xs
xsm
sm
md
lg

BJJ-Ground Fighting!! ของนักสู้ภาคพื้นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Brazilian Jujitsu การต่อสู้บนพื้นที่ทำให้น้ำหนักกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ
เรื่องราวเมื่อไม่เกิน 5-6 ปีก่อนยังอ้อยอิ่งในความทรงจำ เว็บไซต์พันธุ์ทิพย์ ห้องศุภชลาศัยที่แยกย่อยเป็นเรื่องเฉพาะศิลปะการต่อสู้ ห้วงเวลาหนึ่งมีการถกเถียงอย่างเอาเป็นเอาตาย (และถ้าเจอตัวกันเป็นๆ ก็อาจถึงขั้นชกปากกัน) ถึงรูปแบบการต่อสู้ที่เรียกว่า Ground Fighting หรือแปลเป็นไทยเข้าใจง่ายๆ ว่า การต่อสู้บนพื้น หรือ ท่านอน ประเด็นที่คนในนั้นเถียงกันวนเวียนอยู่กับความคลางแคลงว่า ‘ใช้ได้จริงหรือเปล่า?’ ‘อยู่ๆ จะจับคู่ต่อสู้ลงพื้นได้ยังไง? คงโดนต่อยปากแตกซะก่อน’ ‘ถ้าไม่ใส่ชุดยูโดจะจับล็อกได้หรือเปล่า?’ และบลา บลา บลา...

Ground Fighting คืออะไร? หากจัดแบ่งศิลปะการต่อสู้เป็นระบบใหญ่ๆ หยาบๆ น่าจะแบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ ยืนสู้กับนอนสู้ มวยไทย คาราเต้ หรือประเภทเตะต่อยทั้งหลาย ชัดเจนว่าเป็นประเภทยืนสู้

ส่วนการนอนสู้หรือก็คือการต่อสู้บนพื้น จะออกมาในรูปการปล้ำ การนำคู่ต่อสู้ลงพื้น แล้วทำให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ ที่ไม่ใช่การเตะต่อย ยูโดก็มีเทคนิคบนพื้นอยู่พอสมควรจึงอนุโลมเป็น Ground Fighting รูปแบบหนึ่งได้ มวยปล้ำก็เป็น Ground Fighting แต่กรุณาอย่าเหมารวมถึงการกระโดดจากเชือกเส้นที่ 3 ลงมากระแทกศอกใส่แล้วเด้งไปเด้งมา

ผมจำได้ว่าการถกเถียงเมื่อครั้งก่อนเก่านั้น ถ้าจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป คือการพูดถึงศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งซึ่งต้องถือว่าค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นๆ เป็นศิลปะการต่อสู้บนพื้นที่มีชื่อว่า บราซิลเลียนยิวยิตสุ (Brazilian Jujitsu) แต่คนในแวดวงเขาเรียกกันสั้นๆ ว่า บีเจเจ

กว่าจะเป็นบีเจเจ

บีเจเจไม่ใช่ของใหม่สดในเมืองไทย มีคนฝึกฝนและปรากฏตัวตามสื่อบ้าง แต่มันก็ยังไม่เก่าเสียจนแพร่หลาย ความที่บีเจเจยังมีอายุไม่ถึงร้อยปีบริบูรณ์จึงต้องถือว่าหนุ่มมากในโลกศิลปะการต่อสู้

บราซิลเลียนยิวยิตสุ เป็นคำชวนสับสนสำหรับคนนอกวงยุทธจักร ‘ตกลงว่ามันเป็นของบราซิลหรือของญี่ปุ่น?’

เรื่องมีอยู่ว่า มิตสุโย มาเอดะ (MITSUYO MAEDA) เป็นศิษย์เอกของ จิโงโร คาโน (Jigoro Kano) ผู้สถาปนาวิชายูโด ถูกส่งไปเผยแพร่วิชายูโดที่บราซิล บังเอิญเขาต้องเผชิญพวกลองของที่ตัวใหญ่กว่าเสมอ การปะมือบ่อยครั้งทำให้เขารู้สึกว่ายูโดลดทอนเทคนิคของยิวยิตสุสายดั้งเดิมมากเกินไปจนใช้งานลำบาก พี่แกซึ่งเคยฝึกยิวยิตสุสายดั้งเดิมมาก่อนจึงตัดสินใจดึงเทคนิคยิวยิตสุกลับมาใช้ซะเลย ขณะเดียวกันก็ตัดเทคนิคที่เขาคิดว่าใช้ไม่ได้ออก รวมทั้งผสมผสานศิลปะการต่อสู้หลายรูปแบบเข้าไป เพื่อจัดการลากคู่ต่อสู้ลงพื้น แล้วค่อยเผด็จศึก

ปี 1914 มาเอดะเป็นตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นสานสัมพันธ์กับบราซิลและตัดสินใจตั้งรกรากที่นั่น โดยได้รับความช่วยเหลือด้านที่พักจากทูตชาวบราซิล กาสโตว เกรซี่ (Gastao Gracie) เขาตอบแทนน้ำใจด้วยการสอนยิวยิตสุให้แก่ คาร์ลอส เกรซี่ (Carlos Gracie) ลูกชายของกาสโตว

ถึงจะเป็นลูกทูต แต่หมอนี่กลับชอบการท้าตีท้าต่อยบนท้องถนนแบบไม่มีกติกา หรือที่เรียกว่า Street Fight เขานำยิวยิตสุของมาเอดะมาปรับปรุงอีกครั้งด้วยการประกาศท้าประลองตามหนังสือพิมพ์แบบไม่เกี่ยงน้ำหนัก ยิวยิตสุในแบบของเขาพัฒนาขึ้นเป็นลำดับและมีระบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เขาเริ่มสอนให้น้องๆ และลูกๆ แต่คนที่ถูกยกให้เป็นบิดาของเกรซี่ยิวยิตสุคือน้องคนที่ชื่อว่า เฮลิโอ เกรซี่ (Helio Gracie) เขาสร้างตำนานไว้มากมาย เช่น ตอนอายุ 17 เขาลงแข่งในแม็ตช์ใหญ่กับนักมวยอาชีพและสามารถชนะได้ภายใน 30 วินาที การสู้กับคู่ต่อสู้คนหนึ่งนานถึง 3 ชั่วโมง 45 นาที โดยไม่มีการพัก หรือการปะมือกับแชมป์โลกมวยปล้ำ Wladek Zybskus หนัก 127 กิโลกรัม เป็นต้น ถึงตอนนี้จะอายุเฉียด 90 เข้าไปแล้ว แต่เขาก็ยังคงสอนบีเจเจ และถือว่าเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตของวงการศิลปะการต่อสู้

แต่บีเจเจจะไม่ป็อปปูลาร์ ถ้าไม่มีสังเวียนการแข่งขัน UFC-Ultimate Fighting Championship ที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปะการต่อสู้ทุกชนิดได้แสดงความสามารถและความเป็นหนึ่งบนสังเวียนแปดเหลี่ยม ฮอยซ์ เกรซี (ROYCE GRACIE) นักสู้ร่างเล็กเมื่อเทียบกับมาตรฐานร่างกายของนักสู้ส่วนใหญ่ใน UFC สามารถคว้าแชมป์ UFC ได้หลายสมัย

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้สนใจศิลปะการต่อสู้ทั่วโลกหันมาศึกษาบีเจเจกันอึกทึก ข้อเสียก็คือมันทำให้บีเจเจไม่ใช่เจ้าสังเวียน UFC อีกต่อไป เพราะใครๆ ต่างก็รู้เทคนิควิธีการของบีเจเจเสียแล้ว ก็เลยกินรวบไม่ได้ง่ายๆ เหมือนก่อน

Ground Fight อันโดดเด้ง

“ในเมืองไทยเดิมทีมีกลุ่มคนที่ฝึกบ้างอยู่แล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศ เริ่มแรกน่าจะเป็นที่บางกอกไฟต์คลับ แต่คนที่เริ่มนำเข้ามาในเมืองไทยคนแรกคือคุณจิโอนาทา เขามีเงินแล้วก็กล้าที่จะจ้างอาจารย์เข้ามาสอนเอง ตอนนั้นผมก็เริ่มค้นคว้าศิลปะการต่อสู้ด้านนี้ด้วย ก็เลยได้เจอกัน เขาแนะนำให้ผมรู้จักกับคุณโซเนก้า ซึ่งเป็นสายดำจากประเทศบราซิล ผมเรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน ฝึกเองประมาณ 6 เดือน แล้วก็จ้างสายดำคนอื่นเข้ามา เราก็ทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ”

นิติ เตโชติอัคนีย์ ผู้ก่อตั้งสถาบันฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ EMAC เล่าถึงการเข้ามาในเมืองไทยของบีเจเจ เขาอธิบายต่อไปว่า

“กระแสในต่างประเทศ บีเจเจแบ่งเป็น 2 สาย สายหนึ่งใส่กิ (ชุดยูโด) อีกสายหนึ่งคือไม่ใส่กิ ถ้าเป็นสไตล์บราซิลแท้ๆ หรือในญี่ปุ่นจะนิยมใส่กิกัน ซึ่งก็จะได้รับความนิยมอยู่ในเฉพาะกลุ่มนี้ แต่กลุ่มที่ได้รับความนิยมจริงๆ และมากคือกลุ่มของ Submission Grapping ซึ่งไม่ใส่กิ สายนี้ทางตะวันออกกลางได้รับความนิยมมานานมาก เหมือนกับเป็นกีฬาประจำถิ่นของเขาอยู่แล้ว อย่างการแข่งขันในอาบูดาบีก็เป็นที่ยอมรับและรวมคนมีฝีมือไว้มากที่สุด”

อะไรคือความโดดเด้งของบีเจเจ

“Ground Fight เป็นจุดเด่นของบีเจเจ บีเจเจมีวิธีการควบคุมคู่ต้อสู้บนพื้น การใช้น้ำหนักตัวให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมคู่ต่อสู้ การหาสมดุลของร่างกายทำให้คู่ต่อสู้เสียหลักล้มลง ไม่ให้เขาลุกขึ้น กดทับให้อยู่ จุดเด่นที่สำคัญคือโอกาสบาดเจ็บค่อนข้างน้อย สามารถฝึกซ้อมได้เต็มที่”

ศิลปะการต่อสู้ (น่าจะ) ทุกแขนง ล้วนอิงแอบกับรูปแบบปรัชญาที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางจิตใจหรือจิตวิญญาณอยู่ไม่มากก็น้อย มันเป็นกลไกสำคัญที่คอยขัดเกลาเหลี่ยมมุมอันกร้าวร้าวให้กลมมนและอ่อนโยน แม้ตัวบีเจเจอาจจะยังไม่มีการอธิบายออกมาแจ่มแจ้ง แต่หากดูที่รูปแบบการใช้งาน เราจะเห็นบางอย่าง...

แน่นอน มวลที่มากกว่าย่อมมีพลังงานมากกว่า แต่ผมรับรองได้ว่าไม่มีศิลปะการต่อสู้แขนงไหนตั้งหน้าตั้งตาใช้พละกำลังเข้าห่ำหั่นกันอย่างหน้ามืดตามัว บีเจเจที่ดูคล้ายๆ มวยปล้ำก็ไม่ใช่เรื่องของคนถึกๆ สองคนใช้เรี่ยวแรงเข้าบดกันเพื่อหาผู้ชนะ

บีเจเจเป็นเรื่องของเทคนิค การเข้าใจเรื่องแรง หลักโมเมนตัม การแปรเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสม ผสมกับประสบการณ์ของแต่ละคน ที่น่าสนใจ บีเจเจไม่ได้มีเป้าหมายแรกที่การหักข้อต่อหรือรัดคอให้ตายกันไปข้าง แต่นั่นเป็นเป้าหมายสุดท้าย

สิ่งแรกจริงๆ คือการอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและได้เปรียบ ซึ่งหมายถึงการควบคุมอีกฝ่ายให้อยู่ในเกมของเรา ตรงนี้แหละที่ยาก จากนั้นจึงค่อยนำไปสู่การ Submission หรือทำให้ยอมแพ้ด้วยเทคนิคต่างๆ ผู้ที่ฝึกบีเจเจจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของกระบวนการนี้

กล่าวอย่างคมคายขึ้นหน่อย บีเจเจใส่ใจวิธีการไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย สายตาที่จับจ้องแต่เป้าหมายอาจสะดุดขวากหนามได้ง่ายๆ

มีคนเปรียบเปรยวิธีการของบีเจเจว่าเหมือนงูตัวใหญ่ๆ มันไม่ได้หักหาญชีวิตเหยื่อให้ตายอย่างรวดเร็วด้วยพิษร้าย แต่จะค่อยๆ บีบรัดเหยื่อ ขยับทางนั้นไม่ดี ทางนี้ก็ไม่ได้ สุดท้าย กว่าจะรู้ตัวก็ถูกรัดแน่นจนดิ้นไม่รอด ฟังดูเลือดเย็น แต่อย่าคิดมาก ผมบอกแล้วว่ามันเป็นการเปรียบเปรย

คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก

ในมุมของกีฬา ทั้งบีเจเจและ Submission Grapping มีการจัดแข่งขันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และในอนาคตข้างหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่จะผนวกรวม Submission Grapping เข้าเป็นกีฬาอีกแขนงหนึ่งของสมาคมมวยปล้ำนานาชาติ ส่วนในประเทศไทย นิติมีความพยายามก่อตั้งสมาคมบีเจเจ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ฝึกบีเจเจมีเวทีทดสอบฝีมือ โดยวางเป้าหมายให้บีเจเจเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับ

ในมุมของศิลปะการต่อสู้ บีเจเจได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ศาสตร์อื่นๆ

“ในต่างประเทศผู้หญิงฝึกบีเจเจเยอะมาก ทุกคนเข้าใจและให้การยอมรับว่าบีเจเจเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ดีโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง เพราะเวลาที่ผู้ร้ายจะข่มขืนก็ต้องอยู่ในท่านอน อีกอย่างคือในต่างประเทศ เวลาฝึกกัน เขาไม่ถือเรื่องผู้หญิง-ผู้ชาย แต่เมืองไทยยังค่อนข้างมีปัญหาอยู่” นิติอธิบายถึงข้อจำกัดด้านค่านิยมของสังคมไทยที่ทำให้บีเจเจยังจำกัดวงเฉพาะผู้ชาย

เหมือนแข บริบูรณ์ ผู้หญิงน้อยคนในไทยที่ฝึกบีเจเจ (เผลอๆ อาจจะเป็นผู้หญิงไทยคนเดียวตอนนี้) เธอเล่าว่า

“ได้ดูสารคดีของ National Geographic เรื่อง Human Weapon มีศิลปะการต่อสู้หลายๆ แขนงมาให้ดู แล้วในนั้นก็บอกว่ายิวยิตสุมีประสิทธิภาพรองจากนินจัตสุ ก็เลยพยายามหานินจัตสุเรียน อยากเป็นนินจา แต่ว่าตอนนั้นหาเรียนนินจัตสุไม่ได้ เจอยิวยิตสุแทน ก็เลยลองเรียน แล้วก็ชอบ”

อาศัยเทคนิคมากกว่าความใหญ่โตของกล้ามเนื้อทำให้เธอหลงใหลบีเจเจ

“เล่นมาเกือบ 6 เดือนแล้ว ถ้าเอาตัวเองตอนนี้ไปสู้กับตอนที่เพิ่งเรียนใหม่ๆ ก็คงชนะนะ ตอนนี้พอสู้น้องชายได้ ร่างกายฟิต ไม่เคยรูปร่างดีขนาดนี้มาก่อน มีความมั่นใจมากขึ้นถึงจะไม่ได้เก่งมากมาย แล้วมันเป็นเหมือนที่ระบายอารมณ์ ทำงานมาเครียดๆ ก็มาสู้กัน หายเครียด”

นอกจากเรื่องค่านิยม การเตรียมพร้อมร่างกายแสนหนักหน่วงและการเลื่อนวิทยาฐานะ (การเลื่อนสาย) แสนยากเย็นก็นับเป็นปราการโหดหินที่ทำให้หลายคนถอดใจ แต่ข้อดีคือเป็นการคัดกรองผู้ฝึกที่สนใจจริงจังโดยตัวของมันเอง

หลากมุมกับบีเจเจ

ย้อนกลับไปยังข้อถกเถียงที่โปรยไว้ตอนต้น ผมเชื่อว่าถึงห้วงเวลานี้ บีเจเจได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าใช้ได้จริงหรือไม่? แค่ไหน? แต่ใช่ว่าบีเจเจคือความเพริศแพร้วอันไร้เทียมทาน (โลกยุค 11 มม. ไม่อนุญาตให้มีฮุ้นปวยเอี๊ยงหรือหลี่มู่ไป๋)

จุดเด่นที่สุดของบีเจเจคือข้อจำกัดที่ตรงไปตรงมาที่สุดของบีเจเจ เมื่อเป็นการต่อสู้บนพื้น แปลความได้ว่าต้องเป็นการต่อสู้หนึ่งต่อหนึ่ง (ไม่มีนักบีเจเจคนไหนสามารถปล้ำกับคู่ต่อสู้พร้อมกันสองคนแน่ๆ) ดังนั้น ถ้าเป็นการต่อสู้แบบหนึ่งต่อหนึ่งและตรงไปตรงมา คนที่รู้ทักษะการต่อสู้บนพื้นย่อมได้เปรียบ

เอ่อ...แต่ในสังคม (ที่ไหนเหรอ?) ชนิดที่เดินสะดุดเท้านิดหน่อยถึงกับกระชากคอเสื้อถามชื่อพ่อตัวเองเช่นลูกนักการเมืองบางคน หรือนิยมใช้ ‘เพื่อน-ฝูง’ มากกว่าการรับผิดชอบปัญหาด้วยตนเองและอย่างนุ่มนวล การใช้บีเจเจในสถานการณ์เยี่ยงนี้ย่อมเท่ากับฆ่าตัวตาย

คนที่ฝึกบีเจเจส่วนใหญ่เคยเล่นศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นมาก่อนและตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ดี ศราวุธ ก้องเกียรติวงศ์ นักบีเจเจสายฟ้า (หมายถึงสีฟ้า) เขาเคยเล่นมวยไทยมาก่อน

“ผมมองว่าในระยะประชิดบีเจเจใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเป็นมวยยืนผมก็ต้องเรียนอย่างอื่นเพิ่ม แต่ถ้าเจอกับคนที่ไม่มีทักษะท่านอน ผมว่าบีเจเจน่าจะใช้ได้”

ปิยะวัฒน์ ปัญญา นักเทควันโดสายดำและผู้ฝึกสอนของ BVG ยิม

“ถ้าเป็นลักษณะตัวต่อตัว ศิลปะประเภททุ่ม จับล็อก จับหักจะใช้ได้ผลดีมาก แต่อาจจะมีปัญหาเวลาที่มีคู่ต่อสู้มากกว่า 1 คน เพราะเวลาจับทีละคน คนที่เหลืออาจจะเข้าทำร้ายเราได้ แต่ถ้าเป็นการต่อสู้แบบตัวต่อตัว บีเจเจผมว่าเยี่ยมเลย ส่วนในแวดวงเทควันโด ผมว่าบางคนอาจจะยังไม่รู้จักบีเจเจด้วยซ้ำ สำหรับผมที่เป็นคนเล่นเทควันโด ผมไม่ค่อยถนัดเพราะลักษณะการต่อสู้ประชิดตัวมันอึดอัด สไตล์เทควันโดเป็นมวยวงนอก มันอาจจะต่างกันไปตามสไตล์ของคนที่ชอบ

“สำหรับคนที่เล่นศิลปะการต่อสู้มาได้ระยะหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี จะไม่มองบีเจเจว่าดูไม่รู้เรื่อง มั่วเวลาลงพื้น เพราะเขาจะเข้าใจว่ามันเป็นวิถีการต่อสู้อีกสไตล์หนึ่ง ซึ่งเราบอกไม่ได้ว่าอย่างไหนดีกว่า มันอยู่ที่ตัวบุคคลและวิถีทางของแต่ละวิชาที่ไม่เหมือนกัน”


มุมมองของนิติต่อเรื่องนี้

“ในแง่ของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ผมเชื่อว่าบีเจเจยังได้ผล เพราะคุณรู้ ฝั่งตรงข้ามไม่รู้ แต่ถ้าบนเวทีการแข่งขัน ทุกคนรู้เทคนิคของคุณหมด แต่จะเล่นมวยยืนอย่างเดียวล้วนๆ เจอคนเล่น Ground Fight ก็แย่เหมือนกัน ฉะนั้น ทุกวันนี้คนที่จะลงเวที MMA (Mix Martial Arts-ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน)ก็จะฝึกสองอย่างคือมวยไทยกับบีเจเจ จนแทบจะถือเป็นมาตรฐานไปแล้ว”

พักเรื่องการใช้งานไว้เพียงเท่านี้ดีกว่า เพราะมันเป็นแค่ผลพลอยได้มากกว่าเป้าหมายของการฝึกศิลปะการต่อสู้

ในสายตาของชาวต่างประเทศแถบตะวันออกใกล้ๆ บ้านเราอย่างญี่ปุ่น สังคมที่นั่นก็มีมุมมองต่อบีเจเจไม่เหมือนกัน Tadatomi Hashimoto ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย นักยูโดสายดำ ดั้ง 2 และนักบีเจเจสายฟ้า บอกว่าเขาฝึกยูโดเพราะชอบเทคนิคการสู้บนพื้น แต่ยูโดไม่เน้นเท่ากับบีเจเจ เขาจึงต้องมาฝึกเพิ่มเติมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้

“ในญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่มองว่าบีเจเจเป็นศิลปะการต่อสู้ ไม่ใช่กีฬา แต่บีเจเจก็ไม่ใช่ Budo (วิถีนักรบ) ในความหมายของคนญี่ปุ่น เหมือนกับคาราเต้ ยูโด เคนโด ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติของตนสืบเนื่องมายาวนาน บีเจเจไม่มีระเบียบแบบแผนหรือขนบธรรมเนียมเหมือนกับศาสตร์ของญี่ปุ่น”

ส่วน Byoung Ki Kim ชาวเกาหลี เขาเป็นทั้งเทควันโด ยูโด และไอคิโด เขาเล่นบีเจเจมาประมาณ 1 เดือน ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพและ ‘อยากผอม’

“น้ำหนักของผมลงไป 5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือนครึ่ง กินเหมือนเดิมแต่ผอมลง”

แม้ว่าในเกาหลี บีเจเจจะยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเทควันโด ยูโด หรือฮัพคิโด แต่เขาบอกกับผมว่าเขายอมรับและชื่นชมในความงดงามอย่างหนึ่งของบีเจเจ

“การแข่งบีเจเจเป็นสุภาพบุรุษมาก ในเทควันโด แข่งกัน บางคนแพ้ บางคนชนะ คนแพ้ไม่ยอมรับ ผมไม่แพ้ๆ ตัดสินผิด ทุกเกมมี แต่บีเจเจแพ้คือแท็บ (ตบพื้นเพื่อแสดงว่ายอมแพ้) ไม่มีใครบอกว่าผมไม่แพ้ ผมจึงคิดว่าบีเจเจเป็นสุภาพบุรุษและอ่อนโยน”

.................

จากการถกเถียงครั้งอดีตสู่ปัจจุบันขณะ อย่างน้อยผมได้ข้อสรุปประการหนึ่ง-เรื่องแบบนี้เป็นความสนใจส่วนบุคคล ใครชอบแบบไหนก็ฝึกแบบที่ชอบ หมดยุคการใช้กำปั้นเพื่อพิสูจน์ความเป็นชายหรือเบ่งบารมีความเก่งกาจ ...เปิดกว้าง ยอมรับ และเคารพกันและกันจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้ง

ส่วนใครที่อยากออกกำลังกาย ผ่อนคลายความตึงเครียด ละลายไขมันและความเฉื่อยชา บีเจเจเป็นทางเลือกหนึ่งที่แจ่มทีเดียว

*************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

หมายเหตุ ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลได้ที่ www.bangkokfighclub.com, www.emacthailand.com, www.3monkeeez.com และ bkkbjj.blogspot.com


บรรยากาศการฝึกซ้อมบีเจเจ
ภาพการแข่งขันบีเจเจในต่างประเทศ
คุณตาคนนี้คือ Helio Gracie ตำนานที่ยังมีชีวิต
ส่วนคนนี้คือ Royce Gracie คนที่ทำให้บีเจเจกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
นิติ เตโชติอัคนีย์ ผู้ก่อตั้งอีแมค
กำลังโหลดความคิดเห็น