xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบ้าน ดร.สิงห์ Function ดู๋ดี๋ Design

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ว่ากันว่า Details แต่ละส่วนของบ้านสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านได้มากที่สุด อยากรู้ว่าเขา/เธอคนนั้นนิสัยใจคอเป็นอย่างไร 
     นอกเหนือจากจะใช้หัวใจคุยกัน ให้ลองไปเยี่ยมบ้านเขาดูสักครั้งคุณจะเข้าใจกันมากขึ้น เหมือนกับ M-Open สัปดาห์นี้เป็นการเปิดบ้านของ ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์สอน นวัตกรรมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม ม.เกษตรศาสตร์ ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะรู้จักว่าเขาเป็นสถาปนิกปราบโลกร้อนมือดีและชื่อดัง 
     รู้แค่ว่า-เขาเป็นนักธุรกิจ Brand ดัง Osisu เขาเป็นเจ้าของบล็อกตอบปัญหาเรื่อง Design ด้วยสไตล์หนุ่มนักเรียนนอกอารมณ์ดีพูดภาษาอังกฤษเร็วเป็นปืนกล และในฐานะอื่นๆ อีกมากมาย 
 
    รู้แค่ว่า...
         

      แต่ไม่รู้จักตัวตนจริงๆ เมื่อเราขอเข้าไปเยี่ยมชมบ้าน ดร.หนุ่มผู้มีพลังสร้างสรรค์เหลือเฟือ ในวันที่อากาศร้อนแสบใบหน้าเพราะว่าโลกประสบปัญหาภาวเรือนกระจก ในซอยเล็กตรงข้าง ม.เกษตรศาสตร์ เรากำลังเดินอยู่ในบ้านทาวน์เฮาส์ขนาด 3 ชั้น บ้านที่มีแต่มีเฟอร์นิเจอร์เท่ๆ ยืนเตะตาจังก้าท้าทายความคิด (สงสัยว่าโน่น นี่ นั่น ทำมาจากอะไรกันหว่า...???) ของผู้มาเยือน บ้านที่ดร. สิงห์บอกว่ามันสะท้อนอิสระความเป็นตัวตนได้แบบหมดจดจริงๆ
       “บ้านหลังนี้ผมเพิ่งมาอยู่ได้ประมาณ 4 ปี แต่เริ่มปรับปรุงใหม่ไป-มาเรื่อยๆ ครับ”  ดร.สิงห์ เล่าความทรงจำของบ้านหลังนี้ว่า ก่อนหน้าที่ผมจะไปเรียนต่างประเทศ ผมจำได้ว่าบ้านหลังนี้มีคนเช่าอยู่ก่อน พอ 20 ปีให้หลังผมกลับมา บังเอิญคนเช่าย้ายออกไป คุณพ่อ-แม่ท่านก็ให้เราไปอยู่ 
        “บ้านหลังนี้ก็เลยกลายเป็นบ้านของผม ไปโดยปริยาย เป็นบ้านที่ผมได้มาแบบผมไม่ได้มีสิทธิ์เลือกอะไร” 
        ก่อนจะตัดสินใจปลุกให้บ้านหลังนี้มีชีวิต-ชีวาใหม่อีกครั้ง ด้วยการ ซ่อมแซม และตกแต่ง โดยใช้ความสามารถ ความชื่นชอบ และตัวตนเข้าในบ้านหลังเก่า ที่ทรุดโทรมไปจากกาลเวลา แวบแรกหนุ่มขี้สงสัยบอกว่า เขาถามตัวเองอยู่พักใหญ่ว่า
         ทำไมมันใหญ่อย่างนี้วะ 
      “ที่ถามแบบนี้เพราะว่าผมเคยอยู่เมืองอย่าง บอสตันไงครับ Apartment ที่นั่นก็ไม่ได้ใหญ่แต่อยู่ได้ตั้ง 3 คนแบบสบายๆ แต่ที่นี่ที่ดินเยอะและถูกจัง”
เสร็จจากตกตะลึงก็ถึงเวลาลงมือซ่อม ด้วยการเริ่ม ทุบ และทุบ ทุกอย่างที่เป็นกำแพง โดยเริ่มจากชั้นบนลงมาก่อน  

      “จริงๆ ผมเห็นบ้านแล้วก็แอบเซ็งๆ อยู่เหมือนกัน เซ็งเพราะมันเป็นสไตล์ทาวน์เฮาส์อึดอัดไงครับ ก็เลยหาวิธีแก้ไขด้วยการเอาผนังออกให้มันเป็นโล่งๆ ต่อมาก็เริ่มหาวิธีทำอย่างไรให้มันได้แสง ผมก็มาคิดว่าถ้าดีไซน์โดยการเปิดผนังบ้านออกมาก็จะทำให้บ้านหลังนี้มีลมพัดผ่านถ่ายเทง่าย ก็เลยทำให้มันเป็นบานเกล็ดให้เป็นประตูใหญ่ๆ ทั้งหมด เพราะตั้งใจจะออกแบบอาคารประหยัดพลังงานด้วย” 
      บนชั้น 3 พื้นที่ ที่ ดร.สิงห์บอกว่า ที่ห่วงห้ามผมตั้งใจจะให้บนนั้นเป็นห้องส่วนตัว โดยมีห้องนอน-ห้องครัว-ห้องอาหาร-ห้องน้ำ อยู่ในจุดเดียวกันหมด เหมือนแบบที่ผมอยู่บอสตัน 
      “แต่สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดคือห้องนอนที่ต้องง่ายๆ และไม่รกที่สุด เพราะรกจะฝุ่นมาก เมื่ออยากให้เป็นแบบนั้นแล้ว ผมก็ต้องดีไซน์ให้มันมีมุมเก็บทุกๆ อย่าง” 
       บ้านหลังนี้ ดร.สิงห์ เน้นฟังชั่นเดินคู่ไปกับการใช้งานได้เท่ๆ มากกว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง
       “อีกอย่างบ้านหลังนี้ผมตั้งใจว่า จะไม่มีห้องเก็บของ ดังนั้นทุกๆ อย่างต้องมีที่เก็บของหมด ด้านล่างก็มี บ้านหลังนี้ที่ซ่อนของจะเยอะที่สุด (หัวเราะ) หรืออย่างครัวที่อยู่ถัดไปจากห้องนอน ผมก็เอาเศษไม้ที่ได้มาทำโต๊ะ ถึงแม้เศษสีสันจะไม่เหมือนกับ พื้นล่างก็ไม่เป็นอะไร
อาจจะดูไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ ตู้นี้ก็ไม้อีกอย่างหนึ่ง พื้นไม่เหมือนมาก ก็ไม่เป็นไรผมชอบดีไซน์อะไรยากๆ แต่ให้ดูออกมาง่าย-เก๋-สนุกๆ แต่ทำได้ไม่ง่าย เหมือนนิสัยของผมคิดอะไรซับซ้อนมากๆ แก้ไขให้มันออกมาง่ายที่สุด”
       หลังจากทำชั้น 2–3 เสร็จก็มาถึงคิวชั้น 1 ซึ่ง ดร.สิงห์เล่าว่า อยากให้เป็นอารมณ์เหมือนกับห้องที่ให้คนอื่นมาสังสรรค์ก็เลยเอาที่จอดรถออก และก็มาถึงเรื่องการเลือกเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านบอกว่าเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากๆ 

       “ปกติแรกๆ ที่นี่ก็เฟอร์นิเจอร์บ้านหลังนี้ก็เป็นไม้ เป็นหวาย ซึ่งพอผมกลับมาแรกๆ ผมก็ไม่เคยทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อนไง แต่ชอบอารมณ์อยากได้ที่นั่งสบายๆ ก็เลยใช้วิชาที่เรียนมาลองนำเศษวัสดุ เศษขยะต่างๆ ลองมาประยุกต์ทำดู ผลก็ออกมาน่าพอใจระดับหนึ่ง หลังก็เริ่มทดลองหนักขึ้น ด้วยการเก็บเศษไม้ เศษเหล็ก-พลาสติก โน่น-นี่ใหญ่ไปเรื่อยๆ จนเป็นอุปกรณ์ เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเศษขยะทั้งบ้าน” 
         และ ไอเดีย “การหยิบขยะเอามาเป็นเงิน” ก็เริ่มต้นที่บ้านหลังนี้*** 
        

           “เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเศษขยะทุกๆ ชิ้น ผมทดลองเริ่มที่นี่เป็นครั้งแรก คือลองมาใช้เอง ทดลองมาวัดว่าองศาให้เข้าใจสเกลว่าเอ๊ะ…มุมแบบนี้มันนั่งสบายไหมเนี่ย คือถ้าไม่สบายจะได้ปรับมุมก่อนที่จะไปทำขายจริง ซึ่งมุมพวกนี้ก็จะเป็นมุมที่ผมศึกษา อย่างเก้าอี้ตัวในห้องรับแขกรูปหมาที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ มันจะแบนๆ แต่ผมลองทำมุมเอาไว้ตรงกลางเพื่อนั่งแล้วรับก้นได้ดีขึ้น หรืออย่างเก้าอี้ที่มีที่ผิงเราก็คำนวณองศามาแล้วว่านั่งสบาย บ้านหลังนี้เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ทั้งหลัง”
           นอกจากเฟอร์นิเจอร์หลักๆ แล้ว ดร.สิงห์ ถามเราว่าสังเกตหรือเปล่าว่าที่นี่ ไม่มีทีวี....?
          “คือทีวีผมไปดูบ้านอื่นได้ เพราะบ้านพ่อแม่พี่น้องก็มีทีวีบ้านละ 2 -3 เครื่อง ผมก็ใช้วิธีเดินดูว่าหลังไหนดูเรื่องอะไร สนใจก็เข้าไปดู แต่จริงๆ แล้วการทำแบบนี้มันทำให้เราเกิดปฏิสัมพันธ์ได้ระหว่างครอบครัว ๆ พี่น้อง ลูกหลานพ่อแม่ด้วยได้”นี่คือวิธีคิดง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม 
        ทำไมบ้านนี้เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เน้นไม้ เราสงสัย...?
“เพราะว่าตามแหล่งก่อสร้างในเมืองไทยทิ้งเศษไม้ไว้เยอะมากๆ ทำอย่างไรได้ล่ะ มันมีเศษ มีขยะอยู่แล้ว ก็เลยเอามาทำ” เขาให้เหตุผล 
        แต่ก็มีบ้างที่บ้านหลังนี้มีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจาก เศษกระจก-เหล็ก-กระดาษ หรือกระทั่งอย่างไฟท้ายรถทัวร์ที่คนทิ้งเอาไว้ ดร.สิงห์ก็เอามาประยุกต์ทำไฟฉุกเฉินติดกับกล่องเก็บแผงวงจรไฟฟ้าที่บ้าน หรืออย่างไม้กระบอกอันนี้ก็เหลือมาที่ก่อสร้าง เขาก็เอามาร้อยต่อกัน หรือเอาเศษกระเบื้องเหลือๆ เอามาแปะๆ ในห้องครัวก็ได้อารมณ์ Art ไปอีกแบบ ไม่เว้นแม้แต่ไม้มะพร้าว ที่เขาเอามาทำเป็นตู้เก็บของ
          เชื่อหรือเปล่าว่า บ้านขนาดพื้นที่ใช้สอย 200 กว่าตร.ม. ใช้เงินบิลต์อิน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ และตกแต่งภายในเสียไปไม่กี่แสนบาท 
         “สิ่งที่ผมว่าเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของบ้านหลังนี้ ผมตั้งใจจะให้มันออกมาเล่นกับแสงได้ไง ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟจากธรรมชาติ แสงจากหลอดไฟฟ้า โดยการตกแต่งผมจะคุมโทนแบบนี้ทั้งหลัง” 
           

           คิดว่าห้องไหนสะท้อนความเป็นตัวตนคุณมากที่สุด..? 
         “ทั้งหมดครับ (หัวเราะ) ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเสาร์-อาทิตย์มีเวลาน้อยๆ ผมก็จะนั่งอยู่ที่ด้านบน ตรงระเบียง เพราะว่ามันจะมีเด็กๆ มาเล่นที่บ้านก็จะสะดวกมากๆ มุมนี้ก็มุมโปรด แต่ถ้ากลับมาบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ชั้น 2 พอนอนก็ขึ้นมาชั้น 3 ส่วนบริเวณที่ผมจะใช้มากๆ ก็จะเป็นบริเวณริมหน้าต่างด้านหลังชั้น 3 จะเห็นได้ว่าผมจะพยายามปลูกต้นไม้เอาไว้เยอะๆ ชั้น 2 ชั้น 3 จะเห็นว่ามีต้นไม้เลื่อยมาด้านบนนี่เลย”
         ฉะนั้นถ้าจะให้เลือก ผมจะชอบผนังชั้น 3 มากๆ เพราะกำลังปลูกต้นไม้เอาไว้ให้มากๆ
         “ผมตั้งใจจะให้เป็นกรีนวอล มีพื้นที่สีเขียว แต่จะให้ระบุบว่าอยากแต่งบ้านแบบผมจะเรียกสไตล์ไหน แต่ต้องไม่มีพนัง คือเป็นต้นไม้โล่งๆ อาจจะเป็นลูกผสมๆ อย่างเก้าอี้ที่ทำจากเศษไฟเบอร์นยุค 60 s ก็เข้าได้กับโต๊ะที่ทำจากเศษไม้ ผมชอบความแตกต่างแต่ลงตัว แม้มันจะได้ไม่ถึง 100 % อย่างที่ตั้งใจ แต่ผมก็รักมันมากที่สุด เพราะดีไซน์มันมากับมือ” 
       ถ้าจะต้องให้นิยามบ้านนี้คืออะไร ?
      “เออ...ยังไม่เคยได้สักที ผมว่าบ้านเป็นของเรา ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร เพราะว่ามันของของผม เราจะทำอย่างไรก็ได้ จะมีกี่ที่ ที่เราทำอะไรก็ได้ และที่นี่ผมทำได้ทุกๆ อย่างในบ้านของผม”
        และนี่คือบ้านเท่ๆ ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของดร.สิงห์ อินทรชูโต อีกมุมหนึ่งของนักธุรกิจ สถาปนิก-ดีไซน์เนอร์พิชิตโลกร้อนที่บ้านเราน่าจะมีมากกว่า 1 คน




กำลังโหลดความคิดเห็น