xs
xsm
sm
md
lg

‘วัลลภ เจียรวนนท์’ จากเจียไต๋ สู่ธุรกิจยักษ์ใหญ่เครือซีพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะพูดถึงนักธุรกิจรุ่นใหญ่ที่ยังมีไฟในการทำงาน ก็คงต้องมีชื่อของ ‘วัลลภ เจียรวนนท์’ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อยู่ในทำเนียบด้วยแน่นอน เนื่องเพราะผู้ชายคนนี้คือหนึ่งในผู้บริหารยุคบุกเบิกของเครือซีพี ซึ่งแม้จะมีรุ่นลุงรุ่นพ่อที่เข้ามาก่อร่างสร้างธุรกิจไว้ในผืนแผ่นดินไทยแล้ว แต่การเข้ามารับช่วงการบริหารธุรกิจของตระกูลในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ภายใต้ชื่อบริษัท เจียไต๋ จำกัด ในฐานะลูกหลานเจ้าสัวนั้นหาได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนคิดไม่

เริ่มจากงานแบกหาม

หลังจบการศึกษาจากด้านบริหารธุรกิจจากประเทศออสเตรเลีย วัลลภก็ได้กลับมาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว แม้จะเป็นบุตรชายของนายชนม์เจริญ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของนายเอ๊กซอ แซ่เจี่ย ชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเจียไต๋ บริษัทนำเข้าและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น แต่วัลลภก็หาได้มีอภิสิทธิ์ใดๆ เขาเริ่มงานที่เจียไต๋ในฐานะที่ต่างจากคนงานทั่วๆไป โดยทำทุกอย่างตั้งแต่แบกหาม ขับรถขนของ และเป็นเซลส์ที่ออกเดินสายขายเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง ด้วยความมานะ อดทน ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหลงจู๊ซึ่งดูแลรับผิดชอบงานหลักๆในบริษัทในเวลาต่อมา

“ คือสมัยนั้นคนที่จบจากเมืองนอกยังมีไม่มากเท่าไร คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ยังน้อยอยู่ คุณพ่อก็เลยอยากให้เข้ามาช่วยงานที่บริษัท สมัยนั้นบริษัทที่ขายเมล็ดพันธุ์พืชก็มีเยอะนะแต่เจียไต๋เป็นเจ้าใหญ่สุด แต่เรามีคนงานแค่ 10 กว่าคนเท่านั้นเอง เป็นห้องแค่ 2 คูหา อยู่แถวถนนวงศ์สวัสดิ์ (ย่านสัมพันธวงศ์ บางรัก กรุงเทพฯ) ห้องหนึ่งเป็นร้านค้า อีกห้องหนึ่งเป็นโกดังเก็บเมล็ดพันธุ์ ส่วนชั้น 2 ก็เป็นที่อยู่ของครอบครัวผม และหลงจู๊ และชั้น 3 ก็เป็นครอบครัวของคุณลุง(เอ๊กซอ แซ่เจี่ย) พี่ธนินท์ กับพี่จรัล เขาก็อยู่ชั้น 3

คือถึงจะมีคนงานแต่ทุกคนในบ้านก็ต้องช่วยกันทำงานด้วย ตกเย็นหลังจากเลิกงานหรือเลิกเรียนทุกคนก็จะมีงานทำกันหมด สมัยก่อนกระป๋องใส่เมล็ดพันธุ์นี่เราต้องมาปิดฉลากเอาเอง ส่วนซองใส่เมล็ดพันธุ์เขาก็พิมพ์มาเป็นแผ่นใหญ่แล้วเรามาตัดเป็นซองๆอีกที พวกลูกๆหลานๆ ก็จะมาช่วยกันตัดแล้วก็พับเป็นซอง นอกจากขายเมล็ดพันธุ์แล้วที่ร้านยังขายซิกการ์ ขายแป้งผัดหน้าเป็นเม็ดๆ แป้งนี่เราซื้อมาเป็นกระสอบแล้วมาบรรจุกระป๋องเอง ก็ต้องเอาแป้งเทลงบนผ้าเป็นกองๆแล้วตวงใส่กระป๋อง ติดฉลาก เราไม่ได้ขายหน้าร้านอย่างเดียวแต่ให้เซลส์ออกไปขายตามต่างจังหวัดด้วย ผมเองก็เป็นเซลคนหนึ่งของร้าน” คุณวัลลภเล่าถึงการทำงานในยุคบุกเบิกของบริษัทเจียไต๋

เป็นเซลส์เดินสายไปทั่วประเทศ

คุณวัลลภยังพูดถึงความยากลำบากในการรับหน้าที่เซลส์ที่ช่วยกระจายสินค้าให้เจียไต๋ในสมัยนั้นให้ฟังว่า ช่วงแรกเขาต้องอาศัยเรียนรู้งานจากหลงจู๊ จากการที่ออกตลาดในต่างจังหวัดบ่อยๆ ก็ทำให้เขาก็ได้สั่งสมประสบการณ์และเห็นช่องทางในการขยายตลาดมากยิ่งขึ้น

“ ตอนนั้นผมอายุประมาณ 25-26 ได้ ก็เดินสายไปทั่วประเทศเลย แรกๆ มาใหม่ๆ เรายังไม่เป็นก็ไปกับหลงจู๊ก่อน เริ่มจากไปเช้าเย็นกลับก่อน ตั้งแต่นครปฐม บ้านโป่ง กาญจนบุรี เพชรบุรี ซึ่งหลงจู๊นี่เขาเก่งมากทั้งเช็คออร์เดอร์ เก็บเงิน เขาไม่ได้จดเลยนะ ไม่รู้จำได้ยังไง แล้วเขาหวงวิชามาก กลัวว่าเรากลับมาจากเมืองนอกแล้วจะไปแย่งหน้าที่เขา พอหลงจู๊ป่วยเป็นมะเร็งผมก็มาทำหน้าที่แทน ต้องพยายามเรียนรู้ให้เร็วที่สุด เพราะด้วยความที่เขาหวงวิชาทำให้เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าเมล็ดพันธุ์ผักแต่ละชนิดหน้าตาเป็นยังไง ตอนนั้นเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรเลย ผมก็เปลี่ยนระบบบริหารจัดการใหม่หมด แบ่งเซลส์ออกตามชนิดของผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เซลส์แต่ละคนดูสินค้าหมดทุกตัว แล้วก็แบ่งตามภูมิภาค สายเหนือ สายใต้ แยกกันรับผิดชอบ ตัวแทนจำหน่ายก็แยกตามชนิดสินค้าเหมือนกัน ขายปุ๋ยก็เจ้าหนึ่ง ขายเมล็ดพันธุ์ผักก็เจ้าหนึ่ง ปรากฏว่าภายใน 5 ปีผมสามารถขยายเอเยนต์ได้ถึง 500-600 ราย

ช่วงนั้นผมต้องออกต่างจังหวัดครั้งละ 20 กว่าวัน สายเหนือ 25 วัน สายใต้ 25 วัน ก็ไปคนเดียวเลยนะ ไม่มีลูกน้องอะไรกับเขาหรอก ช่วงแรกบริษัทยังไม่มีรถ ก็ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารบ้าง ลงเรือไปบ้าง จังหวัดไหนมีรถสามล้อเข้าไปถึงตัวเมืองเราก็นั่งสามล้อไป โอย...ลำบากมาก แล้วสมัยนั้นรถมันมีน้อย เขาก็นั่งกันบนตะแกรงวางของบนหลังคาบ้าง นั่งตามทางเดินบ้าง แล้วก็เคี้ยวหมาก บ้วนน้ำหมากกันเต็มไปหมด (หัวเราะ) กลับมาถึงกรุงเทพฯก็ต้องมาทำงบการเงิน แล้วก็วางแผนออกตลาดครั้งต่อไป ก็ต้องส่งโปสต์การ์ดไปบอกร้านค้าก่อนว่าเราจะไปถึงจังหวัดเขาเมื่อไร ทำเองหมด ตอนหลังบริษัทเขาก็ถอยรถให้ ก็ดีขึ้นหน่อย สมัยนั้น 2 ข้างทางมันไม่ค่อยมีอะไรขาย ผมก็แขวนกล้วยไว้หน้ารถหวีหนึ่ง หิวก็เด็ดออกมากิน(หัวเราะ)”

ผลพวงของความมุ่งมั่น

หลังจากได้รับมอบหมายให้เป็นหลงจู๊ซึ่งดูแลกิจการหลายด้านของเจียไต๋ คุณวัลลภก็ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความสามารถด้านการตลาดซึ่งต่างก็เป็นที่ยอมรับของทุกคนในบริษัท เขามุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคทางธุรกิจ จนเจียไต๋เติบโตเป็นบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ฯลฯที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในประเทศไทย เป็นบริษัทที่มั่นคงและเป็นฐานกำลังสำคัญที่ทำให้ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจอื่น ๆ และเติบใหญ่เป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่มีการลงทุนในประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ

หลังจากที่เจียไต๋ประสบความสำเร็จและเป็นบริษัทที่มั่นคง คุณวัลลภก็ได้เข้าไปช่วยบริหารกิจการของตระกูลในธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งพัฒนามาเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตและมีชื่อเสียงทั้งในวงการธุรกิจและเป็นที่ยอมรับจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้คุณวัลลภยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรมสังคมด้านต่าง ๆ ของเครือฯ เช่นโครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศลฯ งานมหกรรมสัตว์เลี้ยงแห่งประเทศไทย ฯลฯ และยังมีตำแหน่งทางสังคมในองค์กรต่าง ๆ มากกว่า 40 องค์กรอีกด้วย

“ ต้องยอมรับกว่าจะประสบความสำเร็จเนี่ยผมต้องใช้ความอดทนมาก อดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อกับคำสบประมาท ช่วงที่ผมเริ่มเข้ามารับหน้าที่หลงจู๊ใหม่ๆ พ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์แถวปากคลองตลาดเขาก็หัวเราะเยาะ บอกว่าเจียไต๋นี่เจ๊งแน่ เอาอาตี๋ไม่รู้เรื่องรู้ราวเข้ามาบริหาร บริษัทอื่นเขาใช้เซลส์แค่ 3-4 คน แต่ไอ้ตี๋นี่ใช้เซลส์ตั้ง 20-30 คน ผมก็ฮึดสู้ จากนั้น 3-4 ปีพวกนี้เขาก็เริ่มรู้สึกเพราะเราแย่งชิงตลาดไปได้เยอะ เราขยายตลาดไปถึงอำเภอเล็กอำเภอน้อยทั่วไปหมด เรียกว่าช่วงนั้นเจียไต๋เราโตเร็วมาก ตอนหลังในวงการเขาก็ให้การยอมรับว่าผมเป็นพ่อค้าที่มีฝีมือคนหนึ่ง พอมีการตั้งสมาคมผู้ค้าปุ๋ย ยา และเมล็ดพันธุ์ผัก เขาก็มาเชิญให้ผมไปเป็นนายกสมาคม ก็เป็นนายกฯอยู่เป็น 10 ปีเหมือนกัน

ผมก็ดูแลด้านการค้าเมล็ดพันธุ์ผักและปุ๋ยอยู่ประมาณ 20 ปีได้ ต่อมาก็ย้ายไปช่วยงานพี่ธนินท์ (ธนินท์ เจียรวนนท์) ดูแลด้านธุรกิจอาหารสัตว์บ้าง ไปช่วยเสี่ยใหญ่ (จรัล เจียรวนนท์- พี่ชายของธนินท์ เจียรวนนท์) สร้างโรงงานทอกระสอบที่ปากช่อง คือเป็นโรงงานที่หุ้นกับนักธุรกิจชาวไต้หวัน แล้วก็แยกมาทำโรงงานเองที่สีคิ้ว สินค้าที่ได้ก็ขายด้วย ป้อนโรงงานเราเองด้วย ผมย้ายสายงานไปหลายสาย จนกระทั่งป่วยเป็นไวรัสลงตับ ก็ไปรักษาตัวอยู่พักหนึ่ง พอหายกลับมาพี่ๆเขาไม่อยากให้ทำงานหนักก็เลยให้มาดูแลงานด้านพัฒนาสังคมจนถึงปัจจุบัน ก็มาจับเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์เพื่อนำไปแจกจ่ายเกษตรกร แล้วก็งานด้านการส่งเสริมการศึกษาของเด็กๆ” คุณวัลลภ พูดถึงประสบการณ์การทำงานอันยาวนานกว่า 40 ปี

คุณวัลลภยังกล่าวตบท้ายถึงปรัชญาในการทำงานที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “ ผมทำงานทุกอย่างด้วยความตั้งใจและทุ่มเท ไม่ได้คิดว่าเราเป็นลูกหลานเจ้าสัวแล้วต้องนั่งทำงานในห้องแอร์อย่างเดียว ผมทำได้ทุกอย่าง เพราะเชื่อว่าถ้าเราลงไปทำเองเราจะเห็นถึงปัญหาและมีมุมมองที่กว้างขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์บริหารและการพัฒนากิจการต่อไป”

*******************

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน



กำลังโหลดความคิดเห็น