xs
xsm
sm
md
lg

หอภาพยนตร์สู่องค์การมหาชน (เกมนี้เดิมพันกันด้วยมรดกของชาติ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา
...บางครั้ง เราต้องยอมสูญเสียบางสิ่ง เพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง แต่หลายครั้ง บางสิ่งที่เราสูญเสียไป กลับแลกอะไรไม่ได้ แม้สักอย่างเดียว...

พ.ศ. 2544 ถึง ปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่าเกือบทศวรรษที่คณะปฏิรูปหอภาพยนตร์แห่งชาติตะลุยด่านเดินหน้าเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนหอภาพยนตร์แห่งชาติภายใต้ความดูแลของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไปสู่การมีสภาพเป็นองค์การมหาชน


คณะปฏิรูปหอภาพยนตร์แห่งชาติและภาคีเครือข่ายทางด้านภาพยนตร์ต้องต่อสู้กับระบบราชการเต่าล้านปีชนิดที่เรียกว่าเหงื่อออกทางรูขุมขนกันแบบหยดต่อหยด ซึ่งถ้าจะให้เราเปรียบเทียบกรณีการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งองค์การมหานชนของหอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง คงต้องจัดว่าเป็นภาพยนตร์แนวดราม่าแบบชีวิตรันทดตลอดกาลประมาณนั้น

และหลังจากฝ่าฟันอุปสรรคอันแสนยาวนานปรากฏว่า ปัจจุบันสถานะของหอภาพยนตร์แห่งชาติยังคงอยู่ในสภาพที่เรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ลูกผีลูกคน’ เพราะเหตุผลจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และความเชื่องช้าของการบริหารงานแบบราชการเก่าที่เป็นตัวขวางกั้นทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่สามารถจบลงง่ายๆ แบบแฮปปี้เอนดิ้ง

เป็นองค์การมหาชนเสียเถิดจะเกิดผล
ถ้าจะพูดตามความเป็นจริงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก ว่ากันว่าหากประเทศใดยังไม่มีหอภาพยนตร์สักแห่งที่พัฒนาแล้ว ย่อมไม่อาจนับได้ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทางวัฒนธรรมได้ เพราะหอภาพยนตร์มีหน้าที่แสวงหา เก็บรวบรวมสะสม บรรดาภาพยนตร์ และสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เพื่ออนุรักษ์ไว้ในฐานะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา และมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการสาธารณะ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการค้นคว้าศึกษา และด้านกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม

อาคารเล็กๆ สีเหลืองสด ท่ามกลางทุ่งหญ้าย่านศาลายา จังหวัดนครปฐม นอกจากจะทำหน้าที่เก็บรักษา อนุรักษ์ รวมทั้งจัดแสดงแล้ว ที่นี่ยังบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทำให้ทุกสิ่งมีชีวิตสามารถจับต้องได้ สร้างความสนุกสนานให้แก่คนดูได้ แต่สุดท้ายแล้วหอภาพยนร์ในวันนี้ก็ต้องกลับมาดูเฉื่อยเนือยและเงียบเชียบเหมือนไม่มีชีวิตชีวา เพราะไม่มีงบประมาณแบ่งปันจากกรมศิลปากรให้เลยในแต่ละปี

“ถ้าหากคิดว่าภาพยนตร์เป็นศาสนา หอภาพยนตร์เวลานี้เหมือนวัด มีตึกเก็บฟิล์มเป็นดั่งหอไตร มีบ้านพักเล็กๆ สำหรับบริการบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาค้นคว้าซึ่งเปรียบเหมือนศาลาการเปรียญ โรงหนังก็คือโบสถ์ที่ใช้เผยแพร่ภาพยนตร์ให้ประชาชนได้ดู นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์เป็นวิหาร ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ดังนั้นหากจะทำนุบำรุงและสืบต่อศาสนานี้ จักต้องทำนุบำรุงวัดของศาสนานี้ให้ได้ก่อน จึงจะได้บุญ” โดม สุขวงศ์ นักอนุรักษ์ฟิล์ม ผู้ดูแลหอภาพยนตร์แห่งชาติ เปรียบเปรยให้เห็นภาพ

“หอภาพยนตร์แห่งชาติไทยเริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยมีฐานะเป็นเพียงงานหนึ่งในกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ตอนจัดตั้งเรามีความคิดว่า ภาพยนตร์สมควรเป็นกองๆ หนึ่งเหมือนกับหอสมุดแห่งชาติ แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรจะเป็น จนถูกย้ายออกจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่ศาลายา

“จากนั้นผมเริ่มทำเรื่องของบประมาณเพื่อมาพัฒนา แต่ยังไม่ได้เพราะความสำคัญของหอภาพยนตร์มักจะมาเป็นที่โหล่สุดในกรมศิลปากร เราเป็นเพียงหน่วยงานที่เล็กที่สุดในโครงสร้างของกรม ซึ่งไม่สามารถของบประมาณได้โดยตรงต้องผ่านขั้นตอนเยอะ ตั้งแต่ระดับเลขาฯ ผู้อำนวยการ อธิบดี บางทีแค่กองก็ถูกปัดตกโต๊ะไปแล้ว

“ช่วงนั้นรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจึงพยายามที่จะหาเงินบริจาคนอกงบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมาหอภาพยนตร์แห่งชาติขาดการพัฒนา และประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การทำงานไม่คล่องตัวเพราะเป็นระบบราชการ ขาดงบประมาณในการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ พอเรามารู้เรื่อง พ.ร.บ. องค์การมหาชนจึงเริ่มศึกษาเป็นการใหญ่ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีของหอภาพยนตร์ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่ติดขัดด้วยระบบระเบียบราชการที่เชื่องช้ามาเป็นเวลานาน เราจึงมีความศรัทธาว่า พ.ร.บ. องค์การมหาชน จะเป็นทางแก้ให้เราสามารถบริหารจัดการตัวเองได้”

ตำนานแปรรูปหอหนังแห่งสยาม
ปี พ.ศ. 2540 ในกระแสการปฏิรูปการศึกษาของชาติ และกระแสการปฏิรูประบบราชการที่กำลังถูกพูดถึงกันทั่วไปในสังคม คณะปฏิรูปหอภาพยนตร์แห่งชาติจึงได้เรียนรู้เรื่องการปฏิรูปหน่วยราชการเป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 จากนั้นหอภาพยนตร์แห่งชาติจึงทำเรื่องเสนอขอปฏิรูปหน่วยงานตนเองเป็นองค์การมหาชน  ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติและผิดประเพณีในระบบราชการ เพราะเป็นการเสนอแนะเชิงนโยบายจากล่างขึ้นบน จึงไม่แปลกที่ได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงานต้นสังกัด

3 กรกฎาคม 2544 หอภาพยนตร์แห่งชาติทำหนังสือเสนอกรมศิลปากรขอปรับเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน ตามนโยบายปฏิรูปราชการ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่า “ไม่ขัดข้องและไม่สนับสนุน ให้ไปหาทางดำเนินการเอง”

“ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544 เราเริ่มทำจดหมายขอแต่งตั้งเป็นองค์การมหาชน ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการก็จะมีคณะกรรมการสำหรับพิจารณาว่าหน่วยงานของเราเหมาะสมจะเป็นองค์การมหาชนแค่ไหน คล้ายๆ กับการสอบ ต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ ต้องมีเจ้าภาพเป็นคนส่งไปด้วย อยู่ๆ เดินไปส่งเองไม่ได้ เราทำการเสนอเรื่องจากล่างขึ้นบน จากกองไปกรม กว่าจะผ่านกองต้องใช้เวลานาน และสิ่งที่เราทำอยู่ก็ถือว่าผิดธรรมเนียมของระบบราชการด้วย”

โดมบอกต่อไปอีกว่า การเสนอขอให้ตัวเองได้ปรับเปลี่ยน โดยในที่ประชุมมีมติว่าไม่ขัดข้องและไม่สนับสนุนให้ไปดำเนินการเอง ถือว่าทางผู้ใหญ่ยังมีน้ำใจกับทางหอภาพยนตร์มาก จากนั้นคณะปฏิรูปหอภาพยนตร์จึงดำเนินการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นองค์การมหาชน โดยการยื่นเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) จดหมายไปหานายกฯ และทางสมาพันธ์ภาพยนตร์ก็ได้มาให้การสนับสนุน แต่สุดท้ายกลับพบว่าทุกสิ่งอย่างที่ทำลงไปนั้นได้เดินไปสู่ทางตัน

“เรื่องถูกส่งกลับมาที่กรมศิลปากรเพื่อขอให้พิจารณาเนื่องจากหอภาพยนตร์ถือว่าอยู่ในสังกัด ซึ่งทางกรมศิลปากรมักจะตอบว่ายังไม่พร้อม

“คล้ายๆ กับเราจะไปแข่งโอลิมปิก โดยเสนอตัวเองไปที่ประเทศเจ้าภาพว่าเราสามารถวิ่งร้อยเมตรได้ภายใน 9 วินาที แต่ยังไงเขาก็ไม่สามารถให้เราลงแข่งขันได้ เพราะทุกอย่างต้องมาตามระบบ ผู้แข่งขันทุกคนต้องมีประเทศต้นสังกัดเป็นผู้ส่งเข้าร่วมแข่งขัน”


หลุดจากภาวะพิการซ้ำซ้อน
นักอนุรักษ์ฟิล์มเล่าให้เราฟังถึงข้อดีของการจัดตั้งหอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชนว่า การแยกหอภาพยนตร์ออกจากความดูแลของหอจดหมายเหตุ และไปพัฒนาเป็นองค์การมหาชน เป็นหนทางที่จะทำให้หอภาพยนตร์หลุดออกไปจากภาวะพิการซ้ำซ้อนได้ในที่สุด

“การที่หลุดออกจากระบบราชการจะทำให้หอภาพยนตร์สามารถของบประมาณได้โดยตรงจากรัฐ ตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานจะสามารถกำหนดได้เอง เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการที่หอภาพยนตร์ไปอยู่ในความดูแลของหอจดหมายเหตุทำให้เราไม่สามารถหานักวิชาการด้านภาพยนตร์ได้ ไม่มีตำแหน่งงานเฉพาะด้านอยู่ในสารบบ คนที่เรียนทางด้านภาพยนตร์โดยตรงเข้ามาช่วยงานที่หอภาพยนตร์ก็ได้เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่มีวุฒินี้อยู่ในระบบราชการ จะมีก็แต่นักจดหมายเหตุ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และถึงแม้จะมีอัตราว่างเราก็ไม่สามารถทำการคัดเลือกด้วยตนเองได้ เพราะต้องไปสอบผ่าน ก.พ. ขึ้นทะเบียนแล้วก็ถูกส่งมา ซึ่งคนที่ถูกส่งมาก็อาจจะไม่ได้อยากทำหรือไม่มีความรู้เฉพาะทางด้านภาพยนตร์เลย ทำให้เราไม่ได้คนที่เราต้องการจริงๆ

“ประกอบกับระบบราชการที่ไม่ค่อยพัฒนาคน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนรู้กันว่าระบบราชการไทยมีปัญหา เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดการปฏิรูปราชการ การเมืองมีปัญหายังเกิดการปฏิรูปการเมือง ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบบการศึกษามีปัญหาก็ต้องได้รับการปฏิรูป”

เวลานี้ร่างพระราชกฤษฎีกาตั้งหอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชนได้ผ่านกระบวนการพิจารณาทางด้านกฎหมายเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงการทูลเกล้าฯถวายเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีทำให้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชนนี้ยังคงถูกเก็บอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรมมาโดยไม่ได้รับการเหลียวแล

“เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลที่เราแข่งจนชนะทุกรอบ ทุกทีมแล้ว เหลืออย่างเดียวคือรอรับถ้วยรางวัล แต่ยังไม่มีใครจัดพิธีการนั้นให้เราเท่านั้นเอง” โดมกล่าว

ทางด้าน ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยถึงกรณีการเปลี่ยนหอภาพยนตร์ไปสู่องค์การมหาชนว่า หลังจากเข้ามาบริหารงานทางกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ลงนามเห็นชอบให้หอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชนเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเรื่องการผลักดันให้หอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชนเป็นเรื่องที่กระทรวงวัฒนธรรมพยายามทำกันมานานมากแล้ว

“สมัยนายกฯสมัคร ก็ได้นำเรื่องนี้เข้า ครม. แต่มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งซักค้าน เพราะเขาเห็นว่า องค์การมหาชนหลายองค์การที่จัดตั้งขึ้นมานั้นเป็นช่องทางในการแสวงหากำไรของนักการเมือง

“แต่ในกรณีของหอภาพยนตร์แห่งชาตินั้นเป็นหน่วยงานซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งควรได้รับการพัฒนาออกมาเป็นองค์การมหาชน เพื่อความสะดวกในการควบคุมดูแล และของบประมาณ


“เวลานี้ผมได้รับเรื่องการขอเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชนและเซ็นรับทราบแล้ว ขั้นตอนต่อไปเหลือเพียงรอให้ครม. อนุมัติ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะหอภาพยนตร์แห่งชาติไม่ใช่หน่วยงานใหม่ สมควรได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น”

ทางด้าน ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้าของวงการบันเทิงไทย เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ฉบับ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้มีการจัดเรตภาพยนตร์ตามกลุ่มอายุของผู้ชมถึง 7 ระดับหวังให้ภาพยนตร์ไม่ทำร้ายผู้ชม

โดยปรัชญาเปิดใจว่าการบังคับใช้กฎหมายจัดเรต ยังมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ และผู้กำกับ มีทิศทางที่จะสร้างสรรค์ผลงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวกระโดดของวงการหนังไทย

นอกจากการจัดเรตแล้ว คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังเรียกร้องให้มีการเร่งให้หอภาพยนตร์แปรสภาพเป็นองค์การมหาชน ซึ่งตอนนี้กระบวนการรุดหน้าไปมากผ่านขั้นตอนทางกฎหมายแล้วแต่ยังค้างอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม เพราะสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งคนในวงการหนังต่างตั้งตารอให้ประกาศใช้ เพราะหากหอภาพยนตร์แห่งชาติ เปลี่ยนแปลงมาบริหารในรูปแบบขององค์การมหาชน ก็จะทำให้เกิดศูนย์กลางการรวมตัวของหนังไทยอย่างอิสระ ที่สำคัญยังมีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนา ส่งเสริมและอนุรักษ์หนังทั้งใหม่และเก่าอย่างมีระบบและสมบูรณ์แบบ

เดิมพันกันด้วยมรดกของชาติ
หอภาพยนตร์แห่งชาติ มีหน้าที่ช่วยชีวิตและดูแลรักษาหนังไทย ไม่ว่าดีหรือเลว เพื่อให้ฟิล์มภาพยนตร์คงอยู่เป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ใช้ประโยชน์อย่างสมควร ซึ่งการดูแลรักษาฟิล์มภาพยนตร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและสนุก ตรงข้ามการดูแลรักษาฟิล์มเป็นเรื่องลำบากยากเข็ญ เพราะในสภาพความเป็นจริง หอภาพยนตร์แห่งชาติพบความอัตคัดขาดแคลนจากที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรหรือพอเพียงของหน่วยงานรัฐ อาจทำให้การทำงานที่ทุกข์ทรมานและยากเข็ญกลายเป็นสูญเปล่า สุขศาลาย่อมไม่อาจรักษาคนไข้ที่มีจำนวนมากเกินกำลังและเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง

โดม กล่าวเปรียบเทียบว่า ฟิล์มภาพยนตร์เหล่านี้ เปรียบได้กับคนที่มีอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง บ้างปวดหัวตัวร้อน บ้างอาการหนักเหมือนเป็นมะเร็ง ความดูแลก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก หน้าที่ของหอภาพยนตร์จึงต้องเป็นเหมือนโรงพยาบาล แต่ทุกวันนี้ สภาพที่เป็นอยู่กลับเหมือนสุขศาลามากกว่า ในฐานะหน่วยงานราชการที่มีฐานะเล็กที่สุด ขั้นตอนการทำเรื่องของบประมาณจึงซับซ้อนไปด้วย

"ถ้าเราเป็นองค์การมหาชน ซึ่งยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร มันจะดีตรงที่เรามีโอกาสในการบริหารอำนาจด้วยตัวเอง เมื่อฟิล์มจะตาย เราก็ตัดสินใจช่วยได้ไม่ต้องรอ แต่ที่สำคัญ คือเขายังไม่เห็นความสำคัญกับหอภาพยนตร์ เราขอเป็นมาทุกปี พยายามทำการบ้านทุกอย่าง แต่จู่ๆ จะมีการหนุนหอสมุดแห่งชาติเป็นองค์การมหาชน ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อยากเป็น หน่วยงานที่อยากเป็นกลับมองไม่เห็น ฉะนั้นเราจึงต้องล่ารายชื่อให้ประชาชนได้ตระหนัก ให้เสียงเราได้ดังขึ้น ให้สาธารณชนได้รับรู้ สอดคล้องกับวาระของยูเนสโก ซึ่งเป็นปัญหาของทั้งโลกในการอนุรักษ์มรดก"

มรดกนี้ใครครอบครอง?
ในส่วนของประเด็นการโอนทรัพย์สินที่ล่าสุด เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า หาก ครม.เห็นชอบให้หอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชนเรียบร้อยแล้ว ทางกรมศิลปากรจะเข้าไปดำเนินการสำรวจทรัพย์สินของหอภาพยนตร์ฯว่า มีฟิล์มอะไรบ้างที่เป็นสมบัติของชาติ จะต้องโอนกลับมายังกรมศิลปากร

ตามหลักความเป็นจริงแม้หอภาพยนตร์แห่งชาติองค์การมหาชนจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นองค์กรอิสระ แต่ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐโดยสมบูรณ์เช่นเดิม ทรัพย์สินย่อมสามารถโอนไปเป็นทรัพย์สินขององค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าองค์การมหาชนก็คือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แต่เป็นเพราะเจตนารมณ์ของกฎหมาย แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

ทางคณะปฏิรูปหอภาพยนตร์แห่งชาติได้บอกถึงข้อเสียของการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติเป็นองค์การมหาชนไว้ด้วยว่า อาจทำให้กรมศิลปากรรู้สึกสูญเสียหน่วยงานในสังกัดไป ทำให้เห็นไปว่าบทบาทหน้าที่หรือพันธกิจขาดความสมบูรณ์ แต่โดยข้อเท็จจริง ที่ผ่านมาหอภาพยนตร์เป็นเพียงติ่งเล็กๆ ในความดูแลของกรมศิลปากรเท่านั้น

นักอนุรักษ์ฟิล์มกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด การสูญเสียเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีและจำเป็นต้องเสียสละ เปรียบดังพ่อแม่ที่จะเห็นลูกของตนเองมีความรับผิดชอบ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ จากนี้ไปหลายฝ่ายคงต้องหันมาเร่งทบทวนกรณีหอภาพยนตร์สู่องค์การมหาชนว่า ใครต้องยอมสูญเสียบางสิ่ง เพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง และหอภาพยนตร์แห่งชาติของประเทศไทยควรได้รับอะไรตอบแทนบ้าง

**********
เรื่อง - นาตยา บุบผามาศ
ภาพ - ธัชกร กิจไชยภณ


**********
หอภาพยนตร์แห่งชาติ
ภายในแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ในอดีต


โดมสุขวงศ์ นักอนุรักษ์ฟิล์ม ผู้ดูแลหอภาพยนตร์แห่งชาติ


การดูแลรักษาฟิล์มภาพยนตร์มรดกของชาติ

ฟิล์มที่กำลังจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาหากไม่ได้รับการดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น