xs
xsm
sm
md
lg

หวัดพันธุ์ใหม่...ในพื้นที่ความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากหวัดสายพันธุ์ใหม่ ยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ไม่ต่างจากตัวเลขผู้ป่วยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดชะงัก ราวกับว่า ทุกเช้าที่ลืมตาตื่น ตัวเลขคนตายและผู้ติดเชื้อหวัดมรณะ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว

และถึงแม้ปลายสัปดาห์นี้ เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเชื้อเป็น จะถูกส่งมาถึงเมืองไทย ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยของรัสเซีย เพื่อนำมาผลิตเป็นวัคซีนป้องกันโรค ถึงอย่างนั้นก็เถอะ แทนที่จะรอคอยวัคซีน ‘อโรคยา ปรมา ลาภา’ น่าจะเป็นสิ่งที่ควรยึดถือ และมีไว้ในครอบครอง ยิ่งกว่าวัคซีนหรือยาขนานใดๆ
....

“คงไม่มีใครสนุกที่ต้องลุ้นว่าจะมีคนตายอีกหรือไม่ ดังนั้น หากใครวิจารณ์อะไร ขอให้คิดถึงหัวอกคนทำงาน ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้าง แล้วได้แต่ตำหนิ...”

คือคำตัดพ้อจาก วิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยเปรยต่อสื่อมวลชน เมื่อราวปลายเดือนมิถุนายน ทั้งย้ำว่า ถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจ ที่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคได้ ในระยะ 1 เดือนแรก ของการเริ่มมาตรการป้องกัน

แน่ล่ะ คงไม่มีใครอยากซ้ำเติม หากการร้องขอให้ประชาชน ‘เชื่อมั่น’ นั้น มาพร้อมกับความเป็นจริงที่จับต้องได้ ตรงกันข้ามกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่สถานการณ์มันช่างสวนทางกันเหลือเกิน กับความพยายามที่จะทำใจให้ ‘วางใจ’ ในมาตรการของรัฐ

เมื่อเป็นเช่นนั้น การหันมาใส่ใจ ตระหนัก และร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของหวัดมรณะ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าในฐานะปัจเจกบุคคลหรือทุกภาคส่วนของสังคม
...

มาตรการพื้นที่แดนซ์

“ในส่วนของร้านเราก็มีการทำความสะอาดกันบ่อยขึ้น โดยวิธีการลงแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ล้างพื้น และปกติที่จะล้างแอร์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ก็เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มการดูและรักษาความสะอาดให้มากขึ้น ในส่วนของพนักงานในร้านหากพบว่าคนไหนมีอาการคล้ายว่าจะป่วยเป็นไข้ เราก็จะสั่งให้หยุดงานทันที เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อมาติดลูกค้าได้ แต่หากลูกค้าที่มาเที่ยวซึ่งมีเชื้อหวัดอยู่แล้วและนำมาติดนักท่องเที่ยวด้วยกันอันนั้นก็พูดยาก”

เป็นหนึ่งในมาตรการการป้องกันโรคไข้หวัดพันธุ์ใหม่ ที่ สุภัทรชัย เทพไชย ผู้จัดการร้าน สน็อป(SNOP) สถานบันเทิงยามราตรี ย่านรัชดาฯซอย 4 อธิบายไว้ ก่อนแสดงทัศนะว่า จำนวนนักท่องราตรีที่มาเที่ยวไม่ได้มีจำนวนลดน้อยลงไปจากปกติเลย

“มีนักท่องเที่ยวบางคนที่สวมผ้าปิดปากมาเที่ยวด้วย แต่พอสักพัก ก็ต้องถอดออก เพราะมันไม่สะดวก สำหรับที่ร้านเราก็มีการรณรงค์ให้ล้างมือบ่อยๆ” นอกจากนั้น ดีเจ และนักร้องในผับก็มีส่วนร่วมในการรณรงค์ โดยจะพูดให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ในระหว่างเล่นดนตรีหรือเปิดเพลง

นอกจาก ผับ บาร์ สถานบันเทิงยามราตรี ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมตัวของคนรักสนุก วัยรุ่นวัยมันจำนวนไม่น้อย ‘คอนเสิร์ต’ ของศิลปินคนโปรด ที่มีแฟนเพลงแห่แหนไปฟังล้นหลาม ก็นับเป็นอีกพื้นที่ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อหวัดพันธุ์ใหม่ จะมีมาตรการใดบ้าง ที่ผู้จัดฯ หรือผู้ดูแลสถานที่ควรดำเนินการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัทที่บริหารจัดการ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สถานที่จัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ มากมาย แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า

“อิมแพ็คฯ ได้ติดตั้งระบบฟอกอากาศเพิ่มเติมที่เครื่องปรับอากาศ บริเวณศูนย์อาหารสกายคิทเช่น อาคารชาเลนเจอร์ พร้อมเปิดพัดลมระบายอากาศก่อนเปิดแอร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมงในบริเวณอาคารแสดงสินค้าและอารีน่าทั้งหมด ร่วมกับการใช้น้ำยาสเปรย์ฆ่าเชื้อฉีดพ่นห้องทำงานและบริเวณส่วนแสดงสินค้าและนิทรรศการ”

.....

อบโอโซน : มาตรการ ห้างฯ-โรงหนัง

“นโยบายของเรา ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อมีคนเสียชีวิตจากหวัดสายพันธุ์ใหม่ แต่เราเริ่มนโยบายในการให้ความรู้เรื่องหวัดสายพันธุ์ใหม่กับพนักงาน ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาด”

วิชา หาญอมรรุ่งเรือง ผู้บริหารอาวุโส สายปฏิบัติการศูนย์การค้าสยามพารากอน บอกเล่า ก่อนเผยรายละเอียดถึงมาตรการอื่นๆ ในการรับมือ ป้องกันโรคไข้หวัด 2009 ว่า พนักงานประจำทั้งหมด ของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ที่มีอยู่ราว 3- 4 พันคน นั้น ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างทั่วถึง

“เรามีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ตรวจวัดอุณหภูมิของพนักงาน ใครอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส เราจะให้กลับไปพักผ่อนเลย ไม่ให้ทำงาน และจะกลับมาทำงานได้อีกก็ต่อเมื่อ มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ป่วย”

วิชา เล่าว่า มาตรการการป้องกัน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ไม่ว่า ติดตั้งเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ฆ่าเชื้อโรค ที่มีให้บริการบริเวณทางเดินเข้าห้างฯและตามห้องน้ำทั้งหมด ทั้งยังมีการทำความสะอาดระบบเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกเดือน โดยระหว่างล้างก็มีการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคไปด้วย

“นอกจากนี้ เวลาห้างฯ ปิด ในพื้นที่ส่วนกลาง จะมีการอบโอโซน โดยเฉพาะพื้นที่โล่งทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อถึงตอนเช้า ห้างฯ เปิดทำการ อากาศก็จะสะอาด เพราะผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว”

ในประเด็นเดียวกัน โยธิน ธรรมจำรัส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เซ็นทรัล คอเปอเรชั่น ย้ำถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของหวัดสายพันธุ์ใหม่ ว่า ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและใส่ใจดูแลสุขภาพพนักงาน ไม่น้อยไปกว่ากัน

“ในส่วนของพนักงานทุกส่วน ทุกสาขา เรามีการอบรม ให้ความรู้เรื่องหวัดสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ ทุกๆ เช้าก่อนจะเริ่มงาน เราจะมีการย้ำกับพนักงานเสมอ ว่าเขามีไข้หรือเปล่า และดูแลตัวเองดีไหม เวลาทานอาหารใช้ช้อนกลาง และล้างมือหรือเปล่า เราซีเรียสกับเรื่องนี้มาก ทั้งยังขอความร่วมมือให้เขาไปปฏิบัติกับคนในครอบครัว”

ในกรณีที่พนักงานมีไข้ ก็จะให้พนักงานหยุดงาน จนกว่าจะหายไข้ นอกจากนี้ แต่ละสาขา จะมีพยาบาลคอยดูแลพนักงาน ขณะที่โปสเตอร์รณรงค์ ให้ความรู้กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ

ส่วนมาตรการสำหรับลูกค้า โยธิน อธิบายว่า ห้างสรรพสินค้า ดูแลด้วยการให้พนักงานทำความสะอาดตามบริเวณต่างๆ ของห้างฯบ่อยครั้งมากขึ้น โดยเช็ด ถู ตามบริเวณสัมผัสต่างๆ ของห้าง โดยทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทุกๆ 10 นาที ขณะที่จุดละเอียดอ่อน อย่างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเด็ก จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่สูงถึง 95 % และในกรณีที่ลูกค้ารู้สึกว่าตนอาจไอ หรือจาม ต้องการหน้ากากปิดปาก สามารถแจ้งพนักงานได้ เพราะมีเตรียมไว้บริการลูกค้า

ไม่เพียงตัวแทน จาก 2 ห้างฯ ยักษ์ใหญ่ใจกลางเมือง อนวัช องค์วาสิฏฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ก็ร่วมบอกเล่าถึงมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความเข้มงวดในการทำความสะอาดทั้งในส่วนของโรงภาพยนตร์ ลานโบว์ลิ่ง และคาราโอเกะ ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ทั้ง 4 แบรนด์ ไม่ว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, อีจีวี, พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ ทุกสาขา โดยฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อภายในโรงภาพยนตร์ทุกรอบ-ทุกโรง ก่อนฉายภาพยนตร์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและระบายอากาศให้ถ่ายเท ทั้งใช้เครื่องฟอกอากาศและอบโอโซนฆ่าเชื้อภายในโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังมีติดตั้งให้บริการเจลแอลกอฮอลล์ สำหรับทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำ ไว้คอยบริการให้แก่ลูกค้าตามจุดต่าง ๆ

กลัว-ไม่กลัว?

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราบุกไปคอนเสิร์ตบี้ เดอะสตาร์ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานมีแฟนเพลงทุกเพศทุกวัยจำนวนมากมาชมคอนเสิร์ต

เดินเข้าไปไม่กี่ก้าวก็เจอพริตตี้แจกเจลล้างมือ ส่วนบริเวณประตูทางเข้าออกทั้งหมด มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี คอยแจกหน้ากากอนามัย และมีป้ายแนะนำวิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยงานนี้ มานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมเดินรณรงค์ แจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้ผู้มาชมคอนเสิร์ต

ก่อนคอนเสิร์ตเริ่ม เราได้พูดคุยกับแฟนคลับของบี้ ปาล์ม-เจนจุฬา รัตนะ, ตั้ม-เมธาสิทธิ์ จันทร์ลอย และรัด-รัชดา ตันประเสริฐ โดยทั้ง 3 คนเตรียมหน้ากากอนามัยมาจากบ้าน

“เห็นข่าวที่คนไปดูคอนเสิร์ตดงบังชินกิแล้วติดไข้หวัดใหญ่ 2009 สุดท้ายก็เสียชีวิต เราจึงเตรียมหน้ากากอนามัยมาจากบ้าน ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า”

‘มาดูคอนเสิร์ตที่คนเยอะๆ อย่างนี้ ไม่กลัวได้เชื้อหวัดใหญ่ 2009 เป็นของขวัญกลับบ้านไปเหรอ?’ เรายิงคำถามอย่างตรงไปตรงมา

“กลัวเหมือนกัน ยอดผู้ติดเชื้อในเมืองไทยก็เพิ่มสูงขึ้นทุกวันๆ แต่ยังอยากดูพี่บี้อยู่ เราเตรียมหน้ากากอนามัยมาป้องกันแล้วนิ น่าจะช่วยได้ แถมหน้างานก็มีเจลล้างมือไว้บริการ จึงสบายใจหายห่วง หากโชคร้ายติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ฯ ก็คงต้องรักษากันต่อไป” ทั้ง 3 ช่วยกันตอบ

การสวมใส่หน้ากากอนามัยทำให้ทั้ง 3 คนมั่นใจว่า หากคนอื่นจามหรือไอเชื้อหวัดจะไม่กระเด็นมาโดนโดยตรง กลับกัน หากตัวเองจามก็จะไม่ส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง พวกเขามองว่า แม้ร่างกายจะแข็งแรงเป็นปกติอยู่ก็ตาม ก็ไม่ควรประมาท

“คนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะคิดว่าร่างกายแข็งแรงไม่มีทางที่จะติดเชื้อได้ง่ายๆ หรือบางที ทางการอาจยังไม่ได้บอกจำนวนที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อในเมืองไทย ตัวเลขอาจสูงเป็นแสนๆ คนก็ได้ ใครจะไปรู้ จึงทำให้หลายคนนิ่งนอนใจอยู่ ไม่คิดจะป้องกัน”คนรัก ‘บี้’ กล่าว

ณิชกานต์ เชฐบัณฑิตย์ สาววัยทีนจูงมือคุณพ่อ สงกรานต์ เชฐบัณฑิตย์ มาดูคอนเสิร์ตบี้ แต่พ่อลูกคู่นี้ไม่ได้เตรียมหน้ากากอนามัยมาด้วย อยากรู้จริงเชียวว่า ทั้งคู่กลัวติดไข้หวัดใหญ่ 2009 ไหม?

“ไม่กลัวครับ ร่างกายแข็งแรงคงไม่ติดง่ายๆ หรอกมั้ง อีกอย่างคือ หน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่าก็ไม่รู้”สงกรานต์บอกอย่างนั้น เราจึงหันไปถามสาวน้อย เธอตอบไม่ต่างจากผู้เป็นพ่อว่า “ไม่กลัว”

หากโชคร้ายติดไข้หวัดใหญ่ 2009 จากการมาดูคอนเสิร์ต พ่อลูกคู่นี้ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล

“ตามความคิดผมนะ โรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร ติดก็ติดไป คนที่ติดหวัดนี้อยู่แล้วมากกว่า ควรจะต้องรักษาเนื้อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เดี๋ยวจะพาลแพร่เชื้อให้คนอื่น”

สงกรานต์แสดงทัศนะต่อการ ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ ของผู้จัดงานที่แจกหน้ากากอนามัยและจัดเตรียมเจลล้างมือไว้ให้ผู้มาชมคอนเสิร์ต ว่าไม่น่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเขามองว่า การสวมหน้ากากอนามัยขัดกับธรรมชาติของคนเรา คนไทยจึงไม่คุ้นเคย _

เอาล่ะ ก้าวออกจากงานคอนเสิร์ต มาสอบถามความเห็นสาวๆ หลากหลายอาชีพกันบ้าง

สุพรรณี ทำจะดี พนักงานบริษัทเอกชน เล่าว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดนี้ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเธอเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยดูหนังสัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ครั้ง ก็เป็นอันต้องยกเลิกไปโดยปริยาย เนื่องจากเธอมองว่าการไปในสถานที่แบบนั้นเสี่ยงเกินไป

“เรามีโรคประจำตัวด้วย จึงต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษ ช่วงนี้เลยต้องงดไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ไปเดินห้างฯ หรือสถานที่ที่มีคนแออัดมากๆ เรากลัวนะ เพราะถ้าติดเชื้อมามันก็เสี่ยงเกินไป”

ส่วนมาตรการป้องกันของรัฐบาลที่ออกมาประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่การรณรงค์ให้ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ จนกระทั่งใช้ผ้าปิดปาก โดยส่วนตัว สุพรรณี มองว่า สามารถป้องการการแพร่ระบาดและติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ทางที่ดีเธอเสนอว่าควรปิดประเทศไปเลยดีกว่า แล้วมากำจัดเชื้อโรคนี้อย่างจริงจังเสียที

ต่างจาก จุฑามาศ บุพศิริ สาววัย 26 ปี ที่บอกว่า “กลัวอะไรล่ะ เราก็ไปเที่ยวกันตามปกตินะ เหมือนเดิม คนอื่นเขาก็เที่ยวกัน ดูจากคนที่ไปเที่ยวนะ ไม่ได้ลดลงเลย เหมือนว่าเขาก็ไม่ได้กลัวว่าจะติดเชื้อ เขาไม่ได้ตื่นเต้นหรือป้องกันตัวเองมากมาย ส่วนตัวเรามองว่าโรคนี้ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของเราเลย เพราะเราคิดว่าเราก็ไปรีแล็กซ์ตามปกติ”

จุฑามาศ เป็นหญิงสาวที่รักการท่องราตรี เธอมักจะเที่ยวกลางคืนกับกลุ่มเพื่อนเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งอยู่แล้ว ซึ่งสถานที่ที่ไปส่วนใหญ่อยู่ละแวก อ.ต.ก. และเมื่อมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่ได้กระทบกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของเธอแม้แต่น้อย เนื่องจากเธอมองว่า คนที่ติดเชื้อสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ส่วนคนที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีโรคแทรกซ้อน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ในช่วงที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื่อโรคนี้ก็ใช่ว่า จุฑามาศ จะไม่ลืมดูแลและป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคดังกล่าวด้วยการล้างมือบ่อยๆ

ปิดท้าย ด้วยทัศนะของสาวมาดเซอร์ อย่าง สิ-มนสิชา ปั้นทรัพย์ ที่ให้ความเห็นไม่ต่างกับจุฑามาศ นัก ดังคำบอกกล่าวอย่างมั่นใจว่า

“ไม่กลัวเลยค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังใช้ชีวิตปกติ ยังเดินห้างฯ ไปโรงหนัง จตุจักรก็ยังไปทุกอาทิตย์”

เหตุผลประการหนึ่ง เนื่องมาจากอาชีพของเธอ คือขายเสื้อยืดและตุ๊กตาแฮนด์เมด ทำให้จำต้องคลุกคลีอยู่ตามย่านซึ่งเป็นศูนย์รวมของวัยรุ่นขาช้อป ไม่ว่า ตลาดนัดสวนจตุจักร ฟิวเจอรพาร์ค รังสิต หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าย่านสยามสแควร์ แต่สิก็ยังคงใช้ชีวิตตามสถานที่เหล่านั้นเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา

“ ไม่กลัวเพราะดูแลตัวเองดี เวลาที่เห็นคนไอหรือจามก็ไม่เข้าไปใกล้ ไม่ตากแดด ตากฝน ให้ตัวเองป่วยหรือเป็นไข้”

ง่ายๆ แค่นั้น มั่นใจ ไม่ป่วยไข้ สิจึงใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ

....

เรื่องโดย : ทีมข่าวคลิก
ภาพโดย : ทีมภาพคลิก




กำลังโหลดความคิดเห็น