xs
xsm
sm
md
lg

หญิงแกร่ง-เก่งยานยนต์ "รศ. พูลพร แสงบางปลา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายครั้งที่เข้าร่วมงานสัมมนาเชิงวิชาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะพบกับวิทยากรขาประจำท่านหนึ่ง...เป็นผู้หญิงสูงวัยตัวเล็กนามว่า "รศ. พูลพร แสงบางปลา" ด้วยลีลาการบรรยายที่เร้าใจ ถามตอบแต่ละครั้ง เรียกเสียงฮือฮาปนกับรอยยิ้มจากผู้ฟังอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับเนื้อหาที่บรรยายเกี่ยวกับเรื่องยานยนต์ถือว่าครบเครื่องชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งในเมืองไทย

สตรีผู้นี้เป็นใคร..มาจากไหน..เหตุใด จึงสนใจเกี่ยวกับยานยนต์ซึ่งเป็นเรื่องของสุภาพษุรุษมากกว่า แต่ความเก่งไม่เข้าใครออกใคร ไม่เลือกเพศ จึงทำให้ รศ. พูลพร กลายเป็นอาจารย์สอนนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลายมหาวิทยาลัยทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ หากผู้หญิงคนอื่นอยากเป็นอย่างอาจารย์บ้างจะทำได้อย่างไร "ผู้จัดการมอเตอริ่ง ไลท์" มีคำเฉลย

เริ่มต้นเมื่อหลายสิบปีก่อน บ้านอาจารย์ทำโรงงานรับกลึงเหล็กหรือรับทำทุกอย่างเกี่ยวกับเหล็ก รวมถึงการซ่อมเครื่องยนต์ต่างๆ ประกอบกับลูกๆ 3 คนแรกของครอบครัวเป็นผู้หญิงทั้งหมด ทุกคนจึงมีหน้าที่ต้องช่วยเหลืองานของที่บ้าน ไล่เรียงตั้งแต่ กลึง เจาะ ประกอบ ซ่อม ทำทุกอย่างที่เขาให้ทำ โดยขณะนั้นอาจารย์อายุ 7 ขวบ (ความจริงเริ่มงานตั้งแต่ 5 ขวบแต่เป็นงานเบาหน่อยแต่ตอน 7 ขวบทำเต็มรูปแบบ)

จากนั้นมาอาจารย์ก็เข้าเรียนหนังสือเหมือนเด็กปกติทั่วไป พร้อมกับช่วยทำงานที่บ้านไปด้วย จนกระทั่งมาถึงตอนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งตอนแรกก็งงไม่รู้จะเลือกเรียนอะไรดี คิดไปคิดมา เรียนสิ่งที่เราถนัดและชอบดีกว่านั่นก็คือ วิศวกรรมยานยนต์

"สมัยนั้น ตอนเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อน ๆ ตกใจกันใหญ่ เห็นเราเป็นผู้หญิง แต่ไฉนเก่งปฏิบัติกว่าคนอื่น ตัด เจาะ เจียร์ มุดใต้ท้องรถคล่องแคล่ว ก็แหม จะไม่เก่งได้อย่างไร ทำมาตั้งแต่เด็ก"

เมื่อเรียนจบอาจารย์ไปสมัครงานเป็นวิศวกรเลย สมัยนั้นบริษัทเขามีมอเตอร์ไซค์ประจำตำแหน่งให้ ขับครั้งแรกก็ล้มเลยตัดสินใจไม่เป็นแล้ววิศวกร หันไปสอนหนังสือดีกว่า โดยสมัครเป็นอาจารย์ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่หลังจากสอนได้ไม่นานความคิดอยากไปเรียนต่อต่างประเทศขึ้น

แต่การไปเรียนต่อต่างประเทศต้องใช้ทุนแยะประกอบกับทางบ้านก็ไม่สามารถส่งเสียได้ อาจารย์จึงสอบชิงทุนและประสบความสำเร็จโดยได้ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลานั้นเป็นการไปทำวิจัยอยู่เรื่องเดียว คือ "หัวฉีดน้ำมัน"

"การเรียนในต่างประเทศระดับสูง เขาจะใช้การทำวิจัยศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเมื่อใครเลือกทำเรื่องใดแล้วก็จะศึกษาเรื่องเดียวตลอดชีวิต อย่างที่อาจารย์ไปเรียน 2 ปี ฉีดน้ำมันเพียงอย่างเดียว ทำกันจนรู้ทุกอนูของหัวฉีด พอเรียนจบหลักสูตรก็คิดว่าจะเรียนต่อปริญญาเอกซึ่งต้องใช้เวลาอีก 5 ปี จึงตัดสินใจย้ายไปเรียนที่อังกฤษแทน"

ซึ่งการไปเรียนต่อที่อังกฤษ เนื่องจากได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยของอังกฤษ โดยไปอยู่ที่เมือง แมนเชสเตอร์ เริ่มต้นด้วยการฝึกงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์อยู่ 6 เดือน จากนั้นค่อยทำวิจัยเรื่องเครื่องยนต์ทั้งระบบ อยู่ 4 ปีเต็ม จนจบพร้อมกันนั้นรับจ้างบริษัทต่างๆ พัฒนาชิ้นส่วนเครื่องยนต์ให้เช่น เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ เป็นต้น

ในระหว่างเรียนที่อังกฤษ มีเรื่องสนุกมากมาย ทั้งการช่วยเหลือกันระหว่างคนไทยซึ่งมีอยู่แค่ 10 กว่าคน,ใช้ชีวิตอย่างคนอังกฤษ และได้แต่งงาน แต่สุดท้ายต้องกลับเมืองไทย เนื่องจากทางจุฬาฯ ต้นสังกัดเรียกลับมาสอนชดใช้ทุน

"กลับเมืองไทยเข้ามาสอนวิชา เครื่องยนต์ เรื่องการเผาไหม้ เรื่องเกี่ยวกับความร้อนทั้งหลายเพื่อเปลี่ยนมาเป็นพลังงาน รวมถึงไอเสียต่างๆ รวมระยะเวลาที่สอนหนังสืออยู่ที่จุฬาก็ประมาณ 45 ปี สอนจนเกษียณอายุราชการ แต่งตำราและหนังสือเกี่ยวกับเครื่องยนต์รวมๆ กันแล้วกว่า 30 เล่ม ไม่นับบทความต่างๆ"

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า อยู่เมืองไทยการทำวิจัยแตกต่างจากเมืองนอกมาก เพราะเมืองไทยไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรเลย จะคิดจะทำอะไรแต่ละอย่างก็จำกัดทั้งเรื่องงบประมาณ และเครื่องมือ ทำให้การวิจัยด้านยานยนต์ของไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร

"การวิจัยต้องเอาตัวเลขมายืนยันจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ นี่ถ้าเอาเงินที่บางคนเขาโกงกินไป มาแบ่งซื้อเครื่องมือทำวิจัยสักส่วนหนึ่งรับรอง ประเทศเราจะเจริญก้าวหน้าเรื่องยานยนต์ไม่แพ้คนอื่น เพราะนักเรียนไทยเก่งเรื่องเครื่องยนต์เยอะ ล่าสุดก็มีลูกศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่งอยู่เมืองนอก วิจัยและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่แล้วเอาไปจดสิทธิบัตร เก็บเงินพวกต่างชาติจนอยู่ได้สบายๆ"

เหนืออื่นใด อาจารย์เป็นคนไทยคนแรกที่ทดลองวิจัยเรื่องการใช้แก๊สแอลพีจี (แก๊สหุงต้ม)ในเครื่องยนต์ กับรถบัส โดยเอาไปทดลองวิ่งไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 1970 หรือเกือบ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งรถคันนั้นปัจจุบันเป็นของปตท. เพราะเขาเป็นคนขายแก๊ส (ฮา)

สำหรับผลงานวิจัยของอาจารย์มีเยอะแยะมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าอาจารย์ทำคนเดียวนะครับ ได้กลุ่มนักเรียน นักศึกษาเข้ามาช่วย โดยเฉพาะรถยนต์บางครั้งต้องเอารถของตัวเองเข้ามาทดลอง ขออาสาสมัคร หรือหากใครให้ช่วยทดสอบวิจัยเรื่องอะไร อาจารย์ก็ยินดี ภายใต้เงื่อนไข รายงานผลตามความเป็นจริง

อาจารย์ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Auto Challenge เป็นการส่งเสริมพัฒนานิสิต นักศึกษาให้ออกแบบรถ สร้างรถ และพัฒนาให้เข้ามาตรฐานสากล แข่งกันในประเทศและส่งไปแข่งต่างประเทศด้วย เป็นความภูมิใจที่มีส่วนช่วยพัฒนาเยาวชนของไทยให้มีความสามารถทางด้านยานยนต์ยิ่งๆขึ้น เพื่อประเทศของเรา

สุดท้ายอาจารย์บอกว่า ไม่เกี่ยงว่าจะเป็น "หญิงหรือชาย" ขอเพียงมีใจรัก ทำจริง และอดทน ก็เก่งเรื่องยานยนต์ได้ เพราะงานด้านนี้ต้องเจอกับน้ำมันเครื่องดำเปรอะเปลื้อนตลอดเวลา รวมถึงงานเจาะ กลึงเหล็ก หากใจไม่รักคงถอยตั้งแต่เริ่ม บังเอิญอาจารย์มีใจรักและคลุกคลีมาแต่กำเนิดจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้

ปัจจุบันอาจารย์ พูลพร ดำรงตำแหน่ง คณบดี คณะวิศวกรรม สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กำลังจะฉลอง 6 รอบ 72 ปี ในปีนี้ และยังคงเดินสายให้ความรู้กับทุกคนชนิดอายุ-ร่างกาย ไม่เป็นอุปสรรค



กำลังโหลดความคิดเห็น