xs
xsm
sm
md
lg

ยุคทองของลำพู "ลำพู กันเสนาะ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


2-3 ปีมานี้ ความจริงบางด้านของโลกอาจกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคเสื่อมของอะไรบางอย่าง แต่โลกใบเล็กของศิลปินหญิงรุ่นใหม่ กำลังเดินทางเข้าสู่..ยุคทองของลำพู

เพราะผลงานของ ลำพู กันเสนาะ เป็นหนึ่งในบรรดาผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ ที่แวะเวียนมาเสิร์ฟสายตาคนดูอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลงานของเธอเริ่มเป็นที่จดจำได้ และสามารถซื้อใจคนดูได้ด้วยความรู้สึกแบบว่า “ขบขัน จริงใจ และมีอะไรซ่อนอยู่” ผ่านภาพพอร์เทรตของคนในภาพที่ถูกยืดและหดให้มีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

หลายชิ้นงานถูกการันตีด้วยรางวัลยอดเยี่ยมหลายรางวัล อาทิ ภาพชื่อ “นางสาวภาพยนตร์” รางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะสองมิติ จากการประกวด Young Thai Artist Award ครั้งที่ 3 โดยมูลนิธิซิเมนต์ไทย, ภาพชื่อ “สาวซำน้อย” รางวัลยอดเยี่ยม เกียรตินิยมเหรียญทอง ศิลป์ พีระศรี จากการประกวดศิลปกรรมรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24, ภาพชื่อ “บีบให้ยาย” รางวัลยอดเยี่ยมศิลปกรรม “ศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ครั้งที่ 20 โดย กลุ่มบริษัทโตชิบา ประเทศไทย และอีกหลายรางวัลยาวเหยียด ซึ่งทำให้เราสามารถบอกต่อแก่ใครต่อใครได้อย่างไม่เคอะเขินว่า “โปรดจับตามอง”

“ไม่เคยคิดว่างานศิลปะของเรามันจะมีราคา หรือมันจะขายได้ ตอนเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ก็ทำใจแล้วว่า เราก็คงทำงานศิลปะต่อไป ถึงแม้ว่างานของเราจะขายไม่ได้ เพราะเราอยากจะทำมันต่อไป พอมันมาถึงจุดที่งานศิลปะของเรามันพอจะมีค่างวด มีราคา มันเป็นกำลังใจให้เราส่วนหนึ่ง ทำให้เราอยากจะทำงานต่อไปเรื่อยๆ

และถ้าเราสามารถเป็นศิลปินได้ โดยที่ไม่ต้องทำอาชีพอื่นเสริม เราก็พอใจอยากจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า เพราะถ้าเราไปเป็นอาจารย์ เราก็ไม่มั่นใจว่าจะมีเวลาพอที่จะมาทำงานศิลปะหรือเปล่า”

ขณะนี้ศิลปินสาววัย 25 ปี กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท ที่ภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอก็ไม่ต่างจากเพื่อนอีกหลายๆคนที่เลือกเรียนต่อ เพราะต้องการลดความเสี่ยงให้กับอนาคต ที่อาจไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานศิลปะอย่างเดียว

“คุณพ่ออยากให้เป็นอาจารย์ เพราะเขาบอกว่ามันเป็นอาชีพที่ได้บุญ เขาอยากให้เราสอนคนอื่น ให้ความรู้กับคนอื่น ซึ่งในอนาคตอาจจะทำก็ได้ แต่ก็ยังไม่เคยทำ ก็เลยไม่รู้ว่าเราจะรักมันหรือเปล่า”

ลำพูเล่าถึงคุณพ่อของเธอ ผู้มีอาชีพเป็นครูและถือเป็นเสมือนเข็มทิศที่สำคัญในชีวิตของเธอ

“พ่ออยากเรียนศิลปะมาก แต่ว่าย่าเขาจน พ่อเขาก็เลยต้องเลือกเรียนอะไรก็ได้ที่มันใช้เงินน้อยที่สุด”

จากความจำเป็นในชีวิตของพ่อที่ถูกปิดโอกาสให้ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ลำพูและพี่ชายของเธอจึงถูกเลี้ยงให้อยู่ท่ามกลางกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเธอเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพ่อต้องการทดแทนในสิ่งที่ตัวเองขาดหาย

“ที่บ้านสวนไม่ค่อยมีของเล่นไฮเทคอะไร นอกจากวาดรูป ปั้นดินเหนียว มันก็เลยกลายเป็นกิจกรรมที่ทำกันมาเรื่อยๆ บางทีก็นั่งเขียนการ์ตูนกันที่ข้างบ้าน บางทีก็นั่งเขียนตุ๊กตากระดาษ ตัดชุดเล่นกัน มีกิจกรรมศิลปะให้ทำเยอะมาก เพราะไม่มีของเล่นอื่น

พ่อเขาก็ไม่ได้บังคับอะไร อยากเรียนอะไรก็เรียน ไม่เคยบังคับให้ไปเรียนพิเศษ หรือต้องเรียนเก่ง หนูกับพี่เป็นคนเรียนไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก อันดับที่สอบได้ไม่เคยสอบได้เลขตัวเดียว พ่อเขาเป็นคนที่ไม่เครียด ไม่เคยตั้งความหวังกับลูก”

เด็กบ้านสวนริมคลองอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กของตัวเอง พร้อมกับเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อ “ลำพู” ที่เธอคิดว่าเชยและสร้างปมด้อยให้กับชีวิตในช่วงหนึ่ง

“ต้นลำพูแถวบ้านมันเยอะ พ่อเลยตั้งชื่อว่าลำพู ตอนเด็กๆเพื่อนล้อประจำ อายเพื่อน บอกพ่อว่าอยากเปลี่ยนชื่อ เพราะคนส่วนใหญ่แถวบ้านเขาจะตั้งชื่อลูกสาวประมาณว่า สาวิตรี วราภรณ์ วรารัตน์ ฯลฯ

ตอนเรียนประถมอยากเปลี่ยนชื่อมากๆ แต่พ่อเขาเคยพูดมาครั้งหนึ่งว่า วันหนึ่งจะภูมิใจในชื่อนี้ ซึ่งพ่อเขาคงคิดไปถึงอนาคตว่า มันจะไม่มีคนชื่อแบบนี้แล้ว ประเภทที่ตั้งชื่อให้ลูกว่าลำพู หรือลำไย”

ลำพูเริ่มพอใจในชื่อของตัวเองมากขึ้น เมื่อเธอกลายเป็นเด็กหญิงลำพูที่อยู่ท่ามกลางเพื่อนนักเรียนระดับมัธยมเป็นพันคน ที่ไม่ใครชื่อซ้ำเธอแม้แต่คนเดียว และวันนี้เธอแอบรู้สึกดีอยู่ลึกๆ เพราะมันมีส่วนทำให้ผู้ชมจำนวนไม่น้อยจดจำผลงานศิลปะของเธอได้

“คนทำงานศิลปะ ยังไม่เห็นมีใครที่ชื่อลำพูเหมือนเราเลย คิดว่ามันเป็นความโชคดี เพราะบางทีคนที่มาดูงานเราเขาก็จะพูดกันว่า อ๋อ.. งานของลำพู ”

เพราะคิดว่าศิลปะน่าจะเป็นวิชาที่เรียนง่ายที่สุดสำหรับตัวเอง ทันทีที่เรียนจบมัธยมต้น ลำพูสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ลาดกระบัง เช่นเดียวกับพี่ชายของกระทั่งเธอสามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เธอเคยมีความตั้งใจที่จะเลือกเรียนวิชาเอกด้านประติมากรรม เพราะฝันอยากเห็นผลงานของตัวเองติดตั้งอยู่ในที่สาธารณะให้ผู้คนสะดุดตาบ้าง แต่ที่สุดเธอก็ตัดสินใจเรียนเพนต์ เพราะไม่แน่ใจว่าความสามารถที่ตัวเองมีจะพาความฝันไปได้สุดทางหรือไม่

และ หลังจากที่ได้เรียนกับศิลปินผู้มีชื่อเสียงในการเขียนภาพพอร์เทรตอย่าง ศักย ขุนพลพิทักษ์ ทำให้เธอเกิดความรู้สึกอยากเพ้นท์ใบหน้าคน เธอไม่ได้มองหาใบหน้าของคนอื่นไกล แต่ใช้ใบหน้าของเพื่อนร่วมคณะที่เธอบอกว่าหน้าดูโหดแต่มีความน่ารักซ่อนอยู่เป็นแบบในการเขียน และขยายสู่ใบหน้าของคนอื่นๆ ที่ผู้ชมสามารถรู้สึกร่วมได้มากขึ้น

“บางทีความตลกขบขัน มันกลบเกลื่อนความเลวร้าย ความดุดัน และลบเปลือกนอกของคนออกไปได้”

ศิลปินสาวแสดงความเห็น และเล่าต่อถึงที่มาที่ทำให้ภาพของเธอสามารถเรียกรอยยิ้มจากผู้ชมได้เสมอ

“เราชอบสัดส่วนอะไรที่มันเพี้ยนๆ และไม่ต้องเครียดกับสัดส่วนที่แท้จริง มันสามารถย่อหรือขยาย ได้ตามใจเรา มันดูสนุกมากกว่าเขียนภาพเหมือนเฉยๆ”

และเธอเห็นว่าการนำเสนองานในลักษณะนี้ สอดรับกับเนื้อหาบางอย่างที่เธอต้องการสื่อกับผู้ชม นั่นคือเป็นตัวกลางนำผู้ชมไปสู่ความตลก ขบขัน ความน่ารัก และความจริงใจซึ่งไม่ถูกปรุงแต่ง ที่ตัวละครในภาพของเธอมีอยู่

“มาเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ เพื่อนส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัด เป็นลูกหลานของชาวนา ลูกหลานข้าราชการ ตั้งแต่ชนชั้นล่างไปจนถึงชนชั้นกลาง เพื่อนแต่ละคนดูดิบๆ เดินเข้ามาชวนให้สงสัยว่า เฮ้ย..ใช่นักศึกษาหรือเปล่า แต่พอคบกันไปรู้สึกดี เป็นอะไรที่จริงใจและจริงแท้ที่สุด ก็เลยทำให้อยากถ่ายทอดงานออกมาให้คนได้เห็นถึงเรื่องราวเล็กๆน้อยๆของชนชั้นธรรมดาทั่วๆไป ที่มันขัดแย้งกับคนอื่นๆในสังคมกรุงเทพฯ ที่มันต้องดิ้นรน ต้องมีฟอร์ม”

เราเคยได้เห็นผ่านตากันมาบ้างแล้วสำหรับผลงานที่เคยได้รับรางวัลในหลายเวที และล่าสุดเธอกำลังจะมีงานแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ถนนบรมราชชนนี (ระหว่างวันที่ 14 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 สอบถาม โทร. 0 - 2422-2092 ) ในชื่อชุด “ไร้สาระ สู่สาระ” ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานที่ไม่เคยส่งประกวดที่ไหนมาจัดแสดง

“ แนวคิดในการนำเสนอประมวลจากเนื้อหาโดยรวมของงานทั้งหมด ที่แม้จะเป็นภาพที่ดูแล้วตลกขบขันเพียงชั่วคราว หรือเหมือนว่าเอาคนมาล้อ แต่ถ้ามองลึกเข้าไป มันเป็นภาพที่แฝงคุณค่าชีวิต และคุณธรรมของคน อยู่ในผลงานเหล่านี้”

***เรื่องโดย...ฮักก้า***






[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น