ทำไมสถานออกกำลังกายหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ฟิตเนส’ จึงต้องมีกระจกใสด้านหนึ่งเปิดให้คนภายนอกมองเห็นคนภายในกำลังวิ่งอยู่บนเครื่องวิ่ง? (บางคนบอกว่าดูเหมือนหุ่นยนต์)
ไม่รู้เหมือนกัน เดาว่าคำตอบคงเกี่ยวๆ พันๆ กับแง่มุมการตลาด
ชาวบ้านจากต่างจังหวัดเคยตั้งคำถามแบบบ้านๆ ให้ได้ยิน-ทำไมต้องเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อออกกำลังกาย
เราก็จนปัญญาจะตอบ ทุกวันนี้การใช้บริการฟิตเนสกลายเป็นไลฟ์สไตล์ประเภทหนึ่งของคนเมืองที่ใช้บ่งบอกสิ่งอื่นๆ มากกว่าแค่การออกกำลังกายไปเสียแล้ว
การออกกำลังกายเป็นเรื่องดี แต่พอมันผูกโยงเข้ากับการแข่งขันทางธุรกิจมากๆ เข้า ทำให้มีแง่มุมที่จำเป็นต้องใส่ใจพิจารณา ข้อมูลจาก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 ถึง กุมภาพันธ์ 2552 มีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับสถานออกกำลังกายต่างๆ 974 ราย แต่ไม่ใช่ตัวเลขสุดท้ายที่จะสรุปได้ว่ามีผู้ร้องเรียนเพียงเท่านี้ บางคนเลือกที่จะเงียบ ยอมรับสภาพ หรือไม่ก็ร้องเรียนกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แทน
1
“พอพี่จะลุกเขาก็เหมือนเอามือกดบ่าพี่ไว้ อย่าเพิ่งไปสิพี่ แล้วเขาก็ไปเรียกคนที่ตำแหน่งใหญ่ขึ้นมา สักพักเขาก็เอาเป้พี่ไปเก็บไว้ไกลๆ ตัวพี่ แล้วเขาก็พูดไป เราก็เลยถามว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน มีแบบทดลองระยะสั้นมั้ย ขอลองสัก 3 เดือนได้มั้ย จ่ายสัก 6 พันก่อน เขาก็บอกว่าก็ได้ครับ แต่พี่ต้องจ่ายเป็นเงินสดนะ เราก็บอกว่าไม่มี เขาถามว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ เราก็บอกว่าต้องลองไปกดดูก่อน กะว่าจะเอากระเป๋าแล้วก็ชิ่งเลย เขาบอกว่าไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวให้พนักงานพาไป เขาก็พนักงานตามเราไป 2 คน”
กรณีของ อรุณรุ่ง คุณมั่น วัย 38 พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง น่าจะคล้ายหลายคนที่กรอกแบบสอบถามพนักงานของฟิตเนสตามสถานที่ต่างๆ แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันโทรศัพท์ก็ดัง แจ้งว่าได้รับบัตรทดลองเล่นฟรี แต่เอาเข้าจริงๆ กลับต้องเจอกระบวนการขายแบบดุดันซึ่งน่าจะถึงขั้นกักขังหน่วงเหนี่ยวกันเลยทีเดียว
อรุณรุ่งเซ็นสัญญาเพราะเชื่อสัญญาปากเปล่าของพนักงานขายว่าเธอสามารถเซ็นสัญญาใช้บริการแบบ 3 เดือนได้ พร้อมควักเงินสดให้ไป 6 พันบาท โดยเธอไม่รู้ว่ามันไม่ได้อยู่ในสัญญา
“พี่ไปเล่นได้ 2 ครั้ง จากนั้นก็ไม่ได้ไปอีกเลย พออีกเดือนหนึ่งเขาก็โทรมาทวงว่าเราไม่จ่ายค่าบริการ เราก็บอกว่า อ้าว พี่จ่ายเงินสดไปแล้วนี่ พอถามถึงเซลส์คนที่เราเซ็นสัญญา เขาก็บอกว่าไม่มีชื่อนี้ แล้วยังไงล่ะ เราเสียตังค์ไปแล้วนี่ แล้วก็ไม่ได้ไปเล่นเลย เราก็บอกว่าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ยอมจ่ายเงิน 6 พันนั่น แล้วก็ยกเลิกสัญญาไปเลยแล้วกัน เขาบอกว่ายกเลิกไม่ได้ ยังไงก็ต้องจ่ายเงินทั้งหมดประมาณ 18,000
“เราก็บอกว่าตอนไปทำเซลส์เขาบอกว่าพี่จ่ายแค่ระยะสั้น 3 เดือนเองนะ แล้วก็จ่ายเงินสดไปแล้วด้วย เขาก็บอกว่าไม่ทราบครับ แต่ว่าคุณเซ็นสัญญามาแล้วว่าสมัคร 1 ปีเต็ม เราก็เลยไปหยิบสัญญามาดู ปรากฏว่ามันเป็นข้อแม้ที่มันอยู่ข้างล่าง เขาถามว่าตอนแรกคุณไม่ได้อ่านเหรอ ก็อ่าน อ่านแต่ตัวใหญ่ ไม่ได้สนใจตัวเล็กๆ หรอก ถ้าคุณบริสุทธิ์ใจจริง แล้วทำไมถึงตัวนิดเดียวแบบนี้”
จากนั้นขบวนการกดดันด้วยโทรศัพท์ก็ดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะ เช้ามืด ดึกดื่น ทำสงครามประสาทขู่ว่าจะฟ้อง จะบันทึกคำพูดทางโทรศัพท์เพื่อเอาไว้เป็นพยาน แต่อรุณรุ่งก็ใช้วิธีไม่สนใจและ
“ถ้าจะฟ้องก็ฟ้องเลย ครั้งสุดท้ายมีทนายโทรมา เราก็อธิบายเหตุการณ์ ทนายเขาก็บอกว่าส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้าจะพลาดตรงที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขสัญญา” เธอยอมรับว่า
“แต่เราก็โง่เองแหละ ทำไมไปยอมเขาก็ไม่รู้ กลับมาเซลส์ก็มาพูดว่าตามหลักแล้วจ่ายแบบนี้ไม่ได้นะครับ แต่เดี๋ยวผมจะรูดบัตรของผมไป แล้วพี่จ่ายเงินสดให้ผมก่อน ส่วนที่เหลือก็ค่อยจ่าย เราก็ เอ๊ะ ไหนตอนแรกบอกว่าให้เราทดลองเล่น”
2
ข้อมูลจาก สคบ. แยกแยะประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนฟิตเนสอยู่เสมอ ดังนี้
1.ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้จนกว่าจะครบกำหนดสัญญาขั้นต่ำ 12 เดือน
2.พนักงานขายแจ้งข้อมูลเท็จ เช่น สามารถเล่นทุกอย่างได้ แต่พอใช้จริงกลับต้องเสียเงินเพิ่ม
3.สัญญาไม่เป็นธรรม ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้และขนาดตัวอักษรเล็กเกินไป
4.ราคาค่าสมาชิกไม่มีมาตรฐาน เช่น สมัครห่างกัน 1 วัน ราคากลับต่างกัน 1-2 หมื่นบาท
5.ชำระเงินไปแล้วในวันทำสัญญาแต่ไม่เคยไปใช้บริการ ต้องการยกเลิกโดยไม่ขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน แต่ทางบริษัทไม่ยินยอม
6.ในสัญญากำหนดว่าต้องเป็นสมาชิกขั้นต่ำ 12 เดือน ทำให้เข้าใจว่าเมื่อครบ 12 เดือนแล้วจะยกเลิกการเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ แต่พอครบ 12 เดือน หากสมาชิกไม่แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกเป็นลายลักษณ์อักษรกับบริษัทไม่น้อยกว่า 5 วันทำการก่อนถึงกำหนดชำระเงินครั้งต่อไป ทางบริษัทก็จะหักเงินจากบัตรเครดิตต่อ
7.ก่อนทำสัญญาพนักงานขายบอกว่าสามารถโอนสิทธิให้คนอื่นได้ แต่กลายเป็นว่าผู้รับโอนต้องเสียค่าสมัครชิกใหม่และเริ่มนับการเป็นสมาชิกใหม่
8.ผู้ใช้บริการแจ้งยกเลิกสัญญาในเวลาที่สัญญาระบุว่าสามารถทำได้ แต่ทางบริษัทบ่ายเบี่ยงจนกระทั่งเลยระยะเวลา
9.ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ให้ไปรับคูปองเล่นฟรี แต่พอเข้าไปกลับถูกชักจูงเชิงบังคับให้สมัครเป็นสมาชิกและไม่ยอมให้คูปอง
“โดยมากเซลส์ไปชักชวน โน้มน้าวผู้บริโภคให้เข้าทำสัญญา บอกในสิ่งที่ไม่ตรงในสัญญา เช่น ทำสัญญาไปแล้วเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ เดี๋ยวแถมโน่นให้ แต่เวลาผู้บริโภคจะเซ็นชื่อในสัญญามักจะไม่ได้อ่านสัญญา ซึ่งที่จริงในสัญญาเขาเขียนไว้ชัดเจนนะ พอผูกมัดขึ้นมา เมื่อทำสัญญาแล้วก็ต้องควบคุมกันด้วยตัวสัญญา จะมาปฏิเสธก็ไม่ได้
เราถามว่าแบบนี้ไม่เข้าข่ายหลอกลวงเหรอ?
“เซลส์พูดไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เวลาที่จะขึ้นศาล ถามว่าใครจะแพ้ล่ะ ถ้าเซลส์บอกว่าเขาไม่ได้พูดอย่างนั้น คุณจะเอาอะไรไปยืนยัน คนที่อยากจะขายเขาก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ขายได้ พอขายได้ก็หมดหน้าที่เซลส์แล้ว เขาก็ไม่มาเทกแคร์ดูแลแล้ว” แหล่งข่าวจาก สคบ. อธิบาย
3
จีรศักดิ์ ทองสุข พนักงานบริษัทเอกชน วัย 31 ปี ถูกโทร. ชักชวนให้เข้าไปรับของฟรี (ไม่มีในโลก) แต่แล้วเขาก็ถูกความสงสารของตัวเองเล่นงาน
“ตอนแรกก็จะไม่ทำอยู่แล้ว พอดีคุยกันไป คุยกันมา เขาก็เปลี่ยนพนักงานมาสองสามคน แล้วก็บอกว่าถ้าผมไม่ทำ พนักงานคนแรกที่มาคุยกับผมจะถูกไล่ออก ผมก็ไม่อยากให้เขาถูกไล่ออก ก็เลยเซ็นสัญญา ตอนนั้นก็ไม่ได้อ่านรายละเอียดในสัญญา ตัวหนังสือก็เล็กนะ
“พอผมเอาหนังสือสัญญามานั่งอ่านโดยละเอียดที่ออฟฟิศ มันก็ไม่ใช่อย่างที่เราคิดแล้ว ในข้อสัญญาบอกว่าถ้าผมชำระเงินล่าช้าก็ต้องโดนอีก 250 บาทบวกขึ้นไปอีก ผมเลยมาค้นหาดูในอินเทอร์เน็ตว่ามีใครบ้างที่โดนแบบผม ก็มีเยอะเลย ผมโทรไปปรึกษา สคบ. เขาก็บอกว่ายกเลิกไม่ได้ ผมก็บอกว่าผมไม่มีบัตรเครดิต ไม่คิดจะทำด้วย เพราะตอนเซ็นผมก็ชำระเป็นเงินสดไป 1,349 บาท แต่ในสัญญาระบุว่าจะหักจากบัตรเครดิต แล้วเซลส์ก็พยายามจะให้ผมหาให้ ตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้หา เพราะยังไงผมก็ไม่เข้าไปใช้บริการหรอก”
เอกสารจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบอกว่า สัญญาแบบที่ผู้บริโภคทำกับฟิตเนสเรียกว่า
สัญญาสำเร็จรูป คือสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน
ปัจจุบันสัญญาที่ผู้บริโภคทำส่วนใหญ่ก็อยู่ในสัญญาประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาทำบัตรเครดิต สัญญาเช่าซื้อรถ ฯลฯ ปัญหาก็คือบ่อยครั้งที่สัญญาสำเร็จรูปกระเดียดไปทางเอาเปรียบคู่สัญญา
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 4 วรรค 1 กล่าวถึงสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังพูดถึงอยู่ว่า
‘ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูประหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ ที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบ คู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร’
ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยกตัวอย่างข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกรณีฟิตเนสว่า
‘จะยกเลิกสมาชิกภาพไม่ได้เว้นแต่กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพที่เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถมาใช้บริการได้ อาจมีลักษณะที่ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ’ หรือ
‘การกำหนดระยะเวลาการเป็นสมาชิกไว้ เช่น 6 เดือน, 12 เดือน, 1 ปี, 2 ปี โดยไม่สามารถบอกยกเลิกสมาชิกได้จนกว่าจะชำระค่าบริการครบตามกำหนดระยะเวลา แม้สมาชิกไม่ได้ไปใช้บริการ นับว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะบริษัทมิได้ให้ประโยชน์อื่นใดที่สมเหตุสมผลแก่คู่สัญญาเป็นการตอบแทนการเข้าเป็นสมาชิกนานขนาดนั้น’
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทางกฎหมายก็มีแง่มุมให้โต้แย้งได้เสมอ ซึ่งทางฟิตเนสเองย่อมคิดไม่เหมือนกับทางฝั่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
4
ใช่ว่าทุกคนจะรู้สึกไม่ดีกับฟิตเนส กัฑลี กนกคีขรินทร์ เป็นอีกคนที่ใช้บริการฟิตเนส เธอยอมรับว่าการรบเร้ามากเกินพอดีของพนักงานขายเป็นสิ่งที่เธอไม่ชอบ แต่ก็เป็นคนละส่วนกับการไปใช้บริการของเธอ นั่นเป็นเพราะเธอมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่าต้องการฝึกโยคะโดยไม่ได้สนใจเครื่องเล่นหรือบริการอื่นๆ ซึ่งฟิตเนสก็สามารถตอบสนองความต้องการเธอได้ในระดับที่น่าพอใจ
แหล่งข่าวจาก สคบ. สรุปให้เราฟังว่า ปัญหาจำนวนหนึ่งเกิดจากพนักงานขายเป็นหลักที่ต้องการขายของจนหลงลืมจรรยาบรรณ แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จหรือรับปากข้อตกลงกับผู้บริโภคโดยที่ตนเองไม่มีอำนาจ ทาง สคบ. พยายามพูดคุยกับทางบริษัทในประเด็นนี้ ซึ่งทางบริษัทกล่าวอ้างว่ามีการควบคุมอยู่แล้ว ถ้าพนักงานคนไหนทำผิดหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะถูกไล่ออก แต่ถ้าการตุกติกของพนักงานขายสร้างผลกำไรให้ ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าทางบริษัทจะยอมปิดตาข้างหนึ่งหรือเปล่า
ด้วยความผูกมัดที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคยอมเซ็นสัญญา ความเสียเปรียบจึงตกอยู่กับผู้บริโภคเอง ดังนั้น เมื่อเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่มาถึง สคบ. การไกล่เกลี่ยจึงเป็นหนทางออกที่ถูกใช้มากที่สุด แทนที่จะต้องให้เรื่องถึงโรงถึงศาล ซึ่งจากจำนวน 974 ราย สามารถไกล่เกลี่ยได้ถึง 724 ราย
แต่ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อรายต่อไปโดยไม่เต็มใจ ผู้บริโภคก็ควรจะสร้างเกราะป้องกันตัวเองไว้บ้าง ซึ่งทาง สคบ. มีข้อแนะนำก่อนจะพลั้งเผลอเซ็นสัญญาผูกมัดตัวเองดังนี้
“ข้อที่ 1 ที่อยากแนะนำ ถ้าคิดว่าจะไปสมัครสมาชิกฟิตเนสต้องเชื่อมั่นว่ามีเวลามากพอที่จะไปใช้บริการ เพราะสิ่งที่เราเจอก็คือคิดว่าจะออกกำลังกาย พอไปไม่ได้ก็อยากจะเลิกสัญญา
“ข้อที่ 2 ต้องมีความสะดวกในการไปใช้บริการ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง คือผู้บริโภคที่ชักชวนให้ไปออกกำลังกายที่นี่ แต่ว่าอยู่ไกลบ้านตัวเอง พอจะมาใช้บริการมันก็ไม่สะดวก ไกล ก็ไม่อยากมาแล้ว ทำให้เสียสิทธิ อีกแบบคือคุยกับเซลส์ แล้วเซลส์บอกว่า จะเล่นสาขาไหนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ ต้องเล่นเฉพาะสาขาที่เราทำสัญญา ดังนั้น ผู้บริโภคจะต้องดูว่าสะดวกที่จะไปใช้บริการในสาขานั้นหรือไม่ ถ้าไม่สะดวกก็ไม่ควรทำ
“ข้อที่ 3 (ซึ่งน่าจะสำคัญที่สุด) ที่อยากจะเตือนคือเวลาเซลส์พูดอะไรต้องใจแข็ง อย่าเชื่อเลย ฟังแล้ว ต้องอ่านสัญญาตามไปด้วย แม้ว่าเซลส์จะเขียนไว้ในสัญญา แล้วให้ผู้บริโภคเซ็น ต้องถามก่อนว่าเซลส์คนนั้นมีอำนาจทำสัญญากับเราหรือเปล่า เพราะถ้าเขาไม่มีอำนาจเซ็นสัญญากับเรา มันก็ไม่ผูกมัดเขา แล้วถ้าเซลส์รบเร้าอะไรมากๆ บอกเลยว่าถ้ามายุ่งมากๆ เท่ากับกำลังละเมิดสิทธิ สิทธิของผู้บริโภคข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ ฉะนั้น เซลส์จะมาพูดโน้มน้าว บังคับ เอากระเป๋าเราไปเก็บ กันไม่ให้ลุก ไม่ให้ออก ทำไม่ได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ”
ถึงที่สุดแล้ว ตัวผู้บริโภคเองนั่นแหละที่จะต้องรอบคอบระมัดระวัง เพราะโดยปกติแล้ว การเซ็นสัญญาทุกครั้งจะต้องอ่านเนื้อหาสัญญาอย่างละเอียดเสมอ ใช้วิจารณญาณให้มากกว่าอารมณ์หรือคิดแค่ว่าเป็นสมาชิกฟิตเนสแล้วเท่ดี และถ้าถูกกดดันหรือละเมิดก็ต้องเล่นไม้แข็งกลับไปบ้าง
และถ้ารักจะออกกำลังกายจริงๆ โดยไม่ติดยึดกับสถานที่หรืออุปกรณ์ราคาแพง ก็ยังมีตัวเลือกอีกมากมายที่ประหยัดกว่า สนุกกว่า เพราะการเสียเหงื่อให้กีฬา ดีกว่าเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จริงมั้ย?
*************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล