xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบโทเปีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การช่วยเหลือกันในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม
หากโยนความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองลงถังขยะแบบที่ไม่ต้องรีไซเคิลมาใช้ใหม่ ฝังความชอบและชังลงดินลึกสัก 10 ฟุต ขยำบทวิพากษ์อันคมกริบต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองของผู้ทรงภูมิให้แหลกละเอียด และไม่แข็งกระด้างต่อความอ่อนโยนจนเกินควรด้วยหลักจิตวิทยาฝูงชน อุปทานหมู่ หรือพฤติกรรมศาสตร์

เดินเตร็ดเตร่เข้าไปที่มัฆวานฯ และทำเนียบ มือตบและสีเหลืองมีให้เห็นทั่วถ้วน แต่เหนือไปกว่าสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา ยังมีนามธรรมบางชนิดที่มองไม่เห็น แต่สัมผัสได้

มนุษย์เรานิยามสิ่งที่มองไม่เห็นนี้ว่า ‘ความเอื้ออาทร’ หรือ ‘น้ำใจ’

เดิน ปวดเมื่อยแข้งขา ไม่มีที่นั่ง บางครั้งมีคนยกเก้าอี้มาให้ บางครั้งบอกให้นั่งบนผืนผ้าพลาสติกผืนเดียวกันทั้งที่ไม่เคยรู้จัก บางครั้งยิ้มให้กันอย่างคุ้นเคยท่ามกลางความแปลกหน้า

เคยได้ยินคนสองคนคุยกัน “ที่นี่เป็นชุมชนในฝันของผมเลย”

ออกจะบังอาจเกินงาม ถ้าจะบอกว่าเป็นยูโทเปียของเซอร์โทมัส มอร์ เอาเป็นว่ามันคือ ‘ม็อบโทเปีย’ ของคนจำนวนหนึ่งที่คิดคล้ายกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน จนทำให้ ...โทเปีย โผล่ขึ้นมากลางกรุงอันวุ่นวาย

ไมค์ศักดิ์สิทธิ์

“หลังจากที่ตำรวจสลายการชุมนุมในช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม มีผู้หญิงคนหนึ่ง คงเป็นนักธุรกิจ ขับเบนซ์มาจอด แล้วขนกล่องใส่พวกหน้ากาก ผ้าปิดปาก เป็นของอย่างดี แพงๆ เลยนะ ขนมาเยอะเลย หลายกล่องมาก ให้ผู้ชุมนุมเอาไปแจกกัน เขาพูดว่า น้องคะ พี่เอาของมาช่วย เอาไปแจกกันนะ พี่มาร่วมชุมนุมไม่ได้ แต่พี่ก็อยากเอาของมาช่วย แล้วพี่ขอเอาใจช่วยด้วยนะคะ สู้ๆ ค่ะ” พี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่มาจากบางเขนบอก

กองขวดน้ำปริมาณมหาศาล เครื่องเวชภัณฑ์จำเป็น อาหารที่มีมาไม่ขาดตอน เรี่ยวแรงจากกล้ามเนื้อ หยาดเหงื่อในเนื้อผ้าที่สวมใส่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เธอเล่าว่าที่แห่งนี้มีไมโครโฟนศักดิ์สิทธิ์...

“บนเวที เวลาต้องการความช่วยเหลือ เขาก็จะประกาศ พอประกาศปุ๊บ ไม่นานของที่ต้องการก็มา แล้วเขาก็จะบอกว่าไมโครโฟนตัวนี้ศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรก็มา ขอน้ำน้ำมา ขอข้าวข้าวมา ขอผ้าพลาสติกก็มา แม้แต่ส้วมก็ยังมาเลย ส้วมน็อกดาวน์ ไม่เคยคิดว่าจะมีส้วม พอขอก็ได้ตั้ง 50-60 ส้วม เออ! มีอีก ขอเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ก็มา เพราะฝนตก ตากเสื้อผ้าไม่แห้ง แล้วตากกันเต็มทำเนียบฯ บางคนโทรมาบอกว่าที่บ้านมี ไม่ได้ใช้ เครื่องยังดีอยู่ ถ้าจะเอามาบริจาคจะทำยังไง ทุกคนพร้อมให้ พอขอกระบอกไฟฉาย กระบอกไฟฉายก็มาเป็นพันอัน ขอหมวกกันน็อกก็มาเป็นลังๆ แล้วบางคนเขาดูถ่ายทอดเห็นฝนตกหนัก อย่างบ้านแม่เพื่อนเขาเป็นร้านขายพลาสติก เขาบอก ฝนตกคืนนี้รีบเลย! ให้คนงานเอาพลาสติกมาส่ง ให้คนเขาได้ปูนั่งกัน ใช้ทำเป็นหลังคา”

ไข่เค็มโอทอป

ความผูกพันของม็อบเพิ่มพูนทุกวัน บางคนบอกว่าฉันมาไม่ได้ แต่ฉันก็อยากมา บรรยากาศของม็อบก็แตกต่างจากครั้งก่อน อย่างปีนี้พี่สาวคนหนึ่งบอกว่ามีสีสันมาก ทั้งดนตรี เวทีอภิปราย มือตบ และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เราผูกพันกัน

“พี่นั่งอยู่ใกล้ๆ คนที่มาจากบุรีรัมย์ พี่มีขนมก็เลยแบ่งขนมให้เขา แล้วเขาก็บอก เอ้า นี่ไข่เค็มโอทอป (หัวเราะ) คนต่างจังหวัดเขาจะเตรียมอาหารการกินของเขามาพร้อม บางคนก็มีผ้าพลาสติก มานั่งๆ เอ้า ขนมๆ จะเอื้อเฟื้อกันอย่างนี้ตลอด ไม่มีการบอกว่า เฮ้ย! มานั่งเก้าตรงนี้ทำไมมันบัง”

บางคนเป็นถึงเถ้าแก่ แต่มายืนแจกข้าว แจกน้ำด้วยตัวเอง

บางคนเป็นคนรวยมาก ตัวไม่ได้มา แต่เขียนใบสั่งให้ร้านค้าเอาน้ำแข็งไปส่งที่พันธมิตรฯ เดี๋ยวมาคิดตังค์ที่อั๊วะ!

บ้านพันธมิตรฯ

ว่ากันว่าทุกวันนี้มีการเปิดบ้านกันแล้ว เปิดบ้านให้พันธมิตรฯ พี่นงลักษณ์ บอกว่าวันนั้นฟังบนเวทีเขาประกาศว่าบ้านอยู่แถวลาดพร้าว สามารถให้คนมาพักได้ เอาผู้หญิงกับเด็ก คนต่างจังหวัดใครที่จะมาพัก เขาก็บอกเบอร์โทรไว้ให้ เวลาไปชุมนุมก็ไปพร้อมกัน

“เหมือนกับขึ้นรถไปงานศพน้องโบว์ (อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ) รถคันหนึ่งก็จะไปหลายคนเลย เอ้าๆ ไปๆ กัน ไม่ต้องมาคิดเลยว่ามารู้จักกันตอนไหน แต่เป็นพันธมิตรฯ ก็ขึ้นมาเลย ใครอยู่ตรงไหนก็ไปส่งกัน พี่ก็ไปส่งเพื่อนทุกคนครบเลย” พี่นงลักษณ์ บอก “มันเป็นอะไรที่ผูกพันเหมือนพี่น้องกัน เป็นเหมือนเมืองจริงๆ นะ แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่”

เรื่องน้ำใจอย่างนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ กระทั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พี่นงลักษณ์บอก เริ่มมีการให้คนไปนอนที่บ้านตัวเองได้แล้ว จากก่อนหน้านี้แค่เป็นเพื่อนกัน ไปนอนบ้านฉัน ไปนอนบ้านเธอ...

“บ้านฉันมีเอเอสทีวี ก็ไปดูกันที่นั่น แต่ตอนนี้นอกจากเพื่อนฝูงแล้วก็ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คือไม่รู้จักกัน แต่มีบ้านให้คนที่มาจากต่างจังหวัดมานอน ฉันมีที่ มีบ้านพอนอนสามสิบคน เดี๋ยวก็จะมีเหมือนกันอีกว่าบ้านฉันก็มี มาเถอะ เอาผู้หญิงกับเด็กมา เพราะบางคนเขาอาจจะยังไม่กล้าให้ผู้ชายเข้าไปนอน บางคนเขายังคิดไม่ออกว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง อาจจะไม่มีตังค์ ไม่มีของมาบริจาค เขาก็มาชุมนุมด้วยตัว แต่บางคนเงินก็ไม่มี ไปก็ไปไม่ได้ แต่ฉันมีที่พักนี่ ก็มาอยู่กับฉัน บางคนเขาไม่รู้ว่ามีกันถึงขนาดนี้” พี่นงลักษณ์ว่า

ข้าวสาร แกงไก่

คนฝรั่งเศสชื่อนโปเลียน พูดไว้นานแล้วว่ากองทัพเดินด้วยท้อง เสบียงกรังเป็นสิ่งสำคัญ ข้าวผัดกะเพรา ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ผัดไทยไฮโซ กาแฟตุ๊กตุ๊ก ขนมครกชาววัง ฯลฯ ถนนจากมัฆวานฯ สู่ทำเนียบฯ แปลงกายเป็นฟูดเซ็นเตอร์ที่มีของกินสม่ำเสมอ เรียกว่าท้องกิ่วมาจากไหน ถ้ามาที่นี่ท้องต้องเต็มกลับไป

“คนที่มาบริจาคส่วนมากจะเป็นประชาชนทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานั้นขาดอะไร บางทีไม่ได้ประกาศเขาก็เอาของมาให้ บางคนก็เอามาให้ทุกวันอยู่แล้ว วันละร้อยกิโล เป็นพวกน้ำดื่ม ข้าวกล่อง อย่างผมดูแลอยู่ตรงมัฆวานฯ ก็จะมีป้าคนหนึ่งทำแกงไก่มาให้ทุกวัน วันละหม้อใหญ่ๆ พอมา ผมก็เอาไปให้พิธีกรประกาศว่ามีแกงไก่อยู่ตรงนี้ มารับได้ฟรี ป้าแกทำมาให้ ตักจนหมด แล้วแกก็กลับบ้าน” กอล์ฟ–พนักงานเอเอสทีวีเล่าให้ฟัง

เหมือนในเพลงแม่ยกพันธมิตรฯ ขาดอะไรขอให้โทร.บอก ...เดี๋ยวจัดให้

ขวัญดิน สิงห์คำ 1 ใน 5 ผู้ประสานงานกองทัพธรรม บอกว่าช่วงนี้จะมีมากแล้วก็มีที่เขาเรียกว่า ‘แม่ยก’ ให้ชื่อไว้ ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ ขาดอะไรเหลือก็บอก อย่างโรงบุญ ขวัญดินเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนข้าวสารต้องใช้วิธีโทรศัพท์หาแม่ยก จนรู้สึกอาย เพราะโทร. บ่อยมาก แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องโทรศัพท์เลย

“จะมีแม่ยกมาบอกว่าขาดเหลืออะไรบอกได้ บางทีเราก็ใช้วิธีประกาศบนเวที ถ้าไม่มากเราก็ใช้การโทร. ส่วนตัว ว่าตอนนี้ขาดอะไร เขาก็จะมาส่งให้ เราเห็นน้ำใจ คือภาพวันนี้เห็นชัดเจนกว่าปี 49 แต่พอปี 51 จะเป็นอะไรที่เพิ่มขึ้นเยอะมาก แต่ก่อนเราเรียกโรงบุญ สมัยก่อนก็จะมีอยู่แค่ของกองทัพธรรม แต่ตอนนี้มีถึง 20-30 โรงต่อวัน มันมาจากไหนก็ไม่รู้ มาเป็นคันรถเยอะแยะไปหมด กล้วยก็มาเป็นคันรถหกล้อ อาหารการกินเยอะไปหมดเลย ขนาดคนเยอะขนาดนี้อาหารก็ยังเหลือ แสดงว่าใจคนนี่... วันนั้นเป็นร้อยๆ เจ้าเลยนะที่เอามาให้เรา นอกจากอาหารแล้วก็มีเสื้อผ้า ผ้าห่ม หมอน ทุกอย่างที่จำเป็นต่อชีวิตผู้มาร่วมชุมนุม”

เรื่องอาหารการกินนี่ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นพันธมิตรฯ เท่านั้นถึงจะอิ่มท้อง ใครหิวมาก็อิ่มได้เหมือนกัน

“ที่ผมประทับใจมากก็คือกองทัพธรรม ตอนเราชุมนุมที่มัฆวานฯ ใหม่ๆ พวกนปก.ก็ชุมนุมอยู่ที่สนามหลวงแล้วเขาไม่มีอะไรจะกินก็แอบปลอมตัวเข้ามากินข้าวที่กองทัพธรรม และบังเอิญผมจับได้เพราะถ่ายภาพเดินตามหลังมาจากสนามหลวง กินข้าวของเราเสร็จยังเอากลับไปเผื่อแผ่ให้พรรคพวกที่สนามหลวงอีกด้วย ผมเลยมาบอกที่กองทัพธรรม คำพูดของกองทัพธรรมบอกกับผมว่า เราทำทาน เราทำบุญ ไม่เกี่ยงว่าเขาเป็นใคร จากคำพูดนั้นเขาก็มากินทุกวัน นอนกินที่นี่ ฟังเขาปราศรัยที่นี่ทุกวันจนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีพวก นปก. หลายร้อยคนที่เข้ามาอยู่ในพันธมิตรฯ อย่างสมบูรณ์แบบ” รบิล สองเมือง ศิลปินอิสระพัฒนาสังคม เล่าความประทับใจ

7 ตุลาคม

จุดศูนย์รวมน้ำจิตน้ำใจแห่งหนึ่งคงหนีไม่พ้นเต็นท์ของหน่วยพยาบาลที่กระจายตัวตามจุดต่างๆ ตั้งแต่มัฆวานฯ จนถึงภายในทำเนียบฯ หยูกยา เตียง เครื่องเวชภัณฑ์ เข็มเย็บแผล น้ำเกลือ กระทั่งหลอดไฟนีออน ทุกอย่างมีพร้อมสำหรับรองรับเหตุการณ์ได้ตลอดเวลา (ยกเว้นระเบิด)

“นี่คือน้ำใจของพวกเราอย่างหนึ่ง ไม่นิ่งดูดาย เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แค่ตะโกนเรียกขอแรงคน ทุกคนจะรีบเข้ามาโดยอัตโนมัติ เหมือนอย่างตอนนี้ ถ้าผมต้องการคนสัก 20 คน ผมไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย แค่เดินออกไปหน้าเต็นท์ตอนนี้ แล้วบอกว่าขอแรงหนุ่มๆ 20 คนจะมีคนวิ่งเข้ามาช่วย นี่คือน้ำใจของพันธมิตร” นายแพทย์วิษณุ ทรัพยปรุง แพทย์อาสาเล่าความประทับใจให้ฟัง

เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์น้ำจิตน้ำใจที่ต้องช่วยเหลือกันยามเผชิญภัย ถ้าวันนั้นทุกคนต่างเอาตัวรอด อะไรจะเกิดขึ้น

ธันยธร ยอดแปลน พนักงานบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งย่านสีลม พูดถึงเหตุการณ์ว่า

“เหตุการณ์ตอนที่ตำรวจทำร้ายประชาชน รถพยาบาลเข้ามาไม่ได้ คนเจ็บเยอะมาก คนเจ็บช่วงแรก แขนขาด ขาขาดทั้งนั้นเลย ถ้าดูในรูปจะเห็นว่ารถขนผู้บาดเจ็บช่วงแรกจะเป็นรถปิกอัพทั้งนั้น พี่ก็ต้องวิ่งมาไหว้ขอรถคนอื่น ใครมีรถช่วยตามมาหน่อย เอาคนเจ็บส่งโรงพยาบาลหน่อย ทุกคน ใครมีรถวิ่งมา มีพี่ผู้หญิงท่านหนึ่งเอารถมาจอดเลย เป็นรถวีออสป้ายแดง รถพี่ได้มั้ย เราบอกรถพี่รถใหม่เดี๋ยวเปื้อนนะ เป็นเบาะกำมะหยี่ด้วย แล้วได้มั้ยคะ ถ้าได้ ไม่ต้องห่วงเปื้อน เชื่อมั้ย แกขับวนทั้งวัน ส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล

“มีครั้งหนึ่งที่พี่ประทับใจจนน้ำตาซึม วันที่เดินสงครามเก้าทัพ” ธันยธร ยังเล่าย้อนกลับไปตอนที่เธอไปเอ็นบีที “คนเยอะมาก หยูกยาก็ยังเตรียมไม่พร้อม แอมโมเนียมันหมด เราแวะเข้าไปร้านยาเล็กๆ ข้างทาง ขอซื้อแอมโมเนียทั้งหมดที่มี เขามีแต่ขวดเล็กๆ พอหยิบมาจะคิดตังค์ เขาก็ถามว่าจะเอาไปทำไม เราบอกว่าหนูอยู่หน่วยพยาบาลพันธมิตรฯ ตอนนี้กำลังเดินอยู่ มันร้อนมาก คนเป็นลม พอลูกสาวกำลังจะคิดตังค์ อาม่าเดินมาบอกว่าเอาไปเถอะลูก ม่าดูทุกวัน ม่าร้องไห้ทุกวัน ไม่ต้องคิดตังค์ ขาดเหลืออะไรจดไว้ บอกม่า ม่าไปไม่ได้ เดี๋ยวม่าจะให้หลานเอาไปให้ ตอนนั้นน้ำตามันร่วง”


ความเป็นหน่วยพยาบาล ทุกคนรู้ดีว่าเมื่อมีคนบาดเจ็บหรือป่วยไข้ พวกเธอและเขาไม่สามารถเลือกได้ใครเป็นฝ่ายไหน หน้าที่มันบอกว่าต้องรักษาทุกคนที่แบกหามความเจ็บไข้เข้ามา

“โดยจรรยาบรรณของคนทำงานด้านนี้ เราเลือกรักษาไม่ได้ แต่เราเลือกฝั่งที่จะยืนอยู่ เราไม่เลือกปฏิบัติกับใคร เขาเป็น นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) เราก็รักษา เชื่อมั้ยว่ามี นปก. คนหนึ่งให้การ์ดพามาหาหมอในนี้ การ์ดก็พามา ตัวเขาเป็นแผลพุพอง เราทำแผลให้ ให้ยากิน ยาทา พอเสร็จแล้วไหว้ขอบคุณ มีอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง เขาโดนขวดตีหัว พี่ก็ซักไปซักมาบอกว่าโดนตีที่สนามหลวง เราก็ทำแผลให้ บอกว่าพรุ่งนี้มาทำแผลอีกนะ เขาก็มา มาแล้วได้กินข้าว ได้ทำแผล มาทุกทีก็เดินมาสวัสดีทุกที เดี๋ยวนี้เขาเป็นพันธมิตรฯ แล้ว มาช่วยกวาดขยะ ทำนั่นทำนี่”

เธอบอกว่าความเอื้อเฟื้อจะทำให้หัวใจของคนเราเปิดออก

สู้เข้าไปอย่าได้ถอย

“การชุมนุมที่ผ่านมา ผมรู้สึกประทับใจวีรสตรีที่เดินนำหน้าสุภาพบุรุษ กล้าตายมากกว่าวีรบุรุษ เพราะผมเห็นมาแล้วทั้งหมด มีพันธมิตรฯ นี่แหละที่มักมีผู้หญิงนำหน้าตลอด ซึ่งผมไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อนเลย บางทีผมก็รู้สึกว่าทำไมผู้หญิงถึงได้สู้ขนาดนั้น ผมเคยบอกป้าคนหนึ่งว่าคุณป้าถอยเถอะ แค่คุณป้าเดินก็จะหกล้มอยู่แล้ว แต่ป้ากลับตอบผมว่า ไม่ถอย ไม่เอา ไม่ยอม แถมผมยังโดนด่ากลับมาอีกว่าจะสู้หรือไม่สู้ ถ้าไม่สู้ก็กลับบ้านไป” รบิล เคยโดนด่า

ความเด็ดเดี่ยวนี่แหละที่เป็นนามธรรมอีกอย่างที่ทำให้หลายคนประทับใจ เป็นเชือกกระชับเกลียวเดียวกัน เหมือนกับ พยอม พิชัยรัตน์ การ์ดอาสาหญิง

“อย่างเมื่อเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา ก็เดินทางไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เพราะเห็นแล้วทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้พี่น้องของพวกเราไปอย่างโดดเดี่ยว อย่างน้อยเราก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยเสริมกำลังทัพได้ ผู้คนตรงนั้นไม่มีใครกลัวตายแม้แต่น้อย หลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลทำกับประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทนได้เราเลยต้องลุกออกไปทำอะไรสักอย่างเพื่อให้รัฐบาลได้มีสำนึกต่อประชาชน”

ประเทศไทยไม่มีทางจน

“มองแล้วเห็นเลยว่าเมืองไทยไม่จนนะ ถ้านั่งอยู่ตรงนี้เรามองว่าเมืองไทยไม่มีทางจน แต่จนเพราะนักการเมืองโกง จริงๆ นะ อย่างช่วงนี้มีคนบาดเจ็บจากการสลายผู้ชุมนุม จะมีคนหลั่งไหลมาบริจาคเยอะมาก คนตื่นตัวเยอะ คนมาตรงนี้เป็นคนที่ไม่ได้เรียกร้อง แม้บาดเจ็บใจยังสู้ คนที่มาชุมนุม คนเหล่านี้เขามาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น พี่เจอเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เป็นพนักงานของโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง ขาเขาโดนระเบิดมา พี่ถามว่าหนูท้อไหม เขาบอกว่าไม่ท้อเลยครับ เลือกข้างแล้วครับ เสียใจไหม ไม่เสียใจครับ พี่ว่าแต่ละคนที่มาใจเขาเต็มร้อยทั้งนั้น การหลั่งไหลมาที่นี่ไม่ได้มีแต่วัตถุเงินทองเท่านั้น แม้แต่จิตใจเขาก็เต็มใจมา พี่ว่าคนกลุ่มนี้ที่เขามาตรงนี้ แม้ว่าเขาจะแพ้กลับไป พูดถึงสุดๆ คือแพ้นะ เรื่องชนะเราหวังอยู่แล้ว แต่ถ้าแพ้กลับไป คนที่จะเอาตัวรอดในสังคมต่อไปได้ก็คือคนกลุ่มนี้ เขาไปอยู่ในสังคมเขาจะเอาตัวรอดได้ เพราะเขาเรียนรู้การต่อสู้มาแล้ว ประสบการณ์ 4 เดือนกว่าๆ ตรงนี้สอนให้เขารู้ว่าจะรอดอย่างไร” ขวัญดินกล่าวอย่างมั่นใจ

...............

ไม่ว่าปรากฏการณ์ถั่งท้นของน้ำใจจะมีเงื่อนไขใดค้ำจุนให้เกิด แต่พลังบริสุทธิ์ของผู้คนก็ช่วยยืนยันสิ่งหนึ่งว่า เมืองไทยไม่เคยสิ้นไร้ไม้ตอกน้ำใจ นานวัน ความผูกพันยิ่งกระชับแน่นเหมือนเครือญาติ เหมือนพี่น้อง ธันยธรบอกว่า

“น้ำใจเหล่านี้จะไม่มีวันลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น มันไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของ แต่มันคือหัวใจที่จะรวมกันมากขึ้น”

เราหวังว่าเมื่อทุกอย่างจบลง น้ำใจเหล่านี้จะหลั่งไหลไปทั่วทั้งสังคมเพื่อเยียวยาทุกอย่างให้สวยงาม

**************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์


กำลังโหลดความคิดเห็น