xs
xsm
sm
md
lg

Robot ครองเมือง...?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


       “จากการเฝ้ามองและศึกษาผมเชื่อว่าอีกไม่ถึง 50 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะครองเมือง”

        คำกล่าวของ คฑาวุฒิ อุชชิน หัวหน้าทีม iRAP_PRO นักศึกษาจาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร ที่เพิ่งนำ “หุ่นยนต์กู้ภัยไทย” คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกมามาดๆกับการแข่งขันที่ประเทศออสเตรีย เป็นจินตนาการที่...ดูจะไม่เกินความจริง
    
     เพราะหากจับสังเกตดีๆ...ถ้าไม่นับหุ่นยนต์จากจินตนาการสู่โลกความจริงแขนงต่างๆ ที่ Hot มาก่อนหน้านี้แล้ว
    
     คฑาวุฒิ บอกว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะหันมองไปทางไหน เราก็จะเห็นแต่หุ่นยนต์ๆ ครองเมืองไปซะหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังดัง ซึ่งสร้างจากจินตนาการที่โกยเงินมนุษย์ไปอย่างมหาศาล อย่าง TRANSFORMERS ภาค 2 และThe Terminator ภาค 4 เป็นต้น

     กระทั่งในประเทศไทยการจัดแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์จากสิ่งของใกล้ตัวนำมาทำเป็นหนังแอนิเมชันประกวด
 
     แม้แต่ค่ายทำละครดังก็หยิบจับเอาจินตนาการเรื่องหุ่นยนต์มาเป็นตัวเดินเรื่อง ล่าสุดก็กลุ่มเพื่อนๆ คฑาวุฒิ และ พี่ๆ เหล่านักศึกษาก่อนหน้าเนี่ยแหละไทยที่นำเอาจินตนาการมาสร้างหุ่นยนต์ จนได้ไปคว้าแชมป์หุ่นยนต์ในสาขาต่างๆ นำรางวัลมาประดับประเทศมากมาย...ชนิดที่ต้องเปลืองตู้เก็บถ้วยรางวัลหลายสิบใบ เอามาให้คนไทยได้เชยชม

     นิยามของหุ่นยนต์

     คำว่า “หุ่นยนต์” หรือ คำว่า Robot นั้นถูกนิยามขึ้นมาเมื่อปี 1920 โดยนักเขียนชาวเชโกฯ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า “robora” ในภาษาท้องถิ่นซึ่งแปลว่า “แรงงานที่ถูกบังคับ” ใช้เรียก “มนุษย์ประดิษฐ์” ในละครเวทีเรื่อง R.U.R. (Rossum’s Universal Robots) ของเขาเองที่เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในปีถัดมา ละครเรื่องนี้เล่าเรื่องสังคมในอนาคตกาลที่มนุษย์เราสามารถสร้างตัวแทนของมนุษย์ขึ้นมาได้เพื่อนำมาฝึกให้พวกมันสร้างทำงานต่างๆ แทนมนุษย์

     ซึ่งในท้ายที่สุด พวกมันก็หันหลับมาทำร้ายมนุษย์ที่เป็นผู้ให้กำเนิดพวกมันเสียเอง

     ส่วนคำว่า Robotics หรือ “วิทยาการหุ่นยนต์” นั้นถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ในปี 1942 ชื่อ Runaround ของนักเขียน “นวนิยาย” วิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวรัสเซียอย่าง ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ซึ่งในเวลาต่อมาถูกบรรจุเอาไว้ในชุดรวมเรื่องสั้น I, Robot เมื่อปี 1950 และในเรื่องสั้นเรื่องเดียวกันนี้เอง อาซิมอฟ ยังริเริ่มตั้ง กฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ (Three Laws of Robotics) ขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งในเวลาต่อมากฎดังกล่าวของเขาได้กลายเป็นสิ่งที่คนในวงการหุ่นยนต์หยิบยกมาพูดกัน จนถึงทุกวันนี้

     เรื่องเล่าปรัมปรา

     หากย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ไปไกลๆ อีกสักหน่อย เราจะพบว่า ก่อนหน้านั้น “ไอเดีย” ในการสร้างหุ่นยนต์ถือกำเนินมาจากเรื่องเล่าตำนานเก่าแก่ และนิยายปรัมปราในจินตนาการของชนชาติต่างๆ ตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อนคริสตกาลที่เดียวเชียวแหละ
   
     โดยนับจากการเนรมิตกองทัพจากเขี้ยวมังกรของตำนานกรีกโบราณไปจนถึงตำนานยักษ์ Golem ที่เสกเป่าจากดินเหนียวของชาวยิว ซึ่งถัดจากนั้นมาจนถึงช่วงกลาง ก็เริ่มมีการหยิบยกเอาความคิดเรื่อง “มนุษย์จำลอง” เหล่านั้น ออกมาพัฒนากันจนเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์เล่นดนตรีแบบอัตโนมัติบนเรือไม้ของชายชาวอาหรับที่ชื่อ Al-Jazari การสร้างหุ่นยนต์เป็ดขยับปีกของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส หรือแม้แต่การออกแบบหุ่นยนต์อัศวินของบุคคลสำคัญอย่าง Leonardo Da Vinci ก็ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ของวิทยาการหุ่นยนต์ในช่วงเวลานี้ด้วย

     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีจักรกลกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วปานจรวด

     ในปี 1956 งานเขียนของ “อาซิมอฟ” ก็ได้ดลบันดาลให้ George Devol กับ โจเซฟ เองเกลเบอร์เกอร์ 2 นักประดิษฐ์ และนักลงทุนชื่อดังตัดสินใจลงขันกันก่อตั้ง Unimation (Universal Automation) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์รายแรกของโลกขึ้นมา โดยหุ่นยนต์รุ่นแรกๆของบริษัทนี้มีชื่อว่า “Unimate” เป็นหุ่นยนต์แขนกลประเภทติดตั้งอยู่กับที่ (Fixed Robot) ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิทยาการ เพราะหลังจากที่ “Unimate” ตัวแรกถูกนำไปติดตั้งเพื่อผลิตรถยนต์ให้กับบริษัท General Motors มันก็ประสบความสำเร็จแบบสวยสดหยดย้อย เพราะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

     ไม่ใช่แฟน แต่หุ่นยนต์ทำแทนได้

     สำหรับประโยชน์หลักๆ กับการสร้างหุ่นยนต์ใน “วงการอุตสาหกรรม” ณ ช่วงเวลานั้นๆ เรียกได้ว่ามีมากมายเหลือคณานับ เพราะมันสามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจได้หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น งานหนัก งานสกปรก และงานที่น่าเบื่อสุดๆ ไปจนถึงงานที่ต้องเสี่ยงอันตรายมากๆ อย่างไรก็ดีผลผลิตที่ได้มาจากหุ่นยนต์ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามักจะมีคุณภาพสูง และเจ๋งกว่างานที่ทำจากฝีมือ (แรงงาน) คนค่อนข้างมาก...!

     ส่งผลให้ขณะหนึ่ง แรงงานหุ่นยนต์ได้มาแทรกแรงงานจากฝีมือมนุษย์อยู่พักใหญ่ๆ จนทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน...!

     อย่างไรก็ดี หากมองกันที่สาระไม่มองแบบหยุมหยิมแล้ว…การเกิดขึ้นของหุ่นยนต์นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เราไม่อาจปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็สามารถสร้างอาชีพและสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้กับโลกใบนี้อย่างมากมาย อาทิเช่น “นักเทคนิคด้านหุ่นยนต์” “เซลล์ขายหุ่นยนต์” “นักวิศวกรหุ่นยนต์” และนักโปรแกรมเมอร์ต่างๆ

      โดยอาชีพเหล่านี้แหละ ที่สร้างและพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อทำประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ทางการแพทย์ การกู้ภัย วงการอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อน และช่วยเหลือ (ชีวิต) โลกในทุกๆ แขนงให้กับมนุษย์ชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     ทั้งนี้คุณอนันต์ของหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นนั้น มีข้อแม้ที่ว่า...มนุษย์ ผู้เป็นผู้สร้างวิทยาการที่ล้ำหน้าเหล่านี้จะร่วมมือกันใช้ “หุ่นยนต์” ไปในทางทีดี...!

     ไม่เช่นนั้นโลกและมวลมนุษยชาติก็อาจจะต้องพบกับจุดแตกหักกัน ระหว่าง “มนุษย์” กับ “หุ่นยนต์” เหมือนกับภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง


I, Robot (2004) นั่นเอง

                                                         ขอบคุณข้อมูลจาก GM 

             *****************************

                                       
     นอกจากเหนือจากคำว่า Robot แล้วหุ่นยนต์ยังถูกเรียกด้วยศัพท์ต่างๆ มากมาย 

O ฮิวมานอยด์ โรบอท (Humanoid Robot)
หรือ หุ่นที่มีหน้าตาเหมือนคนทุกๆ อย่าง

O แอนดรอยด์ (Android)
หรือ หุ่นที่มีลักษณะเป็นมนุษย์เพศชาย

O จีนอยด์ (Gynoid)
หรือ หุ่นที่มีลักษณ์เป็นมนุษย์เพศหญิง นอกจากนี้ยังมีศัพท์ที่เรียกว่า Fembot (Female Robot) และ Femnoid (Female Android)

O แอ็คทรอยด์ (Actroid)
เป็นพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของ Humanoid Robot โดยนำต้นแบบมาจากหญิงสาวชาวญี่ปุ่น ซึ่งสามารถกระพริบตา พูดคุย และหายใจได้

Oไซบอร์ก (Cyborg) คือ ครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ โดยรูปลักษณ์ภายนอกของมันอาจจะเป็นได้ทั้งเครื่องจักร สัตว์ หรือมนุษย์ มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนกับหุ่นยนต์ในเรื่องแต่งเสมอๆ

                                กฎหมายหุ่นยนต์
      กฎ 3 ข้อ ของหุ่นยนต์ของ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ที่แจกแจ้งเรื่องของจริยธรรมและสิทธิเสรีภาพระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เอาไว้ในเรื่องสั้นเมื่อปี 1942 เพื่อให้หุ่นยนต์ทุกตัวในนวนิยายเรื่องต่อๆ มาของเขาได้ปฏิบัติตาม มีดังนั้น
      1.หุ่นยนต์ต้องไม่ทำลายมนุษย์ หรือยินยอมให้มนุษย์เข้ามาประทุษร้ายโดยปราศการตอบโต้ใดๆ

       2.หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ เว้นแต่ว่า คำสั่งเหล่านั้นจะไปขัดกับกฎข้อแรก

       3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสภาวะการดำรงอยู่ของตัวเองตราบใดที่การป้องกันตัวเองนั้นไม่ไปขัดแย้งกับกฎข้อแรกและข้อ 2

     ทั้งนี้ในเวลาต่อมา อาซิมอฟได้ตั้งกฎข้อ 0 เข้าไปด้วย คือ หุ่นยนต์จะไม่ประทุษร้าย มนุษย์ชาติ หรือยินยอมให้มนุษยชาติเข้ามาประทุษร้ายโดยปราศจากการตอบโต้ใดๆ และมีความเป็นไปได้ว่า ถ้ามีกฎหมายที่ร่างขึ้นมาใช้สำหรับควบคุมหุ่นยนต์จริงๆ กฎของอาซิมอฟ จะเป็นต้นแบบ

                              รู้ไว้ใช่ว่า
     -โ
จเองเกลเบอร์เกอร์ (Joseph Engelberger) เป็นบิดาแห่งวิทนยาการหุ่นยนต์ (Robotics)
     -มนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกหุ่นยนต์ฆ่าตายก็คือ โรเบิร์ต วิลเลียม ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการทำงานอันผิดพลาดของหุ่นยนต์ในปี 1979 ในรงงานผลิตรถฟอร์ด รัฐมิชิแกน

                     หุ่นยนต์ Pop Culture หลายๆ ฐานะ
1.หุ่นดังในหนัง คนเหล็ก (T-800) จากหนังเรื่อง The Terminator เมื่อปี 1984

2.หุ่นดังในการ์ตูน “โดราเอมอน” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1969

3.หุ่นยนต์จากมิวสิกวีดีโอ All is Full of Love (1999) โดย Bjork หุ่นที่ได้รับ
อิทธิพลจาก I, Robot

4.หุ่นยนต์ในเกมส์ “ร็อคแมน” (Rock man) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1987


       



กำลังโหลดความคิดเห็น