xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ลงแส้ผู้ซื้อ เพื่อใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจราจลจากการกวาดจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละนับแสนล้านบาท เป็นปัญหาที่ยังมองไม่เห็นทางออก แต่ก็มักจะถูกนำเสนอเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐออกท่าทางขึงขังสักทีหนึ่ง ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมก็เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับพ่อค้าแม่ค้าย่านพัฒพงษ์จนถึงขั้นจราจลกลายๆ

พอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาเปิดประเด็นนี้อีกครั้ง โดยระบุว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งจะเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นโดยให้ผู้ซื้อและผู้ครอบครองสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าจะต้องได้รับโทษทางแพ่งด้วย ส่วนผู้ที่ให้เช่าพื้นที่แก่ผู้ที่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะถูกดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและทางอาญา นอกจากนี้ ยังจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้คดีเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมูลฐานความผิดทางกฎหมายฟอกเงินด้วย

ใน ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... มาตรา 31/1 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซื้อหรือครอบครองงานนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์

ส่วน มาตรา 70/1 ระบุว่า ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิดหนึ่งพันบาท หรือทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์

แม้ว่าจะยังมีขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ แต่ถ้ากฎหมายตัวนี้มีผลบังคับใช้จริงเมื่อใด จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง เพราะหากเรายอมรับความจริงกันแล้ว แต่ละครัวเรือนไทยตอนนี้อย่างน้อยก็คงจะมีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่ในครอบครองอยู่บ้างคนละชิ้นสองชิ้น

1

อลงกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ ‘ปริทรรศน์’ ว่าที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็เพื่อที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ เพิ่มศักยภาพในการสร้างสรรค์และการแข่งขันของคนไทย ตามยุทธศาสตร์ Creative Thailand 3 ข้อคือ

1.การให้การศึกษาเรียนรู้แก่สังคมไทยว่าเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่แค่ปัญญาเทปผีซีดีเถื่อน ไม่ใช่แค่ไปไล่จับพ่อค้า แม่ค้า หรือแหล่งผลิต แต่ต้องให้คนไทยรู้ว่า ทรัพย์สินทางปัญญาคืออนาคตของชาติ คือวิถีทางในการสร้างประเทศไทยใหม่บนพื้นฐานเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

2.ยุทธศาสตร์สร้างจิตสำนึกว่าเราจะต้องไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น เราต้องคุ้มครองสิทธิ์คนอื่น และวันหนึ่งเราก็ต้องการให้สินค้าไทยได้รับการคุ้มครองจากต่างชาติ

3.ยุทธศาสตร์ป้องกันและป้องปราม

แต่รูปธรรมที่เห็นชัดเจนที่สุด ณ ขณะนี้คงเป็นข้อ 3 ซึ่งการแก้กฎหมายก็คือส่วนหนึ่ง คำถามที่ตามมาทันทีก็คือความเข้มงวดเฉียบขาดเกิดจากสาเหตุอะไร มีแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกหรือไม่ที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของไทยต้องแสดงบทกร้าว

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี มีความพยายามที่จะออก ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ.... โดยกฎหมายที่ร่างระเบียบระบุไว้มีจำนวนถึง 34 ฉบับและยังกำหนดให้มีการตั้ง คณะกรรมการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปราบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือ คป.ทป. ซึ่งร่างระเบียบฉบับนี้จะออกฤทธิ์เหมือนยากระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ต้องกวดจับ กวาดล้าง อย่างเข้มงวดขึ้น ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมออกมาคัดค้านและตั้งคำถามว่าเหตุใดร่างระเบียบฯ จึงสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และความต้องการของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเอ

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน... ภายหลังการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอลยาของไทย สหรัฐฯ ก็ตอบโต้เราด้วยการจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงแรกๆ ที่ออกมาเต้นเรื่องนี้และพยายามเคลื่อนไหวให้สหรัฐฯ ทบทวนสถานะ PWL ของไทย และภายหลังการเดินทางไปสหรัฐฯ ของอลงกรณ์เมื่อวันที่ 9-17 มีนาคมที่ผ่านมา ความเข้มงวดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่จะมีการตั้งคำถามว่าเกิดการรับปากอะไรกับทางสหรัฐฯ หรือไม่

“ตรงกันข้ามเลย ถ้าหากจะมีสมมติฐานตรงนั้น ผมคิดว่าคนที่คิดเรื่องนี้ต้องรอบคอบหน่อย เพราะว่าข้อเสนอในการเพิ่มมาตรการต่างๆ หรือว่ายุทธศาสตร์ที่จะเสนอได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการระดับชาติที่ท่านนายกฯ ดำเนินการ เกิดขึ้นหลังที่สหรัฐฯ ประกาศคงฐานะ PWL ของเรา ผมไปให้น้ำหนักกับการพูดคุยเรื่อง 'ครีเอทีฟไทยแลนด์' ไม่ใช่เรื่องของการปราบปราม ไม่ใช่เรื่องที่ไปจับแล้วใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์หรือเอาใจใคร ไม่เอาใจใคร ดังนั้น ข้อสังเกตดังกล่าวอาจจะไม่ถูกกาละเทศะ ผมพูดกับทูตสหรัฐที่มาพบและสมาคมที่เกี่ยวข้องเกือบทุกสาขา ผมบอกเลยว่าการปราบปรามอย่างเข้มงวดก็เพื่อคุ้มครองคนไทย และการคุ้มครองของผมจะมีประโยชน์ไปถึงคนกัมพูชา พม่า ลาว อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เพราะเรามีพันธกรณีตามอนุสัญญากรุงเบิร์น และพันธกรณีในความตกลงเรื่องทริปส์ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องการการคุ้มครองกลับมาเหมือนกัน”

2

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการออกกฎหมายที่เข้มงวดก็มีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจ

หลักการบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้นคือผู้ทรงสิทธิ์ ในข้อตกลงทริปส์ (TRIPS Agrement) ขององค์การการค้าโลกเองก็ระบุให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิของเอกชน

และในเมื่อเป็นสิทธิของเอกชนแล้ว เหตุใดรัฐจึงต้องทุ่มเทงบประมาณและระดมสรรพกำลังเพื่อดูแลทรัพย์สินของเอกชน แทนที่จะไปดูแลความทุกข์สุขของประชาชนโดยรวม

เรานำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านทรัพย์สินทางปัญญา บริษัท บริหารสำนักกฎหมาย จำกัด เขาบอกว่าเบื้องต้นที่ได้ยินเรื่องนี้ เขารู้สึกว่านี่เป็นการเอากฎหมายแบบในอเมริกาและยุโรปมาใช้ พร้อมกับตั้งคำถามไม่ผิดกับข้างต้นว่ามีแรงกระตุ้นจากภายนอกหรือไม่ และอธิบายต่อว่า

“ณ ปัจจุบัน เรื่องลิขสิทธิ์มีทั้งโทษแพ่งและโทษอาญา แต่โทษอาญาเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ถ้าไม่ร้องทุกข์ภายในเวลานี้ก็ต้องไปฟ้องเองภายในเวลานี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ดำเนินการทั้งฟ้องเองและร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานก็ถือว่าความผิดนั้นตกไป ไม่สามารถรื้อร้องขึ้นมาดำเนินการได้

“ในประเทศอื่นๆ เช่นในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป ความผิดเหล่านี้ก็เป็นความผิดทางอาญา ถ้าคุณทำโดยจงใจและคุณทำในเชิงพานิชย์ ก็เหมือนกับตั้งใจขโมยของเขา แต่มันไม่ต้องระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ขนาดนี้ ผมมักจะเทียบเสมอว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ไปวิ่งไล่จับเทปผีซีดีเถื่อน ไม่ได้รอให้ผู้เสียหายเป็นผู้ดำเนินการ คุณระดมสรรพกำลังไปทำเรื่องนี้ ข่าวบอกว่าในประเทศไทยมีผู้หญิงถูกข่มขืนวันหนึ่ง 32 คน คุณแก้ปัญหานี้ยังไง คุณจะไปเลียนแบบเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอื่น คุณรู้หรือเปล่าว่าเขาใช้ยังไง เขาใช้แบบเราหรือเปล่า”

ดร.เจษฎ์ ระบุว่าผลกระทบจากกฎหมายจะกินเป็นวงกว้าง แต่จะเป็นในลักษณะบวกกระจุก แต่ลบกระจาย ยกตัวอย่าง ‘ผู้ครอบครอง’ เขาอธิบายว่า

“ผู้ครอบครองมีได้หลายอย่าง ครอบครองเพื่อขาย ครอบครองเพื่อใช้เอง ครอบครองเพื่อผู้อื่น แต่ประเด็นนี้ถ้าจะเอาผิดทางอาญา คุณจะต้องระดมสรรพกำลังของเจ้าพนักงานมาดำเนินการ คุณต้องหาให้ได้ว่าคนคนนั้นมีเจตนาที่จะครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งคุณจะต้องไปไล่ฟ้องรายบุคคล และถึงแม้ว่ากฎหมายจะย้อนหลังไม่ได้ แต่ถ้าบังเอิญว่าตอนนี้คุณก็ครอบครองอยู่แล้ว อีก 3 เดือน เขาออกกฎหมายคุณก็ยังครอบครองอยู่ อีก 6 เดือนกฎหมายออกมาคุณก็ยังครอบครองอยู่ มันก็ถือเป็นความผิดต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นถือว่าความผิดนั้นไม่หายไปไหน ไม่ได้เป็นการย้อนหลัง”

คนเกือบทั้งประเทศก็โดนกันหมด?

“ก็ใช่”

เราถามต่อว่าถ้ามีเด็กสิบขวบเดินถือแผ่นเกมก็อบปี้ก็ถือว่ามีความผิด?

“ถูกต้องครับ พ่อแม่ก็เดือดร้อนด้วย”

อย่างไรก็ตาม อลงกรณ์กล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายจริงก็เป็นเรื่องของดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ด้วยส่วนหนึ่ง และข้อกังวลที่ว่าการป้องปรามที่เข้มงวดจะทำให้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มุดลงใต้ดินเป็นการขยายตลาดใต้ดินหรือไม่ อลงกรณ์มองในแง่ดีว่าข้องกังวลนี้เป็นเรื่องของมุมมอง แต่ถ้าส่วนแบ่งตลาดของสินค้าละเมิดฯ ลดน้อยลง ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพและลดราคาสินค้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคเองโดยอัตโนมัติ

“เมื่อมีการจับกุมมันอาจะเสียทรัพยากรมากเกินไป เราจึงออกกฎหมายเพื่อให้ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่างในกรณีที่เป็นเราเป็นคนซื้อก็ต้องผิดด้วยนะ เจ้าของผู้ให้เช่าพื้นที่ ถ้าคุณอนุญาตให้ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในห้างของคุณคุณก็ต้องดูแลเอง เราจะไม่เข้าไปจับให้เสียบรรยากาศการค้าขาย ให้คุณดูแลเอง แต่หากมีการละเมิดกฎหมายคุณก็ต้องรับผิดชอบ ให้ภาระเหล่านี้เป็นเรื่องของธุรกิจ ของเอกชน ของประชาชนทุกคน เป็นการลดการใช้ทรัพยากรของภาครัฐลงไป” อลงกรณ์อธิบาย

ในบทความของ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยวูลองกอง ประเทศออสเตรเลีย ก็ได้ท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมของการใช้มาตรการทางอาญาในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ว่า

1.ผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เป็นบุคคลหรือบริษัทต่างชาติ การใช้มาตรการทางอาญาเพื่อลงโทษคนในชาติเพื่อประโยชน์คนต่างชาติอาจก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยม ต่อต้านชาวต่างชาติ

2.ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการใช้มาตรการและกระบวนการทางอาญามีผลทำให้การทำละเมิดหมดไปหรือลดน้อยลง ในทางตรงกันข้าม จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น

3.การระดมทรัพยากรของรัฐที่มีจำกัดเพื่อปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจของเอกชน

3

การบังคับด้วยมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดยังเป็น 2 เรื่องที่มีความเห็นขัดแย้งกัน ในมุมมองของอลงกรณ์คือการใช้กฎหมายเพื่อปรับค่านิยมและทัศนคติให้ถูกต้อง

“การเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายว่าผู้ชื่อ ผู้ครอบครองมีความผิดด้วย แม้จะมีความผิดทางแพ่ง หัวใจสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่การปรับมาก ปรับน้อย แต่มันอยู่ที่ปรับจิตสำนึก ปรับค่านิยม กฎหมายจะไม่มีความหมายเลยหากเราไม่ทำ นี่จึงเหมือนสึนามิทางด้านการสร้างค่านิยมใหม่ พัฒนาธุรกิจให้เกิดมาตรฐาน”

ขณะที่ความเห็นของนักกฎหมายอย่าง ดร.เจษฎ์ ก็มองว่า

“การออกกฎหมายเช่นนี้ไม่ผิดหลักการของการออกกฎหมาย แต่มันผิดหลักความครบถ้วนของหลักแห่งกฎหมายคือหลักนิติธรรม ถ้าคุณคิดจะใช้กฎหมายให้เข้มงวดกับผู้คน คุณต้องมีทางที่จะเยียวยา และเมื่อคุณต้องการป้องและปราม คุณต้องทำให้ครบถ้วน คุณต้องส่งเสริมและสนับสนุนด้วย คือคุณป้องกันแต่คนกระทำผิด แต่คุณไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้คุณทำถูก มันจะได้ยังไงล่ะ

“ในบางเรื่องคุณต้องคิดโจทย์ไกล อย่างเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของจริงราคาหมื่นสองหมื่นบาท ของปลอมราคาร้อยสองร้อยบาท ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด เป็นกิเลสหรือเปล่า คุณอยากใช้คอมพิวเตอร์มั้ย ทุกวันนี้มันแทบจะกลายเป็นความจำเป็นของชีวิตไปแล้ว คุณจะจ่ายอะไร นั่นล่ะคือประเด็น แล้วจะแก้สิ่งเหล่านี้ยังไง กลไกราคาสามารถปรับแก้สิ่งเหล่านี้อะไรได้บ้าง จะมีวิธีการใดบ้างที่รัฐบาลจะสนับสนุนการใช้งานพวกโปรแกรมเปิดที่เรียกว่า Open Source”

ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาคงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ง่ายดาย เพียงแค่แก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดขึ้น การสนับสนุนส่งเสริม การปรับทัศนคติ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่รัฐเองที่ข่าวคาวการรับส่วยสาอากรจากผู้มีอิทธิพลในวงการยังมีต่อเนื่อง

เหนือสิ่งอื่นใด เราหวังว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแรงกดดันจากต่างชาติที่ต้องการแค่ปกป้องประโยชน์ของตัวเอง จนทำให้เราต้องลนลานทำตาม และหวังด้วยว่ามันจะไมใช่จุดเริ่มต้นของการอ่อนข้อที่จะลุกลามไปสู่เรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น FTA หรือซีแอลยา

“ผมไปต่างประเทศนานในนามทรวงพาณิชย์ ผมเป็นเซลล์แมนไปขายสินค้า ยกเว้นขายตัวและขายชาติ ขอให้มั่นใจว่าไม่มีทริปพลัส ไม่มีอิทธิพลต่างชาติมากดดัน ข้อพิจารณาของต่างชาติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกระทบกับประเทศไทย กรอบของเราขีดเส้นตลอด ไม่ให้ใครพ้นกรอบนี้ แม้แต่เรื่องซีแอลยา ผมก็ยืนยันกับต่างประเทศ ประโยคแรกที่ผมพูดคือไทยขอสงวนสิทธิ์ในการประกาศซีแอลยา” อลงกรณ์กล่าว

...จะจริงเท็จอย่างไรเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องติดตามตรวจสอบอย่าให้คลาดสายตา

***********

Open Source ทางเลือกของคนที่ไม่อยากเป็นอาชญากร

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ตัวหนึ่งที่แพร่ระบาดในเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าโปรแกรมของแท้มีราคาแพงมหาศาลจนเข้าไม่ถึง ของเทียมแผ่นละร้อยจึงเป็นที่หมายตามากกว่า อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แล้วจะให้ทำยังไงในเมื่อของแท้ก็แพงเหลือเกิน

ปัจจุบัน มีสิ่งที่เรียกว่า Open Source อธิบายอย่างรวบรัด มันก็คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้เขียนอนุญาตให้คนอื่นนำไปใช้และสามารถพัฒนาโปรแกรมต่อได้ โดยเมื่อพัฒนาแล้วก็ต้องเปิดให้ผู้อื่นนำไปใช้และพัฒนาต่อไปได้อีกเช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศ Open Source ได้รับความนิยมสูง ขณะที่ในไทยเอง ความนิยมก็กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรธุรกิจ ทั้งยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ผู้สนใจศึกษาเรื่อง Open Source บอกว่า Open Source เป็นทางเลือกของผู้บริโภคและทำให้เกิดการแข่งขันแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ราคาของโปรแกรมถูกลิขสิทธิ์ลดลง

“เมื่อก่อนบางตลาดไม่มีการแข่งขันเลย เราก็เห็นว่ามีคนเทียบโปรแกรม อินเตอร์เนต เอ็กโพลเลอร์ เวอร์ชั่น 3, 4, 5 มันแทบจะไม่มีพัฒนาการเลยจนถึงเวอรชั่น 6 แต่พอมี Fire Fox ไออี 6-7 มันเพิ่มลูกเล่นมาเยอะมาก คือพอมีคนมาแข่ง มันก็เริ่มตื่นตัว เพิ่มโน้นนี่ ไออี8 เพิ่มเยอะมาก เพราะ Fire Fox เริ่มได้รับความนิยม แต่ว่าราคาวินโดว์ก็ไม่ได้ลดลง”

เขาบอกว่าที่ผ่านมารัฐก็มีการสนับสนุนโปรแกรม Open Source ผ่านหน่วยงานต่างๆ เพียงแต่ไม่มีความต่อเนื่องของนโยบายเท่าที่ควรอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถึงกระนั้น การพัฒนา Open Source ก็ยังมีต่อเนื่องจากบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ที่เคยอยู่กับหน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่ผู้ใช้ทั่วไป

“ถ้าพูดถึงในคนคนหนึ่งที่ไม่อยากละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีกำลังที่จะซื้อของจริง ในโลกที่ไม่มี Open Source เราก็ต้องหยุดใช้ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ คุณก็ต้องเป็นขโมย จะมีข้ออ้างว่าเราจำเป็นต้องเป็นอาชญากร เพราะไม่มีทางเลือก แต่ถ้ามีทางเลือกอย่าง Open Source ซึ่งไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ใช้ได้ด้วย มันจึงเป็นการเปิดทางเลือก สิ่งที่สำคัญตอนนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ว่า Open Source ดีหรือไม่ดี เพราะมันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำงานได้ แต่อยู่ที่ทัศนคติของผู้คนมากกว่าว่ามอง Open Source อย่างไร”

ได้ยินอย่างนี้แล้ว ภาครัฐอย่าเอาแต่กวาดจับ แต่ต้องลงมือสนับสนุนด้วย

************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์
กำลังโหลดความคิดเห็น