xs
xsm
sm
md
lg

สงครามข่าว-ธุรกิจทีวี เรื่องเล่าน้ำเน่าเมื่อเช้านี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การทำงานของนักข่าวที่ขลุกอยู่ในสนามจริง
ละคร ‘น้ำเน่า’ บ้านเราที่ชอบ ยื้อ แย่ง ช่วงชิง ชนิดใครดีใครได้ ยังได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ ของวงการบันเทิง ยิ่งถ้าต้องแย่งชิงพระเอกยิ่งแล้วใหญ่ บรรดานางเอก นางร้าย และนางรอง ก็ต่างอยากได้เป็นเจ้าของทั้งนั้น ถ้าวันเปิดศึกแย่งชิงก็อย่าเผลอไปนั่งใกล้จอล่ะ มีหวังหูดับตับไหม้...อย่างว่าแหละ ทั้งหล่อ ทั้งเก่ง นิสัยดี ใครจะไม่อยากได้ เช่นเดียวกับสงครามข่าว (แย่งตัวผู้ประกาศ) บนหน้าจอทีวีทุกวันนี้ มีการแย่งทั้งนางเอก พระเอกคนข่าว อย่างดุเดือด เผ็ดมัน เหมือนละครยังไงยังงั้น

คงมีคนสงสัยว่า เอ! ดูข่าวจะไปเหมือนดูละครยังไง คำตอบง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ทุกวันนี้คนข่าวบนหน้าจอ เขาเด่นดัง ต้องเพียบพร้อมทั้งรูปลักษณ์ ความสามารถ แถมมีกึ๋น อีกทั้งค่าตัวก็แพงชิบ!! เหมือนดาราเข้าไปทุกที

จนทำให้สงครามแย่งคนข่าวมาคู่กับเรื่องค่าตอบแทนที่มักจะมีข่าวลือว่า 'แพงระยับ' เพราะถ้าเราไล่ดูปรากฏการณ์ข่าวฟีเวอร์ จะพบว่าคนข่าวหลายคนหันมาเปิดบริษัทผลิตข่าวของตนเอง และได้กำรี้กำไรเป็นกอบเป็นกำปีละหลายร้อยล้าน บางเจ้าถึงกับมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกับทางสถานี รวมถึง 'ข่าวลือ' ว่าค่าตัวผู้ประกาศข่าวที่ว่ากันว่าแพงระยับ เป็นผู้ประกาศเลี่ยมทอง อย่างผู้ประกาศข่าวชายที่เพิ่งย้ายไปซบช่อง 3 ได้ไม่นาน ก็มีข่าวลือว่าค่าดูดจากสถานีเดิมอาจสูงถึง 1,500,000 บาท

ปี 2543 รุ่งมณี เมฆโสภณ กล่าวถึงเส้นทางผู้ประกาศข่าวบ้านเราว่า

“การเป็นผู้ประกาศก็คือกระดานเด้งชั้นดีในการก้าวไปสู่นักเลือกตั้งบ้าง เส้นทางแสวงหารายได้จากการรับถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา ในแวดวงผู้ประกาศในบ้านเรายังขาดมาตรฐานและการไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ซึ่งกรณีนี้ไล่ดะมาตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงตัวผู้ประกาศเอง”

แม้ภาพผู้ประกาศในอดีต จะต่างจากปัจจุบันบ้าง แต่เค้าโครงเดิมก็ยังคงเหลืออยู่

สงครามครั้งนี้ เพื่อประชาชน?

ทุกวันนี้ สื่อโทรทัศน์จำนวนมากพยายามปรับเปลี่ยนรายการในผังของตัวเอง จากเดิมที่เน้นแต่รายการบันเทิงเป็นหลักก็หันไปใส่รายการข่าวมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเช้า สาย บ่าย เย็น หัวค่ำ ตกดึก หรือแม้แต่ตอนเช้ามืดก็ยังมีข่าวมาให้ประชาชนอย่างเราๆ ได้ดูตลอด

หลายๆ สถานีมักอ้างว่าที่ทำเช่นนี้ ก็เพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และยังเป็นการตอบสนองความกระหายข่าวที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของคนยุคใหม่ด้วย

แต่สำหรับมุมมองประชาชนนั้น เขาคิดแบบนั้นจริง? หรือนี่เป็นเพียงความคิดเองเออเองของบรรดาสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยกันแน่

แมนสรวง โพธิสวัสดิ์ เจ้าของร้านขายเครื่องดื่ม ซึ่งปกติติดตามข่าวสารมาโดยตลอด มองถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีและยังทำให้ประชาชนอย่างเขาได้รับความรู้และเท่าทันโลกมากขึ้นด้วย

“ทุกวันนี้ ก่อนออกจากบ้าน ผมต้องตื่นขึ้นมาดูข่าวตอนตี 4 เสมอ เพื่อที่เราจะได้รู้ข่าวสารบ้านเมือง ว่า ช่วงที่ผ่านมานั้นเกิดอะไรขึ้น แล้ววันนี้จะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง”

แต่ข้อเสียก็คือข่าวที่ถูกนำเสนอออกมานั้น อาจจะลืมตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา บางครั้งเปิดสลับกันหลายๆ ช่องแล้วก็รู้สึกสับสน เพราะข่าวเดียวกัน แต่ไม่รู้ว่าทำไมแต่ละช่องถึงรายงานไม่เหมือนกัน

“อย่างข่าวอุบัติเหตุ ยิ่งดูก็ยิ่งสับสน อย่างช่องหนึ่งบอกว่ามีคนตาย 10 คน แต่ไม่ถึง 5 นาที ผมก็เปิดไปอีกช่อง กลับบอกว่าตาย 7 คน เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้แล้วว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม”

นอกจากความถูกต้องแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่เขาพบก็คือ การเล่นประเด็นเดิมซ้ำๆ

“คุณเชื่อไหม มีอยู่วัน ผมอยู่บ้านเฉยๆ นั่งเปิดทีวี ดูข่าว ดูไปดูมา ผมแทบอ้วก เพราะข่าวตอนเช้ากับตอนเย็นแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย แถมทุกต้นชั่วโมง ก็ยังเอาข่าวเก่าที่อ่านตอนเช้ามาอ่านต่ออีกรอบ เหมือนโดนยัดเยียด คือสำหรับผมแล้ว คุณจะมีรายการข่าวเยอะเท่าไหร่ ผมไม่ว่า แต่ขอให้ช่วยเอาข่าวใหม่ๆ ประเด็นใหม่ๆ มาเสนอด้วยได้ไหม เพราะถ้าขืนคุณทำอย่างนี้ คนดูก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร และทำให้เกิดความรู้สึกว่าดูข่าวก็ไม่มีประโยชน์”

ขณะที่ ฤทธิเดช นิปกะกุล พนักงานบริษัท กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านการตลาดระหว่างสถานีแต่ละช่อง ที่ต้องการแย่งชิงจำนวนผู้ชมมากกว่า ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์อย่าง ช่อง 7 ผลิตรายการข่าวชนกับช่อง 3 ตอน 4 ทุ่มครึ่งแน่นอน หรือกรณีที่บางช่องก็ไปดึงเอาผู้ประกาศข่าวของช่องอื่นมาอยู่ในสังกัดของตัวเอง

“ผมมองว่า อย่างการที่ช่อง 7 ผลิตรายการข่าวและละคร ก็เพื่อดึงให้คนไม่เปลี่ยนไปช่องอื่น เพราะบางทีก็มีเหมือนกันที่ดูละครเสร็จ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าอยากจะดูข่าวก็เลยเปลี่ยนช่อง ฉะนั้น หากช่อง 7 ทำรายการข่าวซะเอง พอดูละครเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องเปลี่ยนช่องไปไหน ดูข่าวต่อได้ทันที”

แต่ถึงเรื่องนี้จะแฝงไปด้วยผลประโยชน์เพียงใด อย่างน้อยๆ การที่แต่ละช่องหันมาผลิตรายการข่าวมากขึ้น ก็นับว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก เพราะยังไงก็คงดีกว่าสมัยก่อน ที่แต่ละช่องแข่งกันผลิตรายการบันเทิงออกมาอย่างเดียว

นักวิชาการสื่อชี้ เล่าข่าวต้องมีการตรวจสอบ

ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะรองประธานสถาบันนักวิชาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มองว่า วงการโทรทัศน์ไทยแย่แล้ว! หมายความว่านักนิเทศศาสตร์ไม่มีจิตสาธารณะเลยหรือ มันเกิดอะไรขึ้น ช่อง 3 เอาตัว กรุณา บัวคำสี ไป ถ้าช่อง 3 ไม่ดีกว่าที่เดิม กรุณาจะไปหรือไม่? ถ้าช่อง 3 ไม่ให้อะไรตอบแทนดีกว่าช่อง 7 ภาษิต อภิญญาวาท จะไปมั้ย?

“คนในช่อง 3 เคยบอกกับผมว่า ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 จะใช้ดารา ดาราในที่นี่คือดาวเด่นของคนข่าว เป็นคนที่สังคมรู้จักดี ขายได้เมื่ออยู่หน้าจอ สำหรับเรตติ้งในวันนี้ ช่อง 7 แย่ แต่ช่อง 3 โต เนื่องจากเนื้อหาหลักของช่อง 3 นอกจากละครแล้ว ยังมีรายการเล่าข่าวเป็นตัวดึงเรตติ้ง จนช่องอื่นต้องทำรายการเล่าข่าวกันหมด ถามว่าคนในรายการโทรทัศน์มีสมองเท่านี้เองหรือ เอาหนังสือพิมพ์มาอ่าน และในรายการเล่าข่าวก็ไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เจาะข่าวแทบตาย แต่ทีวีเอามาพูดได้หมด ที่ทีวีทำเองคือเอาตากล้องไปถ่ายที่ทำเนียบฯ ที่รัฐสภา ก็ได้ประเด็นโหลเหมือนกันทุกช่อง จึงทำให้วงการข่าวไม่พัฒนา แต่อย่าไปโทษใคร ต้องโทษโครงสร้างสื่อ เพราะให้เขาสัมปทาน พอสัมปทานเขาก็ต้องทำเพื่อให้เรตติ้งดี ไม่ต้องมาตอบโจทย์สาธารณะ ตราบใดที่ยังไม่มีความหลากหลาย ยังหาจุดยืนไม่ได้ ก็ไม่มีทางเปลี่ยนวิกฤตสื่อได้ จะเกิดการซื้อตัวแบบนี้แหละ ”

ทีวีบ้านเราดูฟรี ใครจ่ายค่าดูล่ะ ก็โฆษณาไง ถึงแม้จะมีการย้ายค่ายของตัวผู้ประกาศ การรายงานข่าวทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับความรู้มากขึ้น เพราะมันกลายเป็นการแสดงความคิดเห็น มันไม่ใช่ ข้อเท็จจริง คือรายการเล่าข่าวมีดารา มีพระเอก นางเอก ในละครมาเล่าข่าวก็เล่าแบบฉาบฉวย ตลกมาแล้ว คนชอบมั้ย ชอบ! ดังนั้น ความรู้จะเกิดขึ้นในเชิงวิเคราะห์ มันมีน้อยมาก ถามว่าทำไมนักข่าวภาคสนามคนพื้นๆ ที่ไม่ได้เด่นดัง ทำไมถึงไม่ได้มานั่งอ่านข่าว เหตุผลมีนิดเดียว คือพวกเขาไม่มีโอกาส

“ในอนาคตรายการเล่าข่าวจะเป็นยังไง มองไม่เห็นจริงๆ ว่าจะทำหน้าที่ ในการตรวจสอบ ถ้าหากยังจมกับการเล่าข่าว ยังให้ผู้ประกาศข่าวเป็นดารา เด็กๆ มาสัมภาษณ์ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย จากคำถามที่ว่าทำไมอยากเป็นนักข่าว เขาก็ตอบว่าเพราะอยากเก่งเหมือน กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ และถ้าวงการสื่อทีวียังคำนึงถึงแต่เรตติ้ง เงิน เงิน ก็จะสร้างค่านิยมในสังคม แบบฉาบฉวย ง่ายๆ สนใจความหวือหวา สีสัน ซื้อตัวนักข่าว นักข่าวภาคสนามไม่มีโอกาสโตเลย ก็เพราะไม่ใช่คนในกระแส”

ผศ.สุรสิทธิ์เสนอแนะว่า ขณะนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้างสื่อ สิ่งที่ต้องทำคือต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ รู้จักวิเคราะห์สื่อ เพื่อจะได้ไม่ถูกโน้มน้าวชักจูง ซึ่งตอนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวหลายทางเพื่อให้เกิดการบรรจุหลักสูตรวิชา Media Study หรือสื่อมวลชนศึกษา เพื่อตอบโจทย์ Media Literacy หรือความรู้เท่าทันสื่อ

ย้ายช่องไปไหน? ความท้าทายเรื่องงาน สำคัญที่สุด

ด้าน นภจักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าว และผู้ประกาศข่าวเนชั่นทีวี แม้ว่าเขาจะไม่ได้จบวารสารศาสตร์มาโดยตรง แต่ก็ได้เข้ามาโลดแล่นในวงการข่าวร่วม 2 ปีแล้ว เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับการย้ายค่ายของผู้ประกาศข่าวในยุคนี้ว่า ระบบของวงการข่าวโทรทัศน์ ของเราไม่เหมือนประเทศอื่น เมืองนอกเข้ามีจุดยืนทางความคิดอยู่แล้ว อย่าง บีบีซี เป็นสื่อสาธารณะ ส่วนคนทำงานที่หวังร่ำรวยก็ไปทำทีวีช่องเอกชนหรือไปทำรายการโทรทัศน์ไปเลยไม่มาทำข่าว ซึ่งประเทศไทยเป็นเอกชนหมดเลย ภาพผู้ประกาศ ย้ายเป็นเพียงผิวหน้าของระบบการทำงานข่าว ไม่ได้มองว่าร้ายแรง แต่บางทีเปลี่ยนช่องด้วยผลประโยชน์ล้วนๆ  มันก็เกินไป

 

ผมว่า การย้ายจากช่องหนึ่ง ไปช่องหนึ่ง เป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร รวมถึงผู้บริโภคด้วย ว่าในขณะนั้นใครที่อยู่ในกระแส อย่าง ช่อง3 เขาก็เอาใจผู้บริโภค  ดังนั้นผู้บริหารก็ต้องดึงผู้ประกาศ จากช่องอื่นๆ ก็จะได้กลุ่มคนดูจากผู้ประกาศคนนั้นมาด้วย

เวลาที่เราย้ายไปอยู่ช่องใหญ่ ประชาชนจะได้ความรู้มากขึ้นหรือไม่ นภจักษ์ บอกว่า ความจริง อย่างเนชั่น ทีวีไทย หรือเอเอสทีวี เป็นสถานีข่าวมากว่า ช่อง7 ช่อง 3 เวลามันมีมากกว่า ทำให้ช่องเล็กมีโอกาสรายงานข่าวมากกว่าหลายมุมกว่า คิดว่าการย้ายไปอยู่ช่องใหญ่ก็มีข้อดีแตกต่างไป คนดูมากขึ้น เรื่องคุณภาพก็ขึ้นอยู่กับบุคคล แต่ต้องยอมรับว่าช่องใหญ่ๆอย่าง ช่อง 3 ช่อง 7 จะมีสรรพกำลังมากกว่า อุปกรณืมากกว่า ซึ่งมันอาจส่งผลให้งานออกมาน่าดูกว่า  

คิดว่าคนดูจะได้อะไร นอกจากการเปลี่ยนหน้าผู้ประกาศ นักข่าวหนุ่มนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า ความจริงทีวีของเอกชนจะข้อจำกัดเรื่องเวลานะ ส่วนคนดูได้อะไรอันนี้เรื่องใหญ่ คิดว่าคนดูเขาก็ได้สิ่งที่เขาอยากได้นะ ว่าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น ขอแค่ไม่บิดเบือนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่

จริงๆผู้ประกาศบ้านเราที่มีคุณภาพจริงๆ ขาดแคลนนะ แม้ว่าจะมีผู้ประกาศเยอะ อย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา  ต้องยอมรับว่า เขาเคยทำข่าว รัฐสภา มา ทำข่างที่ทำเนียบฯมาหลายปี เขาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านขั้นตอนมาเยอะ กว่าจะผ่านหน้าจอมาได้ อย่าง กนก รัตน์วงศ์สกุล หรือ ธีระ ธัญญะไพบูลย์ ก็ผ่านงานมาเยอะ มีประสบการณ์เยอะ ซึ่งตัวผมเองทำมาสองปี ความสามารถไปเทียบไม่ได้แน่นอน

เหมือนว่า วงการทีวี อเมริกา ก็มีเลือกฝั่งไปเลย มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน คนที่เขาเข้าไปก็จะเลือกผ่านทางความคิด ซึ่งเวลาจะเปลี่ยนค่ายก็ตัดสินใจซับซ้อน แต่ของคนไทยไม่มีแบบนั้น บางคนโตจากช่องเล็กๆ ก็สามารถย้ายไปช่องใหญ่ได้ ด้วยอายุเท่านี้  ผมว่าคนที่มานั่งอาชีพ ผู้ประกาศ ความท้าทายเรื่องงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด มากกว่าการย้ายไปอยู่ช่องใหญ่ แม้จะมีอุปกรณ์มากขึ้น มีศักยภาพในการทำงานข่าวมากขึ้น แต่พื้นที่กลับน้อยลง ซึ่งเราก็ต้องเลือกเอา เรื่องความนิยมในรายการเล่าข่าวนี่มากกว่ารายงานข่าว ไม่ได้แปลว่า คนไทยไม่ได้เรื่อง แต่มันเป็นสังคมไทยที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม พูดกันเฮฮา แต่ที่ผมขอคือ อย่าให้พิธีกรเล่าข่าว รับผลประโยชน์มา เปลี่ยนข่าวเป็นดำ มันเป็นพิษต่อสังคม พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจิรง ให้คนอื่นเชื่อมันก็เกินไป

ขณะที่ ประวิทย์ มาลีนนท์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การที่ช่อง 3 ทุ่มซื้อคนข่าวฝีมือดีมาร่วมงาน เป็นเรื่องธรรมดา ของคนทำงานข่าวที่ไหลไปไหลมา ครอบครัวข่าว 3 ที่เสริมเข้ามา เพื่อมาเติมเต็ม ไม่กลัวล้น เพราะว่าการทำรายการข่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งทางช่องมีโครงการปั้นเด็กของตนเองขึ้นมา แต่ต้องปั้นมาจากภาคสนามก่อน ให้ไต่เต้าขึ้นมาทีละขั้น ช่วงหลังนี้ทางช่อง 3 โตเร็ว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและเนื่องจากไอทีวีหยุดไปจึงทำให้คนไหลมาที่ช่อง 3 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประวิทย์พูดดูไม่ค่อยสอดคล้องกับกระแสข่าวความไม่พอใจของคนช่อง 3 ที่เล็ดลอดออกมา ที่มองว่าเหตุใดจึงต้องทุ่มเงินซื้อตัวและให้ค่าตอบแทนสูงเกินหน้าเกินตาจนเรียกได้ว่าไม่เป็นธรรม แทนที่จะดันคนภายในที่มีประสบการณ์ มีความสามารถขึ้นมา

คนสื่อมอง...ข่าว

เทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย แสดงความเห็น ในกรณีการย้ายค่ายของผู้ประกาศว่า คงมีการแข่งขันด้านการนำเสนอข่าวสารที่แหลมคมมากยิ่งขึ้น อย่างที่บอกว่าสถานีแต่ละช่องเห็นว่ารายการข่าวสามารถขายโฆษณาได้ ทำให้สถานีเชื่อว่าถ้าเสริมเรื่องข่าวได้ก็คงได้ผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กลับไปแน่ แต่โดยส่วนตัวผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่ามันจะนำไปสู่รายการข่าวคุณภาพที่ดีขึ้น เพราะเมื่อดูจากรูปแบบข่าวที่มีอยู่ตอนนี้ก็เน้นข่าวทั่วๆ ไป ข่าวอาชญากรรม ข่าวสังคมเสียมากกว่า ซึ่งผมคิดว่ามันจะดีมากถ้าการแข่งขันจะลงไปแตะทางด้านเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะบ้านเมืองในตอนนี้ก็ยังอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่ สื่อจะช่วยได้เยอะถ้าให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบ การมีส่วนช่วยหาทางออกให้แก่สังคม

สำหรับการแย่งตัว เป็นสัญญาณไม่ดีที่บอกว่าสถาบันการศึกษาหรือองค์กรสื่อ ไม่สามารถผลิตคนที่มีศักยภาพออกมาได้ทัน คำถามกระตุ้นจิตสำนึกคนทำสื่อเริ่มต้นขึ้น ทำให้เขามองว่า

“ผมก็พยายามจะมองในแง่ดี เอาล่ะ สถานีให้ความสำคัญเรื่องข่าวมากขึ้น มันก็น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้วิชาชีพนี้หรือคนที่จบมาทางด้านนี้มีโอกาสมากขึ้น แต่สัญญาณอันหนึ่งที่ผมดูแล้วไม่ค่อยสบายใจนักก็คือว่าถ้าสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ ไม่พยายามสร้างคนของตัวเองขึ้นมา ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็น่าประหลาดใจ เพราะบางแห่งทำข่าวมายี่สิบกว่าปี สามสิบกว่าปีแล้ว แต่คนที่เขามีอยู่จึงไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาทำหน้าที่รายงานข่าวหรือเป็นพิธีกรที่ดีได้ แต่ต้องไปดึงหรือซื้อตัวจากที่อื่นมา ผมคิดว่าหลายแห่งต้องกลับมามองตัวเองด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น และผมก็เชื่อว่าคนที่เป็นพนักงานที่มีอยู่แล้วของสถานีต่างๆ ก็คงมีคำถามอย่างนี้เหมือนกันว่า ทำไมเขาจึงไม่ได้รับโอกาส ทำไมองค์กรของเขาไม่ส่งเสริมให้เขาได้รับหน้าที่ตรงนี้ แทนที่จะไปดึงคนข้างนอกเข้ามา”

เทพชัย ยังแสดงความรู้สึกไม่สบายใจ ในแง่ที่เขาเชื่อว่า นักข่าวเวลาเลือกที่จะไปทำงานกับสถาบันสื่อใดก็ตาม แน่นอนเรื่องผลตอบแทนก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ว่าการไปเพราะความเชื่อในปรัชญาและจุดยืนของสถาบันนั้นเป็นเหตุผลสำคัญของคนทำสื่อ แต่ว่าสื่อมันเป็นอาชีพที่ไม่เหมือนอาชีพทั่วๆ ไปที่ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก ไปทำงาน แล้วมีเงินเดือนหรือความก้าวหน้าในวิชาชีพ แต่สื่อมันต้องตอบโจทย์เยอะมาก เพราะมองว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ของสังคม ในการเข้าไปตรวจสอบ รายงานความเป็นไปของสังคม เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่สื่อตรงนี้ มันไม่ใช่แค่อาชีพเฉยๆ มันต้องเข้าไปด้วยจุดยืน ด้วยความตั้งใจ และต้องมีความเชื่อในปรัชญาขององค์กรที่เข้าไปด้วย มันจึงเป็นคำถามใหญ่เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ มันตอบโจทย์ตรงนี้หรือเปล่า

“อีกด้านหนึ่ง ในความรู้สึกผมกับหลายๆ คนในวงการนี้ก็จะรู้สึกคล้ายๆ กันว่า บางทีรูปแบบการนำเสนอที่ทำให้คนชอบ มันอาจจะออกไปแนวบันเทิงมากกว่า คือต้องใช้บันเทิงเป็นตัวนำ พิธีกรทั้งหลายจึงต้องนำเสนอข่าวในรูปแบบที่ค่อนข้างนอกเหนือจากการทำหน้าที่ปกติของพิธีกรทั่วไปที่จริงจังกับการนำเสนอข่าวสาร แต่ต้องมีการใส่สีสัน การใส่ความเห็นลงไป ใช้ภาษาที่หวือหวา ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วผมคิดว่าคงต้องมาทบทวนกันว่ามีผลต่อความเป็นวิชาชีพ ในแง่ของการนำเสนอข่าวเรื่องความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน”

ทีวีไทยมีผลกระทบจากการที่นักข่าวออกไปอยู่ช่องอื่นหรือไม่ เทพชัยบอกว่า ก็คงมีผลบ้าง แต่ไม่มาก เพราะบางคนที่ไปก็ต้องถือว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์ระดับที่เรียกว่าถ้าเราจะหาคนมาแทนก็คงต้องใช้เวลาอบรมหรือฝึก แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อคุณภาพหรือภาพรวมของรายการข่าว เราไม่คิดว่าจะมีปัญหาหรือมีผลกระทบต่อการทำงาน

เขายังบอกอีกว่าอยากจะเห็นนักข่าวหรือพิธีกรที่ไปทำงานตามช่องต่างๆ ที่มีภาพว่าถูกดึงตัวไป จะคำนึงถึงความน่าเชื่อถือในการทำงาน เพราะถ้าไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และปรัชญาของช่องนั้นๆ เมื่อไปแล้วก็ต้องทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ และสิ่งสำคัญคือต้องไม่ยอมในเรื่องจริยธรรม ในเรื่องเสรีภาพในการทำงาน ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือเมื่อไปอยู่ในแวดวงที่เป็นธุรกิจเยอะ การยึดมั่นในหลักการในการทำงานอาจจะเจือจางลงไป

เสียงกระแสสังคมที่ยังโหยหา ต้องการเสพข่าวฝีมีอดี มากด้วยคุณภาพ ยังคงทวีความร้อนแรง และเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด แม้รายการเล่าข่าว ทั้งเช้า สาย บ่ายเย็น จะตอบสนองความอยากเสพข่าวของคนในสังคมมากเอาการอยู่ แต่ทว่าเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค คนทำสื่อ และนักวิชาการ กลับฉายภาพด้านมืดของรายการเล่าข่าวที่ยังไม่ตอบโจทย์ของสังคม นั่นเป็นเพราะเราปล่อยธุรกิจเป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนงานข่าว

แล้วจริงๆ สังคมได้อะไร? นอกจากความสนุก เสียงหัวเราะ ความฉาบฉวย และสีสัน

*************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์





ผศ.สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ในฐานะรองประธานสถาบันนักวิชาการสื่อมวลชนแห่งประทศไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น