xs
xsm
sm
md
lg

โฮม สคูล ‘ดอยผาส้ม’ จากสงฆ์สู่ต้นทางการศึกษาภาคชนบทแนวใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้านักเรียนโฮม สคูล บนดอยผาส้ม
'ดอยผาส้ม' เป็นภูสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และห่างไกลความเจริญ มองไปรอบๆ รายล้อมด้วยภูลูกอื่นๆ ข้างบนลมหนาวยังพัดเฉื่อยฉิวแม้จะเข้าหน้าร้อนและใบไม้ข้างล่างเริ่มแห้งกรอบแล้วก็ตาม ห่างเชิงเขาออกไปเล็กน้อยมีถนนตัดผ่าน เป็นเส้นทางไปมาระหว่าง 2 หมู่บ้านเล็กๆ ถนนเส้นนี้แยกมาจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ราว 30 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างคดโค้งชวนเวียนหัว

ทิวทัศน์ที่มองจากจุดสูงสุดของดอยผาส้มโดยรอบ 360 องศา จะแลเห็นยอดดอยม่อนอยู่ไกลลิบ ดอยผาส้ม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ในอำเภอสะเมิงมาช้านานแล้ว เป็นดอยสูงตั้งอยู่ที่รอยต่อตำบลแม่สาบและตำบลยั้งเมิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

หากย้อนกลับไปเมื่อราว 70 กว่าปีที่ผ่านมา ครูบาศรีวิชัย อริยสงฆ์แห่งลานนาได้จาริกมาที่สะเมิง ท่านได้ร่วมกับครูบาอุปาระสร้างสถูปใหม่ในที่เดิม กาลผ่านมาอีกยาวนาน ในปี 2548 พระพุทธพจนวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำคณะสงฆ์มาร่วมกันบูรณะพุทธสถานแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ โดยได้รับแรงศรัทธาจากชาวบ้านบ้านนอมลอง อังคาย และยั้งเมิน ทั้งยังมีศรัทธาจากพุทธบริษัทจากทั่วสารทิศสร้างพระมณฑปจตุรมุขครอบพระสถูป น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษาในปี 2550 โดยมีพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนยอดมณฑป เมื่อปี 2549

ปัจจุบัน วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม มีพระสรยุทธ ชยปัญโญ รักษาการเจ้าอาวาส โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริจากในหลวง เรื่อง 'บวร' ซึ่งหมายถึง 'บ้าน-วัด-โรงเรียน' มาใช้เป็นหลักในการพัฒนา ทั้งได้อาศัยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก ซึ่งมีการทำกิจกรรมทั้ง 4 ด้าน คือ 1. การอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร 2. การพึ่งพาตนเองในด้านเกษตรอินทรีย์ 3. การอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน 4. การจัดการศึกษารูปแบบใหม่

ท่ามกลางกระแสของนักเรียนในเมืองแย่งกันหาที่เรียนในโรงเรียนมีชื่อเสียงตามระบบปกติที่เคยเป็นมา ยังมีแสงเทียนแห่งการศึกษาวูบเล็กๆ ส่องอยู่บนปลายดอยอันห่างไกล

วัดพระบรมธาตุดอยผาส้มคล้ายกำลังปฏิรูประบบการศึกษาด้วย ‘โฮม สกูล’ เพื่อเป็นโรงเรียนแบบใหม่สำหรับเด็กในชุมชนที่กำลังเติบโตขึ้นในโลกอันทันสมัยนี้ น่าสนใจว่าอาจเป็นคำตอบสำหรับแนวการศึกษาภาคชนบทอย่างแท้จริงได้ในอนาคต

โฮม สกูล เบ้าหลอมแห่งธรรมะ ของ ‘พระอาจารย์สรยุทธ’
จากอดีตวัยเด็กเติบโตมาตามสูตรของเด็กผู้ชายในกรุงเทพฯทั่วไป สมัยมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและไปต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาสอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด สหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาเพียงปีเดียว ก่อนได้งานที่ธนาคารโลก แล้วเปลี่ยนไปทำให้บริษัทสายการบินฟินิกซ์ ที่แอริโซนา ก่อนที่จะละทางโลกเข้าสู่ทางธรรม

ปัจจุบันพระสรยุทธ ชยปญฺโญ พระอาจารย์หนุ่มศิษย์หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ แห่งวัดป่าบ้านค้อ จังหวัดอุดรธานี กำลังขะมักเขม้นพัฒนาในแนวทางของ ‘บวร’ อยู่บนยอดดอยผาส้ม โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม

ล่าสุด นักพัฒนาจากแดนสงฆ์คนนี้ เริ่มต้นพัฒนาชุมชนและเยาวชนผ่านโฮม สกูล โดยมีที่มาจากการไปพบกับคุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่งานอัศจรรย์เด็กไทย เมืองทองธานี

โดยที่พระสรยุทธได้พูดคุยและบอกกับดร.กษมาว่า การศึกษาของเด็กที่อยู่ชายขอบจะเอาการศึกษาแบบส่วนกลางมาให้เรียนใช้แก้ไขปัญหาชุมชนไม่ได้ แต่ที่เป็นอยู่คือ เด็กต้องออกไปเรียนจบ ม.6 จากนอกชุมชน พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าเรียนแบบไหน แม้ไม่อยากให้ไปแต่ก็ไม่มีทางเลือก ซึ่งคุณหญิงกษมายอมรับว่ามีปัญหาจริง พระสรยุทธจึงเสนอว่าถ้ามีหลักสูตรการศึกษาเองขอทดลองได้หรือไม่ ท่านรับว่าจะช่วยดูให้และมอบหมายไปยังเขตการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

“ทดลองลองผิดลองถูกมามาก เพราะโฮม สกูลในลักษณะทำงานชุมชนนั้นไม่มี ที่มีส่วนมากเป็นลูกหมอ ลูกทนาย ที่พ่อแม่สอนเอง ในช่วงทดลองเจอปัญหาหนึ่งคือโรงเรียนที่เด็กจบมาไม่ได้สร้างลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น ความมีวินัย ความซื่อสัตย์ ความสนใจใฝ่รู้ แม้โรงเรียนจะประเมินผลด้วยการให้ ผ.หรือ มผ. แต่ถ้า ผ.จริงไม่เป็นอย่างนี้ ให้ผ่านๆ ไปจึงรับภาระจากโรงเรียนที่ไม่สามารถปั้นเด็กได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้

“เด็กแต่ละคนมีปัญหาคนละอย่าง ตอนนี้รู้ทางคือไม่ทรีตเด็กเป็นเด็ก ถ้าคิดว่าชั้นเป็นครู เธอเป็นเด็ก ทำหน้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว แบบนั้นไม่ได้ มันเหมือนคนพิการแบมือขอทาน ครูจึงไม่สั่งแต่ใช้การคุยเยอะ การสั่งถึงเอามีดจ่อคอเด็กก็ไม่ทำเพราะเขาไม่มีส่วนร่วมแต่ตอนนี้ปั้นกระบวนการให้มีส่วนร่วม”

พระสรยุทธบอกเล่าถึงประสบการณ์ว่า ได้ทำการทดสอบว่าเด็กถนัดอะไร บางคนชอบวาด บางคนชอบถ่ายรูป บางคนชอบร้องเพลง ใครชอบอะไรก็สอนกันตัวต่อตัว เด็กก็ทำได้ดี เรียนรู้เร็วไม่เบื่อ

“พยายามให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ทำกิจกรรมที่ชอบ สนใจ ความสัมพันธ์กับครูแนบแน่น ดุหรือตีก็ไม่ว่า เด็กมีความเกรงใจกันมากขึ้น พูดก็เชื่อ อย่างทำงานรวมเรื่องการทอดกล้วย คนชอบเพลงให้แต่งเพลงทอดกล้วย คนวาดก็ให้วาดรูป แล้วก็ให้คิดโครงการเอาไปขาย รูปและเพลงก็เอาไปใช้เป็นส่วนประกอบ”

หลักสูตรโฮม สคูล ของวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ยังเน้นไปที่ความสอดคล้องกับทิศทางพัฒนาชุมชนชนบทที่พยายามปลดแอกจากหนี้สินที่พอกพูน พระสรยุทธ กล่าวว่า แนวทางที่นำมาใช้กับชุมชน คือ แนวทางพระราชดำริ ‘บวร’ หรือ บ้าน วัด โรงเรียน สัมพันธ์กันโดยอาศัยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อนชุมชนพร้อมกันใน 4 ด้าน คือ ทุนของสังคมเกษตร การพึ่งพาตนเอง พลังงานทดแทน และการศึกษา ซึ่งหลักสูตรและการปฏิบัติงานของเด็ก Home School จะสอดคล้องกับแนวทางเหล่านี้

“การศึกษาที่ให้กู้เรียนไปเรื่อยๆ แต่มีหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นไม่มีความสุขหรอก ถ้าเรียนฟรีน่าจะให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฟรีหมดแล้วจะดี เหมือนอย่างคิวบา บราซิล ให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีเลยจบหมอ จบวิศวะเต็มไปหมด แต่ไม่มีงานทำ เป็นเพราะไม่ได้ดูอุปสงค์อุปทาน ประเทศไทยนั้นต้องการผู้ผลิตอาหาร อนาคตประเทศนี้จะขาดผู้ผลิตอาหาร เพราะประเทศนี้สร้างแต่คนมีปริญญา อาชีพเกษตรถูกดูถูก” พระสรยุทธวิจารณ์แนวทางจัดการศึกษาของรัฐทั้งยังบอกอีกว่า

“อาตมาเรียนมาก่อนเลยเห็นโทษ การเรียนระบบปัจจุบันเหมาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น นำมาใช้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ นิสัยคนเราไม่เหมือนกันบางคนต้องการอยู่ในเมืองก็ให้อยู่ไป แต่ขอทางเลือกให้คนที่อยากอยู่ในชนบทด้วย ปัจจุบันมันไม่มีทางเลือกนี้ การศึกษาลากคนเข้าส่วนกลางหมดไม่เปิดช่องอื่นเลย บางคนบอกเรียนอาชีพก็ให้ไปเรียนอาชีวะสิ แต่เรียนอาชีวะอะไรบ้างที่นำกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านได้ ระบบการเรียนตอนนี้ไม่ได้เรียนเพื่อกลับมาท้องถิ่น แต่เรียนเพื่อไปของานทำ”

ท่านมองว่า ท้องถิ่นเองจำเป็นต้องถูกพัฒนาให้เข้มแข็ง แม้จะอยู่แบบชนบทก็ต้องไปให้ทันโลก ไฮเทคได้ มีศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ เพราะประเทศตะวันตกอย่างลอนดอนหรือปารีสนั้นในตัวเมืองฟุ้งเฟ้อมาก แต่ถ้าออกไปนอกเมืองหน่อย บรรยากาศจะเป็นอีกแบบไปเลย เป็นป่า เป็นชนบทเก่าแก่ เขาทำหน้าที่ผลิตอาหารส่งเมือง มีวัวแต่ก็มีอินเตอร์เน็ท ความทันโลกเป็นสิ่งจำเป็นแต่จุดเด่นของชุมชนคือการพึ่งตนเองและต่อรองได้
หลักสูตร Home School ในสายตาพระสรยุทธจึงไม่ใช่การปฏิเสธความเป็นจริงของโลก แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางเลือกให้กับภาคส่วนชนบทและส่งไม้ต่อให้อนาคตอย่างยั่งยืน

‘ดอยผาส้ม’ กำลังเปลี่ยนไป
ปัจจุบันค่านิยมของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ ‘ความรู้’ หรือ ‘การใช้ประโยชน์’ แต่เป็นเรื่องของภาพลักษณ์เสียส่วนใหญ่ โรงเรียนที่โด่งดังมีชื่อเสียงยิ่งเป็นที่นิยม ระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์เริ่มชี้วัดกันด้วยระดับดีกรีปริญญาและชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา ในขณะที่ปากของผู้คนพร่ำบ่นเรียกหาสังคมคุณธรรม ความสัมพันธ์ของคนกับวัดกลับถูกทอดทิ้งเหลือเพียงความรู้สึกจางๆ จากอดีตไว้เบื้องหลัง

โฮมสกูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสกูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็กที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2552 มีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคน

จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้ง สำคัญยิ่งในแวดวงการศึกษา รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

เสียงพระธรรมก้องกังวาน ‘วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม’ ทำให้ได้กลับไปสัมผัสถึงบรรยากาศความศรัทธาในพระศาสนาที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากความคุ้นเคย แม้พุทธสถานจะสถิตบนภูสูงตามชื่ออารามก็ตาม แต่กลับยังเป็นศูนย์กลางชุมชนที่รายรอบได้คล้ายดังอดีตกาลย้อนคืน

“โตขึ้นอยากเป็นเกษตรกร เพราะถ้าเราไม่ทำใครจะทำต่อจากพ่อแม่” ปณิธาน ตาสม เด็กชายตัวน้อยกล่าวขึ้นอย่างมีปณิธานตามชื่อ ทั้งที่ทุกวันนี้เกษตรกรในอำเภอสะเมิงรวมทั้งพ่อและแม่มีหนี้สินติดตัวจากการทำไร่สตรอเบอรี่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความผูกพันกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่พบเห็นได้ทุกวันทำให้เขามีความสุขที่จะเป็นแบบพ่อและแม่

ปณิธาน เลือกที่จะไม่เรียนต่อในเมือง แต่เลือกเข้าเรียนต่อมัธยม 1 ที่ โฮม สกูล วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ที่ ‘พระอาจารย์สรยุทธ ชยปัญโญ’ เริ่มไว้เมื่อปีกลาย สิ่งที่เขาชอบมากคือการมีส่วนเสนอหลักสูตรการเรียนได้เอง ตอนนี้ปณิธานอยากเรียนเรื่องระบบนิเวศน์และการทำปุ๋ยชีวภาพ ส่วนก่อนหน้านี้การได้ออกไปดูงานนอกพื้นที่บวกกับการเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์จึงเลี้ยงแพะเป็นโครงการส่งครูด้วย

ปณิธานให้ดูสมุดเรียนในย่าม มีหน้าหนึ่งที่ครูให้วาดภาพสิ่งที่ประทับใจกับสิ่งที่สะเทือนใจ เขาวาดภาพผลสตรอเบอรี่เป็นลายเส้นปากกาง่ายๆ แต่เก็บรายละเอียดสวยงาม ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นสตรอเบอรี่ช้ำๆ ถูกแมลงกัดแทะ...ภาพวาดนี้ในสมุดสะท้อนปณิธานในหัวใจเด็กชายคนหนึ่งออกมาอย่างลึกซึ้ง เป็นภาพของความรักความผูกพันกับวิถีชีวิตและสอดคล้องกับความฝันของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน ใน โฮม สกูล แห่งนี้ มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาต้น 5 คน และมัธยมปลาย 2 คน มีกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบพี่สอนน้องและเรียนไปด้วยกันโดยแบ่งการเรียนรู้เป็น 3 ช่วงใหญ่ คือ ‘เปิดทางฝัน’ ซึ่งจะนำเด็กๆไปดูงานที่ต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเอง เช่น ที่โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย ดูการเพาะเห็ด ทำปุ๋ย เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานรวมไปถึงการแปรรูป หรือการเข้าอบรมการเลี้ยงแพะ หมูหลุม ไบโอแก๊ส การทำเกษตรปลอดสารพิษที่คณะเกษตรศาสตร์ โรงเรียนชาวนาจังหวัดเชียงราย เป็นต้น

จากนั้นช่วงที่ 2 เป็น ‘การก่อร่างสร้างฐาน’ คือการนำความสนใจจากความรู้ต่างๆมาหลอมรวมกับจินตนาการ สู่การปฏิบัติการทดลองด้วยตนเอง ปัจจุบันที่ศูนย์การเรียนรู้ โฮม สกูล มีทั้งแปลงพืชอินทรีย์เล็กๆ และเลี้ยงหมูหลุม 3-4 ตัว ส่วนช่วงสุดท้ายคือ ‘เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้’ เข้ากับสิ่งรอบตัว ส่วนนี้เป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้

บางคนอาจสงสัยเรื่องมาตรฐานทางความรู้ ปณิธาน บอกว่า จะต้องไปสอบวัดระดับความรู้ที่เขตการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะๆ นอกจากนี้ในตารางเรียนรอบสัปดาห์จะมีสองวันเรียนวิชาสามัญเหมือนนักเรียนในหลักสูตรปกติ ส่วนอีกสองวันเรียนเกษตรกับเข้าฐานปฏิบัติงาน และจะต้องมีวันหนึ่งเรียนธรรมะกับพระอาจารย์สรยุทธ


……………

เสียงลมภูเขาพัดต้องกิ่งสนหวีดหวิววังเวงยามค่ำ เงาทะมึนกิ่งก้านขยับแกว่งลึกลับน่ากลัว ทว่าแสงไฟที่สาดส่องกระทบพระมณฑปพระธาตุฯ ขับความมืดดูสว่างอบอุ่นดุจพระธรรม ศิษย์ตถาคตเริ่มสวดมนต์แล้ว ศาสนิกชนเปี่ยมศรัทธามากันล้นศาลาแต่ดูไปแล้วเหมือนเพิงไม้ที่สร้างแบบง่ายๆ หลังหนึ่งมากกว่า คำขานรับบาลีสอดแทรกเสียงลมหนักแน่นกังวานผ่านขุนเขาแมกไม้สงบและขรึมขลัง

อีกทางหนึ่ง โฮม สกูล ดอยผาส้ม เพื่อพัฒนาถิ่นฐานบ้านเฮาก็กำลังลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง


......................................

เรื่อง : ทีมข่าวปริทรรศน์

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แนวการเรียนการสอน
ภาคฝึกปฏิบัติ
ห้องเรียนเกษตรกลางแจ้ง
ป้ายโฮม สคูล
 พระสรยุทธ กับพระสังคม สองแกนหลักของโฮม สคูล
กำลังโหลดความคิดเห็น