"หนังไทยทำได้แค่นี้แหละ มีแค่ผี รัก ตลก บทขาดๆเกินๆ..." หลากหลายคำวิพากษ์วิจารณ์หนังไทยในยุคนี้ แต่สำหรับ “วิสูตร พูลวรลักษณ์” ผู้คุ้นเคยกับหนังไทยมากว่า 27 ปี และกับอีก 5 ปี และย่างเข้าสู่ปีที่ 6 ของจีทีเอช ค่ายหนังที่เกิดจากการรวมตัวของแกรมมี่ ฯไท เอ็นเตอร์เทนเม้นต์และหับโห้หิ้นฯ เติบโตมาในแบรนด์ที่ต้องบอกว่า มีหนังสไตล์ตัวเองที่แม้ว่าไม่มีบู๊ แอ็กชันแบบ จาพนม หรือหนังเซ็กส์หวือหวา
บังเหียนใหญ่อย่างวิสูตร บอกแบบเต็มคำว่า "ไม่คิดทำหนังที่ทำไม่เป็น ผมชอบหนังแอ็กชันแต่มันมีข้อจำกัดเยอะ จะหาคนที่เก่งด้านบู๊ไม่ใช่แค่เอาคนหน้าตาดีมาเตะต่อย ต้องมีความสามารถจริง ส่วนหนังเซ็กซ์ คนจีทีเอชไม่ชอบอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่ชอบเรื่องเซ็กซ์นะ แต่ไม่อยากเอามาปนกับงาน อีกอย่างถ้าจะทำจริงมันต้องมีศิลปะ เนื้อเรื่องต้องดีจริง"
เมื่อพูดถึงความสำเร็จของจีทีเอช มีทั้งส่วนที่เขาสมหวังในแง่ของ "แบรนด์" ที่เหนือความคาดหมาย คนดูหนังไทยจดจำหนังสไตล์จีทีเอชได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เขาคาดหวังมากกว่านั้นคือความเสถียรที่จะทำหนังให้สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในจำนวนที่มากขึ้น
"กว่าจะทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราเคี่ยวมาก โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะอนุมัติเรื่องหนึ่ง ความพอใจ 80เปอร์เซ็นต็ ก็ผ่าน ปัจจุบันต้องใกล้ร้อยเลย ถึงจะทำ แรกเริ่มเดิมทีเราก่อตั้งกันในปี 2547 เนี่ย เราก็ลองผิดลองถูก มีทั้งหนังทำเงินและไม่ทำเงิน คละกันทุกปี จนปี 2550-2551 เราเริ่มจับทางได้ เราชัดเจนขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราได้มาแบบไม่เคยคาดคิดมาก่อนคือ เรื่องของแบรนด์ ความเชื่อ คนดูหนังแล้วถ้าเป็นแบรนด์ของจีทีเอชเนี่ย ความเชื่อมันจะเกิด สิ่งนี้เราไม่ได้คาดหวังมาก่อน อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แล้วเราก็พยายามที่จะรักษาคุณภาพในการทำงานให้มันอยู่ในระดับที่ผู้ชมพอใจ"
"สิ่งที่ยังไปไม่ถึงคือ อะไรหลายๆอย่างในความเป็นหนังที่ผมรู้สึกว่ามันมีความยากอยู่ จำนวนการผลิต มันต้องเพิ่มขึ้น แต่หนังมันคือธุรกิจเฉพาะที่มีความหินในตัวมันอยู่" วิสูตรทิ้งท้ายแบบนั้นหลังจากที่หลายคนสงสัยว่าเหตุใดหนังของจีทีเอชจึงออกฉายปีละ4-5 เรื่องเท่านั้น
หากใครจะมองว่า GTH ทำหนังตลาด วิสูตรก็จะบอกว่ามันไม่ใช่ตลาดแบบรากหญ้าแต่อย่างใด แต่ในแง่ของหนังอาร์ต หรือหนังที่เข้าถึงยากเจ้าตัวบอก รสนิยมคนดูคือเรื่องสำคัญที่สุด
"หนังอาร์ตมันคือเป็นเรื่องของรสนิยม ผมว่าทุกวันนี้ หนังของจีทีเอชทำมันก็มีหนังอาร์ตอยู่ประมาณหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราคงไม่ได้อาร์ตแบบจัดๆ ผมว่าคนดูเองก็ยังไม่พร้อมที่จะดูหนังแบบนั้น"
แต่ในกรณีที่ผู้กำกับในค่ายอยากทำหนังที่ต้องการ เขาบอกกับ M-Entertain ว่าสำหรับเขาแล้วจะมีเหตุผลให้แก่โปรเจกต์ที่ไม่ผ่านเสมอ
"มันอยู่ที่สายของใคร ใครเป็นโปรดิวเซอร์ สมมติเขาไปบอกคุณเก้ง (จิระ มะลิกุล) คุณเก้งก็จะมีวิธีการบอกแบบของเขา ถ้ามาทางผมเราก็มีวิธีบอกของผม ถ้าสมมติว่าผมคิดว่ามันไม่ใช่ ผมก็จะบอกเขาตรงๆ คนที่เสนอบทมา ผมจะไม่ส่งกลับเรื่องไปเฉยๆ โดยไม่บอกเหตุผล ไม่ผ่านเพราะอะไร เราต้องบอก ผมค่อนข้างชัดเจน"
ส่วนหนังฟอร์มยักษ์ภายใต้บ้านจีทีเอช อาจไม่บังเกิดขึ้นให้เราได้เห็น... "ภาวะการลงทุน ณ วันนี้ยังไม่เอื้ออำนวยให้ไปคิดหนังฟอร์มระดับใหญ่ๆ ย้อนไป 5-6 ปีก่อนเราเองก็ไม่เคยคิดจะทำหนังฟอร์มใหญ่ เพราะว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่อยากให้ทุนร้อยหรือสองร้อยล้าน เงินทุนจะเอาจากไหนก็ปวดหัวแล้ว เราพยายามเลือกทำที่เราทำได้ และทำได้ดี”
ในส่วนของรายได้ที่จีทีเอช พูดง่ายๆคืออย่างมากเสมอตัว แต่เมื่อเฉลี่ยโดยรวมแล้ว วิสูตรเชื่อว่ายังถือว่าสามารถทำธุรกิจได้อย่างปลอดภัย และสำหรับเขา สิ่งที่คาดหวังมากกว่าการผลิตหนังให้มีปริมาณมากขึ้นควบคู่กับคุณภาพ นอกจากนั้นคือการทำให้คนทำหนัง มีอาชีพที่เขารักและอยู่ได้ในชีวิตจริงได้
"เราอยากทำหนังให้มันเป็นอาชีพให้ได้ เพราะว่าผมเองเคยประกาศตอนที่รวมตัวกับจีทีเอชใหม่ๆ ผมจะบริหารงานแบบแนวดิ่ง ทำหนังแบบจริงจังแล้วเชิงลึก ไม่มีแนวนอน จะขยายทำนั่นนี่ผมไม่ทำแบบนั้น ผมอยากให้คนที่อยู่ที่นี่อยู่ได้กับสิ่งที่เขารักจริงๆ ถ้าผมสามารถทำให้หนังมันคืออาชีพได้ เด็กเหล่านี้อยู่ได้จริง มีโบนัส มีผลประกอบการที่ดี เขาสามารถได้ปรับเงินเดือน ไม่ใช่ขึ้นๆลงๆ ทำให้มันเสถียรกว่านี้ ผมจะแฮปปี้มาก"
ก่อนที่เขาจะเอ่ยถึงเส้นทางหนังไทยที่เขาสัมผัสมากว่า 27 ปีว่า หนังไทยไม่เคยเติบโตแบบก้าวกระโดดแต่ค่อยเป็นค่อยไปในทุกๆด้าน
"หนังไทยมันไม่เคยมีก้าวกระโดด มันจะเฉียงๆออกข้าง เวลามันเดิน มันเดินทีละสเต็ปบางทีขึ้นสองขั้นลงหนึ่งขั้น แล้วก็ไปข้างหน้าอีกขั้น ขึ้นสองขั้น แถวๆนี้ ไม่มีทางกระโดดพรวดไปเยอะ”
ในวันที่มีคนไทยหลายกลุ่มที่ดูหนังไทย และผิดหวังกับหนังไทยในหลายๆเรื่อง แต่วิสูตรในฐานะคนผลิตหนัง และดูหนังส่วนตัวเขาเชื่อว่าหนังไทยสไตล์เขาไม่แพ้ใคร เพียงแต่ภาพรวมอาจยังสู้ต่างชาติไม่ได้เท่านั้น... " ถ้าพูดแบบไม่เข้าข้างตัวเอง เราไม่ได้ด้อยกว่ามาตรฐาน เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราสู้เขาไม่ได้คือน่าจะเป็นภาพรวมมากกว่า ภาพรวมของเราเมื่อเรามามัดทั้งก้อน คุณภาพของเราทั้งก้อนมันไปเทียบของเขาทั้งก้อนไม่ได้เท่านั้นเอง”
ส่วนเรื่องเรตหนังที่เพิ่งจัดได้เดือนเศษๆนั้นเจ้าตัวบอกว่าเห็นด้วยกับการจัดเรตหนัง ในแง่ผู้ผลิตยิ่งเข้าทาง เพียงแต่กังวลเรื่องของความเหมาะสมของคณะกรรมการในการพิจารณาเท่านั้นว่าจะมีปัญหาหรือไม่ในอนาคต
"จริงๆในแง่หลักการ เรตติ้งคือสิ่งที่ดี ควรสนับสนุน ที่ไหนในโลกเขาก็มีเรตติ้งกัน มันจะยุ่งในปีสองปีแรก แต่พอมันเริ่มเข้าที่เข้าทางเรตติ้งเหมาะสมที่สุด มันคือการเปิดโอกาสให้คนทำงานได้เลือกที่ทางของตัวเอง แต่สิ่งที่น่าสังเกตมันอยู่ที่ว่าที่ช้อยส์มาเป็นเรตมันเยอะไปหรือเปล่า มัน 7 เรต เยอะไปมั้ย นี่คือสิ่งที่ต้องจับตาดู"
"ข้อสองคือคณะกรรมการที่เข้ามาตรวจพิจารณาเรต เราต้องยอมรับว่าใหม่มากสำหรับคณะกรรมการเหล่านี้ เขาจะให้ความเหมาะสมและยุติธรรมกับเรตของหนังแต่ละเรื่องอย่างไรเท่าที่ผ่านมาตั้งแต่สิงหาถึงตอนนี้ 1 เดือนเศษยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อไป ไม่แน่”
ภาพโดย วรงค์กรณ์ ดินไทย