xs
xsm
sm
md
lg

เกียรติภูมิแห่ง ‘ดาวมหา’ลัย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่กล่าวขวัญถึงทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในขณะนี้สำหรับบทเพลง ‘ดาวมหา’ลัย’ ของ สาวมาด เมกะแดนซ์ ที่ส่งตรงมากัดจิกเด็กมหาวิทยาลัยหัวไฮโซที่ลืมกำพืดตัวเองสุดฤทธิ์ ทำให้เวลานี้เพลงที่ฟังง่ายๆ สนุกๆ อย่างดาวมหา’ลัยได้ลอยลิ่วไปติดท็อปชาร์ตสถานีวิทยุลูกทุ่งแทบทุกคลื่นอย่างไม่รีรอ  

นอกจากเพลงดาวมหาลัยจะมีเอกลักษณ์ที่ลีลาแร็ปคล้ายๆ กับเพลง ‘หมีแพนด้า’ ที่เคยฮิตติดปากคนไทยมาในอดีต เพลงดาวมหา’ลัยยังมีจุดเด่นของเพลง คือ ออกแนวเสียดสีสังคมลึกๆ เล็กๆ เจ็บๆ คันๆ ทำให้โด่งดังฟังได้ทั้งตลาดบนและตลาดล่าง เบียดเสียดสูสีกันมากับ ‘จังซี่มันต้องถอน’ ของ ปอยฝ้าย มาลัยพร

คิดดูแล้วปรากฏการณ์ของเพลงก็บอกถึงบรรยากาศและความรู้สึกของบ้านเมืองเราได้ เพราะเนื้อเพลงดาวมหา’ลัย ฟังไปฟังมาแล้วถือเป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวของระบบการศึกษาของเมืองไทย การถูกสังคมสมัยใหม่ดึงคนชนบทเข้ามาถลำลึกแบบถอนรากถอนโคน เสมือนเป็นบทวิจารณ์สังคมอีกชิ้น ที่อ่านแล้วหัวเราะได้แบบแค่นๆ ขมๆ และ ขื่นๆ พอๆ กัน

ก่อนก้าวเป็น ‘ดาวมหา’ลัย’

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหลายมหาวิทยาลัยไปแล้ว สำหรับกิจกรรมประกวดดาว เดือน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมรับน้องใหม่ ที่จะเฟ้นหาหนุ่ม สาวหน้าตาดี บุคลิกดี มาเป็นดาว เดือน บางคนอาจจะเป็นขวัญใจในหมู่เพื่อนฝูง หรือบางคนถูกใจรุ่นพี่จนได้รับเลือกมา

โดยมากแล้วจะเป็นการประกวดหาหนุ่มสาวดาว เดือน ในระดับคณะก่อน จากนั้นก็จะเป็นตัวแทนเพื่อมาเข้าชิงสุดยอดดาว เดือน ระดับสถาบัน ผู้เข้าประกวดดาว เดือนแต่ละคู่ ก็จะต้องงัดไม้เด็ดขั้นสุดยอดมาโชว์ความสามารถ เพื่อหวังคว้ารางวัลเป็นหน้าเป็นตาให้กับคณะของตัวเอง โดยมีพี่ๆ เพื่อนๆ เข้ามามีส่วนให้คำแนะนำและเป็นแรงเชียร์

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่ากิจกรรมประกวดดาว เดือน นี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะทำให้นักศึกษาใหม่ หรือ เฟรชชี่ ได้กล้าแสดงออก พร้อมไปกับการได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ พี่ๆ ในคณะ สถาบันของตนเองผ่านการทำกิจกรรม แต่ก็หนีไม่พ้นเสียงครหาว่า การประกวดดาว เดือน ทุกวันนี้เป็นเพียงเวทีประกวดสาวสวย หนุ่มหล่อ ประจำมหาวิทยาลัยเท่านั้น วัดผลแพ้ชนะจากหน้าตา มากกว่าความสามารถที่นำมาแสดง

ชาญชัย ทรงราษี ชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจ ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเอกชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการจัดกิจกรรมประกวดดาว เดือน ยอมรับว่า รูปร่างหน้าตาบวกกับบุคลิกของรุ่นน้องผู้เข้าประกวดดาว เดือน เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสิน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

"เฟรชชี่แต่ละคนที่ได้รับคัดเลือกมาประกวดดาว เดือน ไม่ว่าจะเป็นในระดับคณะ หรือระดับมหาวิทยาลัย รูปร่างหน้าตา และบุคลิกภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดให้ผู้คนสนใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความสามารถที่น้องๆ แต่ละคนจะแสดงออกมาให้กับคณะกรรมการได้ดูกัน

“ในเรื่องของความสวย หล่อ คงเป็นตัวตัดสินไม่ได้ว่าใครสวย ใครหล่อมากกว่ากัน แต่สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินก็คือความสามารถพิเศษของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ความถนัด ซึ่งคณะกรรมการก็จะพิจารณาว่าผู้เข้าประกวดแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร มีไหวพริบ และทักษะส่วนตัวหรือไม่ ในการตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ โดยน้องๆ แต่ละคนก็จะต้องดึงศักยภาพตัวเองมาแสดงให้กับคณะกรรมการได้เห็น"


การจัดประกวดดาว-เดือน ในมุมมองของชาญชัยกลายเป็นวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งแล้ว โดยการจัดประกวดระดับคณะ หรือโปรแกรมวิชาก็เป็นหน้าที่ของนักศึกษารุ่นพี่ในแต่ละคณะดำเนินการ คัดเลือกรุ่นน้อง ปี 1 ที่บุคลิกโดดเด่น มีความสามารถพิเศษ เป็นตัวแทนประจำคณะ จากนั้นจึงมาประกวดแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย ในคืนปาร์ตี้ต้อนรับน้องใหม่ หรือ เฟรชชี่ ไนท์ ซึ่งองค์การนักศึกษารับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ร่วมกับโปรแกรมวิชา หรือคณะวิชาต่างๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้กับรุ่นน้องๆ และพี่ๆ ได้รับทราบและเข้าร่วมงานกัน

“โดยทั่วไปการประกวดดาว เดือน ก็มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้แสดงความสามารถ และศักยภาพของตัวเองในทางที่ถูกต้อง และเพื่อเฟ้นหาดาวเดือน เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย”

ชาญชัย เล่าว่า ในการทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการประกวดดาว เดือน หรือกิจกรรมอื่นๆ นอกจากวัตถุประสงค์หลักแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือกันในหมู่รุ่นพี่ รุ่นน้อง เพราะในแต่ละปีนักศึกษาที่เลื่อนขึ้นมาเป็นรุ่นพี่ก็จะรับคัดเลือกน้องใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ มาเป็นตัวแทนของภาควิชาและคณะของตัวเอง ดังนั้นกระบวนการในการช่วยเหลือและร่วมกิจกรรมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง จึงเป็นกุญแจสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในรั้วมหาวิทยาลัย

ดาวสวย ดาวเริ่ด ดาวเด่น

ขณะที่สาวตาคม อุสุมา สัตยธรรม อดีตดาวคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าว่า การเป็นตัวแทนประกวดดาวเดือนของมหาวิทยาลัย ถือเป็นก้าวสำคัญของชีวิต

อุสุมา ย้อนความหลังสมัยเป็นตัวแทนเฟรชชี่ คณะนิเทศศาสตร์ เข้าประกวดดาวมหาวิทยาลัย ว่า

"การเข้าประกวดตอนนั้นต้องโชว์ความสามารถพิเศษ พวกพี่ๆ ในคณะก็ช่วยกันคิดออกแบบท่าเต้นด้วย ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ เพื่อนๆ และได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะความสามัคคีกันในหมู่คณะ รุ่นพี่รุ่นน้อง และทำให้ตัวเองกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้นด้วย"

อุสุมา ไม่ปฏิเสธว่า หน้าตาเป็นส่วนหนึ่งในการประกวดดาวเดือน แต่สำคัญคือความสามารถ การตอบคำถาม ไม่ใช่คัดแต่หน้าตาสวยอย่างเดียว แต่ต้องมีสมองด้วย ดังนั้นอุสุมาจึงอยากฝากไปถึงน้องๆ รุ่นต่อๆ ไปว่า

“หากน้องคนใดมีความสามารถก็ขอให้กล้าแสดงออกมาอย่าเก็บไว้ นำมาโชว์ให้ดูว่าเราเก่งหรือถนัดด้านนี้ และที่สำคัญเราจะได้เข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจนำไปสู่ก้าวต่อไปในอนาคตได้"

ด้าน พงศ์สุภา ปิ่นแก้ว สาวแก้มแดง ตาหวาน อดีตนักศึกษา จากสถาบันราชภัฏ สวนดุสิต กล่าวว่า กิจกรรมประกวดดาว เดือน เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยองค์การนักศึกษา จะร่วมกับสโมสรนักศึกษาแต่ละคณะ ทำงานร่วมกัน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาน้องใหม่ และรุ่นพี่ ทำให้นักศึกษากล้าแสดงออกในทางที่เหมาะสม

"เข้าใจว่าการประกวดดาวเดือนของมหาวิทยาลัยราชภัฏน่าจะเริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยครูมาเป็นสถาบันราชภัฏ มีการเปิดรับนักศึกษาในสาขาวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากนักศึกษาครุศาสตร์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันระหว่างราชภัฏด้วยกัน และเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดำเนินกิจกรรมตามๆ กันมา แต่เป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์กร หรือมุมมองของผู้บริหารที่จะให้คำแนะนำต่อนักศึกษาว่าต้องการเน้นในจุดใด"

แม้ว่าความสวยอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งของดาวประจำมหาวิทยาลัย แต่พงศ์สุภามองว่า

"มีหลายปีที่ดาวของมหาวิทยาลัยไม่ใช่สาวสวย ประเภทที่เดินไปไหนแล้วทุกคนจะต้องเหลียวมอง อย่างในปีที่ผ่านมานักศึกษาชายที่ได้รับเลือกเป็นเดือนมหาวิทยาลัยนั้น ตัวดำ ไม่หล่อ แต่เป็นคนที่มีความสามารถและโชว์ความสามารถอื่นๆ จนเป็นที่ประจักษ์ของเพื่อนนักศึกษา และได้รับเลือก แม้ว่าความสวยงามจะเป็นส่วนประกอบหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของการจัดประกวดดาว เดือนประจำมหาวิทยาลัย"

พงศ์สุภา กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากความรักความสามัคคีของนักศึกษาคณะต่างๆ แล้ว การจัดประกวดดาว เดือนยังสร้างนิสัยการรู้จักแพ้ รู้จักชนะ และรู้จักอภัย ยอมรับกติกา และเสียงส่วนใหญ่ของสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นในทางอ้อม โดยนักศึกษาที่ได้ร่วมทำกิจกรรมจะค่อยๆ ซึมซับน้ำใจนักกีฬา ผู้ที่คว้าตำแหน่งดาว เดือนก็มีความภาคภูมิใจในตัวแทน ส่วนผู้ที่พลาดรางวัลไปก็พร้อมแสดงความยินดี และภูมิใจกับเพื่อนที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยด้วย

ดาวมหา’ลัยในยุคอะนาล็อก

แม้ว่า เวทีประกวดดาวเดือนจะเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่นำไปสู่ความรัก ความสามัคคี และการเกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือเพื่อนร่วมรุ่น ในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน ตามทรรศนะของผู้เกี่ยวข้อง แต่ทุกเวทีประกวดความงามมักถูกตั้งคำถามมากมายถึงสาระสำคัญในการประกวด ยิ่งเป็นการประกวดในสถาบันการศึกษา ก็ยิ่งต้องตอบคำถามถึงการให้ความสำคัญระหว่างเรื่องของความงาม กับความรู้ความสามารถอันเป็นภาระหลักของสถานศึกษา

การสร้างค่านิยม คนเก่ง คนรวย คนสวย คนหล่อ หรือคนดี สถานศึกษาก็มีส่วนอยู่ด้วยเช่นกัน

สำหรับคำว่า ‘ดาวมหาวิทยาลัย’ เริ่มมาจาก ‘ดาวจุฬาฯ’ ที่นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกย่องนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่มีบุคลิกภาพโดดเด่นของแต่ละคณะ ซึ่งต่อมาดาวมหาวิทยาลัยกลายเป็นวัฒนธรรมที่ขยายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ

ดร.กรองทิพย์ นาควิเชตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เล่าถึงดาวมหาวิทยาลัยในยุคแรกๆ ว่า การคัดเลือกดาวของแต่ละคณะในจุฬาฯ เป็นการที่นิสิตเลือกนิสิตสาวๆ สวยๆ ชั้นปีที่ 1 ของแต่ละรุ่นมาเป็นดาว เป็นการคัดเลือกกันเองไม่ได้จัดประกวดเฟ้นหาอย่างเป็นทางการ

"เราจะดูว่าใครเป็น ‘ดาว’ ได้ในงานฟุตบอลประเพณีแต่ละปี นิสิตที่จะได้รับการยกย่องให้รับตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็น ดรัมเมเยอร์ ที่เดินหน้าขบวน ที่จะคัดเลือกนิสิตสวยๆ ของแต่ละคณะมาทำหน้าที่นี้ ขณะเดียวกันก็เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่า นิสิตเหล่านี้เป็นดาวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สมัยก่อนการเลือกดาวของแต่ละคณะไม่มีการประกาศแบบเป็นทางการเลย นิสิตจะพูดกันไปเองว่าใครเป็นดาวในปีนั้นๆ เช่น คนนี้ดาวคณะวิทยาศาสตร์ คนนั้นดาวคณะอักษรศาสตร์ โดยสมัยนั้นทางคณะหรือมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จัดประกวดอย่างจริงจังเหมือนปัจจุบัน อดีตจะเป็นที่รู้กันว่าใครสวย คนจะเป็นดาว โดยเฉพาะดาวของคณะอักษรศาสตร์ ต้องเป็นคนสวยจริงๆ และนักศึกษาจะยกย่องกันเอง” ดร.กรองทิพย์ เล่าถึงวันวานสมัยเป็นนักศึกษา

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ บอกว่า การประกวดดาวเดือนมหาวิทยาลัยในสมัยนี้ กลายเป็นพิธีกรรมหนึ่งของนักศึกษาสมัยนี้ไปแล้ว ถ้าหากไม่ผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ก็รู้สึกเหมือนชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่สมบูรณ์

"ในสมัยที่ผมเข้าเรียน เมื่อปี 2508 ก็ไม่เคยประกวดแข่งขันชิงตำแหน่งดาวมหาวิทยาลัย แต่ดาวในสมัยนั้นจะเป็นนักศึกษาหญิง ที่รุ่นพี่ลงมติให้เป็นดาวหรือเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีการประกวด โดยเฉพาะเดือนหรือนักศึกษาชายยิ่งไม่เคยมีมาก่อน

“ส่วนตัวคิดว่าการประกวดดาว เดือนน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีหลังนี้ เพราะในช่วงที่สอนอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ 2513-2538 ที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่มีจัดประกวดอย่างนี้ แต่ในช่วงระยะหลังอาจเป็นเพราะหน่วยงาน หรือบริษัทเอกชนต่างๆ นิยมจัดประกวดวัยรุ่นหนุ่มสาว จึงเป็นเหตุให้การประกวดระบาดเข้าสู่มหาวิทยาลัย และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบกัน มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็อาจเห็นว่ากิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยเก่าแก่มีการจัดประกวด หากไม่จัดบ้างก็จะไม่เหมือนมหาวิทยาลัยเก่าแก่ จึงกลายเป็นการเลียนแบบกันไปหมดทุกมหาวิทยาลัย แต่ถ้าจะให้บอกว่าเหมาะสมหรือไม่ก็คงพูดยาก เพราะเป็นความต้องการของนักศึกษา และเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง

"สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ระยะหลังจะมีเรื่องของธุรกิจการค้าเข้ามาแอบแฝง โดยแมวมองจากค่ายต่างๆ อาจจะมาดูตัวดาว-เดือนที่ผ่านการประกวด ชักชวนไปถ่ายแบบถ่ายโฆษณา เป็นบันไดไปสู่การเป็นดารานักแสดง ดังนั้นต้องระวังว่าไม่ให้เรื่องของการค้ามาเย้ายวนนักศึกษามากเกินไป จนนักศึกษาหันไปให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยความงามมากกว่าจะเรียนหนังสือ ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา หรือบางคนอาจเลิกเรียนไปเลยก็ได้"

มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของดาว

ศุภโชค นาฑีทอง หนุ่มบ้านนอกที่พ่อ แม่ส่งเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ สะท้อนความเห็นเมื่อพูดถึงประเด็นดาวมหา’ลัย ว่า

“ผมเคยฟังเพลงดาวมหา’ลัยแล้วฮาครับ...คลายเครียดยิ่งถ้าดูเอ็มวีด้วยยิ่งขำคูณสอง รู้สึกว่าสะท้อนชีวิตดี ตลกดีด้วย คิดถึงพวกเด็กมหา’ลัยที่ชอบทำตัวไฮโซ หรูหรา

“ทุกวันนี้เวลาที่ผมกลับบ้านต้องนั่งรถประจำทางในตัวจังหวัด สังเกตว่าคนบนรถที่เป็นสาวๆ นักเรียนหรือวัยรุ่น เดี๋ยวนี้มีมือถือใช้กันทั่วหน้าแล้ว และสำคัญสุดคือพวกเธอพูดภาษาไทยภาคกลางกัน ไม่พูดภาษาถิ่นกันแล้ว น่าห่วงที่ภาษาอีสานบ้านเฮา ภาษาท้องถิ่นที่มีคุณค่าจะหายไปตามกาลเวลา เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจจะพูดกันแล้ว

“คิดว่าเขาคงต้องการสื่อเพลงออกมาให้รู้ว่าเด็กใหม่ๆ เดี๋ยวนี้เริ่มลืมภาษาดั้งเดิมของตัวเองแล้ว อาจเพราะต้องเข้ามาทำงาน มาเรียนหนังสือในเมืองหลวงทำให้ติดที่จะพูดภาษากลางเสียเป็นส่วนมาก เวลากลับไปบ้านต่างจังหวัดพ่อแม่อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก อย่างการแต่งตัว บุคลิก หรือวิธีคิด รวมทั้งภาษาพูดนี่ น่าใจหายที่เด็กใหม่ๆ จะลืมสิ่งที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์ไว้ เช่น ภาษาดั้งเดิมของตนและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีมายาวนาน เด็กๆ ติดกับความศิวิไลซ์มากกว่า จนลืมสิ่งดีๆ ที่เป็นพื้นฐานเดิมของตัวเองไปเสียหมด”

*******************

เรื่อง-เพลงมนตรา บุบผามาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น