xs
xsm
sm
md
lg

กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
     พลันที่รัฐบาลพม่า ส่งกองพันเคลื่อนที่เร็วร่วมกับกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ทั้งใช้ยุทธวิธีโอบล้อมโจมตี หมู่บ้าน ‘เลอเปอเฮอ’ ฐานที่มั่นของกองกำลังกลุ่มสหภาพแห่งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (KNU) ชาวบ้านในหมู่บ้านราว 3,000 คน ต้องอพยพหนีตายเข้ามาฝั่งไทย

     ในวินาทีที่ชีวิตของผู้ลี้ภัยแขวนอยู่บนเส้นด้ายเพราะถูกบังคับส่งกลับคืนพื้นที่สู้รบ ท่าทีของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แสดงความห่วงใย ส่งผลให้ฝ่ายความมั่นคง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เปลี่ยนท่าที มีมติไม่ผลักกลับผู้ลี้ภัย ช่วยต่อลมหายใจให้คนหนีตายได้อีกเฮือก

     แต่จะยาวนานเท่าไหร่... ไม่มีใครกล้ายืนยัน


 
     การยื้อชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่หนีซมซานจากการประหัตประหารเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม กระนั้น เราก็ยังมิอาจวางใจว่าจะไม่มีการบังคับส่งกลับแบบเงียบๆ โดยสังคมไม่รู้ไม่เห็น เนื่องจากรายงานของ Cross Border News Agency เผยว่า มีการบังคับผลักดันผู้ลี้ภัยจำนวน 99 คน กลับคืนสู่พื้นที่สู้รบแล้ว ก่อนหน้าที่นายกฯ จะแสดงความห่วงใยถึงผู้ลี้ภัย กระทั่งมีมติยืนยันจากฝ่ายความมั่นคงชายแดนว่าผู้ลี้ภัยที่เหลือจะไม่ถูกผลักดันกลับ

     ทว่า นอกจากขอความเห็นใจจากนายกฯ การที่คนในสังคมไทยจะร่วมกันทำความเข้าใจถึงรากเหง้าปัญหาที่ทำให้กุล่มชาติพันธุ์และชาวพม่าจำนวนไม่น้อยต้องอพยพหนีตาย น่าจะเป็นอีกหนทางที่เราทุกคนสามารถทำได้ เพื่อร่วมกันกดดัน ส่งเสียง และเรียกร้องให้การประหัตประหารยุติลงในวันหนึ่งวันใด

     แม้ไม่ได้มีบารมีถึงขั้นเป็น ‘ผู้นำประเทศ’ หรือมีอำนาจสั่งการกองทัพ แต่พลังบริสุทธิ์ของประชาชนคนเดินดิน ก็ไม่น่าจะอ่อนด้อยไร้เรี่ยวแรงนัก หากเราทุกคนใส่ใจกันอย่างแท้จริง ถึง ‘สิทธิของการมีชีวิตอยู่’ ที่ถูกลิดรอนไปมากเหลือเกิน ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ห่างกันเพียงก้าวข้ามสาละวิน

สงครามไม่เคยจบ

     “เหตุการณ์ครั้งนี้ กองทัพทหารพม่าใช้กองทัพดีเคบีเอกองทัพอื่นที่ไม่ได้ประจำอยู่หมู่บ้านนี้บุกเข้ามาโจมตี ชาวบ้านหลายคนก็ทยอยหนีมา มาอยู่ตามใต้ถุนวัดที่ชายแดน”

     ทิวา พรหมสุภา เจ้าหน้าที่จาก Cross Border News Agency บอกเล่าถึงสถานการณ์การสู้รบ อันเป็นเหตุให้ชาวบ้านจำนวนมากหนีมายังหมู่บ้านตรงข้ามที่อยู่ในไทย ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า ช่วงแรกที่ชาวบ้านหนีมา เมื่อสอบถามว่าเขาอยากเข้าไปอยู่ในค่ายพักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยหรือไม่ ชาวบ้านตอบว่าเขาไม่อยากเข้าไป เพราะกลัวว่าหากเข้าไปแล้วเขาจะออกมาไม่ได้ กลับบ้านไม่ได้อีกเลย เขาอยากกลับบ้านมากกว่า จึงยังคงหลบกันอยู่ตามชายแดน
 
     สำคัญกว่านั้น ก็เพราะเขาเชื่อมั่นว่ากองกำลังดีเคบีเอ จะเข้ามาไม่ได้ เพราะในบริเวณดังกล่าวมีกับระเบิดกระจัดกระจายอยู่เยอะมาก ทว่า

     “แม้จะมีทหารตายไปหลายคน แต่ทหารดีเคบีเอก็สามารถบุกเข้ามายึดหมู่บ้านเป็นฐานที่มั่นได้แล้ว เพราะฉนั้น บางหมู่บ้าน ชาวบ้านกลับไปไม่ได้แล้วเพราะหมู่บ้านถูกยึดเป็นฐานที่มั่น แต่สำหรับหมู่บ้านที่ไม่ถูกยึด ก็ยังมีทหารดีเคบีเออยู่ ซึ่งหมู่บ้านที่ว่านี้ เขาทำการเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐไทยให้ส่งชาวบ้านกลับ โดยเขาบอกว่าเขาจะไม่ทำอันตราย
 
    "ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่าชาวบ้านเขาไม่อยากกลับไป เขากลัว ใครจะการันตีให้เขาได้ ว่ากลับไปแล้วจะปลอดภัย แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยจะบอกว่ากลับไปแล้วเขาไม่เป็นอะไรหรอก แต่ถ้าเขาเป็นอะไรไป ใครจะช่วยเขาได้ ที่สำคัญผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพราะเขาหนีมาจากโรงเรียน ครูเขาพาเด็กหนีมา เด็กเกินครึ่งก็เป็นผู้หญิง เพราะเด็กผู้ชายเหลือน้อยแล้ว เนื่องจากผู้ชายชาวกะเหรี่ยง ถ้าไม่ถูกฆ่าตาย ก็ถูกจับไปเป็นลูกหาบไปเป็นทหารของทั้งดีเคบีเอและเคเอ็นยู”

 
     ส่วนสาเหตุสำคัญของการโจมตีฐานที่มั่นเคเอ็นยูในครั้งนี้ ทิวามองว่า เพราะรัฐบาลพยายามจะทำลาย และเอาชนะกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ให้ได้เยอะที่สุด เนื่องจากปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง จึงต้องเผด็จศึกให้ได้ ดังเลอเปอเฮอและหมู่บ้านอื่นๆ ที่ถูกโจมตี ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของเคเอ็นยูมานานแล้ว

 
     “ก่อนหน้านี้ ที่นี่เคยเป็นพื้นที่เจรจาหยุดยิงระหว่างดีเคบีเอและเคเอ็นยู เขาอยู่ด้วยกันมานานแล้วโดยไม่มีปัญหา ผู้คนไปมาหาสู่กันได้ตามปรกติ กระทั่งทุกคนก็ชะล่าใจแล้วถูกโจมตี หลายคนจึงเชื่อว่าดีเคบีเอ คงถูกกองทัพพม่ากดดันมา จึงส่งกองกำลังอื่นของดีเคบีเอที่ไม่ใช่กองกำลังเดิมในพื้นที่ให้เข้ามาโจมตี”

     บทสนทนาระหว่างเราเกิดขึ้นในคืนวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งเป็นค่ำคืนเดียวกันกับที่ทิวารายงานมาว่า

     “มีเสียงมาจากผู้ลี้ภัยว่า จะทำอย่างไรดี เจ้าหน้าที่ของไทยมาคุย บอกว่าจะส่งชาวบ้านกลับไป 2 หมู่บ้าน ซึ่งชาวกะเหรี่ยงจาก 2 หมู่บ้านที่ว่านี้ ตอนนี้เขาพักอยู่ที่หมู่บ้านหนองบัว อำเภอท่าสองยาง เขากลัว เขาไม่อยากกลับ เราบอกเขาว่า ถ้าเขาไม่อยากกลับไป เขาก็ต้องเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยนะ เขาก็บอกว่าเขายอม จากตอนแรกที่เขาไม่ยอม ถึงตอนนี้เขายอมที่จะไม่มีเสรีภาพ มันแสดงให้เห็นว่าเขากลัวจริงๆ”

ถึงท่านผู้นำที่เคารพ

     “ผมเคารพและให้ความนับถือในตัวนายกรัฐมนตรีมาก เพราะเชื่อมั่นว่าท่านเป็นคนดี แต่ขอให้ท่านอย่ารับฟังเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมมาก ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกเลย อยากจะเป็นกำลังใจให้ท่านนายกฯ ว่า ขอให้ท่านเอาชนะความคิดอันคับแคบของระบบราชการให้ได้ ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้น ผมคิดว่า ประเทศไทยเราจะถูกทิ้งให้ล้าหลังในทุกๆ ด้าน”

     เป็นคำชื่นชมจาก สมชาย หอมลออ ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน หลังนายกฯ แสดงความห่วงใย การผลักกลับจึงถูกระงับ ชีวิตผู้ลี้ภัยถูกยืดออกไปให้นานขึ้น

     จากนั้น สมชายแสดงทัศนะเพิ่มเติมถึงบทบาทที่รัฐบาลไทยควรแสดงออกต่อผู้ลี้ภัยชาวพม่า

     “เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ประเทศไทยเรารับภาระผู้ลี้ภัยเยอะมาก แม้ทางการไทยจะพยายามไม่ใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ แต่ใช้คำว่า ‘ผู้หนีภัยจากการสู้รบเป็นเวลายาวนาน’ ซึ่งเรื่องนี้นานาชาติก็มีความยินดีที่จะเข้ามาแบ่งเบาภาระให้ประเทศไทย ไม่ว่าองค์กรมนุษยธรรมต่างๆ หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่การที่จะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ ก็คือ เราต้องทำให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการเข่นฆ่าหรือยุติภัยประหัตประหารที่เขากระทำต่อประชาชน ซึ่งในกรณีนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ในฐานะที่เป็นประธานของอาเซียนก็ได้ทำบทบาทนี้อย่างดีพอสมควรทีเดียว ไม่ว่าการออกแถลงการณ์หรือการเรียกร้องต่างๆ ดังกรณีของนางอองซาน ซูจี”

     สมชาย อธิบายว่า จริงๆ แล้วกรณีของนางอองซาน ซูจี ที่ถูกดำเนินคดีนั้น ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว ก็แยกไม่ออกกับกรณีที่ชาวกะเหรี่ยงหรือกะเรนนีหนีภัยสงครามเข้ามาเป็นภาระของประเทศไทย เพราะตราบใดที่พม่าไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลทหารพม่าไม่ลงจากอำนาจ ไม่หยุดเข่นฆ่าประชาชน คนเหล่านี้ก็ต้องหนีตายมาไทย ไม่ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้

 
     “เมื่อหนีตายมาแล้วก็กลับไปไม่ได้ เพราะก็ยังมีปัญหาการสู้รบอยู่ ดังนั้น ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาและไม่อยากเป็นภาระในการรับผิดชอบผู้ลี้ภัยจำนวนหลายแสนคน สังคมไทยก็ต้องพยายามเรียกร้องร่วมกับนานาชาติ ในการที่จะทำให้ประเทศพม่าเป็นประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการเข่นฆ่า กดขี่ ปราบปรามประชาชน”

     นอกจากสมชายแล้ว ทิวา เป็นอีกคนที่ขอส่งเสียงไปถึงนายกฯ

     “ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง เราก็ขอส่งเสียงไปถึงนายกฯ ไปถึงรัฐบาล เพราะรัฐบาลต้องควบคุมกองทัพ หากไทยเป็นประเทศศิวิไลซ์ เราก็ต้องเป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน และเมื่อเป็นอย่างนั้น เราจะผลักคนไปตายได้อย่างไร? ถ้าจะมีการผลักกลับก็จะต้องมีการพิสูจน์ทราบว่ามันปลอดภัยจริงไหม? มีคนเดินทางไปพิสูจน์ด้วยหรือเปล่า ว่าเขากลับไปแล้วปลอดภัยไหม ไม่ใช่ข้ามขั้นตอน คิดจะส่งกลับก็ส่งกลับ หรือถ้าไม่ต้องมองว่าการผลักผู้ลี้ภัยกลับคือการละเมิดกฎจารีตระหว่างประเทศ ลองมองแค่ว่าคนที่จะถูกส่งกลับไปจำนวนมากเป็นเด็ก อายุเขาก็เท่าๆ กับลูกหลานเรา ลองนึกว่าถ้าเขาเป็นลูกหลานเรา เขาร้องไห้บอกว่าหนูกลัว หนูไม่อยากกลับ แล้วเราจะผลักเขากลับไปไหม?”

จารีต ชีวิต สิทธิ ลมหายใจ

     แม้ประเทศไทย ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยก็ตาม กระนั้น การผลักผู้ลี้ภัยกลับไปสู่เงื้อมมือความตายก็ถือเป็นการละเมิดกฎจารีตระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นข้อหนึ่งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

     หากรัฐไทยละเมิดกฎจารีตดังกล่าว จะมีความผิดในฐานใดบ้าง? สมชาย หอมลออ อธิบายโดยยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่า

     “ในกรณีที่ประชาชนจากดินแดนหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง หนีจากสิ่งที่เขาเรียกว่าภัยประหัตประหารที่เกิดขึ้นในดินแดนของเขา แล้วหนีเข้ามาในประเทศเพื่อนบ้าน ตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว เราในฐานะประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องให้ความดูแลกับคนกลุ่มนี้ และจะต้องไม่ผลักดันคนกลุ่มนี้กลับไปประเทศของตัวเอง ตราบที่ภัยประหัตประหารนั้นยังมีอยู่

     “ลองเทียบเคียงง่ายๆ กับกรณีตัวอย่าง เช่น เราอยู่ในบ้าน แล้วจู่ๆ ก็มีคนวิ่งเข้ามาและกระโดดข้ามรั้วเข้ามาในบ้านเรา โดยสาเหตุที่เขากระโดดข้ามรั้วเข้ามาก็เนื่องจากมีคนมาวิ่งไล่ทุบตีและไล่ฆ่าฟันเขา ซึ่งปรกติแล้ว ถ้ามีคนบุกเข้ามาบ้านเรา เราก็ถือว่าเขาบุกรุก มีความผิดตามกฎหมาย แต่กรณีที่เขาหนีการประหัตประหาร ในทางกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายของไทยหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ถือว่าคนคนนี้มีความผิด เพราะถ้าเขาไม่ข้ามรั้วเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรา เขาก็อาจจะถูกทุบตีหรือถูกฆ่า เพราะฉะนั้นในแง่นี้เขาจึงไม่ผิด”

     และเราเองในฐานะเจ้าบ้านก็ต้องให้การดูแลเขาตามสมควร กระทั่งคนที่ไล่ฆ่า ไล่ตีเขานั้น กลับไปแล้ว แต่ถ้าคนที่ไล่ฆ่า ไล่ตี ยังยืนอยู่หน้ารั้วบ้าน แล้วเรายังผลักดันคนที่หนีตายมาในบ้านเรา ผลักเขาออกไป จนกระทั่งเขาถูกทุบตี เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ หากเป็นเช่นนั้นถือว่าเรามีความผิด

     “นั่นคือหลักของกฎหมายจารีตประเพณีและหลักมนุษยธรรมนั่นเอง ซึ่งเป้าหมายก็คือเพื่อให้สังคมนี้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”
สมชายย้ำหนักแน่น ถึงเจตนารมณ์ของกฎจารีตระหว่างประเทศ ก่อนกล่าวเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ลี้ภัยหนีการสู้รบมายังไทย

     “ในกรณีที่คนเชื้อสายกะเหรี่ยงหรือกะเรนนีหนีภัยสู้รบมาจากประเทศพม่า ไม่ว่าเป็นเด็ก ผู้ชาย หรือผู้หญิง เราก็ต้องให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม เราต้องนึกถึงใจเขาใจเรานะครับ ถ้าเราต้องประสบชะตากรรมแบบนั้น แล้วหลบไปประเทศเพื่อนบ้านของเรา เราก็ต้องการการดูแลเหมือนกันใช่ไหม? ซึ่งในกรณีนี้ หากรัฐบาลไทย ไม่เคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยอ้างว่านี่คือ ‘ดินแดนไทย’ แล้วปรากฏว่าคนเหล่านี้ถูกเข่นฆ่า ก็ถือว่าประเทศไทยมีความผิดด้วย

 
     “หากเราจะมาบ่นว่าคนกลุ่มนี้เป็นภาระของสังคมไทยเหลือเกิน แต่เมื่อมีใครเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า นอกจากจะไม่สนับสนุนแล้วก็ประณามเขาว่ามาใช้ดินแดนไทยในการเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับพม่า

     "ผมว่า คนที่มีทัศนะอย่างนี้ไร้เหตุผลมาก และไม่สามารถจะโยงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นให้เชื่อมโยงถึงปัญหาในประเทศพม่าได้เลย และในที่สุดก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้”

     สุดท้าย สมชายเชื่อมั่นว่า หากเราทุกคนร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย กระทั่งวันหนึ่งรัฐบาลทหารพม่ายุติการเข่นฆ่าประชาชน เมื่อนั้น...

     “ผู้อพยพจำนวนหลายแสนคนก็จะได้กลับประเทศเสียที แรงงานพม่าหลายล้านคนในประเทศไทย ก็สามารถที่จะกลับประเทศได้ หรือจะกลับมาทำงานในประเทศไทยอีกก็สามารถกลับมาได้ เพราะประเทศไทยเองก็ต้องการแรงงาน และเขาจะสามารถกลับเข้ามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

 
     วันนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? คงไม่สำคัญเท่าวันนี้ เราคิดจะส่งเสียงหรือหันมาเหลียวมองปัญหาของพวกเขาหรือไม่ ปัญหาซึ่งฝังรากลึกอยู่ในดินแดนที่ผู้คนเพรียกหาสิทธิเสรีภาพเท่าที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะพึงมี
แต่ต้องเสียเวลาเกือบทั้งชีวิต...ไปกับการหนีตาย ครั้งแล้วครั้งเล่า
และครั้งสุดท้ายอาจมาถึงได้ทุกเมื่อ

               ............
     เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

ขอบคุณข้อมูลจาก Cross Border News Agency
ภาพประกอบโดย แอ้ ก้อ ตอ, แอ้ โด โด้, AREERAT, คณะกรรมการเพื่อประชาชนชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่น, มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, โรงเรียนผู้พลัดถิ่นและผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามชาวกะเหรี่ยง

กำลังโหลดความคิดเห็น