xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายจาก ‘สตูล’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมืองสตูลยามเย็น
ถึง เธอ

เสียงระเบิดดุร้ายดังขึ้นอีกแล้ว เธอคงรู้จากข่าว แต่เสียงและแรงทำลายมาไม่ถึงที่ที่ฉันอยู่ตอนนี้

กลางคืน-ฉันนั่งอ่านหนังสืออยู่หน้าร้านขายขนมปังสังขยาริมถนนกลางเมืองสตูล ที่นี่ห่างจากนราธิวาส 303 กิโลเมตร ที่นี่ห่างจากยะลา 237 กิโลเมตร และที่นี่ห่างจากปัตตานี 208 กิโลเมตร

เหมือนใกล้แต่ไกล เหมือนไกลแต่ก็ใกล้

อย่าเพิ่งงง เธอเคยสงสัยเหมือนฉันมั้ย? ในสายตาของคนนอก แม้จะมีสงขลากั้นกลางระหว่างสตูลกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าพูดกันในเชิงภูมิศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมแล้ว สตูลก็น่าจะเป็นเนื้อดินเดียวกันกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื้อดินที่ความเกลียดชัง ความรุนแรง ความหวาดระแวง เสียดแทงผืนดินขึ้นมา

เธอกับฉันไม่เคยได้ยินสุ้มเสียงร้ายแรงจากแผ่นดินและท้องทะเลสวยงามแห่งนี้เลย ...ฉันนั่งเหม่อมองแสงไฟตกกระทบพื้นถนน เหมือนตั้งใจจะให้มันช่วยให้ความกระจ่างต่อคำถามภายในของฉัน-ทำไม ทำไม และทำไม

ฉันไม่มีคำตอบให้เธอ ฉันมีแค่เรื่องราวเล็กๆ จากการย่ำเดินพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ และแน่นอนว่ามันไม่สามารถเป็นภาพตัวแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่ฉันก็ยังอยากเล่าให้เธอฟัง

..................

เธอเคยมาเที่ยวสตูลมั้ย?

ถ้ายัง ฉันอยากให้เธอลองใช้สอยเวลาว่างกับที่นี่สักครั้ง คนที่คุ้นเคยกับความพลุกพล่านของเมืองอาจรู้สึกเบื่อ สตูลสงบมาก ตกเย็นบ้านเรือนร้านค้าปิดเงียบกันเสียส่วนใหญ่ ไม่มีสถานที่ให้คลึงเคล้าราตรีแบบเมืองหลวง แต่ถ้าเธอต้องการอยู่กับลมหายใจตัวเอง ที่นี่คือที่แห่งนั้น

ฉันมาถึงสตูลในยามสาย หลังจากนั่งแกร่วบนรถทัวร์ยาวนานสิบสี่สิบห้าชั่วโมง เก็บสัมภาระเข้าที่พักเสร็จ ฉันเอาเวลาส่วนหนึ่งเดินเตร็ดเตร่เรื่อยเปื่อย สายตาหลายคู่จ้องมองฉัน คงคิดว่าฉันเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่พยายามหาอะไรทำก่อนจะเดินทางต่อไปยังเกาะแสนสวยมากมายกลางอันดามัน

แวะกินข้าวแกงปักษ์ใต้รสจัดจ้าน ก่อนลัดเลาะหาเส้นทางด้วยปากและเท้า จนมาถึง ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล’ หรือ ‘คฤหาสน์กูเต็น’ มันเคยเป็นบ้านของเจ้าเมืองสตูล

ฉันเจอพี่ผู้หญิงไทย-พุทธ ชาวสตูลคนหนึ่ง (เธอไม่ยอมให้ฉันบอกชื่อ) เธอแวะมาเที่ยวเหมือนกัน เรานั่งคุยกัน

“คนมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัด การศึกษาค่อนข้างน้อย ข้าราชการส่วนใหญ่ก็เป็นคนจากข้างนอก พอคนมุสลิมมาติดต่อราชการ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามาทำอะไร ข้าราชการจะรู้สึกยังไง เขาจะรู้สึกยังไง แล้วถ้าเป็นข้าราชการที่ไม่ค่อยมีความอดทนก็อาจจะแสดงอาการไม่สนใจ รัฐบาลก็เลยอยากให้เพิ่มวิชาสามัญ ถ้าผู้นำมุสลิมสามารถเปิดรับตรงนี้ ทุกอย่างก็จะลงตัวขึ้นกว่านี้...หรือเปล่า”

พี่ผู้หญิงคุยกับฉันแบบลังเลว่าสิ่งที่พูดคือคำตอบหรือคำถามกันแน่ แล้วเธอรู้มั้ย? เรื่องบางเรื่องที่เราได้ยินจากข่าว คนที่นี่อาจได้ยินไม่เหมือนเรา เช่นเรื่องนี้

“แต่ว่ารัฐก็มีส่วนผิดในบางเรื่องนะ เพราะคนใน 3 จังหวัดก็ออกมาโจมตีกันว่า ทำไมทหารตั้งป้อมอยู่ติดๆ กันเยอะ แต่ทำไมโจรยิงคนเสียชีวิตถึงหนีรอดไปได้ นี่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาตั้งประเด็นกัน เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เห็นตอนนั้นทหารออกข่าวว่าโจรใส่ชุดทหารออกมาก่อการร้าย เราก็ได้แต่นั่งฟัง”

จริงหรือไม่ ไม่รู้ ฉันตรวจสอบไม่ได้ แต่คำเล่าลือทำนองนี้มีเสมอ คนสตูลที่ฉันคุยด้วยก็คลางแคลงไม่ต่างกัน หมายความว่าสิ่งที่ฝ่ายรัฐบอกเราว่าชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เราอาจต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าเราไม่โกหกตัวเองจนหลงลืม ยอมรับเสียเถอะว่ารัฐไทยเคยสร้างบาดแผลมากมายไว้กับพี่น้องมุสลิมและแผ่นดินแห่งนี้

ฆอเต็บกอเซมตา ตาหมาด ฉันเรียกแกว่า ป๊ะ ป๊ะเป็นฆอเต็บแห่งมัสยิดมำบัง ที่ไม่เคยลืมเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน วันนั้นป๊ะนั่งรถทัวร์ไปยะลา ระหว่างทางเจอด่านทหารเรียกตรวจ...

“พวกเราใส่เสื้อแบบชาวมุสลิม เขาไล่เราลงมา อีก 40 กว่าคนที่ใส่สูทแบบสากลบนรถ ไม่มีใครตรวจแม้แต่คนเดียว นี่มันบ่งบอกว่าไม่มีความเป็นธรรม ผมก็ถามเขาคำหนึ่งว่าทำไมคุณทำกับเราอย่างนี้ เขาทำท่าเหมือนจะเอาปืนเอ็ม 16 ตีผม พวกเราก็ไม่กล้าพูด เรามีมือ เขามีเอ็ม 16 ยิงเราแล้วจะใส่ข้อหาอะไรก็ได้ คนของเขาทั้งนั้น แล้วยังเอาเสื้อผ้าของเรา 20 คนมากองไว้ทั้งหมด เราเสียเวลาตรงนั้นสองสามชั่วโมง เหตุการณ์นั้น 20 กว่าปียังอยู่ในหัวใจผม ทำไมเขาทำกับเราอย่างนี้”

ฉันก็ไม่รู้ เธอรู้มั้ย?

พี่ผู้หญิงกับป๊ะกอเซมตาบอกกับฉันเหมือนกันว่าสตูลเป็นเมืองสงบ คนสตูลชอบความสงบ ไม่อยากมีเรื่องมีปัญหา พี่ผู้หญิงวิเคราะห์แบบบ้านๆ ให้ฉันฟังว่า คนใน 3 จังหวัดส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ แต่สตูลจะมีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยเยอะ อีกทั้งภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาไทยมากกว่าจะเป็นภาษามลายู

...............

จากคฤหาสน์กูเต็น ฉันเดินต่อมายังมัสยิดมำบังตามคำแนะนำของพี่ผู้หญิงที่บอกว่า มุมมองของพี่น้องมุสลิมน่าจะมีอะไรให้พูดคุยมากกว่า และฉันก็เชื่อ

มัสยิดมำบังหาไม่ยาก สัญลักษณ์ดวงดาวและจันทราลอยเด่นเล่นแดดบ่ายอยู่บนยอดโดมของมัสยิด ฉันถอดรองเท้าและเดินขึ้นบันไดด้วยอาการเกร็ง หวั่นว่าจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมุสลิมด้วยความไม่รู้

“มันไม่ได้น่ากลัวเหมือนข่าวที่ออกไป ลูกสะใภ้ผมก็อยู่ตานี คนที่ออกข่าวให้น่ากลัวคงจะได้ผลประโยชน์อะไรหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ” เกษม มะโรหบุตร วัย 75 ปี อดีตป๊ะเกษมเป็นคนขับรถให้ผู้ว่าฯ สตูลมาแล้ว 15 คน ตอนนี้ป๊ะเกษมเกษียณแล้วและใช้ช่วงเวลาที่เหลือตามแนวทางของมุสลิมที่ดี “แต่คนสตูลไม่ยุ่งด้วย ไม่ชอบยุ่งกับทางโน้น ยุ่งแต่ทางศาสนา ทำมาหากิน”

ถ้าพูดถึงความรุนแรง สตูลยังสามารถรักษามุมสงบงามไว้ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างราบเรียบเหมือนทะเลหลับใหล ...ต่อให้ทะเลนิ่งยังไงยังต้องมีคลื่น เมืองสตูลก็เหมือนหลายๆ จังหวัดในประเทศไทยที่มีการกระทบกระทั่งระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ยิ่งเมื่อประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่ยึดถือในวิถีศาสนาด้วยแล้ว การกระทบกระทั่งก็ยิ่งมีแง่มุมจำเพาะ ไม่ว่าจะเรื่องวิถีการพัฒนาที่ตอนนี้มีความคิดเห็นต่อโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแยกเป็น 2 ฝั่ง หรือแม้แต่เรื่องที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนสตูลอย่างเรื่องภาษา...

“ที่นี่คนจะพูดภาษาไทยได้มาก เดี๋ยวนี้เกือบจะพูดมลายูกันไม่ได้แล้วมั้ง ตามบ้านเดี๋ยวนี้พูดกลางกันหมด เมื่อก่อนยังพูดใต้ ผมยังนึกว่าต่อไปรุ่นลูกๆ หลานๆ จะเสียภาษามลายูไป เพราะในโลกปัจจุบันนี้ใครยิ่งรู้ภาษาเยอะยิ่งได้เปรียบ เดี๋ยวนี้พ่อแม่ก็หัดให้ลูกพูดแต่ภาษาไทย ภาษามลายูที่เป็นของดีอยู่แล้วก็ทิ้งไปหมด ถ้าเด็กมุสลิมรุ่นหลังพูดมลายูไม่ได้แล้ว ผมว่าไม่ดี” เป็นความเห็นของคุณลุงชาวมุสลิมอีกคนหนึ่ง แกเป็นนักธุรกิจก็เลยไม่อยากให้ฉันบอกชื่อ

แต่ฉันไม่ได้บอกนะว่าคนที่นี่ไม่กลัว ฉันเชื่อว่าคนสตูลทุกคนกลัวเหมือนกันว่าสักวันความรุนแรงจาก 3 จังหวัดจะรุกรานมาถึง ธุรกิจในสตูลคงพังพาบไม่เป็นท่า นักท่องเที่ยวที่คิดจะมาเที่ยวเกาะอาดัง-ราวี หลีเป๊ะ ตะรุเตา อาจต้องคิดหนัก

เธออยากรู้ใช่มั้ยว่าที่สตูลมีกลุ่มก่อความไม่สงบจาก 3 จังหวัดลงมาบ้างหรือไม่ ใช่, ฉันถาม แต่คำตอบไม่ตรงกัน บางคนบอกมี บางคนบอกไม่มี คำตอบที่เหมือนกันคือทุกคนจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาเมื่อเห็นคนแปลกหน้า คุณลุงนักธุรกิจบอกฉันว่า

“เราก็กลัวว่าจะลามมาทางนี้ แต่ทุกคนก็ช่วยกันดูแล พอมีคนแปลกหน้าเข้ามา...อย่างที่มัสยิดมำบัง เวลามีคนมาขอพัก เราก็ต้องขอดูบัตรเขาก่อน ถ้าเห็นแปลกหน้าเราก็ต้องโทร. ไปให้ทางการรับรู้”

ฟังแล้วก็ดูเป็นเรื่องดีที่ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แต่ฉันไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องดีที่ควรจะดำรงอยู่หรือเปล่า ฉันไม่ค่อยแน่ใจนักหรอกว่าการมีชีวิตบนความรู้สึกสั่นคลอนหรือการมีความหวาดระแวงเป็นเกราะกำบังจะเป็นเรื่องน่าปรารถนาของการมีชีวิต ฉันยังได้ยินคนพูดว่ามีทหารลงมาประจำที่สตูลมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ถ้าฉันเป็นคนสตูล ฉันตอบไม่ได้จริงๆ ว่าควรอุ่นใจหรือกังวลใจ

“มีทหารมาเหมือนกัน เกือบปีแล้ว ชาวบ้านเริ่มรู้สึกไม่ค่อยดีเหมือนกัน คือพอกระแสมาจาก 3 จังหวัดแบบนั้น กลุ่มที่เขาไม่ได้ติดตามข่าวเขาก็รู้สึกว่าปลอดภัย มีทหารมา แต่กลุ่มที่เขาติดตามข่าวอยู่ เขาก็จะหวาดระแวง” พี่ผู้หญิงคนนั้น

“ในใจผมนึกว่าที่ทหารเข้ามาคงเข้ามาดูแลไม่ให้มีเหตุการณ์ สตูลมันเป็นจังหวัดชายแดน ทางการเขาอาจจะให้เข้ามาดูแล ตอนนี้มันต้องเผื่อเอาไว้ก่อน เราจะไปทำทีหลังก็ไม่ได้” ป๊ะเกษม

“ทหารเข้ามาเราก็ไม่รู้สึกอะไร ถือว่าเป็นหน้าที่ของเขา เพียงแต่ว่าทหารอย่าสร้างปัญหาในพื้นที่ อยู่แต่ในค่ายของเขา อย่าออกมาสร้างปัญหา เพราะคนที่นี่เขาอยู่กันดีอยู่แล้ว เวลาออกมาข้างนอกก็อย่าใส่เครื่องแบบ ใส่เสื้อผ้าธรรมดา ถ้าทำได้อย่างนั้น ผมว่าไม่มีปัญหา” คุณลุงนักธุรกิจ

.................

ตอนนี้ใครๆ ก็คาดหวังว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์จะเยียวยาปัญหาภาคใต้ได้เป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ เพราะมี ส.ส. ในพื้นที่มากที่สุด แต่เธออย่าเพิ่งวางใจ การเมืองแสนยุ่งขิงและเศรษฐกิจแสนยุ่งเหยิงอาจทำให้นายกฯ หน้าตาดีไม่มีสมาธิพอจะแลใต้ การจะตั้งหน่วยนั้น ยุบหน่วยนี้ เพื่อดูแลปัญหาภาคใต้โดยเฉพาะ อาจเป็นความพยายามที่น่าประทับใจเล็กๆ แต่ก็ไม่ได้การันตีความอุ่นใจสักเท่าใด

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และนักวิชาการหลายท่านเคยบอกว่า รากเหง้าปัญหาภาคใต้โยงใยกับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้อย่างไรถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ คุณลุงนักธุรกิจเล่าว่าได้ยินบ่อยเรื่องข้าราชการรังแกคนมุสลิม หรือบางทีเจ้าหน้าที่ก็เอาสุนัขเข้าไปตรวจค้นบ้านหรือปอเนาะ ...เรื่องเปราะบางขนาดนี้ยังไม่รู้ ฉันล่ะกลุ้มใจ

ฉันโชคดีได้สนทนากับคุณลุงข้าราชการชาวมุสลิมคนหนึ่ง (เธอคงรู้ว่าฉันเอ่ยชื่อไม่ได้) ฉันรู้สึกว่าคุณลุงข้าราชการคนนี้มีมุมมองที่น่าสนใจ ในฐานะคนที่อยู่ใกล้ชิดสถานการณ์มากกว่าคนกรุงเทพฯ

“มันไม่แรงอย่างนั้น ผมเจอเพื่อนทางภาคอีสาน ภาคเหนือ เขาถามผมว่าไม่กลัวเหรออยู่สตูล ผมบอกว่าไม่รู้จะกลัวอะไร เขาบอกว่าเขากลัวนะ แค่ฟังข่าว ผมบอกว่าถ้าแค่ฟังข่าวนะ ผมพูดให้คุณกลัว คุณก็กลัว แต่ถ้าผมพูดให้คุณไม่กลัว คุณก็ไม่กลัว คุณฟังอย่างเดียว แต่คุณนึกคิดไปเองพอได้ยินว่ายิงกันตาย คำว่ายิงกันตาย ยิงกันยังไงล่ะ คือดูแต่ข่าว ฟังแต่ข่าว แต่ไม่ได้เห็นของจริง มันไม่เหมือนกับข่าวที่ออกไป ผมก็เล่าไม่ถูกนะ แต่ความคิดของผมที่ไปอยู่เรื่อย ระหว่างปัตตานี ยะลา นราฯ ผมเข้าไปเรื่อย เพราะมีเพื่อนหลายคนเขาอยู่ในพื้นที่ เขาก็อยู่ปกติ แต่ทำไมคนข้างนอกถึงกลัว เพราะฟังแต่ข่าวแต่ไม่ได้ลงไปสัมผัส”

ในฐานะข้าราชการ คุณลุงข้าราชการยอมรับว่าทุกวันนี้ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อพี่น้องชาวมุสลิม

“มีการเลือกปฏิบัติ ปัจจุบันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ยิ่งทหาร ตำรวจ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ผมทำงานราชการ ผมรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ชาวมุสลิมเหมือนจะเป็นประชาชนชั้นสอง”

ฉันอยากถามเธอ-คิดว่าสถานการณ์ความรุนแรงมีสาเหตุจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า? คนที่ฉันคุยด้วยพูดเหมือนกันว่า “ไม่มีร้อก” การถ่ายทอดสดครั้งนั้นที่เรียกว่า ‘บิ๊กเหวียงโชว์’ จึงมีค่าแค่ความครื้นเคร้งในวงน้ำชายามเช้าของคนที่นี่ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเรื่องอื่น เรื่องความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ ยาเสพติด งบประมาณ พวกเขาเชื่อว่าการเพาะเลี้ยงสถานการณ์ให้เรื้อรังมีหลายฝ่ายได้ประโยชน์ มันทำให้ฉันนึกถึงคำของนักวิชาการบางคนที่ใช้คำว่า ‘อุตสาหกรรมความรุนแรง’

...............

ทั้งหมดนี้เป็นแค่อารมณ์ ความเชื่อ ความคิดเห็นของคนในตัวเมืองสตูลจำนวนหนึ่งเท่านั้น มันอาจบอกอะไรบางอย่างหรือไม่ก็ไม่บอกอะไรเลย

แต่ 4 ปีแล้วที่ผู้คน 3 จังหวัดต้องอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรง 4 ปีที่คนสตูลต้องอยู่กับความกลัว ความหวาดระแวง ข่าวลือ และเรื่องราวที่พี่น้องร่วมศาสนาต้องถูกมองด้วยแววตาคลางแคลง ขณะที่ส่วนต่างๆ ในประเทศไทยได้ยินข่าวความรุนแรงในพื้นที่เป็นกิจวัตรหลังอาหาร

สิ่งที่ฉันกลัวคือ ฉันกลัวว่ามันจะกลายเป็นความชาชิน

ฉันเคยสนทนากับ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าของไทย เขาเล่าเรื่องตอนที่ไปฝังตัวอยู่ในเทือกเขาบูโด เขาบอกว่าที่นั่นเหมือนเมืองไทยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ประโยคหนึ่งที่ฉันยังจำได้...

“คนที่นั่นเขาแค่อยากอยู่ของเขาอย่างที่เขาเคยอยู่ แต่คนข้างนอกอยากให้เขาเปลี่ยน”

บางทีนี่อาจเป็นประโยคที่สรุปเรื่องราวได้ตรงที่สุด

จากใจ แด่เธอ-คนร่วมแผ่นดิน

************

ผศ.ดร.พีรายศ ราฮิมมูลา ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จังหวัดสตูล ถ้าเรามองตามประวัติศาสตร์แล้ว มันก็เป็นอำเภอหนึ่งของรัฐเคดาห์ในอดีต เริ่มแยกมาอยู่กับประเทศไทยเมื่อมีการทำสนธิสัญญาอังกฤษ-ไทย วันที่ 10 มีนาคม 2452 หรือ 1909 สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาสตูลก็กลายเป็นจังหวัด โดยมีจังหวัดสงขลากับพัทลุงคั่นขั้นกลางจึงทำให้สตูลแยกออกไปจากพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แต่แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในสตูลจะเป็นมุสลิม แต่มีความใกล้ชิดกับสงขลาและพัทลุงเป็นส่วนใหญ่

อีกอย่างหนึ่ง ในสตูลไม่มีการจัดตั้งขบวนการใต้ดิน ไม่เหมือนกับปัตตานี จึงทำให้สตูลค่อนข้างสงบเงียบเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การโดนปิดล้อมด้วยจังหวัดสงขลาและพัทลุงทำให้นโยบายการผสมผสานกลมกลืนในสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ค่อนข้างจะได้ผล คนสตูลส่วนใหญ่ก็พูดภาษาไทยซึ่งแตกต่างจากประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูลจึงเป็นเพียงทางผ่านของอาวุธต่างๆ เพราะสตูลมีเกาะมากมาย อาวุธเหล่านั้นจะลงมาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งไปอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย สมัยที่ยังมีการต่อสู้ อีกส่วนไปศรีลังกา ขายให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เพราะฉะนั้นจึงทำให้สตูลมองดูแล้วค่อนข้างสงบ ไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดกัน มีเชื้อสายมลายูและใช้ภาษามลายูเหมือนกันทำให้มีการรวมตัวกันง่ายกว่าสตูล

แต่ตอนนี้นโยบายที่เคยใช้กับสตูลในอดีตใช้ไม่ได้กับพื้นที่ 3 จังหวัดครับ เพราะทฤษฎีการผสมกลมกลืนถูกต่อต้านมาตลอด ในสมัยนั้นมีการอพยพพี่น้องมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลักษณะของนิคมสร้างตนเอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดปฏิกิริยา เพราะว่ามันมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ที่คนในพื้นที่เกิดความรู้สึกว่าทำไมคนในพื้นที่ที่ยากจนกลับไม่ได้ที่ดิน แต่คนที่อื่นกลับมาได้ที่ดิน ระยะหลังรัฐบาลก็ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่นโยบายบูรณาการ คือการยอมรับทุกๆ ฝ่าย ซึ่งวัตถุประสงค์ในสมัยนั้นก็เป็นเหตุผลในยุคนั้น แต่ก็ล้มเหลวใน 3 จังหวัด

แต่มันก็ไม่เชิงว่าสตูลสงบราบคาบนะครับ สมัยเป็นอาจารย์ ผมเคยไปสอบถามพ่อค้าแม่ขายในฝั่งมาเลเซีย เด็กรุ่นใหม่ในสตูลก็เริ่มมีปฏิกิริยาบ้าง แต่ไม่มากเท่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ ถ้าจิตสำนึกหรือความเป็นชาตินิยมมลายูของชาวสตูลเกิดขึ้นในคนรุ่นใหม่ มันก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการก่อหวอดขึ้นมา และจริงๆ แล้วก็มีความเคลื่อนไหวใต้ดินในด้านสินค้าหนีภาษีซึ่งในปัจจุบันจังหวัดสตูลจะเป็นหลัก อาศัยความสงบในพื้นที่ทำให้คนไม่สงสัย มันกินกันตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง มีแบ่งเป็นรายเดือนกัน การลำเลียงสินค้าหนีภาษีต่างๆ จะเข้ามาทางสตูล สู่หาดใหญ่ และเข้ากรุงเทพฯ มากกว่าที่จะผ่าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนการที่มีทหารลงไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูลนั้น... คือความรู้สึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากปี 2547 ที่มีการปล้นปืน เราก็มีการส่งทหารลงไปในพื้นที่จนถึงวันนี้ ประชาชนที่อยู่ในภาคชนบทเขารู้สึกว่าถ้าหากตรงไหนมีตำรวจมาก มีทหารมาก ตรงนั้นมักจะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นความรู้สึกของพี่น้องมุสลิม เขาไม่อยากให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่เลย มันตรงข้ามกับความรู้สึกของชุมชนพี่น้องไทยพุทธ เขามีความรู้สึกว่าการที่มีตำรวจ ทหารอยู่ เขามีความมั่นคง มีความสบายใจมากกว่า

ปัจจุบันนี้ แนวความคิดนี้จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน เวลาเราจะพูดอะไรในพื้นที่ 3 จังหวัด เราต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยากจะให้ทหารอยู่ อีกกลุ่มหนึ่งอยากจะให้ทหารออกไป เพราะมุมมองต่างกัน ความรู้สึกต่างกัน ในจังหวัดสตูลก็เช่นเดียวกัน

****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล


คฤหาสน์กูเต็น อดีตเคยเป็นบ้านของเจ้าเมืองสตูล ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล

มัสยิดมำบัง
เด็กน้อยชาวมุสลิมสนุกสนานตามประสาเด็กบริเวณลานด้านข้างมัสยิดมำบัง

ทะเลแสนสวยที่สตูล
กำลังโหลดความคิดเห็น