xs
xsm
sm
md
lg

คาราวานหมอกลางป่า ผู้เยียวยาแห่งขุนเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในดินแดนห่างไกลกลางป่าและภูเขาสูง โรคภัยไข้เจ็บแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจลุกลามกลายเป็นร้ายแรงถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ทุกวินาทีหมายถึงชีวิตและความเป็นความตายที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย

“หมอ” คำสั้นๆ คำนี้ จึงมีความหมายเหลือเกินสำหรับชาวบ้านป่าในถิ่นทุรกันดาร “ปริทรรศน์” จะพาไปตามรอยภารกิจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี (พอ.สว.) ที่รอนแรมกลางป่าเข้าไปรักษาผู้ป่วยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

…………………

สายฝนเย็นเฉียบโปรยปรายลงมากระทบผืนผ้าใบของรถบรรทุกรถยนต์ยีเอ็มซีของตชด. ที่วิ่งขับฝ่าพายุฝนมุ่งหน้าสู่ดอยสามหมื่น หนทางเบื้องหน้าเต็มไปด้วยหมอกขาวปกคลุม เมื่อบวกกับสภาพเส้นทางที่เป็นดินโคลนเพราะสายฝนชะล้างจนผิวถนนลื่น ทัศนวิสัยยิ่งเกือบเข้าขั้นเลวร้าย ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในประสบการณ์ของตำรวจ ตชด.ที่เป็นพลขับ ในการบังคับพวงมาลัยไปตามเส้นทางเลาะเลียบริมขอบเหวบางช่วง

ถ้าพลาดเพียงนิดเดียว...ก็อาจหมายถึงชีวิต บนหนทางคดโค้งและลาดชันอันตราย พระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ได้อ่านก่อนจะออกเดินทางผุดขึ้นมาในสำนึก

“ฉันได้ไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติงานในป่าเขา เพื่อปกป้องและรักษาแผ่นดินของเรา เขาเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บด้วย ชาวบ้านและชาวเขาที่อยู่ตามป่าดงเหล่านั้น ก็มีปัญหาเรื่องป่วยไข้เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ห่างไกลการคมนาคมสะดวก พวกเราจะไปดูแลและรักษาเขาบ้าง จะเป็นเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง หรือแม้แต่สามเดือนครั้งก็ได้ จะได้ช่วยเหลือเขาเป็นประโยชน์มาก”

ท่ามกลางความหนาวเย็นเยือกของอากาศ กลับสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น เมื่อมองออกไปด้านนอกและเห็นภาพคาราวานรถขับเคลื่อนสี่ล้อขับตะลุยผ่านสายฝนและหล่มโคลนตามกันมาไม่ขาดสาย ด้านข้างมีป้ายผ้า “โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สู่ชุมชน ณ บ้านสามหมื่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” ที่บัดนี้เปียกชุ่มโชกไม่แพ้กันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนสองนายที่ช่วยลงมาปลดผ้าใบคลุมรถ ขณะที่อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าต่อมาขบวนของเราก็ต้องหยุดลงกลางคันอีกครั้ง เพราะรถกระบะของหน่วยแพทย์คันหนึ่งติดหล่ม ไม่สามารถไปต่อได้ ต้องย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของที่จะนำไปบริจาคไปยังรถอีกคันหนึ่ง

จากกำหนดการเดิมที่ตั้งใจจะไปถึงหมู่บ้านสามหมื่นไม่เกินสิบโมงเช้า จึงกลับกลายเป็นว่าคณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ฯ ไปถึงโรงเรียนตชด.ในตอนเกือบเที่ยง แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ไม่หยุดพักเหนื่อย หรือรับประทานอาหารกลางวันก่อน กลับเตรียมตัวทำการรักษาให้กับชาวบ้านที่มารออยู่ตั้งแต่เช้าทันที

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่มาในการจัดโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกทำการตรวจรักษา ณ บ้านสามหมื่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น มีฐานะยากจน และพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างทุรกันดารสลับกับทางเป็นภูเขาสูงชัน ห่างไกลจากโรงพยาบาลและสาธารณสุข ทำให้เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขได้ อีกทั้งการจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ นับเป็นการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปีนี้อีกด้วย

หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบ ซึ่งล้วนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับผลตอบแทน เดินทางไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดารโดยรถยนต์ เรือ หรือเฮลิคอปเตอร์ เพื่อตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วย ออกปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2512 ที่บ้านดอยสามหมื่น กิ่งอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางในครั้งนี้ จึงนับเป็นการตามรอยพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าฯ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์มนตรี กันตะบุตร แพทย์อาสาผู้ที่เป็นหนึ่งในทีม พอ.สว. ที่ออกทำการตรวจรักษาครั้งแรกในปี 2512 เล่าว่า ได้เข้าไปช่วยงานของตชด.โดยการขอร้องของมิสเตอร์เอสนาร์ด หมออเมริกันที่ช่วย ตชด.อยู่ก่อนหน้านั้น ซึ่งมีพร้อมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ ยา พาหนะทุกอย่าง แต่ไม่มีหมอ จึงไปช่วยงานออกตรวจรักษาคนไข้ในถิ่นทุรกันดารอาทิตย์ละครั้ง

“สมัยก่อนงานไม่มาก สอนอาทิตย์หนึ่งสิบกว่าชั่วโมงเท่านั้นเอง ว่างจากเวลาสอนเราก็ได้ทำอะไรบ้าง คือได้ไปเห็นภูมิประเทศต่างๆ ที่คนอื่นไม่ได้เห็น ได้ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ได้เห็นสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน แต่เราก็ได้แต่เห็น เราช่วยอะไรเขาไม่ได้มาก เพราะว่าถนนหนทางต่างๆ ก็ไม่มี แล้วพยาบาลหมออะไรก็ไม่มี คือ ตชด.เขามีหมอตชด.ประจำ เป็นจ่าพยาบาลเท่านั้นที่จะบริการคนไข้ได้ ตำรวจชายแดนเขาก็มีโรงพยาบาลของเขา แต่ไม่มีหน่วยที่จะออกไปตามส่วนต่างๆ เขาต้องอยู่ดูแลโรงพยาบาลของตชด.ของเขาที่แม่ริม เพราะฉะนั้น ที่ออกไปตามต่างจังหวัดตามหมู่บ้านทางฮอ ผมถึงไป…ไปช่วยเขา เพราะว่า ตชด.ไม่มีหมอ”

จนกระทั่งสมเด็จพระราชชนนีทรงทราบ จึงทรงมีพระดำริจัดตั้งหน่วยพอ.สว.ขึ้นมา
 “เป็นที่รู้กันว่าสมเด็จย่าท่านพอพระทัยที่จะช่วยกิจการตำรวจชายแดนมาก วันหนึ่งท่านก็พระราชทานเลี้ยงตำรวจชายแดนที่บนพระตำหนักภูพิงค์ ผมก็ไปท่านก็รับสั่งว่าหมอได้ไปกับตชด.ได้ไปเจออะไรมาบ้าง ผมก็กราบบังคมทูลว่ามีชาวบ้านเยอะแยะที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผมแค่คนเดียวไปอาทิตย์ละหน คงช่วยอะไรไม่ได้มาก สมเด็จย่าท่านก็บอกว่าอย่างนั้นคงจะตั้งทีมหาคนช่วย หมอจะได้ไม่ต้องทำคนเดียว ทรงมีพระราชดำรัสว่า ถ้าหมอออกไปช่วยเหลือชาวบ้านอยู่เสมอ ท่านอยากจะตั้งเป็นทีม พอ.สว. และให้คนไปเป็นอาสาสมัคร และให้ผมเป็นรุ่นแรก เพราะผมเคยออกไปเป็นประจำอยู่แล้วเมื่อก่อนนี้”

ครั้งแรกของหน่วย พอ.สว.ที่ลงพื้นที่ไปทำการตรวจรักษาผู้ป่วยที่หมู่บ้านสามหมื่นนั้น มีคณะแพทย์อาสา ได้แก่ นพ. ระเบียบ ฤกษ์เกษม (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) , นพ. มนตรี กันตะบุตร, ทญ. ถาวร อนุมานราชธน, คุณหญิงพูลสมัย ชัยนาม อาสาสมัครสมาชิกสมทบ และประณีต สวัสดิรักษา นางพยาบาล

“ชาวบ้านสมัยนั้นก็ยากจน เดี๋ยวนี้ก็ยังจนอยู่ สมัยนั้นประมาณปี 06-07 เขาก็ไม่รู้จะหาหมอที่ไหน ทางตชด.ก็มีจ่าพยาบาลของเขา ถ้าที่ใดที่รถเข้าได้ ตชด.เขาจะไปเองจะส่งจ่าพยาบาลของเขาไป แต่ถ้ารถยนต์เข้าไม่ถึง เขาจะส่งฮอมารับผมไป ผมจะไปในถิ่นที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ไม่ต้องค้างคืน เขาก็จะบอกชาวบ้านไว้ล่วงหน้าว่าวันนี้หมอจะมา ชาวบ้านเขาก็จะมารอกันมีทั้งคนเด็ก คนแก่ ยังจำได้ว่าไปครั้งแรกที่หมู่บ้านสามหมื่น มีคนไข้เยอะแยะไปหมด แล้วมีคนไข้คนหนึ่งเป็นโรคที่มืออยู่เฉยๆ ไม่ได้กระดุกกระดิกตลอดเวลา อาจารย์ประณีตก็อุ้มเด็กที่ป่วยคนนั้นจะไปรักษาที่สวนดอก แต่ฝรั่งนักบินไม่ให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบิน ถามทำไมล่ะ ทางนั้นก็ตอบว่าเด็กขึ้นได้แต่แม่ขึ้นไม่ได้ แม่ที่ไหนกันล่ะเมื่อเช้าก็มาด้วยกัน พออุ้มเด็กหน่อยเลยกลายเป็นแม่ชาวเขา สุดท้ายฝรั่งก็เลยให้ขึ้น ผมยังจำได้ไม่ลืม นั่นคือการออก พอ.สว.ครั้งแรกที่หมู่บ้านสามหมื่น”

หมอมนตรีเล่าถึงอุปสรรคในการสื่อสารกับคนไข้ในยุคนั้นให้ฟังว่า คนไข้ส่วนมากโรคระบบทางเดินหายใจ และระบบกระเพาะ โรคหัวใจซึ่งรักษาไม่ได้มากเพราะเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนมากเป็นโรคไอกันทั้งหมู่บ้านโดยเฉพาะลูกเด็กเล็กแดง แต่ปัญหาก็คือเรื่องภาษา พูดกันไปรู้เรื่อง อย่างเขาชี้ที่หัวหมอก็ต้องพยายามรักษาโดยให้ยาแก้ปวดหัว ชี้ที่ท้องก็ให้ยาแก้ปวดท้อง นอกจากจะแบบที่เห็นชัดๆ ภายนอกเท่านั้นจึงจะรักษาตามอาการที่ปรากฏ

“การเดินทางสมัยนั้นโดยมากเป็นเฮลิคอปเตอร์ บางวันก็เป็น “พอทเตอร์” หรือเครื่องบินเล็ก แล้วแต่ทาง ตชด.เตรียมเอาไว้ล่วงหน้า โดยเฮลิคอปเตอร์นั้นได้รับความเอื้อเฟื้อจากอเมริกัน หมู่บ้านสามหมื่นสมัยก่อน ทางถนนไปไม่ได้ ไปได้แต่ฮอ ทางตชด.มีความเห็นว่าถ้าถนนไปถึง ผมก็ไม่ต้องไป เขาก็ชวนหน่วยแพทย์ของหน่วยราชการอื่นๆ ไป ถ้าอันไหนที่ถนนไปไม่ถึง เขาถึงมาชวนให้ผมไป เพราะฉะนั้นที่ผมไปจะต้องเป็นถิ่นกันดาร หมู่บ้านไกลมากๆ ไปตามถนนหนทางไม่ได้เขาถึงจะให้ผมไป” ภายหลังศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์มนตรี และภรรยาได้รับพระราชทานเสมาเงินเล็กๆ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงจากสมเด็จย่า ในฐานะที่ทำงานอุทิศตนแก่สังคม

ประณีต สวัสดิรักษา นางพยาบาลคนแรกที่ไปเยือนหมู่บ้านสามหมื่นในยุคนั้นเล่าว่า ทีมแพทย์พยาบาลอาสาที่ออกไป จะมีแพทย์อย่างน้อยสองคน ทันตแพทย์ และพยาบาล รวมทั้งหมดชุดแรกมี 8 คน เดินทางโดยเครื่องบินเล็ก ซึ่งประสบการณ์การเดินทางในครั้งนั้นยังจำได้ไม่ลืม

“ทางตำรวจชายแดนเขาขึ้นไปล่วงหน้าก่อน เพื่อทำเครื่องหมายว่าเครื่องบินจะจอดตรงไหน แล้วต้องไปกั้นเพราะต้องระวังไม่รู้ว่าใครจะไปทำอะไรเครื่องไหม ขึ้นไปบนเขาก็ลำบาก พอจะลงวัวของชาวบ้านเลี้ยงไว้ก็มาวิ่งในทางที่เอาปูนขาวโรยไว้เพื่อที่จะให้เครื่องบินลง เครื่องบินต้องเชิดหัวขึ้นไปอีก พอไล่วัวไป หมูเข้ามาอีกแล้ว ตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่ข้างล่างต้องไล่ กว่าเครื่องบินจะลงได้ก็ทุลักทุเลเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราก็ลงได้ แล้วมาใช้โรงเรียนที่ทางตำรวจตระเวนชายแดนสร้างไว้สอนหนังสือเด็กชาวเขาเป็นที่ทำการรักษา และให้ครูตชด.เป็นล่าม แล้วก็มีเด็กนักเรียนชาวเขาที่พอจะพูดได้มาเป็นล่ามให้”

ศ.นพ.ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ แพทย์พอ.สว.ชุดแรกที่ออกหน่วยกับสมเด็จพระบรมราชชนนี ในปี พ.ศ.2512 บอกเล่าเพิ่มเติมว่า ในยุคนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังมีปัญหาด้านความมั่นคง คอมมิวนิสต์กระจายอยู่ทั่วไป แต่ทีมแพทย์ก็มุ่งมั่นไม่หวั่นกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ยังคงลงพื้นที่ตรวจรักษาคนไข้ในถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ โดยสิ่งหนึ่งที่เชื่อมั่นว่าจะคุ้มครองคณะแพทย์ได้ นั่นคือบารมีของสมเด็จย่า

นอกจากต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บแล้ว สิ่งหนึ่งที่คณะแพทย์อาสาต้องเผชิญคือ ความเชื่อเดิมของชาวบ้านที่เคยรักษาด้วยหมอผี บางคนกว่าจะยอมให้หมอฉีดยาให้ก็ต้องชักจูงอยู่นาน หรือเชื่อว่าหากนำคนป่วยไปผูกขาไว้กับหมู แล้วทำพิธีจะถ่ายเทโรคจากคนไปไว้ที่หมูแทนได้

นอกจากนี้ยังมีคนไข้บางรายที่น่าสงสารซึ่งคุณหมอยังจำได้จนถึงวันนี้ คือ เด็กเล็กๆ ที่มีแผลไฟไหม้ที่เท้า เนื่องจากไปโดนไฟที่ก่อไว้ผิงในบ้านเพราะสภาพอากาศหนาว บางรายพอรักษาหายยอมเอาไข่ไก่ที่มีอยู่ฟองเดียวมาให้หมอ ทั้งที่สำหรับชาวบ้านที่ยากจนแล้วเป็นสิ่งมีค่ามาก แม้คุณหมอจะปฏิเสธไม่รับ แต่พวกเขาก็ยืนยันความตั้งใจเพราะถือว่าหมอเป็นผู้ช่วยชีวิต

หลังจากนั้นกิจการแพทย์อาสาได้แผ่ขยายกว้างขวางออกไปทั่วทุกภาคของประเทศ มีจังหวัดที่มีเขตติดชายแดนหรือจังหวัดใกล้เคียงชายแดน ซึ่งมีพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล เข้าร่วมเป็นจังหวัดแพทย์อาสามากขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งมีผู้ถวายตัวเป็นอาสาสมัครเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันมีจังหวัดแพทย์อาสารวม 51 จังหวัด และอาสาสมัคร พอ.สว. ประมาณสามหมื่นกว่าคน

………………..

สี่สิบปีต่อมา ในวันนี้หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ของมูลนิธิสวนดอกได้กลับมาเยือนดอยสามหมื่นอีกครั้ง ไม่น่าเชื่อว่า ชาวบ้านที่เคยมารับการรักษาครั้งแรกจะยังมารอพบ “หมอ” ของพวกเขาอยู่ในวันนี้

อะซึมา เลายี่ปา ชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ วัย 74 ปี เป็นผู้หนึ่งซึ่งเคยมาตรวจรักษาโรคกระเพาะเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เล่าว่า สมัยก่อนตอนที่รถยังเข้าไม่ถึง ไม่มีถนน นางต้องเดินเท้าเป็นเวลาถึง 2 วันเพื่อเข้าไปรักษาในตัวอำเภอเวียงแหง แต่เมื่อหน่วยแพทย์อาสาลงพื้นที่ถึงหมู่บ้าน ทำให้นางและชาวบ้านคนอื่นๆ ที่นี่ไม่ต้องนั่งรถไกลๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเข้าไปหาหมอในเมือง อีกทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่ายาให้หมออาสาสมัครที่ทำการตรวจรักษาให้ฟรีเช่นในวันนี้

ท่ามกลางใบหน้าที่เต็มไปด้วยการรอคอยและความหวัง รศ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ยังคงทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ แม้เวลาจะล่วงเกือบบ่ายสองโมงแล้ว แต่คุณหมอยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน ด้วยคนไข้ที่ทยอยกันมารอตรวจรักษาไม่ขาดสาย

นายแพทย์พงษ์รักษ์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกที่ก่อตั้งเพื่อสนับสนุนกิจการของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสนับสนุนกิจการสาธารณกุศลเล็งเห็นว่า บ้านดอยสามหมื่นเป็นพื้นที่ที่ทางคณะแพทยศาสตร์ได้สนับสนุนโครงการ พอสว. เป็นครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน และในโอกาสครบรอบ 50 ปีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีความประสงค์จะดำเนินรอยตามสมเด็จย่า นอกจากจะมีการตรวจรักษาโรคทั่วไปแล้ว ยังมีการตรวจทันตกรรมและตรวจภายในให้กับชาวบ้านที่นี่อีกด้วย

“ท้ายสุดในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จย่า และเป็นการยืนยันในเจตนารมณ์ของทางคณะแพทย์ในแง่ของการบริการแก่ชุมชนต่อไป แม้นว่าเราไม่สามารถให้การรักษาได้ทุกโรค อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าถึงการบริการสุขภาพได้ ด้วยกำลังของเราเท่าที่มีก็จะพยายามผลักดันช่วยชุมชนเท่าที่กำลังของเราจะทำได้

วันนี้เราตั้งใจจะมาถึงที่นี่สักเก้าโมงเช้า แต่ปัญหาวันนี้คือว่า เกิดฝนตกผิดฤดูกาล พายุฝนเข้า เราออกเดินทางมาถึงดอยสามหมื่นด้วยความทุกลักทุเล รถของเราติดหล่มไปสองคัน หนึ่งในนั้นเป็นรถที่ขนข้าวของบริจาค ยาและอุปกรณ์บางตัวไม่สามารถขนขึ้นมาได้หมด ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ทั้งหมดตามที่เราตั้งใจไว้ ขอสัญญากับชาวบ้านว่าเราจะกลับมาใหม่” นายแพทย์พงษ์รักษ์กล่าวอย่างหนักแน่น

แม้จะผ่านไปสี่ทศวรรษแล้ว.. แต่อุดมการณ์และความตั้งใจของแพทย์อาสาหรือหมอกลางป่าของชาวบ้านห่างไกลยังคงดำรงอยู่ต่อไป
คณะแพทย์ พอ.สว.ในยุคแรก

ภาพดอยสามหมื่นในอดีต

คนไข้ที่มารอตรวจรักษาในวันนั้น






ศ.นพ.ยงยุทธ สัจจวาณิชย์
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กำลังตรวจรักษาคนไข้





รศ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล กำลังซักถามอาการผู้ป่วยเด็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น