ขึ้นชื่อว่าวิถีการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนแล้ว ดูจะสวนกระแสกับโลกวัตถุนิยมที่กลายเป็นภาพลักษณ์ของสังคมตะวันตก ที่ซีกโลกตะวันออกอยากจะเร่งติดตามให้ทัน แม้ในปัจจุบันสังคมไทยจะมีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนแบบพอเพียงอย่างแพร่หลาย ด้วยแนวคิดที่ไม่ต้องการวิ่งตามกระแสการพัฒนาของโลกจนหลงลืมรากเหง้าของตนเอง ขณะเดียวกันนั้นสังคมตะวันตกเองก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน
ความตื่นตัวดังกล่าว...ไม่ใช่แค่การเห่อหรือเป็นเพียงกระแสวูบวาบ แต่วิถีคิดการทำเกษตรยั่งยืนแบบฝรั่งนี้มีมานานแล้วกว่า 3 ทศวรรษ จนกระทั่งต่อมาเป็นที่รู้จักในนามของ "เพอร์มาคัลเชอร์" (permaculture) เกษตรยั่งยืนแบบฝรั่งที่ติดดินแต่อินเตอร์
'เพอร์มาคัลเชอร์' คืออะไร
เพอร์มาคัลเชอร์ (permaculture) เป็นแนวคิดและวิถีทางการเกษตรที่เน้นเรื่องความยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นในต่างประเทศเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว องค์ความรู้แบบฝรั่งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการทำการเกษตร แต่ครอบคลุมถึงการออกแบบวิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรม รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ
ไม่ใช่แค่นำองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ไปใช้ปลูกพืชผักทำการเกษตรอย่างเดียวเท่านั้น แต่แนวคิดเพอร์มาคัลเชอร์ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกอาชีพ ตั้งแต่วิศวกรพลังงาน ไปจนถึงสถาปนิก
เพอร์มาคัลเชอร์ เกิดจากการรวมคำสองคำ คือ Permanent ที่แปลว่ามั่นคงถาวร กับ Agriculture ที่แปลว่าเกษตรกรรม คำนี้คิดค้นขึ้นโดย Bill Morrison และ David Holmgren นักนิเวศวิทยาและลูกศิษย์ชาวออสเตรเลีย เพื่อใช้เรียกระบบการทำการเกษตรที่คิดค้นขึ้นจากประสบการณ์การค้นคว้าและเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยา จนมองเห็นว่าถ้าเราออกแบบระบบการเกษตรให้เหมือนกับรูปแบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราก็จะได้ระบบการเกษตรที่สอดคล้องและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ทั้งยังได้ผลิตผลสูงและมีความยั่งยืนมากกว่าระบบที่เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูที่ต้องต่อสู้ เอาชนะ ควบคุมให้ได้อย่างใจเรา
นอกจากจะเป็นระบบการเพาะปลูก ที่มีการจัดวางรูปแบบ เพื่อการสร้างทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเหมาะสม แล้ว ยังอาจจะเรียกได้ว่าเพอร์มาคัลเชอร์ เป็นวิถีทางการเกษตร เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเอื้ออำนวย ให้แก่แผ่นดิน น้ำ พืช สัตว์ และมนุษย์ มีชีวิต อยู่ร่วมกัน อย่างกลมกลืน สมดุล มีความสุข ได้อย่างต่อเนื่อง และยืนนาน
จุดเด่นของ เพอร์มาคัลเชอร์ คือการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์และนำเรื่องการออกแบบพลังงานในพื้นที่มาใช้ร่วมกับการทำการเกษตร ซึ่งเป็นการอธิบายที่เป็นวิชาการและวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เกษตรยั่งยืนแบบไทยที่เน้นวิถีแห่งการพึ่งตนเอง จะเป็นลักษณะภูมิปัญญาดั้งเดิม มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับมิติทางจิตวิญญาณ นอกจากนั้น เพอร์มาคัลเชอร์ ยังเป็นระบบการดำเนินชีวิตที่อาศัยพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษใหม่ขึ้น และเป็นระบบที่นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไปมาใช้ผลิตอาหาร โดยไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก เหตุนี้เอง จึงไม่จำเป็นว่าเฉพาะเกษตรกรเท่านั้นที่ควรนำเพอร์มาคัลเชอร์ไปใช้ แต่ใครๆ ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะทำอะไร หรืออยู่ที่ไหนในโลก
อีสท์วอเตอร์ หรือ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพอร์มาคัลเชอร์ โดยได้เชิญ Darren J. Doherty ชาวออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านเพอร์มาคัลเชอร์อันดับต้นๆ ของโลก และมีประสบการณ์ในการสอนหลักสูตรนี้มาแล้วในสี่ทวีปทั่วโลก ให้มาร่วมฝึกอบรมกับคนไทยรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพด้านต่างๆ ทั้งวิศวกรพลังงาน สถาปนิก เกษตรกร โดยใช้พื้นที่เปล่าของ อีสท์ วอเตอร์ จำนวน 22 ไร่ ที่จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ทดลองในการเรียนรู้ครั้งนี้ เนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมถึงหลักคิดและแนวทางการออกแบบและจัดการที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ประพันธ์ อัศวอารี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดอบรมเพอร์มาคัลเชอร์ครั้งนี้ว่า "ในบ้านเรามีแนวคิดด้านเกษตรยั่งยืนหลายแนวคิด ครั้งนี้ เราเปิดกว้างที่จะเรียนรู้แนวคิดเกษตรยั่งยืนแบบตะวันตกบ้าง เพื่อที่จะนำจุดเด่นของเขามาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะกับสังคมเรามากที่สุด ในแง่ทฤษฎี แนวคิดหลักของเพอร์มาคัลเชอร์นั้นคล้ายกันกับเกษตรยั่งยืนแบบไทย แต่เพอร์มาคัลเชอร์เด่นในด้านการคำนึงเรื่องภูมิสถาปัตย์ การอนุรักษ์น้ำและพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิด น่าสนใจ โดยเฉพาะตอนนี้ วิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัวเราทุกคน ผมเชื่อว่าเราจะต้องหันมาใส่ใจกับประเด็นเหล่านี้มากยิ่งขั้น เราจึงได้จัดอบรมครั้งนี้ขึ้น และได้ชักชวนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพด้านต่างๆ ทั้งวิศวกรพลังงาน สถาปนิก เกษตรกร มาร่วมกันเพื่อให้การเรียนรู้ครั้งนี้ได้ผลสูงสุด"
วิฑูรย์ ปัญญากุล จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า ระบบถูกออกแบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการจัดการภูมิประเทศและชีวิตอย่างยั่งยืน ในอนาคตเพอร์มาคัลเชอร์จะมีประโยชน์ในแง่จัดการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย หรือต่อไปอาจจะพัฒนาเป็นโครงการสวนเกษตรในเมือง (City Green Farm) หรือเกษตรในเมือง (Urban Agriculture)
ด้านผู้เข้าร่วมอบรมเพอร์มาคัลเชอร์ สุชน ทรัพย์สิงห์ Project Engineer ซึ่งทำงานเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน บอกว่า "ก่อนนี้เคยได้ยินชื่อของเพอร์มาคัลเชอร์แต่ไม่ได้เข้าใจในรายละเอียดเท่าใดนัก จนเมื่อได้มาอบรมจึงได้เรียนรู้วิธีการออกแบบและใช้ประโยชน์จากที่ดินแบบเพอร์มาคัลเชอร์ ซึ่งวิทยากรได้ให้หลักการว่าต้องคิดให้เป็นองค์รวม มองหลายๆ ด้าน ไม่แยกส่วนเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง"
เพอร์มาคัลเชอร์ เป็นเรื่องของแนวคิด วิธีคิด การออกแบบ ที่จะได้ใช้จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด จึงเป็นเกษตรทางเลือกหนึ่งที่มีลูกเล่น มีสีสันที่ไปเชื่อมกับศาสตร์อื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คนที่ไม่ใช่เกษตรกรอาชีพ หรือคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย" สุชนสรุป
ชีวิตแบบเพอร์มาคัลเชอร์
รวิมาศ ปรมศิริ นักแปลอิสระที่เคยแปลหนังสือเพอร์มาคัลเชอร์มาแล้ว กล่าวว่า "เพอร์มาคัลเชอร์ไม่ใช่แค่เรื่องการเกษตร แต่เป็นเรื่องที่กว้างและครอบคลุมถึงการใช้ชีวิต การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ กระทบใจมากตรงที่วิทยากรวิพากษ์เรื่องที่เราผลิตอาหารจากที่หนึ่งที่ใด และส่งไปหล่อเลี้ยงคนที่อาศัยอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างกันเป็นระยะทางไกลๆ เขามองว่าการดำรงชีวิตแบบนี้ไม่ยั่งยืนและสิ้นเปลืองพลังงาน ถ้าหากเรานำแนวคิดเพอร์มาคัลเชอร์มาปรับใช้ โลกก็จะอยู่อย่างยั่งยืน และเราก็จะมีประสิทธิภาพในการผลิตมากยิ่งขึ้น"
รวิมาศ ยังบอกด้วยว่า "แนวคิดของเพอร์มาคัลเชอร์เป็นสิ่งที่ดี สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน น่าจะมีการส่งเสริมให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนชนบท คนเมือง หรือแม้แต่คนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ ก็สามารถนำวิธีการและแนวคิดนี้มาปรับใช้ได้"
กลุ่มผู้ร่วมอบรมได้นำเสนอการออกแบบและจัดการ บนพื้นที่ 22 ไร่ ของอีสท์วอเตอร์ โดยมีแนวคิดหลักคือ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด และมุ่งเน้นการจัดการเรื่องน้ำ มีการแบ่งโซนน้ำ และสร้างระบบให้น้ำได้ไหลเวียนเพื่อบำบัดน้ำ ที่น่าสนใจคือ การให้ผู้ที่เข้ามาใช้สถานที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การปั่นจักรยาน ที่ไม่ใช่การปั่นธรรมดาเฉยๆ แต่เป็นการปั่นแล้ววิดน้ำไปเก็บที่แทงค์น้ำ เพื่อให้เข้าใจว่าน้ำไม่ได้มาง่ายๆ แต่ต้องมีการลงทุนลงแรง
คนที่สนใจเรื่อง เพอร์มาคัลเชอร์จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่เกษตรกร แต่เป็นแนวคิดที่ใครๆ ก็นำไปประยุกต์ได้ ไม่ว่าจะทำอะไร หรือว่าอยู่ที่ไหนในโลก ซึ่งเห็นว่าความสุขของเราอยู่ที่การมีชีวิตอย่างกลมกลืนและสอดคล้องกับธรรมชาติรอบตัวหรืออยู่อย่างเป็นมิตร แทนที่จะตั้งท่าเป็นศัตรูกับธรรมชาติและผู้คน
ประพันธ์ อัศวอารี กล่าวทิ้งท้ายว่า "เราหวังว่า สิ่งที่เราเริ่มต้นเรียนรู้ในวันนี้ จะจุดประกายให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจ และตระหนักเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรน้ำ การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อประหยัดพลังงาน รวมถึงการออกแบบการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้พื้นที่ที่เรามีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดความยั่งยืนสูงสุด เพื่อให้มนุษย์เราดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เพอร์มาคัลเชอร์ เป็นคำตอบหนึ่งที่น่าจะตอบโจทย์นี้ได้"