xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธการตามหารอยยิ้มแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นานเท่าไหร่แล้วที่...โลกทั้งใบไร้รอยยิ้ม...!

นานท่าไหร่แล้วที่...เมืองไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม-ไร้รอยยิ้ม

แล้วก็นานเท่าไหร่แล้ว ที่คุณเครียดนั่งหลังขดหลังแข็งทำงาน มีเงิน แต่ทว่านึกไม่ออกว่าคุณยิ้มแบบจริงใจให้กับคนรอบข้างครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

ในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกต่างทำรอยยิ้มหล่นหายแบบนี้...นี่คือภารกิจของเรา



    **ราก-รอยยิ้ม**


     ก่อนจะตามหารอยยิ้มแรกของโลกว่าเป็นของมนุษย์คนไหน เราควรมาเริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ว่า “ใครคือมนุษย์คนแรกบนพื้นพิภพของโลก” ก่อนดีกว่าไหม

     “ในทางวิทยาศาสตร์ใครคือเป็นมนุษย์คนแรกของโลกไม่มีความหมายครับ”นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ อย่าง แทนไท ประเสริฐกุล บอก

     เพราะหากจะย้อนประวัติศาสตร์จริงๆ แล้ว โลกนี้เพิ่งเกิดมาราว 4,600 ล้านปี ตามหลักฐานที่มาอยู่ และ DNA สิ่งที่มนุษย์หรือ Homo sapiens ที่เราเรียกๆ กันอย่างปัจจุบัน สิ่งที่เราเรียกว่ามนุษย์เพิ่งเกิดมาแค่ 2 แสนปีเท่านั้น

    “ซึ่งถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในยุคนั้นเราก็จะเห็นมนุษย์เต็มไปหมด ดังนั้นไม่มีอะไรบอกได้ว่าใครเป็นคนแรกของโลก สมมุติเราจะเรียกคนหนึ่งว่าเขาเป็นมนุษย์แบบปัจจุบัน แต่ว่าถ้าเราจะย้อนไปดูพ่อ-แม่เขาจะไม่นับพวกเขาว่าเป็นมนุษย์ด้วยเหรอ แล้วคุณปู่-ย่าอีกล่ะ เพียงแต่ว่าถ้าเราย้อนไปไกลหลายร้อยรุ่น เราจะเห็นความแตกต่างชัดว่า Ok ปู่ของปู่ๆๆ… มันจะเริ่มเป็นคนละ “สปีชีย์” ความเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นรุ่นละนิด-หน่อยเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ”

     ดังนั้น เป็นการยากที่จะเอาไม้บรรทัดไปแบ่งชัดเจนว่าคนนี้รุ่นนี้ๆ เป็นต้นไปถือว่าเป็นมนุษย์ ถ้าก่อนหน้านี้ ถือว่าเป็นอีกชนิดหนึ่ง แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ตอบไม่ได้

    
แต่สิ่งที่วิทยาศาสตร์ตอบได้ก็คือ บรรพบุรุษมนุษย์แบบที่เราเรียกกันอย่างปัจจุบัน มาจากแอฟริกาอพยพแน่นอน

     ถามว่าแล้ว…ย้อนไปตอนไปมนุษย์เกิดแบบที่อธิบายข้างต้นเขาจะมีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร

     “ผมว่ามันคงมีสัญชาติญาณหลายๆ อย่างที่เหมือนๆ กันกับสิ่งที่เราเรียกว่าคนอย่างในปัจจุบันเพียงแต่ว่าช่วงเวลาที่เผ่าพันธุ์เรากำเนิดมามันสั้นมากๆ ถ้าเทียบกับอายุมนุษย์โลก หรือเผ่าพันธุ์ชีวิตอะไรทั้งหลายแหล่ ช่วงเวลาที่มนุษย์เราเกิดมาบนโลกนั้นมันยังไม่นานเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมาย ไอ้สิ่งที่เปลี่ยนเร็ว ก็คือวิวัฒนาการทางด้านสังคม อารยะธรรม เทคโนโลยีอะไรแบบนี้”

     แต่โดยตัวสัญชาติญาณภายในจิตใจมนุษย์อย่างเราๆ ไม่แตกต่างจากปัจจุบันนี้

     **ยิ้มแรกของโลก** 

     ที่นี้กลับมาถึงคำถามธีมใหญ่ของเรา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าคำถามนี้น่าสนใจ ซึ่งก่อนที่จะเป็นมนุษย์แบบปัจจุบันนี้ พวกเราก็มาจากพวก “เอลฟ์” เป็นบรรพบุรุษเดียวกับพวก “กอลิล่า” พวก “ชิมแฟนซี” ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็เป็นสัตว์ตระกูลลิงมาก่อน
    
     โดยรวมๆ ปรากฏว่า “การยิ้ม” มันมีมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคนอยู่เลย ก็คือตั้งแต่สมัยเป็นสัตว์กลุ่มหนึ่งสมัยธรรมดา ซึ่งทฤษฏีเขาจะสันนิฐาน...แต่เราจะลองดูจากข้อสังเกตก่อนละกันว่า คือบางทีลิงมันยิ้มให้กัน เราก็จะสังเกตเห็นว่าเวลาส่วนใหญ่มันมักจะเป็นการที่ ไอ้ตัวที่มีตำแหน่งต่ำกว่า พอเห็นจ๋าฝูงเดินมา…มันก็จะทำหูลู่ๆ ก้มหัว แล้วก็ยิ้มให้”

     “เหมือนๆ ตอนที่ปัจจุบันเราเห็นท่านรัฐมนตรีเดินผ่านแล้ว เราก็จะก้มหัวแล้วก็ยิ้มให้”

     แทนไทบอกว่า การยิ้มเป็นวิธีการสื่อสารถึงความยำเกรง ภาษาอังกฤษเรียก Submissive พฤติกรรมแบบนี้ในหมาก็มี…ยิ้มเพื่อเป็นการสื่อสารว่า ฉันมาดีนะ… คือฉันยิ่งใหญ่กว่าแกก็จริง แต่ยังไม่ได้ต้องการมาทำร้ายอะไร ไม่ต้องหนี-ตกใจอะไรแบบนั้น

     “ซึ่งถ้าเป็นโกรธก็จะเป็นแยกเขี้ยว-ส่งเสียงดังไปเลย แต่ถ้าโชว์ฟันเฉยๆ แล้วไม่มีเสียงอะไรประกอบ อันนี้ก็ถือว่ายิ้ม ยิ้มเป็นการสื่อสารถึงความไม่ปรารถนาร้าย ความมาดีในหมู่ลิงชิมแฟนซีมันก็จะมีการยิ้มให้กัน ทำนองนี้เป็นการรักษาความเป็นบรรยากาศความเป็นมิตรไม่มีใครปองร้ายใคร”

     นักวิทยาศาสตร์สันนิฐานต่อไปว่า แล้วจะสื่อสารแบบ Submissive เขาก็สงสัยว่า เอ๊ะ…ทำไมต้องสื่อสารว่าต้องยอม แล้วทำไมต้องโชว์ฟันมันเกี่ยวอะไรกันก็เลยมีคนตั้งทฤษฎี ว่าการทำท่ายกมุมปากขึ้นมันเป็นเครื่องประกอบในการเป็นพฤติกรรมที่มาควบคู่กับการทำเสียงแหลมของสัตว์จำพวกลิง ที่นี่การทำเสียงแหลมคืออะไร การทำเสียงแหลมๆ มักมาควบคู่กับการสื่อสารว่ายอมแพ้

     เสียงแหลมเป็นภาพพจน์ที่มาพร้อมกับความเล็ก คือ ถ้าเป็นสัตว์ดุๆจะเป็นเสียงใหญ่ๆ

     “แต่ถ้าเราจะยอมเขาก็เราก็ต้องทำเสียงแหลมๆ ซึ่งแปลว่า…ผมตัวเล็กมาก ผมสู้พี่ไม่ได้หรอก การทำเสียงแหลมมันมักจะมาควบคู่กับการต้องยกมุมปากขึ้นเพื่อจะให้เสียงแบบนั้นออกมาได้ ไปๆ มาๆ อย่างในสัตว์ตระกูลลิง มันก็เลยตัดส่วนที่เป็นเสียงออกไป ก็เหลือแค่ยกมุมปากขึ้นอย่างเดียว แต่ความหมายยังเหมือนเดิมคือบ่งบอกถึงการยอมรับในอำนาจของคนอื่น”

     หลังจากนั้นรอยยิ้มมันก็ค่อยๆ มีความหมายอื่นต่อเติมมาเรื่อยๆ จนกระทั้งเป็นความหมายโดยกว้างๆ ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ยกมุมปากขึ้น (ยิ้ม) ก็จะแสดงถึงความเป็นมิตร ไม่มุ่งร้ายอะไรมาจนถึงปัจจุบัน

     “รอยยิ้มมีรากชัดเจนว่าเป็นการสื่อสาร ระหว่างในสังคมลิง เพียงแต่ว่าพอมาอยู่ในคน มันคงได้รับอิทธิพลจากสภาสังคม วัฒนธรรมต่างๆ นาๆ ทำให้การสื่อสาร ด้วยรอยยิ้มในคนมันซับซ้อนขึ้นกว่าสังคมลิง หลังจากนั้นมันไม่ได้มีแค่ยิ้มกับยิ้มกับไม่ยิ้มเหมือนในยุคแรกๆ ปัจจุบันมันมีตั้งแต่ยิ้มมุมปาก ยิ้มแหย่ๆ ยิ้มแบบมีเลศนัย ยิ้มแบบกรุ่มกริ่ม ยิ้มไปด้วยหัวเราะไปด้วย การสื่อสารในหมู่มนุษย์มากมันซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็น มีนัยยะมากกว่าสมัยก่อนมาก”

     มาถึงตรงนี้ถามว่า “รอยยิ้ม” แรกของโลกเป็นของมนุษย์คนไหนในฐานะนักวิทยาศาสตร์บอกว่า น่าจะสืบทอดรอยยิ้มที่มาจากสัตว์จำพวกลิงแน่นอน "คอนเฟิร์ม…!!!" 


    **รอยยิ้มทางธรรม**


     เมื่อวิทยาศาสตร์ทำให้เราได้รู้แล้วว่ารอยยิ้มแรกของโลกเป็นของใคร มาถึงการ “ตามหารอยยิ้มแรกของโลก” โดยผ่านมุมมองทางศาสนากันบ้าง

     โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี วิเคราะห์ ให้ฟังว่า รอยยิ้มแรกของโลกในมุมมองของศาสนาน่าจะเป็นรอยยิ้มพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากที่พระองค์ตรงตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

     “ที่บอกว่าเป็นรอยยิ้มแรก ก็เพราะว่าเป็นรอยยิ้มที่ตื่นรู้ เป็นรอยยิ้มของคนที่เบ่งบาน ไม่ใช่ เป็นรอยยิ้มที่เกิดจากสัญชาติญาณ หรือเกิดจากการกระตุ้นของกิเลสตัณหา เป็นรอยยิ้มเพราะว่าเกิดจากจิตที่ตื่น จิตที่ได้สัมผัสกับอิสรภาพได้แล้วก็ผลิบาน ขึ้นมาเหมือนดอกบัวตูมที่ได้สัมผัสกับแสงแรก ของดวงตะวัน แล้วก็ผลิบานขึ้นมาเพราะว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องจมอยู่แบบนั้นอีก เช่นเดียวกันที่พระพุทธองค์ทรง เผยยิ้มออกมา ก็เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นอิสรภาพแล้วจากกิเลสประดามีทั้งหมดไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องอมทุกข์อีกต่อไป”

    นั่นเป็นเหตุให้ศิลปินทั่วโลก เมื่อปั้นพระพุทธรูปล้วนแล้วแต่ปั้นให้พระพุทธองค์ทรงเผยยิ้มน้อยๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่ปั้นโดยศิลปินชาติไหน หรือสังกัดสกุลช่างไหน สิ่งหนึ่งที่จะเหมือนกันก็คือว่าพระพุทธองค์จะทรงอยู่ในพระอิริยาบถทรงแย้มแย้มพระสรวลน้อยๆ เสมอ

     “นั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงยิ้มในครั้งนั้นแล้ว มันมีนัยยะสำคัญก็คือ เป็นการยิ้มที่หลุดพ้นแล้วจากความทุกข์ของคนทั้งปวง”

    **สยามเมืองไร้ยิ้ม**
    
     แต่สำหรับรอยยิ้มของคนทั่วโลกในปัจจุบัน .วชิรเมธี บอกว่าเป็นการยิ้มเพื่อที่จะสลับกับการร้องไห้ วันนี้ยิ้ม พรุ่งนี้อาจจะร้องไห้ ไม่เหมือนกับยิ้มของพระพุทธเจ้า

     “ไม่ต้องอื่นไกล อาตมารู้สึกว่าทุกวันนี้คนไทยเรายิ้มน้อยลงมากขึ้นมากๆ นั่นเป็นดัชนีชีวัดได้ชัดเจนว่าปัจจุบันสังคมไทยเต็มไปด้วยความทุกข์ โดยก่อนหน้านั้น ฝรั่งเคยให้นิยามเราว่าเป็น “เวนิชแห่งตะวันออก” เป็น “สยามเมืองยิ้ม” แต่ถ้าวันนี้เราไปถามเขาบอกเขาก็จะไม่เรียกเราว่าเวชนิชตะวันออกอีกแล้ว เขาจะเรียกว่าบ้านเมืองแห่งความไรระเบียบ และสยามเมืองแห่งคามอมทุกข์อมโศก" 

     “หรือบ้างครั้งเขาก็จะเรียกด้วยความเจ็บปวดว่าคนป่วยของเอเชีย”

     เพราะพวกเขาไม่ค่อยได้เห็นรอยยิ้มของไทยอีกแล้ว หลายปีที่ผ่านมาได้เห็นแต่การเข่นฆ่าทำลายล้างและก็แตกความสามัคคีและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำร้ายกันแทบในทุกรูปแบบ ฉะนั้นการที่รอบยิ้มของเราหายไปมันก็เป็นดัชนีชีวัดว่าสังคมไทยสูญเสียศักยภาพที่จะยิ้ม

     “ถามว่ารอยยิ้มสำหรับคนทั้งโลกสำคัญแค่ไหน มันสำคัญมาก เพราะถ้าคนทั้งโลกยังยิ้มอยู่แสดงว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสันติสุข ถ้าคนทั้งโลกนี้หน้าบึ้งเครียดกันแสดงว่าโลกนี้มีแต่ความทุกข์ เราต้องมาดูว่าคนส่วนใหญ่ของโลกยิ้มหรือว่าหน้าบึ้งล่ะ ถ้าหน้าบึ้งแสดงว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่ แต่ว่าถ้าโลกนี้มีรอยยิ้มให้แก่กันและกัน แสดงว่าโลกนี้เป็นโลกที่น่าอยู่”

     “ตอนนี้โลกมีรอยยิ้มแบบพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่อาตมาไปเห็นมา โดยอาตมาเพิ่งไปรวมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ “พรัมวิลเลจ” ของ “ท่านติช นัท ฮันห์” อาตมาได้เห็นกระแสของพระพุทธศาสนากรรมฐานเป็นไปโดยทั่วโลกทั้งอเมริกาและทางยุโรปแสดงว่าโลกมีแนวโน้มที่จะยิ้มอย่างมีสติมากขึ้น แต่ในเมืองไทยเรามีแนวโน้มที่จะยิ้มแบบเสแสร้งแสดงมากขึ้น เพราะเรายังถอดสลักความแค้นกันไมได้”

     สุดท้ายในวงจรแห่งโลกไร้ยิ้มเช่นนี้ ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว โลกมันจะรีเซตตัวมันเองใหม่เมื่อไหร่ ว.วชิรเมธีตอบทันทีว่า ประมาณ 10 ปี โลกและเมืองไทยจะกลับมาเข้าทีเข้าทางแล้วเราจะกลับมายิ้มอย่างบริสุทธิ์ใจแบบไม่มีเลศนัยอีกครั้ง

    “ตอนนี้สังคมไทยกำลังบริหารมนุษย์สายพันธุ์สุดท้ายที่ยังไม่ย้อม Change ตัวเอง ถ้ามีการรีเซ็ตครั้งใหม่สังคมไทยก็น่าจะเป็นสังคมที่กลับมาหารอยยิ้มได้อีกสักครั้งหนึ่ง และคำว่าสยามเมืองยิ้มจะกลับมา”

     ใช่…เพราะทุกคนมีศักยภาพที่จะยิ้มอย่างเต็มเปี่ยมแบบที่ ว.วชิรเมธี บอกแล้ววันนี้คุณยิ้มแบบไม่มีเลศนัย, ยิ้มมาจากหัวใจในความหมายเดียวกับ "ยิ้มแรกของโลก" แล้วหรือยัง…?

                  **********************************

ข้อดีของการยิ้ม

     -นักมนุษย์วิทยาสังเกตพบว่าการยิ้มเห็นได้ชัดไกลตั้ง 45 เมตร ในขณะที่อารมณ์อื่นต้องเข้าใกล้ๆ ถึงจะเห็น

    -การยิ้มมีผลต่อร่างกาย คือ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี สมองมีอุณหภูมิต่ำลง หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง ระบบต่างๆ ในร่างกายผ่อนคลาย ต่อมหมวกไตจะทำงานน้อยลง ฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดจะถูกขับออกมาน้อยลง

                                                                     ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต

                                  ***********************
ปลาวาฬ-วรสิทธิ์ อิสระ

     “ถามว่ายิ้มแบบจริงใจครั้งสุดท้ายเมืองไหร่ ตั้งแต่จำความได้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ผมก็ยังแจกยิ้มแบบนี้ (ยิ้ม) ให้กับคนรอบข้างๆ เสมอๆ ครับ เพราะผมรู้สึกว่ายิ้มมันทำให้โลกสดใส เคล็ดลับการยิ้มสไตล์ปลาวาฬง่ายๆ ก็คือจงมองโลกในแง่ดี แล้วรอยยิ้มที่ได้จะเป็นรอยยิ้มที่ออกมาจะมาจากข้างใน”



กำลังโหลดความคิดเห็น