xs
xsm
sm
md
lg

"โทมัส ลี" คน IBM วิจัยเพื่อชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โทมัส ลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็มประเทศจีน
ดร.โทมัส ลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็มประเทศจีนคนนี้ พูดอย่างเต็มปากว่าการทำงานวิจัยในแดนมังกรที่ผ่านมาทำให้โลกได้รู้จักจีนในฐานะแหล่งทรัพยากรที่ดีเยี่ยม ที่น่าคารวะที่สุดคือคำพูดของ ดร.ลีที่สะท้อนให้เห็นว่า ความท้าทายส่วนตัวคือทำอย่างไรประโยชน์ของงานวิจัยจึงจะพัฒนาชาติจีนได้ทั้งชาติ ไม่ใช่แค่เพื่อไอบีเอ็ม

ดร.ลีให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการบริหารงานศูนย์วิจัยไอบีเอ็มประเทศจีนหลังการเปิดศูนย์วิจัยแห่งที่สองที่เซี่ยงไฮ้ โดยบอกว่าขอบเขตงานวิจัยที่ถูกให้ความสำคัญในจีนมี 3 จุดใหญ่ หนึ่งคืองานวิจัยด้านเครือข่าย สองคืองานคำนวณที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และสามคืองานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

"เรื่องแรกคือเครือข่าย เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ สองคือ Human Centrix Computing เรื่องนี้เราเน้นทำ Human Computing Interaction โดยทำวิจัยเพื่อรวมเอาพฤติกรรมผู้บริโภค ประสบการณ์ผู้บริโภค และกระบวนการตัดสินใจเข้าด้วยกัน เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว สิ่งที่ได้จะไม่ใช่แค่ระบบสำหรับช่วยในการตัดสินใจทั่วไป แต่จะเป็นผู้ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้ดีขึ้น

ในอนาคตมนุษย์และคอมพิวเตอร์จะสื่อสารกันได้ลึกซึ้งขึ้น สามคือการ Optimize ใช้คณิตศาสตร์มาช่วยให้การหาอัลกอริทึ่มใหม่ๆเพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่างจากเมื่อก่อนที่การทำวิจัยส่วนใหญ่เน้นเฉพาะการหาวิธีลดต้นทุนการผลิต ให้องค์กรดำเนินงานได้คุ้มค่าที่สุด เช่น การเน้นพัฒนาซัปพลายเชนหรือ ERP ประสิทธิภาพสูง อีกเรื่องที่เราให้ความสนใจมากคือกรีนไอที เทคโนโลยีเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม"

ในงานเปิดตัวศูนย์วิจัยที่เซี่ยงไฮ้ ดร.ลีบอกว่าได้นำเสนอ 50 ตัวอย่างงานวิจัยที่มีโอกาสต่อยอดในตลาดจีน ส่วนใหญ่เป็นผลงานของศูนย์วิจัยในสหรัฐฯ ที่มีนักวิจัยชาวจีนร่วมศึกษาด้วย

"สิ่งที่เราทำตอนนี้คือจะรวมเทคโนโลยีใน 3 พื้นที่นี้อย่างไรให้ผู้บริโภคยกระดับชีวิตได้ในแง่มุมของไอที สิ่งที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตคือทุกอย่างจะมาและถูกใช้งานบนเว็บ ทำให้อินฟราสตรักเจอร์ในเครือข่ายโทรคมนาคมต้องเปลี่ยนมาเป็นภาพและเสียง ยิ่งเมื่อเข้ายุค 4G ทุกคนจะสามารถทำงานบนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะประเทศที่มีผู้ใช้จำนวนมากๆอย่างจีนหรืออินเดีย ย่อมต้องมีข้อมูลมหาศาลในระบบ ทั้งในการใช้งาน การวิเคราะห์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค นี่คือสวรรค์แห่งใหม่ของบริการใหม่บนเว็บไซต์ ทั้งหมดทำให้เราต้องมีแพลตฟอร์มใหม่มารองรับเว็บยุคหน้า"

ดร.ลีบอกว่า ทีมวิจัยในจีนได้ทำงานวิจัยที่เรียกว่า In Market Research โดยเริ่มทำงานร่วมกับพันธมิตรให้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะสร้างความชำนาญในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ ในทุกๆอุตสาหกรรม นี่คือเป้าหมายและทัศนคติของศูนย์วิจัยแห่งนี้

"ที่ผ่านมาเราทำให้โลกเห็นว่าจีนเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดีมาก แต่ทุกอย่างยังจะต้องดำเนินต่อไปอีกนาน โลกของการวิจัยไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะสามารถมาต่อยอดหรืออะไรก็ตามที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ นี่จึงทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่มีวันจบ"

แม้ไอบีเอ็มจะมีนักวิจัยทั่วโลกมากกว่า 3,000 คน แต่ดร.ลีบอกว่าก็ยังไม่มากพอสำหรับการเปลี่ยนโลกให้เป็นไปตามสิ่งที่ไอบีเอ็มมอง ตลาดเป้าหมายของไอบีเอ็มในประเทศจีนอันดับหนึ่งคือตลาดโทรคมนาคม ตลาดธุรกิจขนาดย่อยและกลาง (SMB) โดยจีนเป็นตลาดเอสเอ็มบีขนาดใหญ่จึงทำให้ตลาดนี้มีความสำคัญต่อไอบีเอ็มมาก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธนาคาร ค้าปลีก ซัปพลายเชน และกลุ่มตลาดใหม่อื่นๆเช่น ธุรกิจสีเขียวที่ต้องการระบบไอทีเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

"ยอมรับว่าศูนย์วิจัยในจีนยังคงมีปัญหาเรื่องภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่สิ่งสำคัญคือเราจะปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาผมก็เห็นการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นแล้ว เรื่องภาษาที่แตกต่าง วัฒนธรรม และความต่างอื่นๆนั้นไม่มีผลต่อการทำงานวิจัยมากเท่าความเข้าใจในธุรกิจและอุตสาหกรรม ทางแก้เดียวคือการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติ ซึ่งเราทำทุกวันและให้ความสำคัญ"

ดร.ลีให้ข้อมูลว่าไอบีเอ็มนำเทคโนโลยีของตัวเองมาแก้ปัญหานี้แล้ว เพื่อให้ทีมวิจัยชาวจีนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น โดยภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานในศูนย์วิจัย โดยจะเน้นให้ทีมพัฒนาเรื่องการออกเสียงคำภาษาอังกฤษ

หนึ่งในงานวิจัยของไอบีเอ็มที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษของทีมวิจัยในจีน คือโปรแกรมแปลงคำพูดเป็นข้อความอักษรในโทรศัพท์มือถือ โปรแกรมนี้สามารถแสดงข้อความที่มีการเอ่ยใส่ไมโครโฟนในลักษณะเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้ในระยะแรก ให้สามารถอ่านข้อความที่ปรากฏออกมาได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน ทำให้การสื่อสารระหว่างนักวิจัยจีนและชาติอื่นๆภายในศูนย์วิจัยเดียวกันทำได้ง่ายขึ้น

"การนำผลงานวิจัยมาทำตลาดจริงยังเป็นความท้าทายที่เราพบเจอตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้งานวิจัยของเราจะไม่ได้ดีที่สุด แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราทำก็มีโอกาสเป็นไปได้ในการนำไปต่อยอดในเร็ววัน ขณะเดียวกันทีมโปรดักซ์และทีมบริการของไอบีเอ็มต่างก็มีเป้าหมายและทัศนคติของตัวเอง สิ่งที่ไอบีเอ็มต้องทำคือการสื่อสารให้ทุกคนในไอบีเอ็มเห็นว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อไคลเอนด์สูงสุด ซึ่งเมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันแล้วก็จะง่ายต่อการดำเนินงาน"

ดร.ลีบอกว่าไม่เคยนับงานวิจัยที่ถูกแปลงเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว โดยเวลาในการพัฒนางานวิจัยแต่ละชิ้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงแต่ละโครงการ บางโครงการมีขนาดเล็กที่ใช้เวลาในการพัฒนาเพียง 2-3 เดือนก็สำเร็จ ขณะที่บางโครงการก็มีการยืดเวลาออกไปหากต้องมีการปรับปรุงงานวิจัยบางส่วน
"ไอบีเอ็มมีศูนย์วิจัยของตัวเองทั่วโลกราว 50 ปีแล้ว แต่การพัฒนางานวิจัยในประเทศจีนเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่เป็นปัญหากับการวิจัย ผมถูกตั้งคำถามนี้หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็ตอบว่าไม่ใช่เรื่องยาก การตั้งศูนย์ที่ประเทศจีนไม่มีข้อกังวลในเรื่องดังกล่าวเลย"

สำหรับความท้าทายส่วนตัว ดร.ลีบอกว่าต้องการสร้างนวัตกรรมแล้วแชร์ผลลัพธ์กับตลาดทั้งประเทศจีน ไม่ใช่แค่ไอบีเอ็ม โดยคิดว่าคนทั้งชาติจะต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม การร่วมมือกันอย่างเปิดกว้างเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการทำงานวิจัย


ดร.โทมัส ลี มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็มประจำประเทศจีน มีนักวิจัยในทีมกว่า 200 ชีวิต มีประสบการณ์งานด้านไอทีมากกว่า 20 ปี มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยภาคพื้นสหรัฐฯและเอเชียมากมาย ทั้งเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจเฮทธ์แคร์ เทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชัน และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

ความเชี่ยวชาญและไอเดียนวัตกรรมโดดเด่นทำให้ดร.ลีมีสิทธิบัตรเทคโนโลยีราว 39 สิทธิบัตร ถูกตีพิมพ์เรื่องราวในวารสารมากมายไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ตามประวัติพบว่าผลงานของดร.ลีถูกนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจ 8 ซอฟต์แวร์ ระบบฮาร์ดแวร์อีก 3 ระบบ และ 1 เทคโนโลยีถูกนำไปต่อยอดในการพัฒนาสถาปัตยกรรมด้านเทคนิค

ดร.ลีจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย สาขาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเทกซัส สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ

ดร.ลี เคยเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันการศึกษาทั้งในสหรัฐฯ และหลายประเทศในเอเชีย ปัจจุบันนอกจากงานวิจัย ดร.ลียังคงถ่ายทอดความรู้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น