ขณะที่กระแสซีไรต์บ้านเรากำลังจะเริ่มเวียนมาบรรจบศักราชใหม่อีกครั้ง นักเขียนซีไรต์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวได้เดินทางข้ามโขงมาเผยแพร่ผลงานฉบับภาษาไทย ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนในประเทศไทย “ปริทรรศน์” จึงถือโอกาสนี้พูดคุยและซักถามเกี่ยวกับแวดวงหนังสือ หรือ “ปึ้ม” ของประเทศลาว ผ่านมุมมองและความเห็นของนักเขียนซีไรต์ลาวคนล่าสุด
โอทอง คำอินซู หรือนักเขียนนามปากกา “ฮุ่งอะลุน แดนวิไล” เจ้าของผลงานเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์เรื่อง “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ”
สภาพตลาดวงการหนังสือลาวปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ตลาดหนังสือลาวถ้าเทียบกับในอดีตสมัยก่อน ปัจจุบันนี้เริ่มดีขึ้น เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือสำหรับเด็ก จะได้รับความสนใจสูง เพราะพ่อแม่เริ่มเห็นความสำคัญของการอ่านและพยายามซื้อให้ลูก แต่หนังสือแนวอื่นๆ ทั่วไปนั้นก็ดีขึ้น หากเทียบกับไทยแล้ว ลาวจำนวนพลเมืองจะน้อยกว่า ดังนั้น ยอดจัดพิมพ์จะอยู่ประมาณพันห้าหรือสองพัน จะหายากที่พิมพ์สามพันถึงห้าพันเล่ม ถ้าพิมพ์พันสองพันก็ใช้เวลา 4-5 ปีถึงจะขายหมด แต่มาดูในระยะนี้ หนังสือของข้าพเจ้าที่พิมพ์ล่าสุดนี้เป็นบทกวี ชื่อว่า “ดาวประดับดิน” พิมพ์ปี 2007 2008 ก็ขายหมด แสดงว่ามันภายในปีเดียว บทกวีชุดก่อนประมาณสองปีก็ขายหมด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีถ้าเทียบอยู่ในประเทศลาวในระดับนี้
มีคนบอกว่าวรรณกรรมลาวกับไทยคล้ายกัน กลิ่นอายของวรรณกรรมไทยกับวรรณกรรมลาวแตกต่างกันไหมคะ?
หลายๆ คนก็ว่ามันคล้ายคลึงกัน อาจจะเป็นเพราะหนึ่งวัฒนธรรม ภาษามันก็ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว อาจจะคล้ายคลึงกัน แต่ว่ามันจะมีความแตกต่างอยู่ เรื่องหนึ่งคิดว่าด้านการเมืองก็มีส่วน แนวคิดต่างๆ ก็ยังมีความแตกต่างกัน การดำรงชีวิตของลาวกับไทยก็แตกต่างกันแล้ว ยกตัวอย่างว่า ลาวยังไม่อาจเจริญเท่าไทย เมื่อความเจริญเข้ามา วรรณกรรมก็ส่องแสงไปตามสิ่งในความเป็นจริงนั้น แต่คิดว่าแนวทางมันก็จะไปทางเดียวกัน ข้าพเจ้ามองวรรณกรรมไทยในวันนี้แล้ว บางทีลาวในวันข้างหน้าก็อาจเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คงจะไปเป็นคู่กันแบบนี้ล่ะ ไม่แยกออกจากกันจนเห็นความแตกต่างได้ชัด
อาจารย์ปราโมทย์ (ปราโมทย์ ในจิต หรือ “จินตรัย” ผู้แปลหนังสือ “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ”) เคยเล่าว่าวงการนักเขียนลาวแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ทุกวันนี้มีนักเขียนกลุ่มใหม่ๆ เกิดเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มเดิมหรือเปล่า?
มันเป็นความเห็นของผู้คนที่คิดกัน แต่ในลาวแท้ๆ ก็ยังไม่ได้แบ่งละเอียดว่ามีกี่กลุ่ม
(อาจารย์ปราโมทย์ที่นั่งอยู่ข้างๆ ช่วยเสริมว่า) เท่าที่เคยคุยกับนักเขียนรุ่นใหม่ เช่น แสงพูไช อินทะวีคำ เขาแบ่งกลุ่มนักเขียนลาวออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือ กลุ่มนักเขียนปฏิวัติ 25 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่สอง คือกลุ่มนักเขียนลาวร่วมสมัย 65 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่สามอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เขาเรียกว่า กลุ่มนักเขียนลาวแนวใหม่ ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่าสองกลุ่มแรกนั้นยังมีแนวคิดเหมือนกันอยู่ในการนำเสนอว่า ต้องเสนอทางออกให้ตัวละคร และอุดมการณ์สูงสุดของสังคมนิยมยังต้องมีอยู่ แต่ว่ากลุ่มที่สามซึ่งเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ เขาอธิบายว่า ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสูตรสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องหาทางออกให้กับตัวละคร และไม่จำเป็นจะต้องยกอุดมการณ์ของสังคมนิยมสูงสุดก็ได้
แล้วถ้าให้จำกัดความงานเขียนของ “ฮุ่งอะลุน” เอง มองว่างานเขียนของคุณอยู่ในกลุ่มไหน?
ก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าเราก็ไม่ได้คิดว่าจะเขียนไปในแนวทางไหน คือมีเรื่องใดเกิดขึ้นตามใจก็เขียน แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นแบ่งไปว่าจะไปอยู่ในกลุ่มไหน แม้แต่งานเขียนของคนอื่นก็เหมือนกัน นักเขียนคนนี้เราอาจจะชอบของเขาเรื่องนี้ แต่อาจจะไม่ชอบเรื่องนี้ ดังนั้น บางครั้งมีคำถามว่าชอบหรือว่ามักบทเขียนของผู้ใด ตอบไม่ได้เลย คือชอบกันทุกคนนั่นล่ะ เป็นบางคนบางเรื่อง แต่ที่ชอบหลายๆ เรื่องก็เป็น “อุทิน บุนยาวง”
ทราบมาว่าคุณเคยได้รับรางวัลทางการเขียนจากหนังสือพิมพ์เวียงจันทร์ใหม่ หนังสือพิมพ์ลาวมีพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรมมากน้อยขนาดไหน?
หนังสือพิมพ์ลาวจะมีเวทีสำหรับเรื่องกาพย์กลอน เรื่องสั้น นอกจากข่าวแล้ว ทุกหนังสือพิมพ์จะต้องมีเรื่องวรรณกรรม แต่ถ้าหากเป็นวารสารวรรณศิลป์จะเอาใจใส่เรื่องวรรณกรรมมาก มีกลอน เรื่องสั้น มีนิทาน
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการตรวจสอบ (การประกวดตัดสิน) อยู่ลาวก็ยังไม่ทันมีรางวัลอะไรที่ว่ายืนหยัดคล้ายกับรางวัลซีไรต์ อยู่ลาวจะเป็นลักษณะที่ว่าถ้าหากมีวันสำคัญวันหนึ่ง ถึงจะมีการตรวจสอบประกาศให้นักเขียนส่งบทเข้ามาร่วมตรวจสอบ สมมติเช่นว่า วันครูแห่งชาติ วันกองทัพ หรือว่าวันชาติตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็จะประกาศให้นักเขียนเขียนเข้ามา แล้วมีการตัดสินรางวัล
แต่ที่ตั้งเป็นรางวัลแบบรางวัล “สินไซ” ของวารสารวรรณศิลป์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งข้าพเจ้าได้รางวัลจากบทกลอนเรื่อง “ทุ่งดอกหญ้า” ต่อมาปี 2005 ท่านบุนเสินก็ได้จากเรื่อง “ประเพณีและชีวิต” ที่ได้รางวัลซีไรต์ แต่ก็ยังไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรแน่นอน บางปีก็ให้ส่งประกวดหนังสือเป็นเล่ม บางปีก็ให้ส่งเป็นบทไป กรรมการก็จะพิจารณาจากบทเขียนที่ส่งมา คือปี 2009 เป็นปีครบรอบ 30 ปีวารสารวรรณศิลป์ของกระทรวงวัฒนธรรมลาว ในคณะบรรณาธิการก็ตั้งประเด็นขึ้นว่า อาจจะดูบทเขียนตั้งแต่ฉบับที่หนึ่งมาจนถึงฉบับสุดท้าย หาบทไหนเด่นแล้วให้รางวัล ก็กำลังปรึกษาหาวิธีกันอยู่ อีกวิธีหนึ่งก็กำลังพูดกันอยู่ว่าควรจะเขียนเป็นกฎระเบียบกติกา แล้วก็ให้รางวัลตามกฎระเบียบนั้นไปตลอด
คือตัววารสารวรรณศิลป์ดังกล่าว ไม่ว่าใครก็สามารถส่งผลงานไปลงได้วารสารได้?
ใช่แล้ว คือจะเปิดกว้าง นักเขียนผู้ใดก็มีสิทธิส่งไป นักเขียนที่เขาไปศึกษาอยู่ต่างประเทศ เขาก็ส่งเรื่องกลับมาลงก็มี
แล้วเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องลงตีพิมพ์ มีข้อจำกัดว่าต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่คะ?
ในการเลือกเรื่อง เนื่องด้วยมันเป็นวารสารวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวรรณคดี ก็พยายามเอาเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมศิลปะวรรณคดีเป็นหลัก แต่ก็เปิดกว้างกับเรื่องทั่วๆ ไป แต่ว่าเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันอยู่ในระดับไหน เคยพูดอยู่ในหลายเวทีว่า บางเรื่องอาจจะพูดถึงเนื้อหาในแง่ลบ แต่เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วทำให้เกลียดชังสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วอยากหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเรื่องนั้นใช้ได้ แต่ว่าถ้าเขียนเรื่องไม่ดีแล้วผู้อ่านอยากไปทำตามก็แสดงว่าใช้ไม่ได้
คือการเมือง ถ้าจะเป็นการเมืองก็เป็นการเมืองในยุคสร้างสาธารณรัฐประเทศชาติ ไม่ใช่การต่อสู้แล้ว เป็นยุคที่ว่าจะสร้างสรรค์ประเทศชาติไปในแนวทางไหน ถ้าหากจะเป็นว่าการปกปักรักษาวัฒนธรรม สมมติรักษาซิ่นไหมของลาว รัฐบาลลาวต้องการเหมือนกัน แต่ไม่ใช่การต่อสู้แบบจับปืนใช้ความรุนแรง คือ ทำยังไงให้คนอยากเป็นคนดี รัฐบาลแต่ละชาติก็คงจะต้องการอย่างนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองเสมอไป
ตัวสำนักงานวรรณศิลป์ที่คุณทำงานอยู่ มีหน้าที่บทบาทยังไงบ้างคะ?
สำนักงานนี้ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ให้รับผิดชอบวารสารฉบับหนึ่ง คือวารสารวรรณศิลป์ โดยที่เผยแพร่ด้านวัฒนธรรม มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมด้านวรรณคดีศิลปะ อยู่ในเงื่อนไขที่การส่งเสริมนักประพันธ์หรือการส่งเสริมด้านวรรณคดีก็ส่วน เพราะว่านอกจากพิมพ์วารสารแล้ว ในสำนักงานวรรณศิลป์บางครั้งก็มีการฝึกอบรมการขีดการเขียน
ความที่คุณเป็นข้าราชการของรัฐบาลมีอะไรที่เขียนไม่ได้ หรือมีเรื่องไหนที่นักเขียนลาวเขียนไม่ได้บ้าง?
ก็ไม่มีข้อห้ามอะไร มีแต่ว่าพิจารณาตามบทที่เขียนมา บรรณาธิการจะดูเองอีกทีหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าปัญหานั้นไม่ให้เขียน ปัญหานี้ไม่ให้เขียน ไม่ได้มีข้อระเบียบจำกัด เรานึกอยากเขียนก็เขียนมา แต่ว่าบรรณาธิการจะเป็นคนตัดสินอีกทีหนึ่งว่าลงได้หรือลงไม่ได้
ก่อนหน้านี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ตั้งคำถามถึงเกณฑ์การให้รางวัลซีไรต์ของลาว อยากทราบว่าที่จริงทางลาวมีเกณฑ์การตัดสินรางวัลนี้อย่างไร?
ก็ได้ยินท่านสุชาติพูดว่า บุนทะนอง ชมไชผน กับ ดารา กัลยา (นักเขียนลาวรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียง) ยังไม่ได้ มันมีเกณฑ์การให้รางวัลยังไง คือแต่ละปีลาวจะได้รับการเสนอจากทางไทยว่าให้คัดเลือกนักประพันธ์ซีไรต์ จะกำหนดว่าปีนี้เป็นกาพย์กลอน เรื่องสั้น หรือนวนิยาย หลังจากนั้นลาวจะประกาศว่า แข่งขันรางวัลซีไรต์ให้นักเขียนส่ง “ปึ้ม” ส่งหนังสือของตัวเองเข้าร่วม จะมีกรรมการอยู่สองชุด ชุดที่หนึ่ง ตัดสินเข้ารอบแรก ชุดที่สองจะเอาเรื่องที่เข้ารอบมาตัดสินเอารางวัล และ “ดวงจำปา” หรือว่า ดารา กัลยา กับบุนทะนอง ชมไชผน ที่ท่านสุชาติยกขึ้น ไม่เคยส่งเรื่องเข้าร่วมตรวจสอบรางวัลซีไรต์
ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวลาวอ่านหนังสือกันมากน้อยขนาดไหน และหนังสือที่อ่านเป็นแนวไหน?
ถ้าเทียบแนวการอ่านแล้วก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจเท่าไหร่ สังเกตเห็นว่าเขาจะสนใจอ่านพวกนิยายรัก (เคยเห็นนิยายไทยเล่มละสิบสองบาทวางขายในตลาดฝั่งประเทศลาวด้วย แสดงว่าคนลาวอ่านภาษาไทยออก?-เราถาม) คนลาวอ่านตัวหนังสือไทยได้ เมื่อก่อนตัวเองก็อ่านเรื่องของต่างประเทศของฝรั่งผ่านภาษาไทยเหมือนกัน ก็เคยอ่านพวกนิยายเล่มละสิบบาทเหมือนกัน เดี๋ยวนี้สิบสองบาทแล้วใช่ไหม? (โอทองถามด้วยรอยยิ้ม) ตอนนั้นเล่มละสิบบาท ในยุคหนึ่งก็เคยอ่านเหมือนกัน มันเป็นเรื่องง่ายๆ แต่พอเราได้อ่านเรื่องที่มีสาระขึ้น เราก็รู้สึกเบื่อเพราะกลับไปกลับมาสุดท้ายมันก็จะคล้ายๆ กับเรื่องเก่า เลยก้าวขึ้นมาอ่านเรื่องของประภัสสร, ชาติ กอบจิตติ พวกนี้แทน แต่คนที่ไม่อ่านหนังสือก็คือไม่อ่านเลย จะสังเกตเห็นได้ว่าถ้าไม่อ่านหนังสือ ก็จะชมจากโทรทัศน์มากกว่า โดยเฉพาะโทรทัศน์ไทยนี่จะสามารถรับได้หมดทุกช่องเลย ละครเรื่องไหนออกมาสามารถดูได้หมด
ร้านขายปึ้ม (หนังสือ) ในลาวส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ทั้งหมดเลยหรือเปล่าคะ?
ใช่แล้วอยู่เวียงจันทร์ จะมีร้านขายปึ้มของรัฐหนึ่งร้าน นอกจากนั้นก็มีร้านขายปึ้มของเอกชนเช่น บริษัทดอกเกด แล้วก็บริษัทองค์การต่างๆ อีกสี่ห้าร้านที่เป็นหนังสือภาษาลาว แล้วก็มีร้านที่มีแต่ปึ้มภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งอีกเอาไว้ขายให้นักท่องเที่ยว
แล้วอย่างคุณโอทองเวลาจะพิมพ์หนังสือของตัวเอง มีสำนักพิมพ์ประจำหรือเปล่า หรือต้องไปเสนอสำนักพิมพ์?
คือสำนักงานวารสารวรรณศิลป์มีสิทธิ์พิมพ์เลย ตัวสำนักงานวารสารวรรณศิลป์เป็นโรงพิมพ์ปึ้ม หรือพิมพ์หนังสือออกมาปีหนึ่งก็หลายเล่ม ปี 2004 รู้สึกพิมพ์เกือบ 30 กว่าหัวเรื่อง เวลาเขียนเรื่องออกมาก็เอาให้สำนักฯ นี่ล่ะเป็นคนพิมพ์และจัดจำหน่าย นักเขียนลาวจำนวนหนึ่งสามารถพิมพ์ด้วยตัวเอง คือลงทุนด้วยตนเอง พิมพ์ด้วยตนเอง หากไม่เอาไปขายเองจะต้องมาผ่านสำนักงานที่เกี่ยวกับเรื่องวรรณกรรมต่างๆ เช่น สมาคมนักประพันธ์ลาว หรือวารสารวรรณศิลป์ หรือสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ได้
ปกติค่าเรื่องของนักเขียนลาวจะได้ประมาณเท่าไหร่?
คือแล้วแต่ละแห่ง จะแตกต่างกันไปตามความสามารถของสำนักพิมพ์นั้น ยกตัวอย่างลงพิมพ์อยู่ในวารสารวรรณศิลป์ เรื่องสั้นก็อาจจะได้ประมาณ 50 พันกีบ หรือประมาณ 200 บาท ถ้าเป็นกลอนก็อาจจะน้อยลงเหลือ 30-40 แต่ว่าถ้าพิมพ์เป็นปึ้มมันมีประมาณล้านกีบ ได้เป็นเรื่อง จะไม่ได้ให้ตามเปอร์เซ็นต์เหมือนของหนังสือเมืองไทย คือ ตกลงกันว่าจะพิมพ์ครั้งหนึ่งให้เท่านั้นเท่านี้
เหตุนี้เองหรือเปล่า ที่ทำให้นักเขียนลาวบางส่วนเลือกที่จะพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง?
ที่เขาต้องพิมพ์ด้วยตัวเองก็เพราะว่า สำนักพิมพ์มีน้อย แต่นักเขียนมาก เขาไม่มีโอกาส เขาอยากให้ผลงานเขาออกมา ก็ตัดสินใจเอง คือ ติดหนี้เอง (โอทองตอบเจือหัวเราะ) ต้นทุนการพิมพ์หนังสือในประเทศลาว เล่มหนึ่งถ้าพิมพ์ประมาณร้อยหน้า พิมพ์จำนวนพิมพ์พันหัว ก็จะตกอยู่หัว (เล่ม) ประมาณ 8 พันกีบ แต่ว่าถ้าหากพิมพ์เยอะ ต้นทุนก็จะน้อยลง แต่ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะพิมพ์มาก
มีนักเขียนลาวคนไหนสามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยค่าเรื่องจากการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า?
คงยังไม่มีผู้ใดที่ว่านั่งเขียนเรื่องแล้วเลี้ยงตัวเองได้ คือ นักเขียนส่วนหนึ่งบางคนก็เป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว ทำเป็นงานเสริม บางคนก็เป็นพนักงานรัฐ ซึ่งแตกต่างกับนักเขียนไทย เคยไปเยี่ยมยาม “โบตั๋น” เขาจะวางกระดาษเป็นจุดๆ เลย นั่งเขียนเรื่องนี้ตอนหนึ่ง แล้วก็ย้ายไปเขียนอีกเรื่องตอนหนึ่งๆ แล้วก็ส่งให้หนังสือพิมพ์ นั่งอยู่เรือนเท่านั้น ไม่ได้ไปทำอย่างอื่น แต่อยู่ลาวไม่มีแบบนี้
คุณคิดว่าอนาคตวงการหนังสือลาวจะเป็นอย่างไรบ้าง?
คิดว่าคงไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะสังเกตดูว่า จากเดิมที่นักเขียนเขียนด้วยความสมัครใจ ส่งให้วารสารหนังสือพิมพ์ตลอด พอพิมพ์รวมเล่มแล้วก็ไม่ได้ค่าปากกา ก็ก้าวเข้ามาได้แต่ได้น้อยอยู่ คิดว่าในอนาคตก็คงจะมีการปรับปรุง คงจะมีกฎหมายต่างๆ ทางรัฐบาลก็เห็นถกเถียงกันอยู่ว่า เดี๋ยวนี้ค่าลิขสิทธิ์ในการเขียน ถ้าเทียบกับเวียกงาน (อาชีพ) อื่นมันต่ำมาก ก็อยากจะพัฒนาและส่งเสริมให้มันสมน้ำสมเนื้อ เรื่องต่อมานักขีดนักเขียนที่ทำงานเกี่ยวกับทางด้านนี้ก็พยายามผลักดันอยู่แล้ว คือ มันก็เป็นบางสำนักพิมพ์ เพราะมันยังไม่มีระเบียบตายตัว
ดังนั้น ผู้ที่มีความสามารถก็ให้ คือ ตัวเองเขียนเรื่องคำกลอนสอนใจให้สำนักพิมพ์ดอกเกด ก็ได้อยู่สองร้อยกว่าดอลล่าห์ ประมาณสองล้านกีบ ก็ถือว่าได้เกินความคาดหมาย ถ้าเทียบกับสำนักพิมพ์อื่นที่ได้ประมาณล้านกีบ บางสำนักพิมพ์ก็ได้สี่ห้าแสน แล้วแต่ความพอใจระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้เขียนจะตกลงกัน นักเขียนก็อยากจะให้ผลงานตัวเองออกอยู่แล้ว เจ้าของสำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการก็จะเสนอให้เท่านี้พอใจไหม ถ้าพอใจก็ตกลงกันให้เรียบร้อย ถ้าพิมพ์ซ้ำก็ค่อยมาว่ากันใหม่ ไม่ได้เอาตามยอดขาย ลิขสิทธิ์เป็นของนักเขียน แต่ให้สำนักพิมพ์เช่าไป
ทำไมหนังสือที่ลาวถึงมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนลาวเอง?
สาเหตุหนึ่งก็เพราะขั้นตอนในการผลิตนี่ล่ะ กระดาษที่ใช้พิมพ์ก็ซื้อเข้ามาจากไทยบ้าง เวียดนามบ้าง และอยู่ลาวมีจุดหนึ่งที่ทำให้หนังสือหรือปึ้มแพง ยกตัวอย่างเรื่องซิ่นไหมผืนเก่าๆ พิมพ์ออกไปปุ๊บครั้งที่หนึ่ง พอมาพิมพ์ครั้งที่สองเริ่มใหม่หมดเลย ไม่ได้ใช้อันเก่าเลย เริ่มจากออกแบบต่างๆ ไม่ได้เอาเพลตอันเก่าเลย คือไม่มีการรักษา ต้นทุนดีไม่ดีสูงกว่าเก่าด้วยซ้ำ และมันก็สูงไปๆ ตลอด ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น คือพิมพ์ครั้งที่หนึ่งเท่านี้ พิมพ์ครั้งที่สองมันก็ต้องตัดค่าใช้จ่ายออกไป มันก็จะถูก ถ้าได้พิมพ์หลายครั้งมันก็ต้องได้ผลกำไร แต่ที่ลาวมันไม่ใช่ ถ้าได้พิมพ์หลายครั้งมันก็เท่าเก่า ดังนั้น นักเขียนในลาวจะสังเกตว่าการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งจะหายาก ก็เพราะการตัดสินใจของนักเขียนเอง ของสำนักพิมพ์เองคิดว่า ในเมื่อต้นทุนมันเท่าเดิม เรามีผลงานใหม่เราก็ขอนำเสนอผลงานใหม่ ดีกว่าจะไปเอาผลงานเก่ามาพิมพ์ซ้ำ
สำหรับหนังสือเรื่องซิ่นไหมผืนเก่าๆ เป็นอย่างไรบ้าง?
ถ้าเทียบอยู่ในลาวก็อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าหากไม่ได้รางวัล ก็คงจะไม่มีโอกาสพิมพ์ครั้งที่สอง มันก็ขายหมด แต่คงไม่ได้พิมพ์อีก เพราะผลงานใหม่ที่เป็นบทกวีอื่นๆ ก็มีอยู่อีกมาก คิดว่าอยากให้ผู้อ่านทุกคนได้สัมผัสเนื้อหาในหนังสือซิ่นไหมผืนเก่าๆ เพราะตามความคิดแล้วระหว่างไทยกับลาวมีหลายๆ อย่างเหมือนกัน โดยเฉพาะธรรมเนียมประเพณี และภาษาก็ใกล้เคียงกัน แต่ว่าถึงจะใกล้ก็ตามรู้สึกว่าพอเอาภาษาลาวให้คนไทยอ่าน หลายคนไม่เข้าใจ หลายคนอ่านไม่ได้ ไม่เหมือนคนลาว คนลาวอ่านภาษาไทยได้ดี ดังนั้น เมื่อมีการแปลเป็นภาษาไทยก็เป็นโอกาสหนึ่งที่จะฝากผลงานให้นักอ่านไทยลองได้ข้อคิดดู เพราะว่าการตัดสินรางวัลซีไรต์ก็ตัดสินกันไปประเทศใครประเทศมัน ก็แสดงว่าเป็นผลการตัดสินเฉพาะในประเทศ ซีไรต์ไม่เหมือนซีเกมส์ ซีเกมส์นี่คือแต่ละประเทศแข่งกันเลย มีหนึ่งเดียว แต่ซีไรต์มีประเทศละคนๆ มันก็ยังตัดสินภายในประเทศอยู่ ก็อยากให้นักอ่านจะเป็นนักอ่านลาวหรือนักอ่านไทยก็ตาม ช่วยตัดสินอีกทีหนึ่งว่าสมควรหรือเปล่า
เรื่อง/ภาพ ; รัชตวดี จิตดี