xs
xsm
sm
md
lg

Vintage Style เก่า... ไม่มีวันเสื่อมคลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พูดถึง Vintage ชื่อนี้นักนิยมของเก่า ประเภทเฟอร์นิเจอร์อย่างตู้โชว์, โต๊ะ, เตียง, เก้าอี้ ตลอดจนเครื่องถ้วยชาม พากันน้ำลายหยดติ๋ง เพราะแต่ละชิ้นนำเข้าจากต่างประเทศ จากดินแดนที่มีอารยธรรมและความงดงามทางด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอีกหลายประเทศ

อาคาร 3 ชั้น 2 คูหา ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนราชพฤกษ์ ตกแต่ง ดีไซน์แบบเรียบง่าย ดูคลาสสิก ใครๆ ขับรถผ่านไปมาก็จะเห็นป้ายตัวเบ้อเริ่มเทิ่มว่า Vintage ภายในอาคารประดับตกแต่งด้วยโคมไฟที่ดูสวยหรู ตู้ เตียง ก็มีลวดลายการแกะสลักที่ดูประณีตงดงาม ถูกจัดวางอย่างพองาม

‘ปริทรรศน์’ ได้เข้าไปสัมผัสเดินลัดเลาะดูงานแต่ละชิ้น ทำให้เพลิดเพลิน หลงเสน่ห์มนต์ขลังของลวดลายจากฝั่งตะวันตกชนิดลืมวันลืมเวลา จนทางเจ้าของตึกโอ่โถ่งหลังนี้ ต้องเชิญให้จิบน้ำ ดื่มกาแฟ วงสนทนาก็เลยเริ่มต้นที่โต๊ะกลมหินอ่อน ล้อมวงด้วยเก้าอี้ทรงอิตาลีอีก 4 ตัว

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นและอยากทราบที่มาที่ไป จึงได้เปิดประเด็นเรื่องของเก่า เล่าสู่กันฟัง โดยบิว - พริบดาว หะซะนี และบูม - รัฐพันธ์ ธำรงธนกิจการ สองพี่น้องเป็นผู้เล่าให้ฟัง...

ชื่อ Vintage มีที่มาที่ไปอย่างไร ?
บูม/บิว : ชื่อนี้คุณลุงเป็นคนตั้งให้ ท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่อเมริกา และก็ไปเรียนต่อด้านแพทย์ที่นิวเจอซี่ ท่านเป็นนักเรียนแพทย์ก็เลยได้มาเป็นหมอ แต่แทนที่จะสะสมอะไรที่เกี่ยวกับมนุษย์ ท่านกลับหันมาสะสมของเก่า ตั้งแต่ธงห่อศพ เสื้อผ้า หมวกทหาร เครื่องสนาม โมเดลรถเบนซ์ โรลสรอยส์ BMW หรืออีกหลายยี่ห้อ สารพัดที่พอจะสะสมได้ท่านเก็บเรียบ กระทั่งเกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา

ตอนนี้ใครเป็นคนดูแล แล้วแบ่งหน้าที่กันอย่างไร ?
บูม : เป็นธุรกิจแบบครอบครัวครับ คุณแม่เป็นประธานกรรมการ บูมเป็นฝ่ายวางแผน ทำการตลาด ส่วนบิวประจำอยู่ที่ร้าน ฝ่ายต้อนรับ และคุยกับลูกค้า

ลูกค้าส่วนมากเป็นคนกลุ่มไหน ?
บิว : ส่วนมากเป็นคนมีเงิน และมีรสนิยมทางด้านศิลปะ

พอจะบอกได้ไหมว่ามีใครบ้าง ?
บิว : อย่างคุณสัญญา คุณากร นักธุรกิจ หรือนักการเมืองอีกหลายท่านก็มาซื้อที่นี่

แล้วของที่นี่มีให้เช่าบ้างหรือเปล่า ?
บิว : มีเหมือนกันค่ะ อย่างบริษัทโฆษณาก็มาขอเช่าสถานที่ถ่ายทำไปแล้วหลายเรื่อง แต่ไม่ให้เช่าทีละชิ้นสองชิ้นนำไปนอกสถานที่ ตรงนั้นทางเราไม่เอา เพราะเสี่ยงกับการชำรุด ถ้าเอามาซ่อมมันก็จะไม่เหมือนเดิม เมื่อสินค้าชิ้นนั้นตกไปถึงมือลูกค้าเขาก็จะว่าเราได้

Vintage นี้ทำมากี่ปีแล้ว ?
บิว : เกือบยี่สิบปีแล้วค่ะ

สินค้าแต่ละชิ้นนอกจากที่สะสมไว้แล้วไปได้มายังไงถึงได้มากมายขนาดนี้ ?
บูม : ส่วนมากลูกหลานรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่า ก็จะเปลี่ยนไปตามแฟชั่น ตามยุคตามสมัย บ้างก็เกิดล้มละลายจนได้ขายสมบัติเก่าเพื่อเลี้ยงชีพ บางครั้งรุ่นปู่ รุ่นย่าก็เสียชีวิต ล้มหายตายจาก พอตกถึงรุ่นหลานก็นำไปขายในราคาถูก หรือได้จากบ้านคนตายก็มี

มีเรื่องเล่า หรือเหตุการณ์ลี้ลับเกี่ยวกับของเก่าเหล่านี้เกิดขึ้นบ้างไหม ?
บิว : มีครั้งหนึ่งแม่เล่าให้ฟังว่าฝันถึงเด็กผู้หญิง พอตอนเช้าแม่ไปพลิกดูแผ่นหินชั้นหนึ่งที่ใช้สำหรับวางหน้าศพ ปรากฏว่าสลักชื่อเด็กและวันชาตะ มรณะไว้ ฟังแล้วก็ขนลุก นี่เป็นเพียงแผ่นหินเท่านั้น ยังมีแหล่งที่มาหลากหลายกว่านั้นอีก อย่างเก้าอี้นักโทษก็มี ธงห่อศพก็มี หมวกทหารที่โดนกระสุนจนทะลุเป็นรู แต่ก็ไม่มีเหตุสยองขวัญเกินกว่าที่คุณแม่เล่าให้ฟังค่ะ

คุณสองคนเป็นคนรุ่นใหม่ ทำไมถึงมาทำธุรกิจเกี่ยวกับของเก่า ไม่อยากทำธุรกิจที่ดูเก๋ไก๋ทันสมัยกับเขาบ้างหรือ ?
บูม : ก่อนอื่นต้องบอกว่าชอบ ใจรัก พอมีทุนเดิมที่เป็นความชอบ เป็นแรงบันดาลใจ ทุกอย่างมันก็ผ่านอุปสรรคไปได้ กลายเป็นความเคยชินในที่สุด เลยอยู่กับมันได้ อีกอย่างก็เป็นการอนุรักษ์เรื่องราวทางศิลปะ บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศึกษารากเหง้าวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เก้าอี้ ตู้โชว์ แต่ละตัวก็มีประวัติความเป็นมาต่างกัน ทั้งเป็นการลดอุณหภูมิโลกร้อน เพราะถ้าหากคนหันมาใช้ของเก่า ก็ไม่ไปตัดไม้ทำลายป่า ไม้แต่ละชิ้นต้องใช้ต้นไม้ใหญ่มาก นั่นหมายถึงมนุษย์ต้องโค่นไม้ยืนต้นลำต้นมหึมา

ของเก่าในร้านนี้ราคาต่ำสุดประมาณเท่าไหร่ ?
บูม : อืม... ประมาณ 7 หมื่นบาทครับ

แล้วตู้โชว์ใบใหญ่ ที่ประดับลวดลายนั้นล่ะ ? (เราชี้มือไปที่ตู้โชว์ที่ตั้งอยู่ถัดไปไม่ไกล)
บูม :
2 แสนบาท บางตู้ก็ 3 แสน แล้วแต่งาน แล้วแต่ความเก่า ยิ่งอายุยาวนานเท่าไหร่ คุณค่าทางศิลปะก็ยิ่งมาก

แล้วรู้ไหมว่าแต่ละชิ้นมีอายุเท่าไหร่ ?
บูม: ไม่ต่ำกว่า 100 ปี

แล้วอย่างนี้ทางลูกค้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นของเก่าจริง ?
บูม : คนที่สะสมของอย่างนี้ เขาจะศึกษาและดูของเป็น ส่วมผมเองก็เรียนรู้จากความผิดพลาดและหมั่นศึกษาเพิ่มเติม จนทุกอย่างสามารถแยกแยะออกได้อย่างชัดเจน ของแต่ละอย่างก็มีเทคนิคในการพิสูจน์ว่ามีอายุเท่าไหร่ เช่น เราจะดูว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นๆ มีอายุเท่าไหร่ก็จะดูจากเนื้อไม้ เซลล์ของไม้ หรือบางครั้งก็ต้องใช้หลักทางประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาความจริง สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นานเข้าก็จะสั่งสมเป็นประสบการณ์ จนเชี่ยวชาญในอาชีพของตนเอง เมื่อมีความมั่นใจเราก็กล้าที่จะซื้อของชิ้นใหญ่ เพื่อจะได้กำไรมากขึ้น และที่ลูกค้ามั่นใจอีกอย่างก็คือเราต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าของที่ประทับตราออกจากร้านเราเป็นของเก่าจริง เราต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตัวเอง ลูกค้าก็จะเชื่อมั่นในร้านของเราครับ

วางแผนทางการตลาดอย่างไรบ้าง ?
บูม : โดยการลดราคาบ้าง คุยกับธนาคารเพื่อให้ลูกค้าผ่อนชำระเป็นงวดๆ

แล้วมีโครงการอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้างในอนาคต ?
บูม : ก็อยากจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ทำเป็นมุมกาแฟ มุมหนังสือ เป็นที่พบปะติดต่อเรื่องธุรกิจ หรือเป็นที่สนทนาประสาเพื่อนๆ กลุ่มคนทำงาน หรือกลุ่มนักศึกษาที่ใฝ่รู้ อยากจะศึกษาด้านนี้ ใครอยากจะดูเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง โคมไฟ หรือของเก่าทุกอย่าง ให้มาดูได้ที่นี่ ถ้าถูกใจก็ซื้อขายกันไปเลย

เวลาเดินทางไปดูสินค้าที่ต่างประเทศแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายเยอะไหม แล้วใครเป็นคนออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ ?
บิว :
ทางฝรั่งเขาจะออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ แต่ถ้าเที่ยวไหนไปหลายคนหน่อยฝรั่งตาน้ำข้าวก็จะกลายเป็นตาเขียว ฉุนกึ้ก เพราะทำให้กำไรเขาน้อยลง

ขอถามเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่ง บิวเรียนจบทางด้านไหนมา ?
บิว : บิวตอนนี้อายุ 28 ปี เคยไปเรียนภาษาที่ USA เป็นเวลา 2 ปี แล้วกลับมาเรียนที่ ABAC จบปริญญาตรีคณะ Business English ตอนนี้กำลังเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนพี่บูม ตอนนี้แก่แล้วอายุ 32 ปี จบปริญญาตรี USA NY HUNTER COLLEGE คณะ Fine Arts ชอบอะไรที่ศิลป์ๆ ชอบคิด ชอบดีไซน์

ถ้าอย่างนั้นบูมเอาความรู้ที่เรียนมาช่วยในกิจการอย่างไร ?
บูม : ของบางชิ้นก็ได้มาแบบสมบูรณ์แบบแทบจะไม่มีตำหนิ แต่บางชิ้นต้องนำมาตกแต่ง การตกแต่งต้องมีความเข้าใจและมีพื้นฐานด้านศิลปะพอสมควร เช่น เก้าอี้บางตัวมีอายุเนื้อไม้เป็นร้อยๆ ปี สีใหม่ที่เราตกแต่งเข้าไปต้องมีการเทียบสี เทียบพื้นผิวเพื่อให้เหมือนจริง เก่าจริงที่สุด

แล้วอย่างนี้ลูกค้าที่ต้องการของเก่าจริงๆ เขาจะชอบใจหรือ ?
บูม : เราไม่ได้หลอกลูกค้า แต่เราต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเราตกแต่งส่วนไหน เอาความจริงบอกให้รู้ เช่น เราอธิบายว่าของเก่าชิ้นนี้มีอายุเป็นร้อยปี ย่อมมีถลอก มีแตกบ้าง เนื่องจากกาลเวลา แต่คุณค่านั้นไม่เสื่อมไปตามกาลเวลา ลูกค้าก็จะเข้าใจ แต่ก็ไม่เสมอไปทุกราย อีกอย่างเอาความรู้ที่เรียนมาออกแบบเพื่อสร้างแบรนด์ใหม่ เป็นการสร้างสรรค์ศิลปะที่บ่งบอกถึงยุคสมัยนี้ แต่ก็จะจัดเป็นสินค้าแบบสมัยปัจจุบัน และศึกษาเพิ่มในการดูของแต่ละชิ้นว่าเป็นยุคใดสมัยใด เรายิ่งศึกษาก็เหมือนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่นไปในต้ว

แล้วในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ลูกค้าลดลงเยอะไหม ?
บูม : ก็ลดลงพอสมควร แต่ยังมีลูกค้าเก่าๆ ที่เป็นลูกค้าประจำ ก็ยังแวะเวียนมาอุดหนุนไม่ขาดสาย

นอกจากทาง ‘ปริทรรศน์’ ได้พูดคุยกับทางเจ้าของร้าน VINTAGE แล้ว เรายังได้พบกับนักสะสมของเก่าตัวยงอย่าง น้อย วงพรู (กฤษฎา สุโกศล) ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าของร้าน VINTAGE อีกคนหนึ่ง ชื่อน้อย วงพรู ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ บรรดาวัยรุ่นเด็กแนวก็คงรู้จักกันดี น้อยบอกว่าแม้ตัวเองจะเกิดในยุคไอที หรือยุคที่ทันสมัยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรต่อมิอะไรกำลังเฟื่องฟู แต่สำหรับ น้อย วงพรู แล้วเขาอยากกลับไปใช้ชีวิตในยุค 1920 หรือเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมามากกว่า

เราได้ทีก็เลยถือโอกาสถามไถ่เสียเลยว่า เหตุใดคนหน้าตาทันสมัยแบบนี้ ถึงคิดอยากไปเป็นคนโบราณ...

ทำไมคุณถึงคิดอยากไปอยู่ในยุคนั้น ?
น้อย : บ้านเมืองเราเท่าที่น้อยศึกษาหรือดูหนังมา ในสมัยเก่าผืนแผ่นดินไทยมันน่าอยู่กว่าสมัยนี้ตั้งเยอะ ไล่ไปจากเรื่องวัฒนธรรม คุณงามความดี น้ำจิตน้ำใจของผู้คน มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน รู้สึกว่ามันสงบร่มเย็น ไม่ฟุ้งเฟ้อเพ้อเจ้อหลงวัตถุเหมือนสมัยนี้ สังเกตจากตอนที่ผมเดินทางออกต่างจังหวัด จะรู้สึกผ่อนคลายหรือสบายใจ เห็นป่าเขา ทุ่งหญ้า เห็นท้องไร่ท้องนาเขียวขจี ทำให้เราจินตนาการไปถึงรากเหง้า ขนบธรรมเนียมของความเป็นไทย แต่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เห็นกันดีว่าบ้านเมืองเราไม่น่าอยู่เลย ปัญหามีมากมาย คนหลงใหลได้ปลื้มมุ่งแต่เรื่องหาเงิน จนลืมสิ่งที่งดงามแบบไทยๆ ที่เป็นรากเหง้า ในการชโลมจิตใจ ผมได้สะสมของเก่าเหล่านี้ก็เหมือนได้สัมผัสถึงวิญญาณของสิ่งเหล่านั้นจริงๆ ของยิ่งเก่า ยิ่งมีทั้งคุณค่าและราคาแพง

คุณชอบสะสมของประเภทไหน ?
น้อย :
หลากหลาย ไม่จำกัดว่าต้องเป็นรถยนต์ นาฬิกา เครื่องบิน รถดับเพลิง หรือเครื่องยิงจรวด เพราะบางอย่างชิ้นเล็กๆ ไปเจอเมื่อถูกใจก็ซื้อเลย เราสะสมหลากหลายก็เหมือนได้ศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป บางชิ้นมาจากฝรั่งเศสเราก็ได้ทราบเรื่องราวขนบธรรมเนียมของฝรั่งเศสเมื่อร้อยปีที่แล้วว่าเป็นมายังไง บางชิ้นมาจากลาว เขมร เราก็ได้ทราบเรื่องราวประเทศเพื่อนบ้านของเรา บางครั้งเราไปเที่ยวเฉยๆ ไม่ได้เป็นนักสะสม การที่จะไขว่คว้าหาความรู้ก็จะไม่มี แต่พอเราได้ของชิ้นนั้นมาเราก็อยากรู้ว่าเป็นมาอย่างไร

คุณพูดถึงการได้สัมผัสถึงวิญญาณของสิ่งต่างๆ ที่เป็นของเก่า แล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเคยเจออะไรที่เป็น 'วิญญาณ' อีกแบบหนึ่งบ้างไหม ?
น้อย : ส่วนตัวแล้วไม่เคยเจอ แต่ผมเชื่อเรื่องวิญญาณนะ คิดว่าถ้าเราทำดี ดูแลของที่เราได้มาอย่างดี เจ้าของเดิมเขาน่าจะเห็นดีเห็นงามกับเรา เผลอๆ อาจจะบอกหวยให้ถูกรางวัลที่หนึ่ง (หัวเราะ)

คุณสะสมของเก่าไว้ทำไม ?
น้อย : อันดับแรกคือความชอบ อีกอย่างคงเป็นเหมือนนักสะสมทั่วๆ ไปที่ทำเป็นธุรกิจ แต่บางชิ้นมันหามายากเย็นแสนเข็ญ เมื่อหลุดจากมือไปก็รู้สึกใจหาย เหมือนคนที่เรารักหลุดจากอ้อมกอดเราไป แต่บางครั้งก็จำเป็นเพราะต้องนำทุนรอนมาซื้อชิ้นอื่นๆ

ตอนนี้คุณสะสมไว้เยอะไหม ?
น้อย : ตึกสามคูหา คูหาละ 3 ชั้น ของน่าจะเต็ม

เยอะขนาดนั้น ในอนาคตคุณคิดจะเอาไปทำอะไรไหม ?
น้อย : ฝันไว้ว่าอยากทำโรงแรมกึ่งๆ พิพิธภัณฑ์ เอาของทั้งหมดมาโชว์ให้คนดู นอกจากมาเที่ยวโรงแรมเราแล้ว ยังได้เพลิดเพลินกับของเก่า ตอนนี้เพิ่งตอกเสาเข็มครับ

สนใจของเก่านำเข้าจากยุโรป อเมริกา อิตาลี ก็แวะไปชมกันได้ที่ร้าน VINTAGE ถ.ราชพฤกษ์ ตลิ่งชัน หรือโทร. 08-0929-2070 / 08-6894-4146

************

เรื่อง-ธีระพงษ์ศักดิ์ สังฆะทิพย์









กำลังโหลดความคิดเห็น