xs
xsm
sm
md
lg

มากกว่าความงาม คือ “สำนึก” ทริปสร้างศิลป์ที่ปางอุ๋ง ของเด็กจิตรกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ปางอุ๋งยามพลบค่ำต้อนรับคณะเราที่ 8 องศา หลังจากที่นอนรถไฟอาศัยรถตู้ เดินทางจากเมืองหลวง สู่เชียงใหม่ แดนล้านนา และฝ่าฝัน 1865 โค้ง จากเชียงใหม่สู่ อ.ปาย และอีกหลายร้อยโค้งจนเราขี้เกียจนับ ไปสิ้นสุดที่ ตำบลหมอกแม่จำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

หลายชั่วโมงของการเดินทาง คำว่า “สำนึก” ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับภารกิจที่เรามาทำ ได้หลุดลอยไปจากห้วงความคิดชั่วคราว เพื่อให้ลืมโค้งแต่ละโค้งที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะไม่เสถียร เราทำได้ก็เพียงแต่หลับตา กุมถุงเตรียมอ๊วก และฮำเพลงเก่าๆ ของ ไมเคิล หว่อง ปลอบใจตัวเองแทนคำว่า “ฉันมาไกล มาไกลเหลือเกิน ไม่คิดจะเดิน เดินกลับหลังไป”

ก่อนที่อีกเช้าเราหลายคนจะมุดออกจากเต้นท์มาเจอ Love at first sight (รักแรกเห็น)ของตัวเอง นั่นก็คือหมอกงามๆที่ลอยเรี่ยผิวน้ำอยู่อย่างหนาแน่นและบรรยากาศของป่าสนสองใบและสามใบซึ่งได้ปล่อยน้ำค้างที่โอบอุ้มมาตลอดทั้งคืน ตรงดิ่งสู่หัวเรา เพื่อให้เรารู้ซึ้งถึงความหนาวมากขึ้นไปอีก

มากกว่าความงามคือ “สำนึก”

ในคืนที่มาถึง ผศ.นาวิน เบียดกลาง หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นเจ้าของโครงการ “จิตรกรรมสำนึกวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม” ได้ย้ำเตือนบอกนักศึกษาของเขา ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญาตรี ชั้นปีที่ 3,4 และปริญญาโท วิชาเอกจิตรกรรม ถึงเป้าหมายของการดั้นด้นมาสู่ดอยสูง และสำนึกที่ทุกคนพึงต้องสังวร ตลอดระยะเกือบสัปดาห์ที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่เพื่อสร้างงานศิลปะ และเรียนรู้วิถีชีวิตที่มีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน แม้รู้ดีว่าลูกศิษย์แต่ละคนต่างก็ยังอยู่ในวัยคะนอง เมื่อได้มาเที่ยว มาเจอเพื่อนก็ย่อมมีแตกแถวไปบ้าง

“สำนึกมันจะต้องเกิดขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตของเรา และการใช้ชีวิตของเรา อยากให้เขาได้รู้ว่าเฟรมที่เขาใช้วาดรูป ข้าวที่เขากิน มันเป็นเงินของใครและเขาเดินทางมาโดยเงินของใคร เพื่อให้เขาเกิดสำนึกหรือเกิดการตระหนักว่า สิ่งที่เขาทำ มันจะต้องตั้งใจ และมีสติมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่ว่ามาทำอะไรโดยไม่ตั้งใจ หรือมากินเหล้าเฮฮา แล้วทำในสิ่งที่เกินเลยไป ซึ่งมันก็เท่ากับมาเผาเงินภาษีของราษฎร์

อีกส่วนหนึ่งที่ผมปลูกฝังพวกเขาก็คือ เขาจะต้องมีสำนึกกับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่ง ใบไม้ ดอกไม้ นกเล็กๆและสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อยู่แถวนี้ อยากให้สำนึกอของพวกเขาได้เกิดขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆตัว ไม่ใช่ว่ามาชื่นชมความงาม แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะแค่นั้น มันตื้นเกินไป”

ดังนั้นนอกจากทริปนี้ทุกคนจะได้หอบหิ้วเอาอุปกรณ์ศิลปะ ไปนั่งเขียนภาพในมุมที่ชอบ วันแรกที่เดินทางถึงเชียงใหม่ รถตู้ยังได้เลี้ยวเข้าซอยวัดอุโมงค์ หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปเยือนบ้านศิลปิน เทพศิริ สุขโสภา ศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ ,แวะศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย เพื่อทำความรู้จักกับภาพรวมของโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จ.แม่ฮ่องสอน จาก พันตรีชัยวัฒน์ ศิริวรรณ หัวหน้าศูนย์ฯ แล้วมุ่งสู่ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือ ปางอุ๋ง อันเป็นฐานประจำการของคณะ

ตกดึกบางคืนได้ล้อมวงฟังบรรยายเรื่อง “นกถิ่นเหนือของประเทศไทย” จาก สันทนา ปลื้มชูศักดิ์ อดีตนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติ ผู้เป็นศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯและเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของ ม.ศิลปากร ชมการแสดงของชนเผ่า และเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ และฟังบรรยายจาก วุฒิฉัตร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน

ก่อนที่ไฟฟ้าจะปิดลงในตอนสี่ทุ่มของค่ำคืนหนึ่ง ผศ.นาวินบอกเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ได้เลือกปางอุ๋งเป็นเป้าหมายของการเดินทางมาว่า นอกจากเพราะกระแสโลกร้อนที่ทำให้คิดเขียนโครงการขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว ส่วนสำคัญคือตนอยากให้นักศึกษาได้มาเห็นถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพึ่งพาอาศัย

ตลอดจนโครงการพระราชดำริ ที่สามารถเปลี่ยนสภาพพื้นที่ซึ่งเคยแห้ง และเคยเป็นภูเขาหัวโล้น ให้กลับคืนสู่สภาพที่อุดมสมบูรณ์ได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้เก็บเกี่ยวเอาหลากหลายแง่มุมของเรื่องราวที่ผ่านไปพบ ไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะให้คนเมืองได้ชื่นชมและร่วมกันตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน

ซึ่งการแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะถูกนำไปจัดแสดง ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในช่วงเดือนสิงหาคม ร่วมกับผลงานของศิลปินรับเชิญ ศิลปินอิสระ และอาจารย์ผู้สอนศิลปะจากหลายสถาบัน ที่ได้เดินทางไปร่วมทำกิจกรรมด้วย ได้แก่ ท่านผู้หญิง พญ.เพ็ญศรี ภู่ตระกูล,รศ.ฉันทิมา อ่องสุรักษ์,ผศ.นาวิน เบียดกลาง,สมวงษ์ ทัพพรัตน์,สันทนา ปลื้มชูศักดิ์,วิชัย จิตมาลีรัตน์,รศ.ทินกร กาษรสุวรรณ,ผศ.วุฒิกร คงคา,ทวีศักดิ์ ศรีทองดี,ธนฤษภ์ ทิพย์วารี,นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์,ศักชัย อุทธิโท,ประสิทธิ์ วิชายะ,อนันต์ ปรัชญานันท์,ศักดิ์ชาย บุญอินทร์,รังสิต มามาตร์,ธง อุดมผล,ผศ.ธีรวัฒน์ งามเชื้อชิด,อุณรุท กสิกรรม,พจนีย์ ตีระวนิช,วัชราพร อยู่ดี,มณทิชา ขันธชะวะนะ,สาทร รุ่งทวีชัย,วรรลภ มีมาก,คงศักดิ์ กุลกลางดอน และคนางค์ เมณฑกา เพื่อเป็นการร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้พระราชทานให้เกิดโครงการพระราชดำริ หลายโครงการในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน

ศิลปะนอกห้อง

“ไม่มีสถาบันใดที่สอนให้นักศึกษาศิลปะเขียนภาพแลนสเครปจากภาพถ่าย” ผศ.นาวินเอ่ยบอกถึงความสำคัญ ในการนำนักศึกษาออกมาสัมผัสกับสถานที่จริง

“ประสบการณ์ตรงมันสำคัญมากๆ เพราะเขาไม่สามารถที่จะนั่งฟังเลคเชอร์ หรือฝึกวาดรูปในห้องอย่างเดียวได้ ยกตัวอย่างเช่น การมารับรู้ถึงอากาศหนาว การมาเห็นต้นไม้ที่มันผิดแผกแตกต่างไปจากที่เขาคุ้นเคย มันทำให้เกิดการตื่นตัวทางความรู้สึกของเขาเอง และเขาก็จะสนใจที่จะศึกษามัน เรียนรู้มัน สงสัยมัน และถ่ายทอดเป็นงานศิลปะออกมา”

แม้จะยอมรับว่าการมาทริปครั้งนี้ ธรรมชาติจะดึงใจให้ไปเดินเที่ยวดูอะไรต่ออะไรมากกว่านั่งเขียนรูป แต่ วรวัช จันทร์ณรงค์ ชายหนุ่มผมยาวซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 บอกว่าได้รับความรู้ใหม่ๆไปใช้กับงานศิลปะที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เพื่อที่จะไม่ต้องเขียนภาพขึ้นมาอย่างลอยๆ โดยที่ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงของสิ่งนั้น

“งานที่ผมทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับแมลง กล้วยไม้ และสัตว์กินพืช ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นงานในแนวเรียลลิสต์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้คุ้มครองป่า ผมพยายามจะถ่ายทอดว่าธรรมชาติในแต่และสถานที่มีภูต ซึ่งอาจไม่ใช่ผี แต่เป็นวงจรชีวิตของพืชและสัตว์ ที่มันเกื้อกูลกัน คอยเป็นผู้คุ้มครองรักษา ซึ่งจากการที่ได้มีวิทยากร มาให้ความรู้เรื่องนก และกล้วยไม้ ผมก็ได้รู้ขึ้นมาอีกนิดนึงว่า ตัวดัชนีชี้ความสมบูรณ์ของป่า อาจจะเป็นพวกนกและพวกกล้วยไม้ด้วยก็ได้

ขณะที่ ภาณุวัฒน์ มกรวัฒนะ บอกว่า การได้มาดูมาเห็นของจริง รับรู้ถึงอารมณ์ และสัมผัสกับกลิ่นและแสงของธรรมชาติในช่วงเวลานั้นจริงๆ ทำให้ภาพที่เขียนถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่า และความเครียดที่มีผลต่อการสร้างงานก็พลอยลดลงไปด้วย

“อยู่ในเมืองมันแออัด มันวุ่นวาย เวลาเจอมลพิษ มันทำให้เราเครียด พออารมณ์มันไม่ดี อะไรต่ออะไรมันก็พลอยไม่ดีไปด้วย แต่มาอยู่กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เขียนรูปไป ใจมันก็สบายไปด้วย”

ก่อนที่รุ่งเช้าทุกคนจะโบกมือลาธรรมชาติอันงดงาม อันแสนโรแมนติกของปางอุ๋ง และมอบภาพเขียนชื่อ หน้าเต้นท์,ป่าปางอุ๋ง และสะพานเขียดแลว ของ วรวุฒิ โตอุรวงศ์(ป.โท),ภาณุวัฒน์ มกรวัฒนะ (ปี 4)และวัฒชัย ทองพูล(ปี 3) เป็นที่ระลึกให้แก่สถานที่ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีนักศึกษาศิลปะกลุ่มใหญ่หน้าตาและบุคลลิก แปลกประหลาดแตกต่างกันไป เคยมาตักตวงเอาแรงบันดาลใจจากที่นี่กลับไป พร้อมกับได้มีส่วนแต้มรอยยิ้มให้กับ เด็กๆ แห่งโรงเรียนร่มเกล้าปางตอง ในโครงการพระราชดำริ ผ่านกิจกรรมเสริมเล็กๆที่พวกเขาคิดทำขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพพอร์ตเทรต และสอนวิธีการทำสมุดพอเพียง หลีกเลี่ยงโลกร้อน ให้กับเด็กๆ 7 ชนเผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ กระเหรี่ยง,ลีซอ,มูเซอ,จีนยูนาน,ปะโอ และม้ง ซึ่งมาใช้ชีวิตและเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนเดียวกัน อีกทั้งขาดโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือต่อ เพราะยากจนและยังไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน

ซึ่งอาจารย์ใหญ่ ธนา อ่อนเกิด บอกว่าหน้าที่ๆดีสุดของครูในเวลานี้คือ สอนให้พวกเขามีความรู้อ่านออกเขียนได้ และอบรมมารยาทที่ดีให้ เพื่ออย่างน้อยๆจะได้จบออกไปทำงานเป็นลูกจ้างชั้นคุณภาพที่ไม่มีใครดูถูก

เปิดใจนึกถึงผู้อื่น

คืนสุดท้ายสำนึกเล็กที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ก็ได้ถูกปลุกให้ขยายใหญ่ ผ่านความปราถนาดีๆจากผู้อาวุโสและศิลปินรุ่นใหญ่ เริ่มต้นที่ ท่านผู้หญิง พญ.เพ็ญศรี ภู่ตระกูล

“มีความสุขแทนเด็กๆ ที่พวกเราได้มาทำให้พวกเขามีความสุข และตื่นตัวที่จะรักในศิลปะ และอีกอันนึงก็คือการที่เราได้มีโอกาสรู้ให้ลึกถึงโครงการพระราชดำริ ที่ทำให้เราสังวรถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต่อไปเราอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปบ้าง และเปลี่ยนไปในทางที่ดีๆ กิจกรรรมที่เราทำในวันนี้ ก็คงจะเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนสังคม ซึ่งนับว่ามีประโยชน์มากๆเลย หวังว่ารุ่นน้องต่อๆไป คงจะดำเนินรอยตามพวกพี่ๆนะคะ”

สมวงษ์ ทัพพรัตน์ นอกจากจะบอกเล่าถึงชีวิตอันสมถะของตัวเอง นับตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา ที่เรียน 5 ปี กินเหล้าสองหน มีเสื้อผ้าใส่เพียงชุด และเมื่อจบออกไปก็ได้มีโอกาสช่วยเหลือสังคม ยังได้ข้อคิดกับนักศึกษารุ่นหลังด้วยว่า

"คณะจิตรกรรมฯ เรามักจะโอ้อวดตัวเองไปหน่อยว่า พวกเราเนี่ยเป็นพวกไม่หลงวัตถุ พวกเราเป็นพวกที่จิตใจมีสปริริตสูง เราเป็นคนดี ศิลปะทำให้เกิดความงาม และความงามกับความดีเป็นอันเดียวกัน เราหยิ่งทะนงตัวมาก เราก็เลยคิดว่า ขอแค่เราทำอะไรที่มันเป็นเรื่องที่ดีๆ ไม่รบกวนใครก็พอแล้ว แต่ความจริงก็รบกวนโดยที่ไม่ตั้งใจ แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะให้ใครบ้าง เราจะบริจาคใคร จะเอื้อเฝื้อต่อใคร เราไม่คิดเลย

ตอนที่เรายังเด็กถ้าเรายังไม่คิดถึงคนอื่นเลย นับประสาอะไรเมื่อเรียนจบออกไปแล้วเราจะคิดถึง ไม่มีทาง เป็นไปได้ยาก มันจะยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้น มากขึ้น พอไปทำงานเกิดการแข่งขัน ที่จะเอาเงิน เอาค่าจ้าง จะเอาประโยชน์ จะประกวดจะแข่งกัน แล้วต้องเกิดการต่อสู้ ต้องมีครอบครัว ต้องหาเลี้ยงครอบครัว มันก็จะยิ่งไปกันใหญ่เลย”

ส่วนผู้ผ่านการทำกิจกรรมกับค่ายต่างๆมาแล้วมากมายอย่าง สันทนา ปลื้มชูศักดิ์ แนะว่าต่อไปนี้น่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่นักศึกษาคณะจิตรกรรมฯทุกรุ่น ก่อนที่จะจบออกไป ควรจะมีการจัดค่ายออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง โดยที่ไม่ต้องรอโครงการของคณะ

“ผมอยากจะเห็นนักศึกษาของคณะจิตกรรรมฯจัดค่ายบ้าง สิ่งที่ผมได้สัมผัสมาเมื่อสมัยก่อน ตอนเรียนที่คณะจิตกรรมฯ คือเห็นธรรมศาสตร์ เห็นจุฬาฯ จัดค่ายออกไปทำนู่นทำนี่เพื่อประชาชน แต่ของศิลปากรไม่เคยทำเลย เราไม่เคย เราเป็นศิลปิน เขียนรูปอย่างเดียว แต่เราไม่เคยรู้ว่าประชาชนเขายากไร้กันยังไง เขาอยู่กันยังไง

ตั้งแต่รุ่นพี่ผม มาถึงรุ่นผมและรุ่นต่อจากผม เราไม่เคยทำ จนกระทั่งผมได้ไปดูนก มีการจัดค่าย ออกไปอบรมเด็กและเยาวชน ผมก็มากลับนึกถึงว่า คณะเราน่าจะทำอะไรกันบ้างนะที่เกี่ยวกับสังคม มันไม่ยาก เราแค่หาสปอนเซอร์ หาทุน เรามีฝีมืออยู่แล้ว การสอนเขียนรูปเนี่ย และมันก็จะมีประโยชน์แก่ครูบาอาจารย์ของแต่ละโรงเรียนที่ไกลปืนเที่ยงด้วย คุณเห็นไหมเดี๋ยวนี้ ที่ท่าช้างมีเด็กๆมายืนถือกล่อง ไปค่ายที่นู่นที่นี่ แต่คณะจิตกรรมฯไม่เคย”

สุภาพสตรี สุภาพบุรุษศิลปิน

“ท่านสุภาพสตรี ท่านสุภาพบุรุษ” ประโยคแรกที่เปล่งออกมาจากปาก รศ.ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ ผู้เกษียณอายุราชการจากการเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วหันมาทำงานศิลปะเต็มเวลา ทำเอาทุกคนหัวเราะครืน ปนประหลาดใจเล็กน้อย เพราะไม่คิดว่าจะได้รับเกียรติถูกเรียกขานเช่นนี้ แต่สุดท้ายผู้กล่าวก็ได้ไขให้หายข้องใจว่า การจะเป็นสุภาพสตรีหรือสุภาพบุรุษที่แท้จริงได้ ต้องงามมาจากข้างใน เช่นเดียวกันกับคนทำงานศิลปะ ผลงานเราจะงามอย่างแท้จริงไม่ได้ หากว่าจิตใจไม่งาม

“สิ่งที่คุณจะนำเสนอให้คนอื่นเขารับทราบได้ ซึ่งคือความงามเนี่ย มันต้องเป็นความงามจากข้างในของคุณ ไม่ใช่คุณไปเห็นความงามในผลงานขของแวนโก๊ะ ของสิ่งโน้น สิ่งนี้ แม้กระทั่งสภาพแวดล้อมแบบนี้ที่คุณได้มาสัมผัส คุณถึงจะเป็นศิลปินได้

หรือเมื่อไหร่ที่คุณมองคนอื่นว่าไม่เท่ากันกับคุณ เมื่อนั้นคุณตายแล้ว คุณไม่มีวัตถุดิบที่จะนำมาสร้างงานแล้ว เพราะความงามที่เกิดขึ้นในฐานะคุณเป็นศิลปิน คุณไม่มี คุณจะเอาจากไหนมาเขียน ในเมื่อจิตใจคุณที่อยู่ข้างใน มันไม่งาม

หนึ่งอยากให้คุณมองคนอื่นว่าเป็นคนเหมือนกับเรา สองรู้จักให้คนอื่นเขามั่งอย่างที่แต่ละท่านพูดมาแล้ว ถ้าคุณได้ทำอย่างนี้ได้ คุณก็จะเรียกตัวเองได้ว่า เป็นสุภาพสตรี สภาพบุรุษได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ถ้าคนอื่นเขาไม่เรียกคุณอย่างนั้น ก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะคุณรู้ว่า คุณเป็นอยู่แล้ว”

สิ้นเสียงศิลปิน รังสิต มามาตร์ ที่กล่าวความปลื้มใจต่อกิจกรรมครั้งนี้ ตบท้ายด้วย ผศ.นาวิน หัวหน้าโครงการ ที่ไม่เพียงทำให้ลูกศิษย์สะกดคำว่า “สำนึก” ไม่มีผิด แต่ยังทำให้คำๆนี้ กลายเป็นสมบัติติดตัวแต่ละคนกลับบ้านไปด้วย

“ภาควิชาจิตรกรรมถือเป็นสัดส่วนที่เยอะของคณะฯ เรามีกำลังพอที่จะสร้างค่านิยมที่ดีให้เกิดขึ้นได้ เราต้องไม่เป็นศิลปินลอยฟ้า เราต้องคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง เราต้องทำงานกับคนอื่นได้ อย่างคนที่เข้าใจสังคม และเข้าใจวิกฤติการณ์ หวังว่าคำว่า สำนึก มันจะก้องอยู่ในหัวของพวกเราไปตลอด”

รื่องโดย ฮักก้า
















กำลังโหลดความคิดเห็น