“มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ลีลาศ เป็นเรื่องของคนสูงอายุ หรือคนที่ต้องหุ่นดีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลีลาศ คือกีฬาสำหรับคนที่รักจังหวะของดนตรีโดยไม่มีข้อจำกัด ขอแค่มีใจที่ต้องการเห็นร่างกายของตนเองพลิ้วไหวไปตามเสียงดนตรีก็พอ”
“น้องเต็ม” ม.ล. วราภา ชุมพล บัณฑิตสาวใหม่หมาดจากคณะนิเทศศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษแห่งรั้วจามจุรี เล่าถึงกีฬาลีลาศอันเป็นกิจกรรมยามว่างของครอบครัว “ชุมพล” ที่กลายเป็นความชอบและส่งให้สาวน้อยผู้รักในเสียงดนตรี ตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ความสามารถของตนเองบนฟลอร์ ซึ่งเธอก็ทำได้สำเร็จมาแล้วหนึ่งขั้นในฐานะนักกีฬาลีลาศ ทีมชาติที่คว้ามาถึง 4 เหรียญทองจากการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา
ผลงานดังกล่าวนับเป็นการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของ “น้องเต็ม” เจ้าของดวงหน้าหวานแบบไทยที่ทำให้ กีฬาลีลาศ ได้กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนในสังคมอีกครั้ง ถึงวันนี้สาวนักเต้นในวัย 24 ปียังคงมุ่งมั่นอยู่บนเส้นทางของจังหวะดนตรี เธอกล่าวถึงกิจวัตรประจำวันในฐานะนักกีฬาว่า
“ทุกวันนี้ จะมีคิวซ้อมเต้นในช่วงเย็น ที่ต้องซ้อมเป็นประจำเพื่อให้กล้ามเนื้อของเราไม่คลายตัวเมื่อถึงช่วงใกล้การแข่งขันรายการสำคัญอย่างชิงแชมป์เอเชีย เอเชียนเกมส์ หรือ เอเชียน อินดอร์เกมส์ การซ้อมก็จะหนักขึ้นต้องควบคุมเรื่องอาหาร และเสริมความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อด้วยการว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะ ซึ่งกีฬาสองประเภทนี้จะช่วยเสริมในเรื่องของบุคลิกภาพอีกด้วย”
เมื่อชีวิต มีแต่การฝึกซ้อม และ ความรับผิดชอบต่อการแข่งขันทำให้ ทีมงานสงสัยว่า “น้องเต็ม” เคยรู้สึกเบื่อบ้างหรือไม่ซึ่งเธอเปิดใจเล่าให้ฟังว่า “ตอนที่เริ่มเต้นลีลาศนั้นเต็มอายุ 12 ปี คุณพ่อกับคุณแม่ชวนให้เต้นพร้อมกับพี่ชายเหมือนเป็นกิจกรรมในครอบครัว เวลานั้นก็เรียนกีฬาหลายๆ อย่างควบคู่ไปด้วยอย่าง ว่ายน้ำ และบัลเลต์ แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าชอบลีลาศมากที่สุด พอเลือกว่าจะเล่นกีฬาประเภทนี้อย่างเอาจริงเอาจังก็หมายความว่าต้องฝึกซ้อมหนัก”
“ช่วงแรกๆ ก็มีความรู้สึกท้อ รู้สึกเหนื่อยอยู่บ้าง บางทีเห็นเพื่อนไปเที่ยวกันแต่เราไปไม่ได้ต้องซ้อมเต้น หรือเวลาที่ใกล้จะมีการแข่งขันความรู้สึกกดดันก่อนแข่งมันจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ ซึ่ง “เต็ม” ไม่มีความรู้สึกอย่างนี้นาน พอเริ่มต้นซ้อมก็จะลืมหมดทุกความกังวล และมุ่งสมาธิไปที่การเต้นเพื่อให้ผลงานออกมาสวยที่สุด”
สำหรับ “น้องเต็ม” นั้นเธอไม่ได้เพียงแค่รักในกีฬาลีลาศ หากแต่เธอหลงในมนต์เสน่ห์ของกีฬาประเภทนี้ชนิดถอนตัวไม่ขึ้นโดยกล่าวว่า “ในมุมมองของ เต็ม กีฬาลีลาศไม่เหมือนกีฬาชนิดอื่นๆที่ใช้พละกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีศิลปะของการแสดงประกอบด้วย การเต้นถึงจะออกมาสมบูรณ์ แต่ที่ดีที่สุดคือผลข้างเคียงของการเต้นที่มาพร้อมกับเสียงดนตรีนั้นทำให้ผู้เต้นมีสภาพจิตใจที่ปลอดโปร่ง และ รู้สึกผ่อนคลายไปในเวลาเดียวกัน
ด้วยความสามารถระดับนักกีฬาลีลาศทีมชาติ น้องเต็ม ยังได้อธิบายถึงประเภทของการเต้นลีลาศเป็นความรู้เสริมว่า “การเต้นลีลาศจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สแตนดาร์ด กับ ละตินอเมริกัน แต่ เต็ม ชอบจังหวะเร็วๆเลยเลือกเต้นละตินอเมริกัน ซึ่งยังแบ่งออกเป็น 5 จังหวะ คือ แซมบ้า ชะชะช่า, รุมบา, พาโซ ดูเบิล (PASO DOBLE) และไจว์ฟ ซึ่งเราต้องสื่ออารมณ์ออกมาให้ตรงกับ คาแร็กเตอร์ของแต่ละจังหวะด้วย อย่างแซมบาจะเป็นจังหวะที่พัฒนามาจากการเต้น ในงานคาร์นิวัลของประเทศ
บราซิล ซึ่งออกสไตล์ปาร์ตี้ร่าเริง ชะชะช่าจะออกแนวเซ็กซี่ ขี้เล่น ขณะที่ รุมบา จะอ่อนหวานโรแมนติก เน้นการแสดงออกถึงความรักของหนุ่มสาว”
“ส่วนพาโซ ดับเบิลได้รับอิทธิพลมาจากการสู้วัวกระทิงของประเทศสเปน ฝ่ายชายคือมาธาดอร์ ฝ่ายหญิงคือกระทิง ดังนั้น เวลาเต้นจึงต้องแสดงออกถึงวิญญาณของความเป็นนักสู้ สุดท้ายไจว์ฟก็คือจังหวะร็อกแอนด์โรลที่มันๆ สนุกสนาน ทั้งหมดนี้ เต็ม ชอบ “รุมบา” มากที่สุดเพราะเป็นจังหวะละตินที่ไม่เร็วมาก เราจะสื่ออารมณ์ และเก็บรายละเอียดในท่วงท่าต่างๆ ได้ครบ”
ในฐานะนักกีฬาลีลาศนั้น สิ่งสำคัญที่หากขาดไปจะทำให้การ โชว์สเตป ต้องหยุดลงทันทีคือ “คู่เต้น” ซึ่ง “น้องเต็ม” กับคู่เต้นคนปัจจุบันของเธอนั้นโชว์ลีลาบนฟลอร์การแข่งขันร่วมกันมานานกว่า 7 ปี “นิว”วัชรากรณ์ เสือสืบพันธ์ ซึ่ง “น้องเต็ม” เล่าอย่างติดตลกว่า “ตอนแรกเป็นคู่แข่งตัวฉกาจตั้งแต่สมัยกีฬาเยาวชนผลัดกันแพ้พลัดกันชนะมาตลอด จึงต้องกำจัดคู่แข่ง ด้วยการมาจับคู่กัน”
หลายคนที่ได้เห็นภาพของ “น้องเต็ม” ยามอยู่บนฟลอร์ นั้นต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอเป็นสาวเซ็กซี่ หากแต่ภาพของ ม.ล. วราภา ชุมพล ในยามที่ไม่ได้ออกสเตป นั้นคือสาวน้อยหน้าใสหากมองผ่านไปอาจจำไม่ได้ว่านี่คือ “น้องเต็ม” นักลีลาศแถวหน้าของเอเชีย
“ต้องอธิบายก่อนว่าชุดเต้นและการแต่งแต้มสีสันบนใบหน้าและร่างกายของนักกีฬาคือการเสริมบุคลิกภาพให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อย่างเต็มเองก่อนจะลงแข่งทุกครั้งจะต้องย้อมสีผิวทั้งตัวให้เป็นสีแทน เหมือนพวกนักเพาะกาย แล้วสีที่ใช้ย้อมผิวนั้นต้องทาทั่วทั้งตัวก่อนแข่งประมาณ 1-2 วันเป็นช่วงที่รู้สึกไม่สบายตัวเป็นอย่างมากแต่เพื่อให้การเต้นของเราสวยงามยิ่งขึ้นก็จำเป็นต้องทำ เพราะการย้อมสีผิวให้แทนและเงา นั้นเวลาเต้นจะช่วยขับให้กล้ามเนื้อได้รูปสวยงามยิ่งขึ้น”
“ส่วนชุดแข่งนั้นส่วนใหญ่แล้วจะหาซื้อชุดสำเร็จแล้วนำมาตกแต่งเอง เคยมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมต้องวาบหวิวมากขนาดนั้น ก็ต้องอธิบายเขาว่าทั้งหมดเพื่อการแข่งขันเพราะชุดของนักเต้นฝ่ายหญิงนั้นต้องพลิ้วไหวและเบาบางมากที่สุดเพื่อความคล่องตัว และ ได้โชว์กล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ เพราะถ้าชุดกรุยกรายเกินไปหรือมีน้ำหนักมาก เวลาเคลื่อนไหวตามจังหวะเต้นรำก็จะไม่สะดวกเท่าไร”
4 เหรียญทองซีเกมส์ คือผลงานที่ “เต็ม” มองว่าเป็นบันไดก้าวแรกหากแต่เธอมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ในใจเช่นกัน “ตอนนี้เรียนจบแล้ว มีเวลาฝึกซ้อมและสอนเต้นมากขึ้นถึงตอนนี้อยากทำผลงานสูงที่สุดที่ในใจแอบฝันไว้คือ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ เพราะคิดว่าเป็นเส้นทางที่เราสู้กับชาติขาประจำอย่าง ญี่ปุ่น และ จีนได้ เพราะรูปร่างค่อนข้างใกล้เคียงและเทคนิคการเต้นก็ไม่ต่างกันมากนักส่วนเป้าหมายระยะใกล้ในเวลานี้ คือเอเชียน อินดอร์เกมส์ครั้งที่ 3 ที่เวียดนามในเดือนตุลาคมนี้ซึ่ง “เต็ม” ฝึกซ้อมทุกวัน เพื่อจะได้ทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด”
จากอายุ 12 ปีจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาอีกหนึ่งรอบเต็มที่ ม.ล. วราภา ชุมพล หลงอยู่ในมนต์เสน่ห์ของกีฬาลีลาศ ถึงวันนี้ในวัย 24 ปีเป้าหมายข้างหน้าของเธอกับการเต้นเรียกได้ว่าชัดเจนและเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นดังประโยคทิ้งท้ายที่เธอกล่าวว่า
“คนเราสามารถเก่งได้ไม่ว่าจะด้านใดก็ตามหากขยันฝึกซ้อม” อาจจะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้เชยชม เหรียญทองกีฬาลีลาศจากเอเชียนเกมส์ปี 2010 ที่เมืองกวางเจา ก็เป็นได้