ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในวงแคบๆ ของสังคม และดูเหมือนเป็นหนทางอีกยาวไกลของกลุ่มเพศที่ 3
ซึ่งในขณะนี้ หลังจากคณะกรรมการแพทยสภาได้พิจารณาเห็นชอบข้อบังคับแพทยสภา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จึงได้เชิญศัลยแพทย์ที่เกี่ยวข้องมารับทราบถึงหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่งมีความประสงค์จะทำศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้เป็นไปตามสภาพจิตใจที่ตรงกับตนเอง แต่เนื่องจากกระบวนการในการผ่าตัดแปลงเพศนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และสังคม ของตัวผู้ป่วยเอง และยังส่งผลกระทบในข้อกฎหมายด้วย
รายละเอียดข้อบังคับของแพทย์สภาที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้ มี 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1.การประเมินคนไข้ ว่ามีความพร้อมสมควรได้รับการผ่าตัดหรือไม่ ทั้งร่างกายและจิตใจ 2.การเตรียมคนไข้ ซึ่งต้องทำอย่างน้อย 1 ปี ดูเรื่องของสภาพจิตใจเป็นหลัก 3.การผ่าตัด และ 4.การติดตามผลหลังการผ่าตัด สำหรับแพทย์ที่สามารถดำเนินการผ่าตัดแปลงเพศได้นั้น ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภา และต้องเป็นศัลยแพทย์
นอกจากนี้ การผ่าตัดแปลงเพศทำให้แก่ผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และผู้ที่มีเกณฑ์อายุระหว่าง 18-20 ปี การผ่าตัดต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 126 ตอนพิเศษ 77 ง วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552
และแล้ว ท้ายสุดเมื่อหมอลงมีดผ่าตัดทำให้เขากลายเป็นเธอทั้งร่างกายและจิตใจจนครบสมบูรณ์แล้ว เธอเหล่านั้นจะได้รับสิทธิแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร ก็ยังคงมีปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย เช่น เอ๊ะ!!! หน้าตาก็ผู้หญิง มีหน้าอก มีอะไรๆ เหมือนผู้หญิงทุกประการ แล้วทำไมคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชนและหลักฐานทางราชการอื่นๆ เป็น ‘นาย’ ล่ะ สิ่งนั้นก็จะเป็นปัญหาสำหรับคนกลุ่มนี้ และอาจจะสร้างความสับสนให้แก่คนในสังคมก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จึงเป็นภารกิจของผู้ที่เล็งเห็นและให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนในการร่างพระราชบัญญัติที่ว่าด้วย บุคคลเพศที่ 3 หรือบุคคลที่มีเพศหลากหลายที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน
ความเข้าใจต้องมาก่อนกฎหมาย
“หากจะว่ากันจริงๆ แล้วการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มันจะยิ่งทำให้เขาดูแตกต่างกับบุคคลทั่วๆ ไป แต่อย่างว่าสังคมในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความไม่รู้ และไม่เข้าใจ เพราะคิดว่ามนุษย์มีแค่ผู้หญิง กับผู้ชายเท่านั้น” นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ 3 ให้ทัศนะเกี่ยวกับความพยายามที่ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยบุคคลเพศที่ 3 หรือบุคคลที่มีเพศหลากหลาย
ที่ผ่านมา สังคมไทยส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจการมีอยู่ของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งไม่ต้องเป็นเฉพาะคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงคนที่มีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานทางสังคมได้ ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นมากมาย เช่น เวลาบุคคลเพศที่ 3 ไปทำหนังสือเดินทางที่สถานกงสุล ซึ่งต้องนำหลักฐานบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านไปด้วย เวลาถ่ายรูปก็จะบังคับให้ตัดผมสั้น ใส่สูท ทำให้ดูเป็นผู้ชาย หรือจะเป็นกรณีที่เวลาบุคคลเหล่านี้ไปเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ผ่าน ทหารที่ดูแลก็จะระบุว่าเขามีจิตไม่ปกติ
“จริงๆ แล้วมนุษย์เราเนี่ยเกิดมาเสรีภาพนะ แต่ทุกวันนี้เราที่เป็นหญิงเป็นชายกัน ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ จะเป็นอย่างนั้นรึเปล่า แต่ที่แน่ๆ ก็คือพ่อแม่บอกว่าเป็นอย่างนั้น เป็นแบบที่สังคมต้องการ เรามีโอกาสเลือกจริงๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งสำหรับตัวเองแล้ว คนหลากหลายทางเพศนั้นน่ายกย่องมากนะ เพราะเขามีความกล้าหาญที่จะแหวกกฎเกณฑ์ประเพณี และตัวของเขาเอง”
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวว่าการออกกฎหมายอาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่ผิด เพราะเมื่อมีกฎหมายออกมา ก็เท่ากับสังคมยอมรับการมีอยู่ของคนเหล่านั้น ยอมรับว่ามนุษย์ไม่ได้มีเพียงแค่หญิงหรือชายเท่านั้น
แต่ก็นั่นแหละบางทีการทำแบบนี้ก็อาจจะเป็นผลเสียได้เหมือนกัน เพราะหากจะว่าไปแล้ว กฎหมายเพียงแค่ฉบับเดียว มันสมควรแล้วเหรอที่จะนำมาบังคับใช้กับคนเพศที่ 3 ทั้งหมด เพราะความจริงแล้ว กฎหมายทั่วไปก็ต้องรับรองสิทธิ์ และสถานภาพให้แก่บุคคลทุกคนที่มีสถานภาพสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
“การออกกฎเกณฑ์อะไรสักอย่างก็ต้องออกมาให้เป็นที่รับรู้ของคนที่ได้รับผลกระทบ ให้เขามีโอกาสได้ตัดสินใจด้วย คือที่ผ่านมาตอนนี้คนออกกติกา เขาให้คนมารับรู้แค่ไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่ม แต่ความจริงแล้วมันไม่พอ เนื่องจากคนที่มีความหลากหลายทางเพศมันมีหลายกลุ่มมาก ทั้งกลุ่มชนชั้น กลุ่มที่มีความแตกต่างกันทางด้านการศึกษา สถานะ วัฒนธรรมทางสังคม เพราะฉะนั้น ทางที่ดีเราก็ควรเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มมาให้ข้อคิดเห็นด้วย ไม่เช่นนั้นคนที่ไม่มีโอกาสทางสังคม เขาจะไม่ได้แสดงความคิดเห็นเลย”
บางกอกเรนโบว์เชียร์ ‘พ.ร.บ.เพศที่ 3’
นิกร อาทิตย์ ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนของชาวเกย์และเพศที่ 3 ในฐานะองค์กรเขาแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการคือ กฎหมายที่รองรับการเปลี่ยนคำนำหน้านาม
“กลุ่มเพศที่ 3 เราต้องการเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามจากนายเป็นนางสาว จะพบปัญหานี้มากที่สุด เพราะว่าส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ต้องการและได้รับความเดือดร้อนก็จะเป็นกลุ่มสาวประเภทสอง โดยเฉพาะเวลาเดินทางไปต่างประเทศก็จะมีปัญหาทุกครั้ง ต้องแสดงเอกสารเยอะแยะไปหมด และถูกกักตัวเพื่อสอบสวนเป็นพิเศษนานกว่าคนทั่วไป” นิกรยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นให้ฟัง
ส่วนในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ ที่ปัจจุบันนี้ทางคณะกรรมการแพทยสภาได้แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาข้อบังคับแพทยสภา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์ไม่แน่ใจว่าใน พ.ร.บ.จะครอบคลุมกฎหมายเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศของเพศที่ 3 ด้วยหรือไม่
“ในต่างประเทศมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับเพศที่ 3 ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งงาน ทั้งที่อนุญาตให้แต่งงานเป็นเพศเดียวกันได้ การเปลี่ยนคำนำหน้านามเขาก็ใช้หมดแล้ว เขาก็มีการอนุญาตให้เปลี่ยน ในเอเชียนี่ก็มีบางประเทศอนุญาตให้เปลี่ยนแล้ว ใช้ได้
“แต่ว่าในเรื่องกฎหมายอื่นๆ ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปออกเป็นกฎหมายแยกจากคนทั่วๆ ไป เพราะว่ามันน่าจะเป็นกฎหมายที่ใช้โดยส่วนรวมของคนทั้งประเทศ ยกเว้นจะมีบางเรื่องที่มันมีอะไรที่พิเศษ ที่กลุ่มนี้เขาได้รับความเดือดร้อน หรือว่ามีอะไรที่แตกต่างจากคนทั่วไปแล้วยังไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนทั่วไป ตรงนั้นน่าจะมี พ.ร.บ.ออกมารองรับ”
นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะเริ่มมีการผลักดันออกมาเป็นรูปเป็นร่างเป็นกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่การทำงานของกลุ่มองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้และสิทธิมนุษยชน เริ่มมองเห็นปัญหาของคนกลุ่มนี้แล้วก็เริ่มแก้ปัญหาหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายการข่มขืนที่ออกมารับรองเรื่องของการข่มขืนระหว่างชายกับชายว่าเป็นความผิด เริ่มเป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องของกฎหมายที่มีความครอบคลุมในทุกด้านมากขึ้น คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
“ในสายตาของชาวโลกอาจมองประเทศไทยว่ามีการเปิดกว้างทางสิทธิเสรีภาพของกลุ่มเพศที่ 3 อย่างเด่นชัด มีการยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ก้าวล้ำไปกว่าประเทศอื่น ถึงแม้ว่าบางเรื่องปัญหาอาจจะยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งหมด พ.ร.บ.ตัวนี้ก็อาจจะดูว่ากลุ่มคนพวกนี้เขามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็ยกมาคุยกันในกลุ่มวงกว้างในสังคมอีกที ว่าควรจะมีอะไรที่จะมารองรับ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเฉพาะคนกลุ่มนี้ น่าจะเปิดกว้างหลายๆ กลุ่มด้วย ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมที่ถูกมองข้าม ทำให้สิทธิเสรีภาพของเขาเท่าเทียมกับคนทั่วไป” นิกรกล่าวทิ้งท้าย
เกิดเป็นชายกลายเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก
เขมกรณ์ นพเคราะห์ Advertising นิตยสาร Hello Star หญิงในร่างชายหรือที่ใครๆ เรียกว่า ‘กะเทย’ แสดงทัศนะเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.เพศที่ 3 ว่า อยากให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากนายเป็นนางสาว หลังจากที่กะเทยคนนั้นมีการผ่าตัดแปลงเพศไปแล้ว เนื่องจากเวลาเดินทางไปต่างประเทศ หรือใช้เอกสารสิทธิต่างๆ จะได้สะดวกราบรื่น
“เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.เพศที่ 3 ที่เกิดขึ้นมานะ เพราะจะได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อหลังจากที่มีการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว เมื่อเรากลายเป็นผู้หญิงเต็มตัวเราก็อยากจะใช้นางหรือนางสาวเหมือนผู้หญิงทั่วไป”
นอกจากการอยากให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อแล้ว สิทธิเสรีภาพเหมือนผู้หญิงทั่วไปอื่นๆก็ย่อมตามมา เธอเสนอว่าควรจะอนุญาตให้เธอเหล่านั้นสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ไม่เพียงแต่สิทธิที่เธอต้องการในแง่ของตัวกฎหมาย แต่ในเรื่องของการยอมรับในสังคมและการปฏิบัติต่อกลุ่มคนเพศที่ 3 ก็ยังถือเป็นเรื่องที่พวกเธอต้องการเรียกร้องต่อสังคมเช่นเดียวกัน
“น่าจะมีการคุ้มครองการจำกัดสิทธิเสรีภาพของกลุ่มเพศที่ 3 ด้วยนะ ถึงแม้ว่าสมัยนี้สังคมเปิดกว้างยอมรับคนกลุ่มนี้มากขึ้นแต่ก็ยังมีการถูกกีดกันและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างเต็มร้อยนัก เช่น การรับเข้าทำงาน บางบริษัทเมื่อเห็นว่าเป็นกะเทยมาสมัครก็จะไม่เปิดโอกาสให้เลย ซึ่งความจริงกะเทยก็มีความสามารถไม่แพ้ชายจริงหรือหญิงแท้หรอก จึงอยากจะให้สังคมเปิดกว้างตรงนี้ด้วย”
ครั้งหนึ่งเขมกรณ์เคยไปบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ปฎิเสธที่จะรับเลือดจากเธอ โดยให้เหตุผลว่า เธอเป็นกลุ่มเพศที่ 3 และมีความเสี่ยงในการติดโรค
ว่ากันมาถึงหน้าที่หลักของชายไทยที่เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วก็ต้องเข้ารับการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร แล้วชายไทยที่หัวใจหญิง หรือบางคนอาจจะร่างกายเป็นหญิงแล้วบางส่วน จะทำอย่างไรกับกฎเกณฑ์ของสังคมข้อนี้
เขมกรณ์กล่าวว่า มันเป็นหน้าที่ของชายไทยที่ต้องเข้าไปรับการเกณฑ์ทหารอยู่แล้ว ใครที่ยังไม่มีการผ่าตัดแปลงเพศก็ควรเข้าไปคัดเลือก แต่ในเรื่องของการปฏิบัติต่อเพศที่ 3 ก็ควรจะมีการแบ่งแยกจากชายแท้ทั้งมวลด้วย
“ตอนเราไปเกณฑ์ทหารนะ เจ้าหน้าที่เขาก็ค่อนข้างให้เกียรติเราด้วย คือไม่ให้เราถอดเสื้อเหมือนผู้ชายทั่วไป ให้นั่งแยกต่างหาก ซึ่งสุดท้ายเราก็ไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปจับใบแดงใบดำนะ เพราะเขาให้เหตุผลว่า เรามีหน้าอกผิดรูป”
..........
ถึงแม้ว่าท้ายสุดแล้ว พ.ร.บ.เพศที่ 3 จะถูกประกาศใช้อย่างจริงจังในสังคมไทย แต่หลักสำคัญของเนื้อหาในนั้นควรเป็นสิ่งที่ให้ความเป็นสิทธิของมนุษย์เพศที่หลากหลาย นอกเหนือจากเพศชายหรือเพศหญิง ที่เรารับรู้กันอยู่เพียงแค่นั้น
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK