กระแสข่าวที่สังคมกำลังให้ความสนใจในช่วงเวลานี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของเด็กชายเคอิโงะ ซาโต เด็กชายกำพร้าผู้ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่น ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ที่พบเห็นและได้ยินเรื่องราวดังกล่าว
ในวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเด็กชายลูกครึ่งวัย 9 ขวบผู้นี้ ไม่ว่าเขาจะขยับตัวไปทางไหน ทำอะไร กองทัพสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิด แต่ท่ามกลางกระแส 'เคอิโงะฟีเวอร์' นั้น กลับปรากฏข่าวเล็กๆ ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว นั่นคือมีเคอิโงะคนที่สอง สาม สี่…ทั้งนารูมิ โกโบริ ฯลฯ หรือลูกครึ่งญี่ปุ่นในชื่อใหม่ที่ปรากฏตัวขึ้นเพื่อประกาศตามหาพ่อเป็นข่าวออกมาไม่ขาดสาย และมีทีท่าว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่น่าแปลกใจและน่าตั้งคำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมถึงมีเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นกำพร้าตามหาพ่อมากมายขนาดนี้ มันเป็นเพียงผลพวงของกระแสหรือว่าสะท้อนเบื้องลึกมากกว่านั้น… 'ปริทรรศน์' จะพาไปสัมผัสกับแง่มุมอีกด้าน จากปากคำบอกเล่าของชายชาวญี่ปุ่นและลูกครึ่งแดนสยาม-อาทิตย์อุทัย
ปรากฏการณ์ หรือว่า ปรากฏ 'เกิน'
“เด็กชาย 9 ขวบลูกครึ่งญี่ปุ่น สุดรันทด-แม่ตายจาก เดินถือรูปเร่ถามหาพ่อ”
คือพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวของเคอิโงะในระยะแรก ต่อมาสื่อต่างๆ พร้อมใจนำเสนอประเด็นข่าวนี้เป็นข่าวเด่นติดต่อกัน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯลฯ จนกลายเป็นข่าวดังข้ามทวีปไปจนถึงดินแดนตะวันออกไกลอย่างญี่ปุ่น
ท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดีที่เด็กชายเคอิโงะจะได้พบพ่อตามความฝัน ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นอีกคนอย่าง 'อายูมิ' กลับมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้อีกด้าน
“สื่อให้ความสำคัญเกินไปเพราะว่าเห็นเขาเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น จริงๆ แล้วสื่อไม่น่าให้ความสำคัญขนาดนั้น เพราะเอาจริงๆ แล้วเด็กไทยลูกครึ่งญี่ปุ่นนี่เยอะมาก เยอะเกินไป…สาเหตุเพราะผู้หญิงทำงานอะไร นี่แหละเป็นส่วนหนึ่ง” อายูมิเอ่ยตามตรง เมื่อเราถามว่าเธอคิดอย่างไรต่อกรณีของเคอิโงะ
ในฐานะที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น อีกทั้งได้สัมผัสคลุกคลีอยู่กับการทำอาชีพไกด์ทัวร์ชาวญี่ปุ่นในเมืองไทยเมื่อเกือบสิบปีก่อน ทำให้อายูมิได้พบเห็นว่ามีเด็กไทยลูกครึ่งที่เกิดจากมารดาชาวไทยและบิดาชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ในจำนวนนั้น ฝ่ายหญิงมักมีอาชีพทำงานกลางคืน
“เมื่อก่อนทำทัวร์ก็จะรู้เรื่องราวทำนองนี้เยอะ บางทีรู้จักกันกับผู้หญิงที่เขาทำงานคาราโอเกะก็มีหลายคนที่เขามีลูกที่เกิดจากสามีญี่ปุ่น คือทำงานกลางคืน ท้องปุ๊บ เขาก็จะพาย้ายกลับไปอยู่บ้าน ไปคลอดลูกที่บ้าน ตัวสามีก็หาไม่ได้แล้ว ไม่ได้จดทะเบียนอะไร” อายูมิบอกว่ามีเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นกำพร้าที่เกิดจากกรณีแบบนี้เยอะ และส่วนใหญ่พ่อเด็กชาวญี่ปุ่นนั้นมักเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาทั่วไปที่มาเมืองไทย และมุ่งหวังมีความสัมพันธ์ระยะสั้นเพียงไม่นานกับผู้หญิงไทย
“ลักษณะส่วนมากเท่าที่เจอ ที่เคยเห็น บางทีเขาก็ส่งเสียเลี้ยงดูกัน แต่ว่าเปอร์เซ็นต์ที่จะอยู่กันตลอดชีวิตหรือแต่งงานน้อยมาก คือประมาณไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ในร้อย”
สิ่งหนึ่งที่อายูมิตั้งคำถามก็คือสังคมกำลังให้ความสนใจต่อกรณีเคอิโงะเกินพอดีหรือเปล่า?
“ที่บอกว่าเด็กต้องมาตามหาพ่อ มันก็เป็นปัญหาที่ตัวมารดากับบิดาว่าเขาตกลงกันยังไงด้วย แต่สาเหตุก่อนที่ว่าพ่อเขาจะแยกไป กลับไปทำงาน แล้วแม่เขาเสียชีวิต แล้วระหว่างนี้ที่เคอิโงะโตมาจนถึง 9 ขวบ พ่อเขาไปทำอะไร มันอาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทั้งเราทั้งสื่อก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ ว่าตัวพ่อเขาต้องการหรือเปล่า หรือมีปัญหาอะไรกับแม่ก่อนหรือเปล่า มันหลายสาเหตุ
“แล้วตอนนี้เห็นกระแสมาเยอะมาก เด็กญี่ปุ่นลูกครึ่งที่แบบว่าแม่เสียชีวิต ต้องตามหาพ่ออะไรอย่างนี้ ซึ่งสื่อให้ความสำคัญเกินไป พูดตรงๆ ว่าขนาดเด็กไทยกำพร้าเขายังไม่ให้ความสำคัญขนาดนี้เลย พูดในฐานะที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นด้วย คือเรามองตรงนี้ ไม่ใช่ว่าพอเห็นว่าเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นปุ๊บ ก็ให้ความสำคัญ พาไปพักโรงแรม ไอ้นู่น ไอ้นี่เยอะแยะเลย แต่เด็กไทยกำพร้านี่ไม่มีเลย ไม่มีที่ว่าใครจะยื่นมือมาช่วยเหลือตรงนี้ ตามหาพ่อตามหาแม่หรือว่าอะไรให้กับพวกเขาบ้าง”
อาจฟังดูเหมือนแล้งน้ำใจต่อคนที่มีสายเลือดญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งในตัวเหมือนกัน แต่อายูมิยืนยันว่าการช่วยเหลือหรือให้ความสำคัญต่อกรณีเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นอย่างเคอิโงะนั้น ต้องมีความพอดีไม่มากเกินไปเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ผู้หญิงไทยกับชายญี่ปุ่น…รักแท้หรือแค่ความสัมพันธ์ระยะสั้น?
“หาพ่อยุ่น โผล่อีก 10 คน” คือพาดหัวข่าวล่าสุดของหนังสือพิมพ์ฉบับวานนี้
ล่าสุด มีข้อมูลจากพัฒนาสังคมจังหวัดแพร่ว่า พบตัวเลขเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ไม่เคยพบหน้าพ่อเลยถึงกว่า 20 คน เฉพาะในจังหวัดแห่งนี้เพียงแห่งเดียว ไม่รวมถึงเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการสำรวจทั่วประเทศอีกจำนวนมาก
ข้อเท็จจริงนี้ใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงสมัยสงครามเวียดนามที่ในประเทศไทยเคยมีเด็กลูกครึ่งต่างชาติจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้สัดส่วนลูกครึ่งญี่ปุ่นในเมืองไทยกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับลูกครึ่งชาติอื่นๆ
ซึ่งปรากฏการณ์นี้ อายูมิมองว่ามันสะท้อนปรากฏการณ์สังคมและค่านิยมผู้หญิงไทยบางส่วน
“จากที่สัมผัสมากับตัว ปัจจัยหนึ่งคือเรื่องเงิน ผู้หญิงกลางคืนจะมีอยู่ไม่กี่ประเภทที่จะทำเพื่อครอบครัวจริงๆ แทบจะไม่มี… จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ตัวบุคคล ว่าเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตมีความสัมพันธ์กับฝรั่งหรือญี่ปุ่น คือเมื่อก่อนฝรั่งเงินดี พอมาหลังๆ ญี่ปุ่นจะเงินดีกว่า ผู้หญิงไทยที่มีความสัมพันธ์ด้วยส่วนมากจะเป็นวัยรุ่น ก็จะอายุประมาณ 18 ขึ้น จะไม่ค่อยเกิน 30 เท่าไหร่ ถ้าเกินก็จะไม่เกิน 35 แล้วลักษณะของคนญี่ปุ่นก็มีทั้งนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจที่มาแบบ shot time-long time ก็มี ถ้าเขาถูกใจกันก็จะอยู่เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน พอกลับญี่ปุ่นก็จะส่งค่าเลี้ยงดูมาให้เดือนละ 2-3 หมื่น พอมาเมืองไทยก็โทรหาฝ่ายผู้หญิง”
อายูมิกล่าวว่า เด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นนอกสมรสมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ผู้หญิงกลางคืนเหล่านี้ยังคงปล่อยตัวปล่อยใจไปกับชาวต่างชาติ
“บางคนเขาไปกับลูกค้าญี่ปุ่น เขาก็ชอบ ก็ปล่อยตัวปล่อยใจไปแบบนี้เยอะ แล้วเด็กวัยรุ่นสมัยนี้บอกได้เลยว่าเข้ามาทำงานกลางคืนเยอะมาก 16-17 นี่คือก็เข้ามาทำแล้ว”
โดยเฉพาะตามแหล่งที่เที่ยวกลางคืนแหล่งใหญ่ของคนญี่ปุ่นอย่าง สุขุมวิทซอย 15 ที่จะมีผู้หญิงไทยเข้าไปหาคู่เที่ยวชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก เป็นลักษณะของคอฟฟี่ชอปหรือบาร์นั่งดริงค์ ไม่ได้เปิดเผยโจ่งแจ้งเหมือนอย่างซอยคาวบอยแถวพัฒน์พงศ์ เป็นลักษณะถูกใจกันก็ไปมากกว่า…
แต่ใช่ว่า จะมีแต่ความสัมพันธ์ชั่วคราวระยะสั้นเท่านั้นระหว่างสาวไทยกับชายชาวญี่ปุ่น เพราะมีคนญี่ปุ่นหลายคนที่แต่งงานอยู่กินกับภรรยาชาวไทย และลงหลักปักฐานทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย
ชูอิชิ ฮาชิโมโต้ เจ้าของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น TAKETEI ที่แต่งงานกับภรรยาชาวไทยและอาศัยอยู่ในเมืองไทยมาเกือบ 20 ปีแล้ว กล่าวว่า เขาได้ติดตามข่าวของเด็กชายเคอิโงะจากสื่อต่างๆ ของไทยเช่นกัน และรู้สึกดีใจกับเคอิโงะด้วยที่ได้พบพ่อแล้ว แต่ทั้งนี้ เขาแสดงความเห็นต่อกรณีของเคอิโงะว่า รู้สึกสงสารเด็ก เพราะเด็กไม่ได้ทำผิดอะไร เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงซึ่งอาจมีปัญหาไม่เข้าใจกันได้ไม่ว่าชาติไหนๆ ซึ่งหากเกิดกรณีหย่าร้างกัน ในญี่ปุ่นมักจะแบ่งลูกให้แม่เป็นฝ่ายดูแล ในขณะที่พ่อมีหน้าที่ส่งเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูตามปกติ
“ผมคิดว่าต่อไปก็คงจะมีเด็กลูกครึ่งอื่นๆ ลูกครึ่งฝรั่งเศส เยอรมนี ออกมาตามหาพ่อมาเจอกันอีก เรื่องแบบนี้มันไม่เกี่ยวกับสัญชาติ เป็นที่ตัวบุคคลมากกว่า เพราะพ่อคนไทยก็มีเยอะแยะที่ทิ้งลูกไปใช่ไหมครับ?” ชูอิชิย้อนถามยิ้มๆ แต่หนักแน่น
สำหรับการได้สัญชาติญี่ปุ่นของเด็กลูกครึ่งนั้น ชูอิชิบอกว่าหากแต่งงานจดทะเบียนกันอย่างถูกต้อง เด็กจะได้สัญชาติญี่ปุ่นตามบิดา ซึ่งลูกสาวของเขาเองนั้นเกิดที่เมืองไทยก็ได้สองสัญชาติ คือสัญชาติไทยตามแม่และสัญชาติญี่ปุ่นตามตัวชูอิชิเอง จนกว่าจะอายุ 20 ปีจึงต้องเลือกถือสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ซึ่งสำหรับเขาเองก็แล้วแต่ลูกสาวว่าจะเลือกชีวิตยังไง
“ทุกคนคิดไม่เหมือนกัน เมื่อเขาโตขึ้นแล้วให้เขาเลือกเองว่าอยากอยู่ประเทศไหน ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นี่กับภรรยามา 19 ปี คนเรามีวาสนาเป็นเนื้อคู่กัน ไม่เกี่ยวกับสัญชาติ สัญชาติจริงๆ ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด” ชูอิชิกล่าว
ขณะที่ โยชิ โอฮาชิ เจ้าของกิจการแกลเลอรี่ย่านเอกมัย แสดงความเห็นต่อเรื่องของเคอิโงะว่า พ่อของเด็กควรจะต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องอยู่ด้วยกันก็ได้ แต่ต้องมีการส่งเสีย แต่การจะเอาเคอิโงะไปอยู่ที่ญี่ปุ่นนั้นอาจจะลำบาก เพราะเรื่องของขนบธรรมเนียมและภาษาที่แตกต่างกัน และสังคมที่นั่นยากที่จะมีใครยื่นมือเข้ามาช่วย อาจจะทำให้เข้าโรงเรียนเหมือนเด็กอื่น ๆ ไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องการปรับตัว เขาจึงเห็นว่าเคอิโงะควรอยู่เมืองไทยต่อไปดีกว่า
นอกจากนี้ โยชิยังเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วกรณีเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ตามหาพ่อในประเทศอื่นก็มีอยู่เยอะเช่นกัน ส่วนมากจะเป็นที่ฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลที่ผู้ชายชาวญี่ปุ่นชอบชาวฟิลิปปินส์ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้หญิงเอเชียชาติอื่นๆ เพราะผู้หญิงฟิลิปปินส์นั้นพูดสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีกว่า ถึงขนาดที่ประเทศฟิลิปปินส์ถึงกับมีหน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะ
“ผู้ชายญี่ปุ่นบางคนไม่มีโอกาสรู้จักกับผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยกันเอง ที่นั่นผู้หญิงจีบยาก เพราะเมื่อพวกเธอเรียนจบแล้วก็มักจะเดินทางเข้าเมืองใหญ่ มีข้อสังเกตว่าผู้ชายส่วนใหญ่ที่มาแต่งงานกับหญิงไทย มักจะเป็นคนที่มาจากเมืองเล็กๆ ทั้งสิ้นแต่จริงๆ ก็แล้วแต่ ประเทศไม่เกี่ยว เรื่องสำคัญคือโอกาสในการจีบมากกว่า ผู้หญิงไทยไม่หยิ่ง สามารถมีโอกาสเข้าไปคุยด้วยได้ แต่ก็มีผู้ชายญี่ปุ่นบางคนเข้าใจผิดและมองไปที่เรื่องของเซ็กส์อย่างเดียว” โยชิเปิดใจเมื่อถูกถามว่าทำไมผู้ชายญี่ปุ่นอย่างเขาจึงมักชอบผู้หญิงต่างชาติ
...................
ขณะที่สังคมไทยกำลังให้ความสำคัญกับเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ตามหาพ่อ... แต่อีกด้านหนึ่ง เด็กไทยอีกจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัวแตกแยก ไม่เคยพบหน้าบิดามารดาเช่นกัน ปรากฏการณ์ 'เคอิโงะฟีเวอร์' จึงไม่ใช่แค่ละครชีวิตฉากเดียวที่จะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งในตอนท้าย แต่ยังเป็นผลสะท้อนของสภาพสังคมไทยทุกวันนี้ในอีกบางแง่มุมที่หลายคนมองข้าม
****************
เรื่อง-รัชตวดี จิตดี
ภาพ-ธัชกร กิจไชยภณ และ อดิศร ฉาบสูงเนิน