“ยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง หรือหญิงสาวต่างๆ นานามากมายมิได้เป็นเครื่องบอกถึงความสุขในใจของคน หากไร้คนที่รักโดยแท้จริง คือมุราซากิ อยู่เคียงข้าง” นี่คือสัจธรรมของชีวิตในตอนท้ายของนวนิยายรักพันปี “ตำนานเกนจิ”
ผู้ที่รักการอ่านนวนิยายเป็นชีวิตจิตใจหลายคนอาจไม่รู้ว่า วรรณกรรมร้อยแก้วหลากหลายเรื่องราวที่เคยผ่านสายตาของคุณมามากมายนับไม่ถ้วนนั้น แท้จริงแล้วจุดกำเนิดของหนังสือนวนิยายเรื่องแรกของโลกคือเรื่องอะไร และมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง M-Feature ไม่รอช้าที่จะเสาะแสวงหาข้อมูลมาฝากเพื่อนนักอ่านในวันนี้ด้วย
เรื่องเล่าของเกนจิ(Tale of Genji) ได้รับการพิจารณาว่าเป็นนวนิยายเล่มแรกของโลกเพราะความแตกต่างจากนิทานหรือตำนานอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกัน เป็นสุดยอดวรรณคดีญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลยูเนสโก จากบันทึกเก่าแก่ฉบับหนึ่งกล่าวว่านวนิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นโดย หญิงสาวผู้มีพรสวรรค์ทางด้านงานเขียนอย่าง มุราซากิ ชิคิบุ สตรีชั้นสูงในราชสำนักญี่ปุ่นสมัยเฮอัน หรือเฮอันเคียว
รูปแบบงานเขียนของเธอใช้วิธีการเขียนบรรยายและรำพันถึงความรู้สึกที่มีต่อใครบางคน แบบที่เรียกว่า ฮิรากะนะ ซึ่งเป็นการเขียนแบบพยางค์ ในยุคนั้นญี่ปุ่นได้รับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างมาจากจีน ซึ่งโคลงกลอนและการเขียนภาษาจีนเป็นที่นิยมแพร่หลาย
เรื่องราวบอกเล่าถึงชีวิตชายหนุ่มรูปงามผู้สูงศักดิ์ ฮิคารุ เกนจิ โอรสของพระจักรพรรดิ ที่ต้องตกระกำลำบากเพราะแม่ผู้เป็นเพียงพระสนมสิ้นชีวิตไปตั้งแต่เขายังเยาว์ ทำให้เขาต้องเติบโตมาในฐานะขุนนางทั้งๆ ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ และไม่มีสิทธิ์ในการสืบสายราชสันตติวงศ์ ด้วยความคับแค้นใจและปมในวัยเด็ก บวกกับรูปลักษณ์ที่งดงามประหนึ่งเทพจำแลง ความสามารถทั้งทางบู๊บุ๋นที่เพียบพร้อมและสายตระกูลที่สูงส่ง ทำให้บรรดาสาวสรรกำนัลในทั้งหลายหลงใหลได้ปลื้มเขา
ฮิคารุ เกนจิ จึงมีสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตาทั้งกับสนมของพระจักรพรรดิผู้เป็นบิดา ภรรยาม่ายของขุนนางผู้ใหญ่ เชื้อพระวงศ์สาว เด็กอายุ 11 หรือแม้แต่เป็นชู้กับเมียเพื่อน จนนาม ฮิคารุ เกนจิ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเจ้าชู้ในสำนวนภาษาญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
สุดท้ายแล้วฮิคารุ เกนจิ ผู้พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์ อำนาจวาสนา ก็ต้องอยู่เดียวดายเมื่อขาดสตรีที่รักอย่างแท้จริงเพียงคนเดียวไป เพราะการกระทำอันทำร้ายจิตใจสตรีของตนเอง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในกฎแห่งกรรมของผู้ประพันธ์ที่ไม่ยอมให้คนที่หมิ่นเกียรติสตรีได้ดีเสมอไป และเมื่อฮิคารุ เกนจิ ได้คิดถึงการกระทำที่ทำมาทั้งหมดจนสามารถปลงตกกับชีวิตที่ผ่านมาจนออกบวชแล้ว เรื่องก็ชี้ให้เห็นถึงความสงบสูงสุดอันพึงเกิดขึ้นกับตัวของฮิคารุเกนจิ เอง
นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตรักของเขา ในวงสังคมชั้นสูงของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังบอกให้ทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของสมัยเฮอันได้อย่างละเอียดลออและงดงามทรงคุณค่าทางด้านภาษา และความเก่าแก่ ทั้งยังตีแผ่ความคิด จิตสำนึกในใจของผู้คนในสมัยนั้นผ่านตัวละครต่างๆ อย่างมีมิติ รวม 41 ตอน และรุ่นหลานอีก 13 ตอน รวมทั้งสิ้น 54 ตอน
มุราซากิ คิริบุ ได้สอดแทรกบทร้อยกรองต่างๆ เข้าไปในเนื้อเรื่องด้วย เพื่อให้สัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร เนื่องจากกวีโคลงกลอนต่างๆ ในสมัยนั้น ถือเป็นสุดยอดศิลปะและการสนทนาที่มีวัฒนธรรม
เธอยังได้ใช้เพลงไซบาระ ประกอบเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งเพลงไซบาระนั้น หากแปลตามตัวอักษรจะหมายถึงเพลงที่ร้องในขณะขี่ม้า เป็นเพลงที่ใช้ร้องคู่หรือประสานกัน นักร้องมีทั้งหญิงและชาย ได้รับความนิยมในราชสำนักญี่ปุ่นยุคเฮอัน โดยการดัดแปลงมาจากเพลงพื้นบ้าน เนื้อร้องสั้นและเรียบง่าย ส่วนดนตรีนั้นได้รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์ถังของประเทศจีน
นักวรรณคดีและนักประวัติศาสตร์ยังวิเคราะห์ว่านวนิยายรักเรื่องนี้ เป็นนิยายเชิงจิตวิทยาเรื่องแรกของโลก ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความทุกข์ระทมของหญิงในราชสำนัก ปมในใจของฮิคารุ เกนจิ โรคคลั่งอาฆาตของเจ้าจอมคนรัก รวมถึงการสอดแทรกปรัชญาพุทธเรื่องความไม่เทียงแท้แน่นอน และการให้อภัยไว้ในนิยาย อย่างแนบเนียนผ่านการพบและการพรากจากคนรักของฮิคารุ เกนจิ
หากจะเปรียบเทียบกับวรรณคดีไทยคงเปรียบได้กับเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ที่นอกจากเนื้อเรื่องจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและประเพณีไทย เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของเกนจิที่แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณีในยุคเฮอันของประเทศญี่ปุ่นแล้ว พระเอกยังรูปงามแสนเจ้าชู้เหมือนกันอีก จนผู้อ่านยกให้ฮิคารุ เกนจิ เป็นขุนแผนแห่งแดนอาทิตย์อุทัย
นวนิยายเรื่องนี้ถูกบรรจุอยู่ในแบบเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นชั้นมัธยม และเป็นวิชาเรียนชั้นอุดมศึกษาทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเองก็บรรจุวรรณกรรมชิ้นนี้เอาไว้ในวิชาเอกด้านภาษาญี่ปุ่น ด้วย
จากนวนิยายเรื่องเล่าของเกนจิที่ถูกถ่ายทอดต่อเนื่องกันมานับพันปี กลายเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่ามากที่สุดเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น จนได้รับการเชิดชูจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เป็น ตำนานเกนจิ (Genji Monogatari) ในวาระครบรอบ 1000 ปี ของตำนานเกนจิ
ประเทศญี่ปุ่นได้จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลเกนจิขึ้น ณ กรุงเกียวโต อันเป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2008 เรื่อยไปจนถึง 31 ตุลาคม 2009 นอกเหนือจากการจัดงานเฉลิมฉลองด้วยกิจกรรมต่างๆ แล้ว ธนาคารแห่งญี่ปุ่นยังออกธนบัตร 2000 เยนในวาระพิเศษเฉลิมฉลองครบ 1000 ปี ตำนานเกนจิ ด้วย
ไม่เพียงแค่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้อ่านนิยายรักพันปี นวนิยายเรื่องแรกของโลก เพราะประเทศไทยก็มีการนำเอาต้นฉบับของเรื่องนี้มาแปลเป็นการ์ตูนฉบับภาษาไทย เมื่อหลายปีมาแล้ว โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ด้วยเมฆหมอกแห่งรัก” และปัจจุบันได้ทำเป็นการ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง Genji monogatari sennenki (เกนจิ - ตำนานักพันปี) ให้สาวกญี่ปุ่นหาชมกันได้แล้ว
Did you know?
เกนจิ โมโนกาตาริ (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ) หนาประมาณ 1,000 หน้า ความยาว 54 บท ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นต่างๆ โดยเฉพาะในรูปแบบการ์ตูนได้รับความนิยมมากที่สุด ความยาว 13 เล่มจบ มียอดขายราวๆ 14 ล้านเล่ม
ในฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี จะมีการนำเอาม้วนตำนานเกนจิ มาแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชมกันที่พิพิธภัณฑ์งานศิลป์โตกุกาว่า (Tokugawa Art Museum) เมืองนาโกยา โดยในปีหนึ่งจะนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น เปิดบริการตั้งแต่ 10.00 น -17.00 น ค่าเข้าชม1,200 เยน
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
คุณ Malanie และ Terasphere. exteen.com