ในขณะที่ชายแดนไทย-กัมพูชากำลังร้อนระอุ และเต็มไปด้วยกองกำลังทหารที่ตรึงกำลังควบคุมพื้นที่อย่างตึงเครียด สืบเนื่องมาจากเขาพระวิหาร ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง เกาะกินใจทั้ง ไทย กัมพูชามาเป็นเวลาช้านาน แต่อีกด้านหนึ่งของภาพความขัดแย้ง เด็กไทย-กัมพูชา กำลังเชื่อมประสานความตึงเครียดนั้นให้ฉาบทาไปด้วยมิตรภาพและรอยยิ้มในบ้านหลังหนึ่ง ที่มีชื่อว่า‘บ้านแห่งความหวัง’
บ้านปูน สูง 3 ชั้น สีขาวขุ่นมัว มีรั้วรอบขอบชิด ภายในบ้านมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่สามารถจุคนได้ร่วม ร้อยชีวิต บ้านหลังนี้มีชื่อว่า ‘บ้านแห่งความหวัง’ บ้านแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเด็กกำพร้า เสาเอกของบ้าน ปักลงในใจกลางปอยเปต ประเทศกัมพูชา
เด็กชายและหญิง ทั้งเด็กเล็ก วัยละอ่อน รวมไปถึงวัยผู้ใหญ่ กว่า 30 ชีวิต ต่างตั้งตาคอยการเดินทางมาของเพื่อนต่างแดน และในทันทีที่ขบวนรถตู้สีขาว 4 คัน เข้ามาจอดเทียบท่าที่หน้าบ้านแห่งความหวัง ขบวนนักศึกษากลุ่มมดคันไฟ 15 ชีวิติ ต่างทยอยลงมาจากรถพร้อมกับสัมภาระมากมาย เบื้องหน้ามีเด็กกัมพูชาต่างมายืนยิ้มต้อนรับผู้มาเยือน
แรกพบเพื่อนต่างแดน
เมื่อเดินเข้ามาในบ้านที่เป็นห้องโถงขนาดไม่กว้างนัก พื้นปูด้วยหินอ่อนสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีไรฝุ่นแม้เพียงเล็กน้อย มันคงผ่านการทำความสะอาดมาอย่างดี เด็กน้อยกัมพูชา ต่างเอาขวดน้ำมาเสิร์ฟให้แขก ผู้มาเยือน หลังจากนั้นการพูดคุยก็เริ่มขึ้น กนกวรรณ โมรัฐเสถียร หรือ พี่ติ๊ก เจ้าหน้าที่โครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก บอกกับ เจง รส ผู้อำนวยการศูนย์ NEW HOPE CHILDREN HOME กล่าวผ่านล่ามว่า ในวันพรุ่งนี้โครงการ มดกู้โลก ปฏิบัติการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการสร้างสังคมในการอยู่ร่วมกันกับเด็กต่างชาติอย่างสันติ โดยร่วมมือกับโครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) จะนำสื่อที่น้องๆ มดคันไฟลงมือทำ มาแสดงให้น้องๆ ที่กัมพูชาได้ดู ซึ่งจะมีการเล่านิทาน หนังสั้น และแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ทั้งนี้เธอขอให้ ผู้อำนวยการศูนย์เล่าประวัติของบ้านแห่งความหวัง อย่างคร่าวๆ ให้นักศึกษาไทยฟัง
เจง รส ไม่รอช้า รีบบอกเล่าความเป็นมาของบ้านว่า เกิดขึ้นได้เกือบ 3 ปีแล้ว “ผมเห็นเด็กเร่รอน เด็กอนาถา ก็เกิดสงสาร จึงเกิดความคิดว่า อยากช่วยเหลือเด็กพวกนั้น แล้วก็ตัดสินใจเอาเด็ก 2-3 คนมาอยู่ด้วยกัน ในตอนนั้นผมยังไม่มีทุนก็เอาทุนส่วนตัว ประคับประคองเลี้ยงดูกันทั้ง ครอบครัวด้วย มันก็เต็มไปด้วยความลำบาก มีคนถามผมว่า ทำไมถึงคิดเอาเด็กมาเลี้ยง ผมบอกไปว่า ในอดีตผมเคยลำบากมามาก ทั้งอาหารการกิน และที่อยู่อาศัย ก็เลยตัดสินใจเอาเด็กที่ขาดโอกาสมาเลี้ยง”
ผู้อำนวยการศูนย์ เล่าต่อไปว่า หลังจากผ่านความยากลำบากมา ชีวิตเขาก็เริ่มดีขึ้น เมื่อมีเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศให้ทุนมาสนับสนุน เขาจึงรับเด็กเข้ามาเรื่อยๆ ในปี 2007 ได้ลงนามก่อตั้งเป็นองค์กร ชื่อ NEW HOPE CHILDREN HOME ที่กระทรวงมหาดไทยออกให้ บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นบ้านแห่งความหวัง เป็นองค์กรที่ให้โอกาสเด็กๆ ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
เมื่อศูนย์ขยายมากขึ้น ก็สามารถรับเด็กได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีเด็กอยู่ในศูนย์ 30 คน ในศูนย์จะมีการส่งเสริมอาชีพให้เด็กๆ เช่น สอนเย็บผ้า สอนภาษาอังกฤษ สอนคอมพิวเตอร์ และในวันว่าง จะพาเด็กไปทำนา นอกจากนี้ในทุกๆ ปีจะมีโครงการไปเลี้ยงอาหารให้เด็กเร่ร่อน
เด็กที่เข้ามาอยู่ในศูนย์แต่ละคน สามารถอยู่ได้จนอายุครบ 18 ปี ซึ่งเป็นวัยที่พอจะสามารถดูแลตัวเองได้ ออกไปหางานทำได้ หรือไม่ก็กลับไปอยู่บ้านของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาว่า เมื่อเด็กอายุถึง 18 ปีแล้วไม่อยากออกจากศูนย์ แล้วเราก็ไม่สามารถรับเด็กเข้ามาใหม่ได้ เด็กบางคนผูกพันกับศูนย์ เมื่อเขาไม่มีที่ไปเราก็ต้องให้เขาอยู่ต่อ
เจง รส บอกว่า เด็กที่จะเข้ามาอยู่ในศูนย์ได้ ต้องเป็นเด็กกำพร้า มีฐานะความเป็นอยู่ลำบาก หรือหากเด็กมีพ่อแม่ แต่ไม่สามารถดูแลเลี้ยงดูเด็กได้ก็รับ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะรับเด็กมาอยู่ เราต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และญาติ เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ผู้อำนวยการศูนย์ยังบอกอีกว่า ความจริงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือมีเยอะมาก แต่ศูนย์ไม่สามารถรับได้
ส่วนการอยู่อาศัยเราจะแยกให้เด็กชายอยู่ชั้นบน ชั้นล่างสำหรับเด็กหญิง มีพี่เลี้ยงดูแล 5 คน เด็กทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง โดยแบ่งกลุ่มจัดเวรทำความสะอาดบ้าน ในตอนแรกที่รับเด็กมาอยู่ก็มีปัญหาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง การเข้าสังคม การรู้จักอภัยให้กัน แต่หลังจากที่พวกเขาได้อบรมนิสัย การเข้าสังคม ได้รับการศึกษา เด็กๆ ก็จะมีนิสัยที่ดีขึ้นคือเด็กๆ เข้ากันได้ และอยู่ร่วมกันโดยไม่ทะเลาะกัน
ภาพชีวิต วันวานก่อนพบบ้านแห่งความหวัง
ภายหลังจากการพูดคุยกับผู้อำนวยการศูนย์จบลง นักศึกษาไทยได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเด็กหนุ่มกัมพูชา ซึ่งมีตัวแทนมา 9 คน เป็นชายทั้งหมด ส่วนเด็กผู้หญิงกำลังเตรียมการแสดงให้กับนักศึกษาไทย จึงไม่ได้มาร่วมวงสนทนาด้วยการสนทนา เริ่มต้นด้วย วันนาก ชายร่างผอมบาง ผิวคล้ำ ผมหยักศก เขาอายุ 22 ปีซึ่งทราบภายหลังจากผู้อำนวยการศูนย์ว่าเป็นพี่ใหญ่สุดในบ้าน หนุ่มร่างผอมเล่าเรื่องราวก่อนที่จะเข้ามาอยู่บ้านแห่งนี้ว่า ก่อนหน้านั้นอยู่กับญาติ ไม่มีพ่อ แม่ มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาก ที่สำคัญเขาไม่ได้เรียนหนังสือ
เขาบอกว่า เด็กๆ ที่มาอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กเร่รอน ไม่มีพ่อ แม่ บางคนก็มีนิสัยที่เกเรมาก ชอบต่อยตีกับเพื่อน มีความก้าวร้าว บางคนไม่เคยรู้จักคำว่ายกโทษให้ใคร ใครเดินมาหาเรื่องก็ต้องตีกลับ ไม่ยอมใคร พูดคำว่า “ขอโทษ” ไม่เป็นด้วย
ด้าน เพียรรา หนุ่มวัย 20 ปี ชายรูปร่างสันทัด ผิวสีเข้ม เล่าว่า แม่เขาตายตั้งนานแล้ว พ่อเขาขาพิการ กินเหล้าด้วย เขาจึงไม่มีที่พึ่ง เขาจึงจำต้องเลี้ยงชีวิตตัวเอง ด้วยการไปรับจ้างขายฟืน ได้เศษเงินเล็กๆ น้อยๆ มาซื้อข้าวกิน บางวันที่ไม่สบายก็ไม่มีใครดูแล เขาไม่รู้หนังสือ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ต้องเร่รอนไปเรื่อยๆ บางทีก็ไปขออาศัยอยู่บ้านคนอื่น หลังนี้ 3 เดือนบ้าง หลังอื่น 6 เดือนบ้าง เขาบอกว่าที่กัมพูชามีเด็กเร่รอนเยอะ จึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่เด็กเร่รอนเหล่านั้นจะไปขออาศัยอยู่บ้านคนที่ไม่รู้จัก แต่เขาจะต้องออกไปทำงาน พอได้เงินมา ก็จะแบ่งให้เจ้าของบ้านคนละครึ่ง เขาทำเช่นนั้นมาเป็นเวลา 6 ปี
หนุ่มเพียรราบอกว่า เพื่อนคนหนึ่งที่มาอยู่ที่ศูนย์ เขาก็ไม่มีครอบครัวเหมือนกัน ต้องเดินทางเร่ร่อนไป อยู่กับคนอื่นเรื่อยๆ และมีช่วงหนึ่งที่เขาเดินทางไปหางานทำที่กรุงเทพฯ เขาไปทำงานก่อสร้าง ทำงานได้ประมาณ 6 เดือน ก็ถูกตำรวจจับ ในจังหวะนั้น เพื่อนเขาไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เลยกลับไปอยู่บ้าน พอดีมีผู้หญิงคนหนึ่งแนะนำให้มาอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ก็เลยได้มาพบกับเขา
รัว ฟี ยัง เด็กชายอายุ 14 ปี สัญชาติกัมพูชา เขารูปร่างเล็กผิดกับอายุมาก สีผิวออกไปทางคล้ำ สีผมหนักไปทางแดง เล่าชีวิตในอดีตก่อนที่จะเข้ามาอยู่ที่บ้านแห่งความหวังว่า เขาอาศัยอยู่กับน้าที่จังหวัดพระตะบอง แม้จะได้เรียนหนังสือ แต่บ้านที่อยู่ก็เก่าซอมซ่อ ใกล้ผุพังเต็มทีแล้ว ส่วนอาหารการกินนั้นไม่เพียงพอ บางครั้งได้กิน บ้างครั้งไม่ได้กิน มีความเป็นอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ส่วนพ่อ แม่ และพี่ชายของเขาเสียชีวิตไปหมดแล้ว เขาจึงอยู่อย่างอ้างว้าง เวลาต่อมาเมื่อเขาอายุ 8 ปี น้าก็แนะนำให้เขาเข้ามาอยู่ที่บ้านแห่งความหวัง ซึ่งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็กินเวลาไป 6 ปีแล้ว
ใคร ไม่มีพ่อ แม่ เหมือนเราบ้าง?
การสนทนายังคงดำเนินไปเรื่อยๆ กระทั่งเจ้าหน้าที่ มพด. คั่นจังหวะการพูดคุยขึ้นมาว่า เพื่อนๆ กัมพูชาอยากถามอะไร เพื่อนๆ คนไทยบ้างหรือไม่ เด็กหนุ่มกัมพูชามองหน้ากันเลิกลั่ก และไมโครโฟนก็มาหยุดอยู่ที่วันนาก เขาถามเพื่อนคนไทยว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนๆ ยากลำบากเหมือนเขาหรือไม่
กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์ หรือ น้องปูเป้ หนึ่งในนักศึกษาไทย ตอนนี้เธออายุ 20 ปี ปัจจุบันศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ลุกขึ้นตอบคำถามอย่างมั่นใจว่า“ทุกคนมีปัญหาด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนกัมพูชา อย่างปูเป้เองก็ลำบากเรื่องการต่อสู้ เรื่องคนด้วยกันเอง การเข้าสังคม การคบคน มีปัญหาเรื่องเงินที่ไม่เพียงพอของครอบครัว เราอาจจะไม่ต้องต่อสู้เรื่องความเป็นอยู่มากเท่าไหร่ ซึ่งมันอาจจะอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ว่ายากลำบากตรงไหน แต่ขอให้เพื่อนๆ รู้ว่าทุกคนมีปัญหาเยอะด้วย ยังไงดี ก็ชีวิตมันน่าเศร้า แต่เราก็สู้ต่อไปเพื่ออนาคตของเราค่ะ”
ขณะที่ ปัญญาภรณ์ มีแสง-น้องปอ สาวผิวขาว ร่างอวบคนนี้ มีความสดใส พูดจาฉะฉาน มีความคิดความอ่านเกินอายุ ปีนี้เธออายุ 22 ปี จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ลุกขึ้นตอบคำถามอีกคนว่าทุกที่ต้องมีปัญหาเหมือนกันหมด เรารู้ว่าน้องๆกัมพูชาก็มีปัญหา เมืองไทยก็มีปัญหา คือเราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีความสุข มาวันนี้ก็มาขอเป็นกำลังใจให้กันและกันค่ะ
เสียงเล็กๆ ดังลอดออกมาทางเด็กกัมพูชา ว่า“แล้วทุกคนที่มาที่นี่ มีใครไม่มีพ่อ ไม่มีแม่เหมือนเขาหรือไม่” เป็นคำถามที่สะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจของพวกเขาตลอดเวลา คนไทยทุกคนนิ่งเงียบ แล้วนักศึกษาไทยคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า
“ผมไม่มีพ่อครับ แต่ไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหา” เสียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งในจำนวนนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมโครงการกล่าวขึ้น เขาไม่ได้พูดสิ่งใดออกมาอีก และทุกอย่างก็นิ่งเงียบ อยู่ครู่หนึ่ง
ความสุขของการอยู่บ้านแห่งความหวัง
จนกระทั่ง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับหนังชื่อดัง ‘รักแห่งสยาม’ ที่ร่วมเดินทางมาด้วย โพล่งคำถามขึ้นว่า มาอยู่แล้วชีวิตมันเปลี่ยนไปยังไง อะไรคือความสุขของการที่ได้อยู่ที่นี่ วันนาก พี่ใหญ่ของบ้าน รับหน้าที่ตอบพร้อมด้วยรอยยิ้มว่า ความสุขที่เขาได้รับคือความช่วยเหลือ ในเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม มีเพื่อน มีพี่น้องได้นั่งกินข้าวด้วยกัน ได้รับความเอาใจใส่ ความดูแลจากเพื่อนๆ ทุกอย่างดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เขาได้เรียนหนังสือ เรียนภาษาอังกฤษ เรียนคอมพิวเตอร์
“ผมอดอยากและโหยหาการเรียนหนังสือ เหมือนคนอดข้าวมานาน แล้วอยากกินข้าว แล้วพอผมได้เรียนมันเลยดีใจมาก ผมได้ทำกิจกรรมมากมาย มีเสียงหัวเราะ รอยยิ้มจากเพื่อนๆ ในวันหนึ่งๆ พอผมตื่นขึ้นมา ก็ออกไปเรียนหนังสือข้างนอก ตอนเย็นก็กลับเข้าศูนย์ ในวันเสาร์ อาทิตย์ก็พาเพื่อนๆ น้องๆ ไปทำนา ที่อยู่ห่างจากบ้านไปอีกหลายกิโล คนที่นี่รู้จักคำว่าเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีการทะเลาะกัน เราก็จะไปขอคำปรึกษาพี่เลี้ยงเพื่อขอคำแนะนำ แก้ไขปัญหาให้ เพื่อนบางคนบอกผมว่าแต่ก่อนไม่เคยรู้จักความรัก รู้จักแต่คำว่าอดทน แต่มาอยู่นี่ที่ เขาได้รู้จักความรัก ความอบอุ่น ทุกคนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”
ด้าน ฟี ยัง บอกว่า มีความสุขมากที่มีที่นอน มีที่พักผ่อน ซึ่งมันเพียงพอสำหรับชีวิตของเขา แต่ก่อนที่เขาจะมาอยู่ที่นี่ เขามองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง รู้สึกว่าชีวิตมันมืดมัวไปหมด แต่หลังจากที่ได้มาอยู่ที่นี่ เขาได้รับความรัก เขามองเห็นอนาคตของตัวเอง
ผู้กำกับชื่อดังถามอีกว่าที่ ฟี ยัง บอกว่ามองเห็นอนาคต ฟี ยัง มองเห็นอะไร แล้วอนาคตของน้องๆ กัมพูชา อยากเป็นอะไรกันบ้าง
หนุ่มน้อย ฟี ยัง ลุกขึ้นตอบว่า เขาอยากเป็นหมอ เปิดคลินิกเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าความฝันเป็นจริง เขาจะต้องเดินทางมาเยี่ยมเยียนที่บ้านหลังนี้อีกแน่นอน ส่วนคนอื่นๆ บอกว่าหลังจากเรียนจบ อยากไปเป็นนักปกครอง บ้างก็บอกว่าอยากเป็นครูสอนภาษากัมพูชา อยากเป็นครูสอนภาษาต่างประเทศ อยากเป็นครูสอนพลศึกษา โค้ชสอนฟุตบอล บางคนอยากเป็นตำรวจ อยากทำงานการตลาด และสำหรับเด็กหนุ่มเพียรรา เขาบอกว่าเคยลำบากมามาก โตขึ้นอยากเป็นเจ้าของมูลนิธิเด็กเองเลย สิ้นเสียงของเขา เสียงปรบมือก็ดังเกรียวกราว
นอกจากนี้นักข่าวสาวคนหนึ่ง เอ่ยถามน้องๆ กัมพูชาว่า เด็กๆ มองกรุงเทพฯ เป็นยังไง วันนาก บอกว่า เขาไม่เคยไปอยู่ที่ประเทศไทย แต่เขาเคยไปเที่ยวที่ตลาดโรงเกลือ เขาเห็นสภาพท้องถนนของประเทศไทย เดินทางได้สะดวกมาก ต่างจากประเทศเขาที่ท้องถนนขรุขระ อีกอย่างประเทศไทยทำมาหากินง่าย มีงานมากมายให้ทำ แต่กัมพูชากลับหางานทำยากมากๆ ส่วนความเป็นอยู่ของคนไทยก็ค่อนข้างสมดุล คือทุกบ้านมีโทรทัศน์ มีมอเตอร์ไซค์ได้ แต่ถ้าเป็นกัมพูชา บ้านที่มีโทรทัศน์ มีมอเตอร์ไซค์ ต้องเป็นบ้านที่รวยมาก
แล้วอยากมาเที่ยวประเทศไทยหรือไม่ ฟี ยัง ตอบคำถามว่า แม้ว่าจะไม่ค่อยรู้จักประเทศไทย แต่เขาได้ยินจากเพื่อนที่พร่ำบอกเขาว่า ถ้ามาต้องถูกจับแน่ๆ เขาจึงรู้สึกกลัว และไม่อยากไป ที่สำคัญถ้าเดินทางไปก็ไม่รู้จักทางกลัวถูกหลอกด้วย
หลังจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจบลง น้องๆ กัมพูชาก็มีการแสดงดนตรีจากฝีมือของพวกเขาเอง พวกเขาแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ทั้งร้อง ทั้งเต้น แม้ว่าจะฟังภาษาไม่รู้เรื่อง แต่ท่วงทำนอง ดนตรี เมโลดี้ ก็คล้ายกับของเมืองไทยเรามาก จากนั้นเมื่อการแสดงดนตรีจบลง ก็มีการฟ้อนรำ ซึ่งเดาว่าคงเป็นเหมือนการรำต้อนรับผู้มาเยือนในวันนั้น ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติ ต่างสนุกสนานกันมาก
ภารกิจมดคันไฟ เริ่มขึ้น
เช้าวันถัดมา เราพบกับเด็กน้อยกัมพูชากว่า 100 ชีวิต พวกเขาต่างตั้งตารอพวกเราไปจัดกิจกรรมให้ เมื่อขบวนมดคันไฟมาถึง เสียงปรบมือก็ดังลั่นขึ้นในห้องโถงแห่งนั้น
ผู้อำนวยการ บอกว่านอกจากเด็กที่ศูนย์แล้ว ยังมีเด็กในละแวกนี้ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ มาเข้าร่วมทำกิจกรรมกับคนไทยด้วย เด็กกัมพูชามีรูปร่าง หน้าตา ไม่ต่างจากคนไทย มากนัก จะต่างก็เพียงเครื่องนุ่งห่ม เพราะเด็กบางคนไม่ใส่เสื้อ แม้จะเป็นเด็กผู้หญิงก็ตาม พวกเขามีสีผิวที่ค่อนข้างคล้ำ แม้ว่าบางคนจะมีเนื้อตัวมอมแมม และดูเหมือนไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารออกไปมากนัก แต่ก็นั่งดูกิจกรรมต่อไป
หลังจากจัดสถานที่เสร็จ ทีมมดคันไฟไม่รอช้า นำผลงานที่ตั้งใจทำกันอย่างสุดฝีมือออกมา โดยเริ่มต้นที่กลุ่มเล่านิทาน ที่ใช้วิธีการนำเสนอแบบละคร ในเรื่อง ‘กระตุกหนวดไฝ’ ซึ่ง กัลยาวีร์ รับบทเป็นตัวเอกของเรื่อง อธิบายให้ฟังว่า กลุ่มเล่านิทาน ใช้การแสดงแบบละคร มาปรับใช้ โดยเล่นกันสดๆ เลย เธอรับบทเป็นเจ๊ไฝ นั่นก็คือรับบทเป็นนายจ้างใจร้าย แต่เธอบอกว่า ตัวจริงไม่ร้ายอย่างเจ๊ไฝนะโดยเนื้อหาหลักของละครจะมีฉากที่เจ๊ไฝลงมือทำร้ายร่างกาย ทั้งตบ ตี และด่าทอ ลูกจ้างที่เป็นเด็กกัมพูชา ซึ่งในขณะแสดงอยู่นั้น มีเด็กกัมพูชาคนหนึ่งถึงกับร้องไห้ออกมาเสียงดัง ด้วยเหตุที่กลัวความร้ายกาจของเจ๊ไฝ
ส่วนกลุ่มถ่ายภาพก็ไม่น้อยหน้า อนุพงษ์ โพธิ์สุวรรณ น้องพู่กัน หนุ่มมาดเซอร์ อายุ 18 ปี ศึกษาที่ ม.กรุงเทพบอกว่า ทีมงานได้เตรียมภาพสวยๆ จัดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายไว้ให้น้องๆ ได้ดูกัน โดยวางรูปที่จะจัดแสดงไว้ในห้องโถง ห่างกันเป็นระยะ จากนั้นก็จะมีโปสการ์ดจากฝีมือของกลุ่มถ่ายภาพมอบให้น้องๆ กัมพูชาเขียนส่งความรู้สึกไปให้เพื่อนที่ประเทศไทย หรือไม่ก็เขียนความรู้สึกถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็ได้
ปิดท้ายด้วยกลุ่มหนังสั้น ปัญญาภรณ์ บอกว่าไม่มีไฟล์เสียง ต้องใช้ล่ามแทน ซึ่งปรากฏว่าหนังสั้นสามารถสื่อสารให้เด็กกัมพูชาที่พอจะรับสารได้เข้าใจในเกือบทุกอิริยาบถ โดยผ่านการสื่อสารด้วยภาพ สีหน้า แววตา และเสียงพากย์หนังสั้นจาก เกรียงศักดิ์ บุญแย้ม เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสิทธิผู้หญิง ช่วยอาสาเป็นล่ามให้
ภายหลังจากที่กิจกรรม ทั้ง 3 สื่อเสร็จสิ้นลง ทั้งเด็กไทยและกัมพูชานั่งกินข้าวด้วยกัน ไม่อยากบอกเลยว่า กินข้าวที่กัมพูชาอร่อยอย่าบอกใคร โดยเฉพาะฝีมือทำอาหารจากน้องๆ ที่บ้านแห่งความหวัง เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น วันเวลาแห่งการจากลาก็มาถึง ตามคำที่เขาชอบพูดกันว่าไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา ทีมมดคันไฟต่างเก็บอุปกรณ์และผลงานเตรียมเดินทางกลับ
ก่อนที่ทุกคนจะขึ้นรถ หยดน้ำตาใสๆ ของเด็กน้อยบ้านแห่งความหวังต่างรินไหลให้กับการจากลา แม้จะฟังภาษากัมพูชาไม่รู้เรื่อง แต่ก็พอจะรู้ว่าถ้อยคำที่เขาจะพูดนั้นน่าจะเป็น ‘กลับมาเยี่ยมพวกหนูอีกนะ ลาก่อน’ ในขณะนั้นเด็กน้อยกว่าร้อยชีวิตต่างก็วิ่งออกมาออกันที่หน้าบ้าน และโบกมือให้กับนักศึกษาไทย
************
เรื่อง-ออรีสา อนันทะวัน