัว”

สิ่งสำคัญในการออกแบบชุดชั้นในก็คือ ไซส์ เพราะผู้หญิงแต่ละหุ่น ไซส์หน้าอกก็จะไม่เหมือนกัน ต้องให้หลายๆ คนมาทดลอง แค่ผิดพลาดนิดเดียวก็ต้องเอากลับมาแก้ใหม่ โครงเสื้อผิดรูปก็ต้องเอามาทำใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และเราเองก็ต้องคิดตลอดว่าจะต้องทำอย่างไรให้คนใส่ใช้ได้นานที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจกับมันอย่างมาก”

หลากหลายรูปแบบของชุดชั้นใน ยังคงต้องการความเป็นแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโทนสี รูปทรง สังเกตได้ว่าผู้หญิงในปัจจุบันไม่จำเป็นจะต้องกังวลในเรื่องของหน้าอกเสียเท่าไหร่ เนื่องจากการเสริมด้วยการเลือกชุดชั้นในให้เหมาะกับตัวเองก็ทำให้สาวๆ รู้สึกมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น

“เดี๋ยวนี้วิวัฒนาการในการออกแบบชุดชั้นในมีวิวัฒนาการไปไกลเหมือนกัน เมื่อก่อนอาจจะมองว่ามีเพียงแค่ฟองน้ำธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มมีการเสริมเต้า เสริมในเรื่องของทรงเข้ามาด้วย เริ่มมีการใช้เต้าสำเร็จรูป และการออกแบบก็เริ่มมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น

อาจเป็นทรงตามเทรนด์ เต้าสามเหลี่ยม หรือมีลูกเล่นของลวดลาย และสี ซึ่งสีของชุดชั้นในที่มาแรงในปีนี้ก็คือสีม่วง ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่ยาวไปจนถึงต้นปีหน้า จากนั้นก็จะเป็นสีที่ซอฟต์ลงมาเรื่อยๆ การนำลูกไม้เข้ามาเป็นตัวตกแต่งที่จะทำให้ชุดชั้นในของสาวๆ ดูเซ็กซี่ และมีความเป็นผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ใส่แล้วสามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับสาวๆ ได้”

3

ในทุกๆ ครั้งที่เธอทำงาน ไม่ได้เพียงแค่ออกแบบแล้วจะทำออกมาได้เลย กระบวนการทำมันเริ่มมาจากนิสัยส่วนตัวของเธอเองด้วย

“สาเองเป็นคนชอบสังเกตสิ่งรอบข้าง สังเกตคนแต่งตัว ดูว่าแต่ละคนแต่งตัวยังไง มีบุคลิกยังไง ซึ่งต้องนำเอามาปรับใช้กับการออกแบบของเราด้วย เห็นลวดลายอย่างนั้นจากเสื้อผ้าที่แต่ละคนใส่ ก็เอามาพลิกแพลงดู ลองสเกตช์ ลองวาด ว่าทำออกมาแล้วจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ Boudoir จะมีความเป็นแฟชั่นผสมอยู่ด้วยให้เกิดความลงตัว มันเลยต้องพยายามหาสิ่งแปลกใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ”

โดยส่วนตัวของเหล่าดีไซเนอร์ มักจะชื่นชอบการเดินชอปปิ้งเป็นพิเศษ สาเองก็เช่นเดียวกัน ในวันหยุดหรือวันว่างๆ จากการทำงานเธอมักจะไปเดินตามตลาดมืด ตลาดนัด สวนจตุจักร และรวมไปถึงตามห้างสรรพสินค้าแบรนด์ดังๆ เธอบอกว่าต้องออกไปดูบ้างว่าคนอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว จะได้นำมาปรับใช้ได้

“สาว่าการทำงานในด้านนี้ เป็นด้านที่เราสนใจ เวลาทำไม่ได้มองว่ามันจะเป็นเรื่องยาก เพราะว่าสาเองรักในงานที่ทำมากกว่า บางครั้งอาจจะมีเหนื่อยบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องสนุกดี เหมือนได้ท้าทายในสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ”

หากวันไหนเธอคิดงานไม่ออกแรงบันดาลใจที่ดีของเธอก็คือการออกไปเปิดหูเปิดตา ไปห้องสมุด เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้เอาไว้ และจะต้องทำงานให้หนักมากขึ้นกว่าเดิม มองสิ่งต่างๆ ให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้มีไอเดียใหม่ๆ ในการออกแบบ

4

หลายคนอาจจะมองว่าดีไซเนอร์ส่วนใหญ่มักมีความมั่นใจและเป็นตัวของตัวเองสูง เธอกลับบอกว่า อันที่จริงดีไซเนอร์ก็ไม่ได้มีความมั่นใจสูงไปเสียทุกคนอย่างตัวเธอเอง กลับเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองมากเท่าไหร่ เป็นคนค่อนข้างเงียบๆ สบายๆ ไม่ค่อยชอบอะไรที่หวือหวา

“สาเองเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองมากเท่าไหร่ แต่เป็นคนใจร้อนมาก ตอนนี้ก็เริ่มเบาๆ ลงบ้างแล้ว อาจเป็นเพราะเราโตขึ้นด้วย ทำให้ใจเย็นขึ้น คิดสะว่าเราเองก็ต้องคิดถึงคนอื่นด้วยเหมือนกัน ใจร้อนไปก็อาจจะทำให้ทะเลาะกันไปเปล่าๆ แต่ก็เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีนะ (หัวเราะ) ”

การเดินทางท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในการพักผ่อนที่สาเองชื่นชอบมาก เธอเล่าว่าการไปเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อครั้งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีเลยทีเดียว เนื่องจากเธอได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น และมีโอกาสได้เดินทางด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ออกไปเที่ยวกับครอบครัว หรือกับเพื่อนๆ

“สาเป็นคนชอบเดินเล่นไปเรื่อยๆ มีโอกาสได้ไปเดินเล่นที่ญี่ปุ่น ไม่จำเป็นต้องไปชอปปิ้งอย่างที่เราชอบอย่างเดียว บางทีไปไม่ได้อะไรกลับมา แต่ไปเพราะไปดูผู้คน ดูการแต่งตัว สังเกตว่าเขาทำอะไรกันบ้างไปถึงไหนกันแล้ว มันเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่ง ที่ได้ไปผจญภัยด้วยตัวเอง”

******************
ภาพโดย  วรงค์กรณ์  ดินไทย







กำลังโหลดความคิดเห็น