พวกเขาอยู่ในทุกที่..
มีอยู่ทุกร้านค้า ทุกอุตสาหกรรมบริการที่มี ‘งานพิเศษ’ ให้ทำ
บางคนมองว่าพวกเขาเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ใช้ชีวิตฉาบฉวย ไม่มีความมั่นคง
แต่หลายๆ คนมองว่าพวกเขาอาจมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ที่ยังหาทางออกไม่ได้ จึงต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปก่อน
นั่นเป็นหลายๆ ความเห็นที่มีต่อ ‘มนุษย์สายพันธุ์อิสระ’ ที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น และอาจกำลังเริ่มต้นระบาดในบ้านเรา
อิสรชนที่กล่าวมานี้ เลือกนิยามตัวเองว่า ‘Freeter และ Neet’
…
ก่อนอื่น ลองมานั่งทำความเข้าใจกับเจ้าสองสิ่งที่ว่านี้ก่อน
Freeter มาจากคำว่า Freebiter ซึ่งมาจากภาษาเยอรมันหมายถึง Worker ดังนั้น Freeter จึงหมายถึงบุคคลที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 34 ปี (ยกเว้นแม่บ้านและนักเรียนนักศึกษา) ทำงานที่ไม่ผูกพันระยะยาวกับองค์กรใด พวกเขาต้องการเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องการทำงานสไตล์ดั้งเดิม คนเหล่านี้จะทำงานแบบ Part Time กับหลายองค์กร หรือทำงานอิสระและยังหมายรวมถึงคนว่างงานที่พยายามหางานที่มีลักษณะแบบ Part Time ทำด้วย
ตั้งแต่ปี1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างยาวนาน จนจำนวน Freeter เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น ภาพลักษณ์ของ Freeter ที่ติดมาจากยุคฟองสบู่ คือการเป็นคนรักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แสวงหาความพอใจจากการไม่ทำงาน ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบที่บรรพบุรุษญี่ปุ่นทำกันมา สิ่งเหล่านี้มีนัยของการเป็นคนแปลกแยก (Non-Conformist) ที่เป็นลักษณะตรงข้ามของสังคมญี่ปุ่น
Freeter แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท แบบแรกคือ ประเภทที่หางานแบบปกติดั้งเดิมทำไม่ได้ แบบที่สองคือ เป็น Freeter เพื่อหาเงินในการแสวงหาเป้าหมายของชีวิต เช่น เป็น Freeter ระหว่างฝึกฝนเป็นนักเขียนการ์ตูน หรือเป็นนักเขียน แบบที่สามคือ เป็น Freeter ขณะหางานประจำทำ เพราะเพิ่งเรียนจบ ด้านบวกของการเป็น Freeter คือ เสรีภาพ และได้ประสบการณ์จากงานหลายอย่าง ส่วนด้านลบคือ รายได้ต่ำ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่มีความมั่นคง
สังคมไทยอาจมี Freeter อยู่จำนวนไม่น้อย และทำงานสำคัญให้แก่สังคม แต่เนื่องจากสังคมเราขาดการเก็บข้อมูลสำคัญในบางเรื่อง และยังขาดการสนับสนุนงานวิจัยในเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เราจึงขาดความรู้ที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดและดำเนินนโยบาย
(ข้อมูลจากมติชนรายวัน วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547 โดย วรากรณ์ สามโกเศศ)
ส่วน Neet นั้นย่อมาจาก Not in Education, Employment or Training หรือกลุ่มคนในวัยแรงงานที่ไม่อยู่ในระหว่างศึกษา ทำงาน และอบรมใดๆ Neet แพร่หลายมากในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกับ Freeter เป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 15-34 ปี ที่ยังไม่แต่งงาน ยังพึ่งพ่อแม่ในเรื่องที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
สำหรับที่เมืองจีนก็มีคนประเภทนี้เช่นกัน เขาได้นิยามคนพวกนี้ว่าเป็นกลุ่มผู้ตกงานประเภทใหม่ โดยแบ่งเป็นสามประเภท ประเภทแรกคือไม่ยอมทนความลำบากในการทำงานจึงเลือกที่จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ประเภทที่สองคือคนที่ไม่มีทางเลือกหรือไม่ยอมเลือก คือกลุ่มคนที่มีการศึกษาไม่สูง จึงหางานทำไม่ได้ และประเภทสุดท้ายคือกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง รักความสบาย เลือกไล่ตามหาความฝัน โดยหากไม่ได้งานที่ตรงกับความคาดหวัง ก็ยินดีไปทำงานบริการที่จ้างงานชั่วคราว ซึ่งคนประเภทหลังนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน จนทำให้เด็กพวกนี้กลายเป็นพวกไม่สามารถดูแลตัวเองได้
(ข้อมูลจาก www.oknation.net)
ถ้าข้อมูลที่เล่ามา ยังไม่ทำให้คุณหายงงงันกับวิถีแห่ง ‘อิสรชน’ สองประเภทนี้อยู่ ลองไปฟังประสบการณ์จริงจากปากของเหล่า Freeter และ Neet ตัวจริงเสียงจริงกันดู
*ครั้งหนึ่งที่เคยเป็น
“ก่อนหน้านี้เคยเป็น Neet มาก่อน คือไม่เรียน ไม่ทำงาน เป็นเพราะว่าตอนนั้นติดเกมออนไลน์ด้วย นั่งเล่นอยู่กับบ้านหรืออยู่ตามร้านอินเทอร์เน็ตทั้งวัน” ภูธเรศวร์ พงษ์บุปผา นักศึกษาคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เคยผ่านประสบการณ์การเป็น Freeter & Neet เล่าให้เราฟัง
“พอผ่านไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าจะเป็นแบบนี้ไปตลอดไม่ได้แล้ว การเล่นเกมมันไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมา ไม่ได้พัฒนาทักษะให้พอที่จะไปเลี้ยงตัวเองในอนาคตได้ เลยเริ่มหางานทำ โดยเริ่มจากการทำในสิ่งใกล้ตัวที่คุ้นเคย คือเริ่มเขียนนิยายเกี่ยวกับเกม โชคดีตรงที่ว่างานเรามันไปเข้าตาทีมงาน เขาจึงชวนให้ไปทำงานด้วย”
ภูธเรศวร์เล่าต่อว่า ตอนนั้นที่เข้าไปทำงานก็เข้าข่ายลักษณะของ Freeter เพราะมันเป็นการทำงาน Part Time คือจะรับผิดชอบในส่วนของข้อความ ดูแลส่วนเทคนิคในเกมทุกอย่าง แล้วก็มีการเขียนบทความลงตามนิตยสารเกม ทำอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง กลายเป็นว่าพ้นจากช่วงชีวิตตรงนั้นไป
“ตอนนี้ก็พยายามจะเรียนให้จบ จะได้หางานประจำทำ ไม่ต้องมานั่งเป็น Freeter อีก” ภูธเรศวร์กล่าว
*เส้นแบ่งบางๆ
การทำงานในรูปแบบระหว่าง Freeter กับ Freelance แน่นอนว่ามันจัดอยู่ในซับเซตเดียวกันคือ งานที่มีอิสระ แต่ทว่าระหว่างเจ้าสองสิ่งนี้ มันก็น่าจะมีเส้นแบ่งอะไรบางอย่างกั้นอยู่
ภูธเรศวร์กล่าวว่า Freeter มันเป็นลักษณะการทำงานแบบ Part-time แต่ถ้าเป็น Freelance คือคุณอาจจะมีงานประจำอยู่แล้ว แต่รับจ๊อบเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งงานตรงนี้อาจต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางบางอย่างด้วย
“ถ้าเป็น Freeter ส่วนใหญ่จะเป็นคล้ายๆ Freelance มากกว่า อย่างสาขางานกราฟิกดีไซน์ก็จะเห็นเยอะ ส่วน Freeter นั้น บางคนอาจเป็นเพราะสถานภาพความจำเป็น และอาจจะมีเยอะขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจตกสะเก็ดในตอนนี้ เพราะอย่างน้อยมันยังช่วยให้มีรายได้เข้ามาบ้าง”
ภูธเรศวร์เล่าต่อว่า วัฒนธรรมการทำงานแบบ Part-time ก็น่าจะมีส่วนทำให้ Freeter ขยายตัวมากขึ้น แต่ถ้าในบ้านเรามันคงจะอยู่ยาก ถ้ายึดเอางาน Part-time หาเลี้ยงชีพเป็นงานหลักเลย เพราะรายได้มันไม่ได้สูง มันไม่เหมือนประเทศแถบยุโรปที่ค่าเงินเขาสูงกว่า
*Freeter & Neet In Japan
ถ้าพูดถึงเรื่อง Freeter และ Neet แต่ไม่มีคำบอกเล่าจากปากชาวญี่ปุ่น ก็คงจะไม่ครบรส
Masahiro Orita นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ผู้กล่าวกับเราว่าทุกวันนี้สถานะของเขาก็ไม่ต่างจากการเป็น Freeter เพราะเขาทำงาน Part Time ที่ร้าน Starbucks ในญี่ปุ่น
Orita เล่าให้เราฟังว่า ในบ้านเขาคนที่เริ่มเป็นแบบ Freeter หรือNeet เป็นเพราะบางคนยากที่จะได้งานประจำ และบางคนก็ไม่ต้องการที่จะทำงาน
“คือปกติพวกเขาจะไม่ค่อยขยัน อีกทั้งจิตใจยังอ่อนแอ บางคนเริ่มมาเป็น Freeter หรือ Neet หลังจากที่มีประสบการณ์การทำงานประจำบ้างแล้ว คือพวกเขาเคยทำงาน แต่เกิดปัญหาในด้านการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างไม่ค่อยสวยมากนัก ดังนั้นพวกเขาจึงมีอาการเหมือนป่วยทางจิต และสุดท้ายพวกเขาจึงกลายเป็น Freeter หรือ Neet”
Orita เสริมให้ฟังถึง Neet ว่าถ้าจะให้เปรียบเทียบคนที่เป็น Neet คงจัดเป็น ‘ขั้นกว่า’ ของคนประเภท Freeter
“Neet คือคนที่ไม่ได้ทำงาน และไม่ใช่นักเรียน เขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อสังคม โดยปกติคนเหล่านี้จะอยู่บ้านโดยไม่ได้ทำอะไร อยู่โดยอาศัยเงินพ่อแม่ นั่นหมายถึงพวกเขาจะไม่มีการเก็บออม ดังนั้นเขาจะมีปัญหาในอนาคต ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เครียดกับปัญหานี้มาก แต่ก็พยายามคิดหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างดีที่สุด และคิดว่าเกือบทั้งหมดจะไม่มีผลเสียในระยะยาว” Orita สะท้อนเสียงความพยายามของรัฐบาลของเขาให้ฟัง
“แต่ถ้าเป็นในสังคมไทยทุกวันนี้ เด็กที่เพิ่งจบเขาเริ่มมองว่าตัวเขามีคุณค่า มีความสามารถมากเกินกว่าที่จะไปเป็นลูกน้องใคร เลยเลือกที่จะเป็น Freeter ไปเรื่อยๆ เพราะเขาไม่อยากทำงานประจำหรือไปเป็นลูกน้องใคร อาศัยความสามารถส่วนตัวของเขาทำงานเพียงคนเดียวได้” ภูธเรศวร์เสริมในมุมมองคนไทย
ภูธเรศวร์กล่าวว่า มันอาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากหาเงินสักก้อนเพื่อมาทำตามความฝัน เขาก็จะหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำเพื่อเก็บสะสมเงินไปเรื่อยๆ เพื่อไปสู่ฝัน แต่คงไม่มีใครที่คิดที่จะอยู่ในสถานะ Freeter แบบนี้ไปทั้งชีวิต
*ภาวะของขวบวัย
ในบางสถานการณ์ ความเป็นไปของมันอาจเกิดจากภาวะของวัยวุฒิ?
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพการทำงานเป็นทีมกับสังคมกลุ่มเยาวชนในเมืองและชนบท มีมุมมองในเรื่องนี้ว่า เขาไม่เชื่อในสมมติฐานนี้ แต่มันก็อาจจะเป็นไปได้ คือถ้าช่วงที่เรายังเป็นเด็กอยู่ เราก็ยังต้องพึ่งผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา แต่พอเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น เราจะรู้สึกว่ามีพลังอำนาจ มันก็เป็นไปได้ว่าช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงที่ต่อต้านผู้ใหญ่ เป็นการต่อต้านเพื่อสร้างความรู้สึกว่าตัวเองมีพลัง
“แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะแบบนี้จะเป็นได้เฉพาะกับวัยรุ่น มันอาจจะเป็นไปได้กับคนที่ผ่านการทำงานแบบเป็นบ้าเป็นหลังมาแล้ว แต่สุดท้ายงานก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไรแก่ชีวิตของเขาเลย เพราะเขาไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงการเรียนรู้ภายในกับการเรียนรู้จากภายนอกมารวมไว้ด้วยกันได้” กิตติชัยให้ความเห็น
*ผ่านพบ..ใช่ว่าจะผูกพัน
กิตติชัยให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์ Freeter และ Neet อีกประเด็นว่าเป็นเพราะปัจจุบันความคิดเรื่องงานมันถูกแยกออกจากชีวิต มันทำให้คนไม่รู้สึกผูกพันกับงาน
คืองานมีฐานะเป็นเพียงแค่การหาเงิน มันไม่ได้มีความหมายในแง่ของความเป็นมนุษย์ ปัญหาจึงมักจะเป็นประเภทที่ว่า คนทำงานแล้วมุ่งเน้นไปที่เงิน เขาจึงทำงานแค่ให้ได้เงิน หลายครั้งจึงเกิดอาการซังกะตายกับงาน เพราะงานมันไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีกับชีวิต ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล ก็อาจมีบางคนที่เขาไม่สามารถปรับตัวได้ แต่คนที่ปรับตัวได้ มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีความสุข แต่อาจเพราะเขาทนได้มากกว่า
*หรือแค่อยากเป็น Somebody?
ด้วยเพราะมีหลายเสียงให้เหตุผลว่า ในปัจจุบันเด็กเป็น Freeter กันเพราะต้องการค้นหาตัวตน
กิตติชัยอธิบายเรื่องนี้ว่า วิกฤตเรื่องการไม่รู้จักตัวเองในปัจจุบันมันเริ่มหนักขึ้น เพราะทุกวันนี้คนเริ่มจะเหมือนๆ กันไปหมดแล้ว ฉะนั้นกระแสการค้นหาความเป็นตัวเองมันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่จะไปในทิศทางไหนมันก็อีกเรื่องหนึ่ง
“แต่พอกลับมาดูที่จุดตั้งต้นว่าการแสวงหาตัวเองที่ทำกันอยู่ มันมาจากอะไร หรือเพื่ออะไรกันแน่ เป็นเพราะว่าอยากมีตัวตน แบบอยากเป็นแค่ somebody หรือเพราะคิดตั้งคำถามกับชีวิตจริงๆ และหนทางในการแสวงหามันเป็นแบบไหน”
กิตติชัยยกตัวอย่างด้วยนิทานเรื่องหนึ่ง คือมีชายคนหนึ่งตายไป เขาเป็นคนที่มีความดีความเลวเท่ากัน ยมทูตจึงถามว่าเขาอยากไปอยู่ที่ไหนระหว่างนรกหรือสวรรค์? ยมทูตจะพาไปดู ชายคนนั้นก็ขอลองไปดูที่นรกก่อน ภาพที่ได้เจอคือผู้คนนั่งเล่นนอนเล่นอยู่ริมชายทะเล มีของกินไว้ให้กินอิ่มหนำสำราญ มีการเต้นระบำให้ดูตลอด ชายคนนั้นจึงเดินเข้าไปถามคนที่อยู่ที่นี่ว่า “อยู่ที่นี่แล้วเป็นอย่างไร?” เขาก็ตอบกลับมาว่า “สบายมาก วันๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยนอนเล่นได้ทั้งวัน” ชายคนนั้นเห็นดังนั้นจึงตัดสินใจอยู่ที่นี่ทันที เขาให้เหตุผลกับยมทูตว่า “ผมลำบากมาทั้งชีวิตแล้ว อยากอยู่สบายๆ บ้าง ไม่ต้องไปดูที่สวรรค์แล้วล่ะ เอาเป็นว่าผมอยู่ที่นี่แหละ” ยมทูตก็ตกลงตามที่ชายคนนั้นขอ
เวลาผ่านไปหลายเดือนเข้า ชายคนนั้นก็เริ่มเกิดอาการเบื่อหน่าย เพราะวันๆ ได้แต่นั่งๆ นอนๆ เขาจึงตัดสินใจเข้าไปพูดกับยมทูตว่า “ผมอยู่ที่นรกนี้มานานแล้ว เบื่อมากเลย วันๆ ได้แต่นั่งๆ นอนๆ มีอะไรให้ผมทำบ้างไหม?” ยมทูตกลับตอบชายคนนั้นว่า “อ่าว นี่คุณคิดว่าที่นี่เป็นสวรรค์หรือไง?”
กิตติชัยขยายความจากแง่คิดนิทานว่า คนเราทำงานเพราะรู้สึกว่ามันคือความหมายของชีวิต ความหมายที่แท้จริงของงาน มันช่วยสร้างให้คนได้รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่าต่อคนอื่น ต่อโลก และทำให้เขารู้จักตัวเอง มีพลังที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้น
“แต่ถ้าเด็กในปัจจุบันเขาเพียงแค่แสวงหาตัวเองเพื่อให้เกิดการยอมรับทางสังคมเท่านั้น มันไม่พอ มันต้องนำไปสู่การเข้าใจตัวเองด้วย ความเป็นตัวเองไม่ได้หมายความว่าใครเห็นฉันแล้วต้องจำฉันได้ แต่มันคือการเป็นอิสระต่อสิ่งยั่วเย้าภายนอก คืออยู่กับโลกภายนอกได้อย่างไม่เป็นทาสของมัน แต่กับการแสวงหาตัวตนในปัจจุบันนี้ ก็เริ่มจะไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาแสวงหากันแบบไหน” กิตติชัยตั้งข้อสังเกต
*อยากเป็นหรืออยากเข้าใจ?
ในยุคหนึ่งของไทย คนที่แสวงหาคุณค่าของชีวิตเขาจะศึกษาปรัชญาตะวันตก ตะวันออก ศาสนาหรืออุทิศตัวเข้าทำงานเพื่อสังคม เพื่อที่เขาจะได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขาเองกับสังคมและคนอื่น คือตัวงานมันทำประโยชน์ให้คนอื่นแต่มันก็ยังทำให้คนคนนั้นได้มองเห็นอะไรในตัวเอง เข้าใจตัวเองผ่านงาน
“แต่ในปัจจุบันเรามองว่า ‘คนอยากเป็น มากกว่าจะอยากทำ มากกว่าอยากเข้าใจ’ อย่างอยากเป็นผู้กำกับ พอได้ลองเข้าไปเรียนรู้ กลับรู้สึกว่ามันหนักเหนื่อย ไม่อยากทำแล้ว อยากเป็นคนทำหนังสือ ก็อยากเขียนอย่างเดียว ไม่อยากจะติดต่องานกับผู้คน ทั้งๆ ที่ความจริงการจะทำงานอะไรสักอย่างต้องทำทั้งสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำด้วย” กิตติชัยกล่าว
กิตติชัยอธิบายว่า มันต้องสร้างสมดุลระหว่างตัวเราเองกับการทำงาน
“การรู้จักตัวเองมันจะไปเชื่อมโยงกับงานที่เราทำ การที่เราจมอยู่กับตัวเราเองคนเดียวมันจะเรียนรู้ยาก เพราะมันไม่มีใครมาสร้างความกระทบอะไรให้ แต่พอเราต้องออกไปทำงานซึ่งต้องมีการสัมพันธ์กับผู้คน อยู่กับภาวะที่มันไม่มั่นคงบ้าง เพื่อให้สิ่งกระทบนั้นมันเป็นตัวสร้างการเรียนรู้ให้เรา คือการที่เราจะดูว่าใครเติบโตขึ้นมากขนาดไหน ให้ดูเวลาเขาต้องเผชิญกับปัญหาว่าเขามีวิธีการแก้ไขมันอย่างไร ไม่ใช่ดูในภาวะที่เขามั่นคง เพราะความมั่นคงบางทีมันก็เป็นตัวทำลายพัฒนาการทางจิตของเรา”
*พรุ่งนี้จะมีมากขึ้น
กิตติชัยมองว่าอนาคตในบ้านเราน่าจะมีภาวะของคนสองประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
“อย่างที่บอกไปว่า ลักษณะงานไม่เหมือนในยุคแรกที่คนจะฝากชีวิตไว้กับงานที่เรามีส่วนร่วมกับมัน เพราะในยุคถัดมาคือยุคอุตสาหกรรม คนจะฝากชีวิตไว้กับโรงงานหรือบริษัท อีกทั้งปัจจุบันรูปลักษณ์ของงานมันจะเป็นงานที่แยกขาดคนออกจากกันประกอบกับยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร คนจึงมองว่าตัวเขาสามารถจะเอาตัวเองไปฝากไว้กับมิติอื่นๆได้อีก
แต่ถ้าคุณหลงอยู่กับยุคอนาธิปไตยของข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายเหลือเกินในทุกวันนี้ มันอาจยิ่งทำให้คนไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จะเกิดการสำลักข้อมูล จมกับข้อมูล ทำให้ตัดสินใจไม่ได้สักที ต้องหาข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น กลายเป็นว่าคนจะยิ่งไร้ทิศทางกันมากขึ้น
“ถ้ายังมีค่านิยมหลงใหลในวัตถุกันมากๆ อยู่มันก็มีสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้น เพราะสังคมตอนนี้มันชิงดีชิงเด่นกัน ใครเหนือกว่าก็ได้อยู่ ใครอ่อนแอกว่าก็ต้องตายไป ซึ่งกลุ่มที่แพ้นี่แหละจะกลายไปเป็นพวก Neet หรืออาจเป็นถึง ฮิคิโคโมริ (Hikikomori) ซึ่งถือว่าหนักสุด คือคนกลุ่มนี้จะไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือสังคมอีกเลย”
“ตามความเห็น ผมมองว่าคนที่เป็น Neet นี่แหละที่มีโอกาสจะเปลี่ยนเป็นพวกฮิคิโคโมริได้มากกว่าพวก Freeter เพราะ Neet บางคนก็ไม่ได้ออกจากบ้าน พวกเก็บตัวแบบนี้ จะยิ่งเข้าข่ายฮิคิโคโมริเมื่อมีอายุมากขึ้น” ภูธเรศวร์ให้ความเห็น
ภูธเรศวร์ขยายความต่อว่า ถ้าเป็นหนักๆ ถึงขั้นฮิคิโคโมริ ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง อย่างที่ญี่ปุ่นเด็กบางคนที่เคยเรียนเก่ง แต่มาวันหนึ่งเกิดสอบตก เขาก็รับตัวเองไม่ได้ เกิดความกดดัน แอนตี้สังคม จนถึงขั้นปิดตัวเอง Shut Down ตัวเองไปอยู่ในโลกส่วนตัว และเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แม้แต่คนในบ้านเขาเอง เขาก็จะไม่พูดคุยด้วยเลยถ้าไม่จำเป็น แต่เด็กบ้านเราคงยังไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น เพราะความกดดันมันยังไม่ได้มีมากอย่างประเทศญี่ปุ่น
ไม่ว่าปรากฏการณ์ในเรื่องนี้จะมาจากสาเหตุใด จากการปลุกกระแสทางการตลาดของระบบธุรกิจที่ฉวยโอกาสหากิน จากระบบการทำงาน จากความอดทนของคนที่ลดน้อยลง จากวัตถุนิยม หรือจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่บีบคั้นก็ตาม เราต่างปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าปรากฏการณ์นี้ คือผลผลิตของโลกสมัยใหม่ที่เราต่างต้องยอมรับ และหาแนวทางร่วมกัน ก่อนที่มันจะกระเพื่อมไปกระทบต่อวงจรอื่นของสังคมต่อไป
########################
เรื่อง – วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม