ลัทธิคิวบิสม์ (Cubism), ลัทธิป็อป อาร์ต (Pop Art), ลัทธิแอบสแตรกท์ เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism), ลัทธิเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism), ลัทธิฟิวเจอริสม์ (Futurism) และ ลัทธิเซอร์เรียริสม์ (Surrealism) ศิลปินในหลายลัทธิที่กล่าวมาล้วนเคยใช้วิธีการปะติดสร้างสรรค์ผลงานกันมาแล้วแทบทั้งสิ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 20
ศิลปินในลัทธิเหล่านี้ได้ใช้กลวิธีสร้างสรรค์ผลงานโดยวิธีการปะติดในรูปแบบต่างๆ เช่น การปะติดด้วยภาพถ่าย กระดาษ ผ้า เศษวัสดุ การต่อประกอบ วัสดุสำเร็จรูป รวมทั้งงานศิลปะจากขยะ
การฉีกรูปโน่น รูปนี่ มาแปะ มาปะ ให้เป็นรูปเดียว อาจมองดูคล้ายจิ๊กซอว์ ซึ่งถือเป็นศิลปะสื่อผสมที่เป็นความพยายามของศิลปินในการแก้ปัญหาด้านวัสดุในการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ให้แตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมาที่มีเพียงแค่ จิตรกรรม ประติมากรรม หรือภาพพิมพ์เท่านั้น
หากพิจารณาเชิงวิวัฒนาการจะเห็นว่า ศิลปะสื่อผสมเริ่มมาในปี ค.ศ.1912 เมื่อกลุ่มศิลปินลัทธิคิวบิสม์ในยุโรป นำโดย ปิกัสโซ ( Pablo Picasso ) และ บราค ( Georges Braque ) ได้นำวัสดุต่างๆ มาคละเคล้าปะปิดรวมกันกับการวาดภาพ วัสดุต่างๆ เหล่านี้มีทั้งกระดาษผ้า หรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งพวกเขาจะเรียกวิธีการดังกล่าวว่า 'คอลลาจ' (Collage)
ปัจจุบันมีศิลปินหลายกลุ่มหลายคนนิยมนำวัสดุจริง หรือสื่อวัสดุที่หลากหลายมาประกอบกันให้เกิดเป็นผลงานทัศนศิลป์ออกมาปรากฏต่อสาธารณชน จนมีการกำหนดให้เป็นกลวิธีหนึ่งในการแสดงออกทางทัศนศิลป์
ความเป็นมาที่เป็นไป
นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของภาพปะติด หรือ คอลลาจ ไว้ว่า หมายถึง การสร้างสรรค์งานศิลปะที่ต้องอาศัยพื้นฐานของการวาดภาพเขียนภาพนั่นเอง แทนที่จะวาดภาพแล้วระบายสี กลับใช้วัสดุที่มีรูปร่าง รูปทรง ซึ่งมีสีสันต่างๆ ปะติดลงไปจะได้ภาพตามต้องการ
ภาพปะติด เป็นงานสื่อประสมแบบ 2 มิติ เริ่มแรกเป็นการนำเอาวัสดุที่มีลักษณะ 2 มิติ เช่น ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ กระดาษ ภาพเขียนและวัสดุอื่นๆ มาปะติดลงบนแผ่นรองรับให้เกิดเป็นภาพต่างๆ ขึ้น โดยอาจจะแต่งเติมด้วยการระบายสีหรือใช้สีของวัสดุทั้งหมด ภาพปะติดในระยะหลังเริ่มใช้วัสดุที่มีความหนามากขึ้นและหลากหลายชนิดมากขึ้น แต่ยังคงปะติดอยู่บนแผ่นพื้นระนาบเช่นเดิม
อาจารย์อารี สุทธิพันธ์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับภาพปะติดว่า การสร้างสรรค์ภาพปะติดเป็นการนำเอาวัสดุแผ่นบางๆ เช่น กระดาษสี กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้า พลาสติก ใบไม้ ทั้งวัสดุที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นหรือวัสดุจากธรรมชาตินำมาปะติดบนพื้นระนาบ เช่น กระดาษ กระดาษแข็ง แผ่นไม้อัด การปะติดใช้วัสดุที่มีความหนามากขึ้น การปะติดมีแนวโน้มที่จะเป็น 3 มิติ แบบประติมากรรมก็เรียกกันว่า "รูปต่อประกอบ" หรือ "assemblage"
คอลลาจ ถูกบันทึกไว้ว่ามีการใช้ครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 แต่ความจริงแล้วมีมาตั้งแต่สมัย ศตวรรษที่ 18 นักบวชได้ใช้งานปะติดตกแต่งในหนังสือสวดมนต์ การ์ดอวยพรวันวาเลนไทน์ จนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดความนิยมและแพร่ขยายตัวออกไป เครื่องมือ เครื่องจักร มีวิวัฒนาการทันสมัยขึ้น ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สินค้ารูปแบบต่างๆ มากมาย กระดาษ และหนังสือพิมพ์ ผ้า ลูกปัด เกิดขึ้นพร้อมกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีวิวัฒนาการของคอลลาจเกิดขึ้นอีกมากมาย
Collage yourself
จากภาพปะติดหรือคอลลาจในวงการศิลปะ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เดินทางไกลมาถึงค่อนศตวรรษ มา พ.ศ.นี้วิวัฒนาการของภาพปะติดได้ก่อให้เกิดกระบวนแบบอันหลากหลายมากยิ่งขึ้นในการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อให้งานดูมีเอกลักษณ์
ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหลายคนยังไม่คุ้นกับชื่อ วรัญญา ตุงคะสมิต หรือ บัว ในฐานะ Freelance Collage Illustrator นอกจากเธอจะฝีมือเรื่องการออกแบบจัดวาง และตัดแปะงานคอลลาจที่สวยเลิศแล้ว ฝีมือด้านการเขียนถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อผลงานก็สวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน วันนี้ปริทรรศน์เลยพามาดูอีกด้านของศิลปะที่ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือของศิลปิน กับผลงานคอลลาจอันโดดเด่น สง่างาม และแสดงออกถึงตัวตนภายในของเธอได้เป็นอย่างดี
แต่ก่อนอื่นต้องบอกผู้อ่านเสียก่อนว่า สาวคอลลาจแก้มพองคนนี้จบการศึกษาจาก คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปนิเทศ สาขาวิชาเอกสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเธอไม่มีพื้นฐานทางด้านศิลปะเลยแม้แต่น้อย ส่วนตัวสาวเจ้าชอบท่องเว็บไซต์ดูงานศิลปะเป็นชีวิต จนวันหนึ่งไปเจอบล็อกของชาวอเมริกันชื่อ Claudine hellmuth ซึ่งงานของเขาเป็นงานแนวคอลลาจที่น่ารัก สดใส เธอจึงสนใจเพราะในเว็บไซต์ดังกล่าวเขามีคลิปวิดีโอสอนทำคอลลาจอยู่ด้วย
"บัวชอบวาดรูปอยู่แล้ว เมื่อก่อนวาดลายเส้นธรรมดาไม่ได้รู้จักการทำคอลลาจเพราะไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะ จากนั้นบัวจึงเริ่มต้นหัดทำคอลลาจด้วยตัวเอง งานชิ้นแรก ตัดแปะไปมั่วๆ ยังไม่มีสไตล์ และเทคนิคอะไรมาก โดยนำกระดาษหนังสือพิมพ์ ภาพในแมกกาซีน มาผสมๆ กัน ทำไปเพลินๆ จนวันนี้เธอกลับมีผลงานคอลลาจเกิดขึ้น(มาก)ประมาณหนึ่ง
"คุณ Claudine เป็น collage artist ที่สนุกกับงานจนน่าอิจฉา มีไอเดียน่ารักๆ ให้เราแอบกรี๊ดอยู่ตลอดเวลา สั่งซื้อหนังสือเขามานั่งอ่าน หัดทำตามบ้าง สนุกดี งานแรกก็เลยจะมีกลิ่นอายของเขาอยู่ค่อนข้างมาก แต่พอหลังๆ เราเอาแต่เทคนิค แล้วก็เริ่มหาสไตล์ของตัวเอง ตอนนี้ก็คงพอจะเรียกว่ามีสไตล์ชัดขึ้น แต่ก็ไม่ได้แข็งแรง งานแต่ละชิ้นที่ทำก็เหมือนกับการทดลองไปเรื่อยๆ พอนิ่งแล้ว นั่นอาจจะเรียกว่ามีสไตล์แล้วก็ได้"
นอกจากนั้น การทำคอลลาจของบัวยังอยู่ในช่วงที่กระแสการสร้างบล็อกกำลังมาแรง เธอจึงสร้างบล็อกขึ้นเพื่อเก็บผลงาน โดยที่เธอบอกพร้อมเน้นย้ำกับเราว่า "ที่ทำไม่ได้กะว่าจะโชว์ใครนะ"
"หลังจากสร้างบล็อกขึ้นมาจึงส่งลิงก์ให้เพื่อนๆ ดู ซึ่งถ้าใครได้ตามดูงานของบัวตั้งแต่แรกจะเห็นความแตกต่างระหว่างงานชิ้นแรกถึงปัจจุบันชัดเจน ตอนนี้ก็ถือว่ามีสไตล์ที่ชัดเจนอยู่ระดับหนึ่ง อย่างเวลาเพื่อนๆ เห็นงานของบัวอยู่ข้างนอกจะจำได้ว่าเป็นงานที่บัวทำขึ้น การมีสไตล์เป็นของตัวเองเป็นสิ่งดี เพราะทำแล้วสบายใจ สบายมือ เวลาไม่มีสไตล์ถ้าคนดูคิดมากๆ หน่อยก็ว่าก๊อบปี้เขามา แต่ถ้าเราแข็งแรงในเรื่องสไตล์ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เลย"
ภายในบล็อก collage canto and so on บัวได้อัปโหลดภาพงานคอลลาจสีสวย แสนน่ารัก ประกอบกับคำบรรยายใต้ภาพซึ่งเขียนเป็นแคนโต้ 3 บรรทัด ที่ สั้น กระชับ ได้ใจความ บ่งบอกถึงแนวคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่เธอต้องการนำเสนอผ่านผลงาน ซึ่งไม่ลึกลับซับซ้อน
"ปกติเป็นคนขี้พล่าม เวลาเขียนบล็อกก็จะเขียนยาวมาก ก็เลยจะตัดปัญหาด้วยการลงรูปอย่างเดียว ทีนี้ลงรูปอย่างเดียวก็โล่งไป ทำไงดี คิดไปคิดมา เออ งั้นใส่แคนโต้ด้วยแล้วกัน ไม่ว่าจะอยากจะยัดอะไรมากแค่ไหน มันก็จะถูกบีบให้อยู่แค่ 3 บรรทัด เราก็ไม่โปรนะ แค่ให้มันลิงก์ไปกับภาพ หรือแถไปได้ อ่านง่ายๆ สบายๆ ก็โอเคแล้ว"
สูตรนี้ทำมือหมด
บัวบอกว่า การทำคอลลาจก็ไม่แตกต่างกับการวาดรูป แรกๆ จะยาก หัดวาดวงกลมใหม่ๆ ก็ยังวาดบูดๆ เบี้ยวๆ อยู่ เพราะอาจจะยังไม่ชินมือ และยังไม่มีเทคนิค ซึ่งของแบบนี้ต้องใช้เวลาคลุกคลีทำบ่อยๆ เข้าจะรู้สึกสบายมือขึ้น
"เรื่องการทำคอลลาจสามารถสอนเทคนิคให้กันได้ แต่ผลจะออกมาเป็นยังไงก็ต้องแล้วแต่คนทำงาน มันไม่เหมือนกับวิชาชีพหมอที่ต้องมีบทเรียนชัดเจนตรงตามสูตร ไม่มีถูกผิด มีเพียงแค่ชอบกับไม่ชอบเท่านั้น
"วัสดุที่นำมาเป็นส่วนประกอบในผลงานบางชิ้นเราต้องวาดขึ้นด้วยมือ อย่างลวดลายกลมๆ สีดำๆ ที่ติดลงไปในงานแทบทุกชิ้นบัวก็ได้วาดมือทั้งหมดแล้วเอามาตัดปะลงไป ซึ่งเป็นลวดลายที่ได้พัฒนามาจากลวดลายของชายกระโปรง ตรงนี้บัวกำลังพยายามทำให้เป็นซิกเนเจอร์ (Signature) ของตัวบัว ทำเก็บสะสมไว้เยอะมาก ซึ่งน่าจะเป็นอะไรที่เลียนแบบกันยากมาก และคงไม่มีใครคิดอยากจะมาเลียนแบบด้วย
"งานคอลลาจของบัวเป็นงานทำมือแทบทั้งหมด เรียกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานมือล้วนๆ จะมีเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นที่จะใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เช่น การปรับแสง ซึ่งพยายามใช้ให้น้อยมากที่สุด และการใส่ฟรอนต์ตัวอักษรลงไป
"งานคอลลาจทำมือของบัวนั้น ทำแล้วทำเลย ผิดแล้วผิดเลยไม่สามารถกด Ctrl+Alt+z ได้ ดังนั้นถ้าเกิดผิดอะไรขึ้นมา อย่างเบาะๆ ก็อาจจะเลาะนู่น เลาะนี่ เลาะนั่น อย่างคลั่งมากก็คือต้องทำใหม่ทั้งชิ้น วัสดุบางชิ้นก็มีเพียงชิ้นเดียว ต้องทำแล้วทำเลย ต้องทำให้ได้ เข้าใจคนทำงานประเภทนี้มากๆ หลังจากได้ลงมือทำด้วยตัวเอง"
ถามว่าที่ผ่านมา เธอเลาะไปแล้วกี่ชิ้น ทำใหม่ไปแล้วกี่ชิ้น สาวนักประดิษฐ์ภาพคอลลาจบอกว่า "ฟังคำตอบแล้วอาจสะเทือนใจ"
ศิลปะแห่งมวลมิตร
ที่ผ่านมาบัวมีงานทำภาพประกอบในนิตยสาร และหนังสือ ซึ่งชิ้นที่เชิดหน้าชูตาเธอได้คงเป็นปกนิตยสาร Happening ซึ่งเธอพูดเพียงประโยคเดียวว่า "ขอบคุณพี่วิภว์ (วิพว์ บูรพาเดชะ ) ด้วยค่ะ"
"ปกติทำภาพประกอบแบบงานเดี่ยวแป๊ปเดียวเสร็จ งานชิ้นหนึ่งถ้าเป็นลักษณะตัดปะเฉยๆ ใช้วัสดุน้อยๆ ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ ถ้างานที่ใช้เวลาทำนานๆ ก็อยู่ที่ว่าเราชอบอะไรอยู่ในตอนนั้น มันอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่กระดาษแล้ว เช่น ถ้าตอนนั้นบัวอยากได้งานเย็บมาประกอบ ก็ต้องนั่งเย็บให้เป็นลวดลายที่ต้องการแล้วเอามาแปะลงไป ซึ่งนั่นจะนานมาก และงานที่ใช้ความคิดเยอะก็จะนาน ซึ่งส่วนมากก็เป็นงานที่ต้องทำตามโจทย์
"ความจริงมีโจทย์มีนก็ดีนะ ทำให้เรามีหลัก มีเป้าหมาย อย่างเวลานี้บัวมีกิจกรรมร่วมกันที่ทำกับทาง Illustrator Friday ซึ่งตรงนี้ทำให้บัวพยายามที่จะผลิตงานให้ได้อย่างต่อเนื่องตามโจทย์ในแต่ละสัปดาห์ของทาง Illustrator Friday" บัวเล่าถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์งานของตัวเอง
www.illustratorfriday.com เป็นเว็บไซต์ที่คนทำงานศิลปะจากทั่วโลกจะมารวมตัวกัน ผลิตผลงานด้วยเทคนิค และความถนัดของตังเอง ตามหัวข้อที่จะกำหนดขึ้นทุกๆ วันศุกร์ หลังจากนั้นก็นำผลงานมาโชว์กันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
"Illustrator Friday ทำให้เราได้ดูงานของคนอื่น คนอื่นก็ได้ดูงานของเรา จากตรงนี้ทำให้ได้รับการคอมเมนต์มากขึ้น ซึ่งเป็นคอมเมนต์ที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานต่อไป แต่ส่วนใหญ่จะชมกันไปชมกันมามากกว่านะ" บัวเล่าให้ฟังด้วยความขบขัน
"ตั้งแต่ทำคอลลาจมาพยายามให้มีงานออกมาทุกเดือน ประกอบกับงานที่ร่วมกับ Illustrator Friday ทุกสัปดาห์ เพราะสนุกกับการทำ เมื่อลงมือทำทุกครั้งก็จะพบเทคนิคใหม่ๆ อยู่ตลอด และด้วยความที่เป็นงานคอลลาจ วัสดุที่นำมาทำนั้นจะหลากหลายที่มาที่ไป มีพื้นผิวที่สามารถสัมผัสได้ ไม่ใช่งานเนี้ยบๆ ส่วนตัวคิดว่า ดูแล้วสบายใจดี ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือมีฝีมือเลิศเลอก็เริ่มทำได้ และเวลาทำงานเหมือนได้คุยกับวัสดุ เพราะบางชิ้นก็เป็นของเก่าที่ผ่านมือคนอื่นมามาก จึงทำให้งานมีเรื่องเล่า แค่ได้จับก็รู้สึกดีแล้ว
"งานคอลลาจมันเป็นงานที่มีมิติ อันนี้หมายถึงงานที่แปะกันเห็นๆ ไม่นับงานกราฟิกที่ทำสไตล์คอลลาจนะ ชอบที่มันไม่มีข้อจำกัดในการทำงานศิลปะ เวลาเห็นหนังสือ หรือนิตยสาร หรือแม้แต่ซองขนมสวยๆ ก็รีบตัดเก็บไว้เลย"
แม้งานคอลลาจของบัวจะได้แรงบันดาลใจจากศิลปะแถบยุโรป แต่เธอก็ยังไม่ทิ้งความเป็นตัวของตัวเอง อย่างเศษผ้าหรือลายผ้าที่นำมาเลือกใช้ในการสร้างงานนั้นจะเน้นไปที่ผ้าลูกไม้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเพิ่มความอ่อนหวานในรูปลักษณ์ที่แตกต่าง
อย่าคาดหวังกับงานศิลปะ
สาว Collage Illustrator เคยคิดว่าการจับทางคอลลาจคือโอกาสอันแสนพิเศษของเธอที่ได้ทำอะไรแบบใจต้องการ ทำให้ในช่วงแรกๆ เธอยึดติดว่าจะทำงานนี้เป็นอาชีพให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะตลาดคอลลาจในบ้านเราไม่ได้นิยมแบบติดหูติดตา ในวันนี้เธอจึงเลือกที่จะยืนอยู่ตรงคำว่าพอดี คือต้องมีงานที่หล่อเลี้ยงชีวิต และงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน
"งานอะไรๆ ที่เริ่มจากความชอบ และเกิดรักเป็นงานอดิเรก ไม่ต้องอยู่ในกรอบมาก ทำแล้วจะสบายใจ เหมือนเป็นงานที่ได้แบ่งตัวเอง พอเครียดจากงานประจำก็ทำใจลืมๆ ไปบ้างเหมือนกัน ไม่ต้องติสท์มาก และแมส มาก อยู่ระหว่างที่พอดีๆ
"คิดไว้ว่านี่แหละเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา แต่ความจริงมันไม่ใช่ว่าทำแล้วจะใหญ่โตได้เลย ต้องค่อยๆ โต คงเหมือนกับนักดนตรี หรือหลายๆ อาชีพที่ต้องสะสมประสบการณ์ให้คนค่อยๆ เห็นงานของเราดีกว่าไปจับยัด ทำไปเรื่อยๆ ดีกว่า และพยายามคาดหวังน้อยๆ
"เราว่าคนทำงานแนวนี้น่าจะมีอยู่เยอะ แน่นอนว่าต้องมีคนเก่งกว่าเราแน่ๆ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าถ้าจะบอกว่าพูดถึงคอลลาจแล้วนึกถึงเรา ก็โอเค คือมันอาจจะมีคนเห็นเยอะ แต่ถ้าให้เป็นThe One สำหรับวงการคอลลาจเลยคงไม่ใช่แน่ๆ อาจจะเป็นหมายเลข 9"
"ถึงตอนนี้ไม่คิดแล้วว่างานนี้จะอยู่กับเราไปได้ตลอด คงมีอยู่พักหนึ่งที่คนดูคอลลาจแล้วรู้สึกว่า งานเรามันน่ารักดี ต้องตาเขา แต่อนาคตอาจจะมีคนทำอื่นๆ ที่น่ารักมากกว่าเกิดขึ้น อยู่ๆ คอลลาจก็มาฮิต คงเหมือนช่วงหนึ่งที่มีโยคะร้อน หรือช่วงนี้หน้าหนาวก็ต้องมีผ้าพันคอแบบเกาหลี แต่บัวไม่ได้คาดหวังว่าคอลลาจจะเกิดเป็นกระแส แต่ว่าถ้าทำกันก็ดี อนาคตอาจจะมีคนทำคอลลาจเพิ่มขึ้นมากแล้วสามารถรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้" นักออกแบบคอลลาจกล่าวทิ้งท้าย
*****************