xs
xsm
sm
md
lg

สองสิงห์ชิงอำนาจ และการผงาดของสิงห์ขาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในที่สุด ยุคของสิงห์ดำ-สิงห์แดงที่ยึดครองกระทรวงคลองหลอดมาแสนนานก็มีอันสะดุดในยุค ‘ห้อยอุ้มหล่อ’

เมื่อ มานิต วัฒนเสน อดีตศิษย์เก่าจากคณะศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ ‘สิงห์ขาว’ ได้แรงดุนหนุนส่งจากห้อยร้อยยี่ให้ขึ้นแท่นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรกที่ไม่ได้มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สิงห์ดำ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สิงห์แดง

เป็นที่รู้กันว่ากระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมาคือเวทีประลองกำลังของสิงห์แดง-สิงห์ดำ กลายเป็นวัฒนธรรมรุ่นพี่ดันรุ่นน้อง ถ้าสีไม่ใช่ ไม่เหมือนก็อย่าหวังว่าจะได้ขยับไปไหน ไม่ก็ต้องรอนานกว่าปกติ ทำให้ตำแหน่งปลัดกระทรวงคลองหลอดกลายเป็นสมบัติผลัดกันชมของสิงห์สองสี ชวนให้นึกว่าถ้าสถาบันเก่าแก่ยังเล่นพวกเล่นพ้องกันขนาดนี้ก็น่าเศร้าใจแทนประเทศชาติอยู่เหมือนกัน

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่า สองสิงห์ชิงตำแหน่งกันอย่างไร เราจึงไปเสาะหาคนที่เคยอยู่ท่ามกลางสมรภูมิ เรียกว่ารู้ลึก รู้จริง เรื่องสิงห์สองสีแห่งมหาดไทย ให้ช่วยเล่าความเป็นมาให้ฟัง และหนึ่งในนั้นคือ ประมวล รุจนเสรี อดีตอธิบดีกรมการปกครองและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประมวลเล่าว่า คณะรัฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นในปี 2490 พอปี 2491 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงเกิดตามมา วัตถุประสงค์ของการตั้งคณะรัฐศาสตร์ในตอนนั้นก็เพื่อมาเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง

“พอดีว่ารุ่นต่างกันแค่ 1 รุ่นก็เลยมาเข้าปลัดอำเภอพร้อมกัน จึงมีการชิงดีชิงเด่นกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกกันมาตั้งแต่ปี 2490 กว่า การรับราชการของทั้งสองสิงห์จึงไล่มาติดๆ กัน รับราชการก็ชั้นตรี ชั้นโท ไล่กันมา ผมพอเข้าไปก็ไม่คิดว่าจะต้องเจอปัญหานะ แต่พอไปเป็นปลัดอำเภอตรีครั้งแรกในชีวิต ผมก็เจอปัญหาเรื่องสีทันที เพราะปลัดอำเภอผู้บังคับบัญชาผม คิดว่าผมเป็นสิงห์ดำ เขาก็ต้อนรับอย่างดี แต่พอรู้ว่าผมเป็นสิงห์แดง เขาพลิกเลย ปฏิบัติต่อผมเหมือนกับร่วมงานกันไม่ได้”

นอกจากนี้ สมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองสิงห์ก็เข้ามาร่วมวงด้วย โดยจะคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลรุ่นน้องๆ ที่อยู่ในกรมการปกครอง มีการตั้งทีมเพื่อคอยสอดส่องว่าคนไหนเป็นดาวรุ่ง ถ้าต่างสี ต่างค่ายก็จะถูกสกัดไม่ให้ก้าวหน้าด้วยวิธีทั้งใต้ดิน บนดิน ใช้บัตรสนเท่ห์โจมตี

“ทั้งสิงห์แดงและสิงห์ดำจะมีทีมอยู่ทีมหนึ่งคอยดูว่าเด็กคนไหนจะขึ้นมา ถ้าทางฝ่ายไหนมีใครเด่น เขาก็จะหาทางสกัดหรือทำให้ล่าช้าออกไป ไม่ให้ขึ้นมา ขณะเดียวกัน เมื่อถึงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมการปกครอง สมาคมศิษย์เก่าก็มักจะเข้ามายุ่งเกี่ยว รุ่นพี่ต้องการจะให้รุ่นน้องได้ตำแหน่ง ใช้วิธีการต่างๆ อย่างถ้าสิงห์แดงเป็นปลัดกระทรวง ทีมของปลัดกระทรวงก็จะคอยดูพวกสิงห์ดำ เว้นแต่ข้าราชการคนนั้นสามารถเข้าถึงนักการเมืองได้ และนักการเมืองชี้ตัวลงมา แบบนี้ก็จะไม่สามารถสกัดกั้นได้ ซึ่งมันน่าจะจบได้แล้ว”

อะไรที่ทำให้สิงห์ดำ-สิงห์แดงผูกขาดมหาดไทย เหตุผลที่ไม่ซับซ้อนก็คงอยู่ที่เป็นสถาบันสองแห่งแรกที่มีการสอนวิชารัฐศาสตร์ เรียกว่ามาก่อนคนอื่น จึงทำให้สองสิงห์เข้าไปยึดครองมหาดไทยมาตั้งแต่ต้น การแย่งชิงตำแหน่งก็เป็นเรื่องของพวกบิ๊กๆ ของทั้งสองสี สิงห์หนุ่มสีอื่นๆ จึงไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“ผมโดนเรื่องสีมามาก ผมต้องใช้เวลา 8 ปีกว่าจะได้เป็นผู้ว่าฯ เพราะเรื่องสี ผมทราบดีว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ ไม่ควร แม้แต่การชิงตำแหน่งสำคัญในตอนหลัง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะมีเครือข่ายของสีเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนกับที่วันนี้สิงห์ขาวขึ้นมาก็จะมีการวางเครือข่ายกันไว้เหมือนกัน ถ้าไม่ใช่สิงห์ข่าวก็จะค่อนข้างอับโชคนิดหนึ่ง จะขึ้นมาได้แต่ละทีมันยากเย็นแสนเข็ญ เขาจะวางฐาน วางอำนาจคนไว้ มันก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป พวกสิงห์ดำ สิงห์แดงก็จะหมดรุ่นไป แน่นอนที่สุดแล้วว่าต่อไปคู่กรณีจะกลายเป็นสิงห์ทองกับสิงห์ขาว ถ้าระบบยังเป็นอย่างนี้ต่อไป”

ไม่ต่างจากคำบอกเล่าของข้าราชการปกครองที่เป็นอดีตสิงห์แดงผู้หนึ่งกล่าวว่า ในฐานะศิษย์เก่าเขารู้ถึงวัฒนธรรมสิงห์แดง สิงห์ดำ และการแบ่งค่ายต่างๆ ในกระทรวงมหาดไทย ถึงแม้ว่าคนในจะพยายามปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องสี แต่จริงๆ แล้วมันมีอยู่จริง

“มีเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันอยู่ข้างในก็บอกว่าเรื่องสีนี่ยังเข้มมาก เพราะมันมีผลประโยชน์ต่อการก้าวสู่ตำแหน่งของทุกระดับ สมมติว่าหัวเปลี่ยนสีเป็นสิงห์แดง สิงห์ขาว สิงห์ทอง หรือว่าสิงห์ดำ เด็กข้างล่างก็จะได้ขึ้นด้วย เขาใช้คำเรียกว่า ‘ขึ้นเป็นแผง’ ใครขึ้นแล้วก็จะดึงสีนั้นขึ้นไป มันเป็นคอนเนกชัน มันเป็นองค์กรของรัฐ แต่ว่าสุดท้ายมันก็ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง มันเป็นการรับใช้นักการเมือง มันเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ระบบคุณธรรมมันจะหายไปหมด ทำให้คนที่มีความสามารถไม่ได้ขึ้น เพราะติดเรื่องสี เรื่องค่าย”

แต่อดีตสิงห์แดงผู้นี้ยอมรับว่า ข้อดีของระบบสีก็มีอยู่ แม้จะน้อย นั่นคือ ในการทำงานจะคล่องตัวขึ้น หากว่ามีการดึงพรรคพวกตัวเองขึ้นมา แต่ว่ามันจะเป็นผลเสียระดับองค์กรและระดับชาติ ขาดความน่าเชื่อถือ กลายเป็นองค์กรรัฐที่รับใช้การเมือง

“คนดีมันมีอยู่ทุกองค์กร แต่มันน้อย ตอนแรกที่ถูกบรรจุเข้าไปใหม่ๆ ดีจริง แต่พออยู่ไปๆ แล้วความดีตรงนี้มันหลุดหายไปหมด เพราะว่าโดนครอบงำโดยวัฒนธรรมองค์กร ถ้าหากมันมีระบบองค์กรมีวัฒนธรรมที่ดี คุณไม่ต้องแยกค่าย คุณไม่ต้องจบจากที่ไหนเลย ขอแค่คุณมีวุฒิ คุณสมบัติพร้อม คุณก็จับคนใส่ระบบเข้าไปได้เลย มันก็จะรันของมันไปเอง แต่ว่าปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น ซึ่งก็เข้าใจว่ามันเป็นภาพรวมของสังคมไทยที่มีระบบอุปถัมภ์หนุนอยู่เบื้องล่างตลอด”

ไม่ต่างจากมุมมองของประมวล ที่มองว่าปัญหาเกิดจากระบบ ดังนั้น ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่ระบบ

“ระบบราชการทุกวันนี้ ใครเป็นนักการเมืองก็ต้องทำอย่างนี้ เพราะเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ นักการเมืองเข้ามาก็เป็นเพียงผู้กำกับนโยบาย แต่คนที่จะทำให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จคือข้าราชการประจำ เมื่อระบบเป็นอย่างนี้ ความทุกข์ของประชาชนจึงมาอยู่ที่ส่วนกลาง ส่วนกลางจะต้องจัดสรรงบประมาณต่างๆ ลงไปให้ ถ้าข้าราชการประจำไม่ใช่คนของนักการเมือง ก็จะสั่งอะไรไม่ได้ หรือได้ก็ไม่สะดวกใจ สู้หาคนของตัวเองดีกว่า ขณะเดียวกัน ข้าราชการประจำก็ต้องอาศัยนักการเมืองขึ้นมา ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีโอกาส”

ก็ดังที่ประมวลพูด การขึ้นมาของสิงห์ขาวหนนี้ย่อมต้องมีการวางเครือข่ายสิงห์ขาวไม่ผิดแผกจากที่แล้วมา เขาวิเคราะห์อีกว่าเหตุผลหนึ่งที่สิงห์ขาวขึ้นมาได้เป็นเพราะช่วงหลังๆ ศิษย์สิงห์ดำ-สิงห์แดงหันเหสู่ภาคเอกชนมากกว่าที่จะเข้าคลองหลอด เนื่องจากเบื่อการเล่นสี และผลตอบแทนของภาคเอกชนก็ดีกว่า
แต่ใช่ว่าสิงห์รุ่นหลังจะเห็นดีเห็นงามกับวัฒนธรรมสีของสิงห์ไปซะหมด...

“คราวหน้าถ้าอยากได้ก็ลองแย่งคืนมาให้ได้สิครับ แต่ใช้ความสามารถแย่งมานะ” เป็นความเห็นตรงไปตรงมาจาก ‘สิงห์ดำ’ รุ่นเยาว์ กัปตัน จึงธีรพานิช นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมมองว่า ระบบข้าราชการของไทยมีความ ‘ลดหลั่นอำนาจ’ กันอยู่สูง คือ ผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชา อาจจะมีความสามารถสูงกว่าก็ได้ เมื่อต้องฟังคำสั่ง เขาก็ไม่ได้แสดงความสามารถได้เท่าที่ควร จะไปเถียงเขาก็ไม่ได้ ต้องทำตามคำสั่ง แล้วผมก็คิดว่าคงมีการใช้เส้นสายกันบ้างแหละ เพื่อให้ได้ตำแหน่ง”

แล้วคิดยังไง ต่อกรณี สิงห์ดำ-สิงห์แดง เสียเก้าอี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สิงห์ขาว แล้วสิงห์ดำหลายคนรู้สึกว่า...ยอมรับไม่ได้ เพราะเห็นว่าได้ตำแหน่งมาเพราะเป็นคนใกล้ชิดนักการเมืองใหญ่

“ส่วนตัวผม รวมถึงเพื่อนๆ ในคณะ ไม่ได้มีส่วนร่วมในธรรมเนียมที่ว่านี้ ฉะนั้น ถ้าถามผม ผมก็ไม่รู้นะครับว่าเป็นธรรมเนียมที่มีมานานแล้ว แต่ถ้ามีอยู่จริง ก็ไม่ดีครับ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นตำแหน่งที่เปิดรับเฉพาะคนที่มีความสามารถ แล้วสิงห์ขาวได้ตำแหน่ง ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขามาแย่งตำแหน่ง เพราะถ้าคนที่เป็นสิงห์ดำคิดว่าตัวเองมีความสามารถจริง คุณก็ต้องได้ตำแหน่งมาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ได้มาเพราะเหตุผลว่าจบจากสถาบันอะไร”

พยายามมองในแง่ดี อาจถือเป็นการสิ้นสุดยุคการผูกขาดปลัดคลองหลอดของสิงห์สองสี โดยการเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่สีอื่นๆ ในกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นสิงห์ขาว-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิงห์ทอง-มหาวิทยาลัยรามคำแหง สิงห์เขียว-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสิงห์สีอื่นๆ ถ้ามี แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมองในมุมไหน การเล่นสีก็คือระบบอุปถัมภ์อยู่นั่นเอง ซึ่งเป็นระบบที่คอยเหนี่ยวรั้งการก้าวเดินของประเทศมาตลอด

มหาดไทยยุคใหม่ไม่ใช่แดงกับดำแล้ว เพราะสิงห์สีอะไรไม่เกี่ยง ขอให้ทำงานได้เป็นพอ แต่ครั้งนี้...ขอเป็นคิวสิงห์ขาวก่อนแล้วกัน

                                  *******************
 
ทำไมต้องสิงห์
สิงห์ หรือ ราชสีห์ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีกำลัง ดุร้าย และมีอำนาจเหนือกว่าสัตว์ทั้งหลาย ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งสัตว์ป่า สิงห์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและกำลัง

สิงห์ที่ปรากฏในหนังสือ มิลินทปัญหา มีลักษณะ 7 อย่าง คือ 1.เป็นสัตว์ที่สะอาดหมดจดไม่มัวหมอง 2.เที่ยวไปด้วยเท้าทั้ง 4 เยื้องกรายอย่างกล้าหาญ 3.รูปร่างโอ่อ่าสร้อยคอสะสวย 4.ไม่นอบน้อมสัตว์ใดๆ แม้จะต้องเสียชีวิต 5.หาอาหารไปโดยลำดับ พบปะอาหารที่ใดก็กินเสียจนอิ่มในที่นั้นไม่เลือกว่าดีหรือไม่ดี 6.ไม่มีการสะสมอาหาร และ 7.หาอาหารไม่ได้ก็ไม่ดิ้นรน ได้ก็ไม่ทะยานและไม่กินจนเกินต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของข้าราชการที่ถวายงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่นิยมใช้ราชสีห์หรือสิงห์เป็นสัญลักษณ์ เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ และอินเดีย ดังนั้น จึงมีการใช้ราชสีห์หรือสิงห์เป็นสัญลักษณ์ประจำกระทรวงมหาดไทย
(อ้างอิงจากหนังสือ 100 ปี มหาดไทย และ วิกิพีเดีย)

สีของสิงห์
สีของสิงห์ไม่ได้มีแต่สิงห์ดำ สิงห์แดง หรือสิงห์ขาวเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสี เช่น สิงห์ทอง-มหาวิทยาลัยรามคำแหง, สิงห์น้ำเงิน-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, สิงห์เงิน-มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สิงห์เขียว-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สิงห์ม่วง-ใช้เหมือนกัน 2 มหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น

************

เรื่อง-ทีมข่าว CLICK

ภาพ-ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น