xs
xsm
sm
md
lg

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา 7 ปีแห่งการปั้นต้นกล้า"ดรุณสิกขาลัย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"การจะสร้างศรัทธาให้คนอื่นได้ประจักษ์ในความสามารถของตัวเรานั้น ต้องสร้างขึ้นจากตัวของเราเองก่อน"

คำกล่าวข้างต้นมาจากนักบริหารและนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มือฉมัง อดีตทีมผู้บริหารในเครือซีเมนต์ไทย "พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา" ที่ในวันนี้ ชายวัย 81 ปีอย่างเขายังคงทุ่มเทให้กับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล แต่เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายใต้องค์กรแห่งการเรียนรู้ชื่อว่า "โรงเรียนดรุณสิกขาลัย" ที่ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ กว่า 80 คนโอบล้อมอยู่

จากการร่วมมือกันของ 4 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคม และ The Media Lab of Massachusetts Institute of Technology (MIT) โรงเรียนดรุณสิกขาลัยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2544 โดยนำเอาแนวทางการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ของศาสตราจารย์ Seymour Papert (MIT) มาผสมผสานเข้ากับแนวคิด "Learning Organization" ของศาสตราจารย์ Peter M. Senge (MIT) สำหรับใช้ขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้

ก่อนหน้านี้ พารณ ได้นำแนวคิด Constructionism ที่เป็นรากฐานของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนของรัฐมาแล้วหลายแห่ง และพบว่าเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ผ่านแนวคิดดังกล่าวได้รวดเร็วมาก สิ่งที่เป็นอุปสรรคมีเพียงประการเดียว คือการบริหารงานแบบราชการที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบมากมาย นั่นจึงทำให้ พารณ ริเริ่มเป็นโรงเรียนที่มีรูปแบบการบริหารด้วยตนเองดังที่เป็นอยู่

"รูปแบบการเรียนการสอน ตอน ป.1 - 6 เราจะเน้นไปที่ learning how to learn ผ่านโครงงาน ส่วนชั้น ม.1-6 เราจะเน้นไปที่สายอาชีพ Career-Based Learning เราอยากเห็นเด็กของเราจบออกไปทำงานแล้วเป็นผู้นำในอาชีพที่เขาเรียน ถ้าเขาเป็นหมอก็ควรเป็นหมอชั้นนำ และควรจะทำงานเป็นทีมได้ด้วย เพราะโลกยุคต่อไปคือยุคแห่งการทำงานเป็นทีม"

คุณลักษณะอีกประการของโรงเรียนที่เห็นเด่นชัดคือ การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ บ่อยครั้งที่คุณครูและนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ จะเดินทางไปค้นคว้าหาข้อมูลยังสถานที่จริง เช่น ศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนชาวมอญ ณ เกาะเกร็ด, การเดินทางไปดูงาน ณ บริษัท ไทยออยล์ จังหวัดชลบุรี, ไปพิพิธภัณฑ์แมลงที่กำแพงแสน เพื่อไปดูวงจรชีวิตของแมลง, ไปปลูกต้นโกงกางที่ป่าชายเลน ฯลฯ ก่อนจะเก็บมาสรุปผลในรูปของ Mind Map และเผยแพร่ให้กับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ได้ทราบ โดยเชื่อว่า การได้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจนั้น จะทำให้เด็กได้สนุกกับการเรียนมากกว่า และในช่วงเวลาที่เด็กกำลังสนใจอยู่นั้น ครูหรือ Facilitator ก็สามารถบูรณาการวิชาการ มารยาท ศีลธรรมจรรยาลงไปได้ง่ายกว่า และไม่ใช่การยัดเยียดให้เด็กจดจำ


"เด็กของเราไม่เกาะตู้ทีวีอยู่ที่บ้าน พอถึงวันจันทร์ก็ร้องไห้โยเยไม่ยอมไปโรงเรียน มีแต่จะเร่งให้คุณพ่อคุณแม่พาไปโรงเรียนไว ๆ กลับมาจากเรียนก็มีเรื่องใหม่ ๆ เล่าให้ที่บ้านฟังตลอด นี่คือประโยชน์ของการเรียนเป็นโครงงาน (Project-based Learning) เด็กสามารถศึกษาค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองสนใจ ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้มากขึ้น ผมถือว่า ตอนนี้เราประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีผู้ปกครองให้ความสนใจกับโรงเรียนเรามากขึ้น และในปีนี้ มีผู้ปกครองพาเด็กมาสมัครมากกว่าจำนวนที่เราเปิดรับได้"

จากแนวทางการสร้างศรัทธาที่จุดติดแล้วดังกล่าว พารณบอกว่า ตอนนี้ ผู้ปกครองคือพีอาร์ที่ดีที่สุดของทางโรงเรียน

"เราใช้เวลา 7 ปีในการสร้างศรัทธาให้เกิดกับสังคม โดยเฉพาะผู้ปกครอง แม้จะมีการเรียนการสอนถูกต้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แต่โรงเรียนดรุณสิกขาลัยมีความแตกต่างจากโรงเรียนอื่นสูงมาก เรามีการบูรณาการวิชาความรู้หลายแขนงเข้าด้วยกัน ผนวกด้วยศิลปะ ศีลธรรม และมารยาททางสังคม เพื่อให้เด็กของเราสามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข และมีอัตตาต่ำ นอกจากนั้นยังต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีมอย่างเป็นกัลยาณมิตรได้"

แม้โรงเรียนดรุณสิกขาลัยจะยังไม่มีนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด (ม.6) แต่ในระหว่าง 7 ปีที่ผ่านมา เด็กนักเรียนจากสถาบันแห่งนี้ก็ออกไปสร้างผลงานในหลายเวที ยกตัวอย่างเช่น สุดยอดเด็กรอบรู้แห่งประเทศไทย ระดับภาคกลาง ในหมวดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับหมวดธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเวที UBC Thailand Power Kids Challenge เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยวิสัยทัศน์ของนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลมือฉมัง แนวทางของ พารณจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างคนให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ด้วย

"เราต้องยอมรับว่า เด็กในสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกามีโอกาสมากกว่าเด็กไทย แม้ในโรงเรียนสามัญของเขา ก็ก้าวหน้ากว่าเรา มีเครื่องมือต่าง ๆ มากกว่าเรา อีกสิ่งหนึ่งก็คือ วิธีการเรียนการสอน ที่เขาทำให้เด็กรักการเรียนรู้ได้ ผมเคยพาอาจารย์จาก MIT มาที่บ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และนำโปรแกรมจาก MIT มาใช้กับเด็กชนบทของเรา ผลก็คือ เด็กของเรามีความสามารถไม่ต่างจากเด็กที่นิวยอร์ก ชิคาโก หรือลอนดอน แต่เขาไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ได้เท่านั้นเอง"

เพื่อให้ก้าวทันโลก เทคโนโลยีการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ตลอดจนบุคลากรจากมหาวิทยาลัยท็อปเทนของสหรัฐอเมริกาจึงมักถูกส่งมาทำการเรียนการสอนที่สถาบันแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

"ตอนนี้เรามีนักศึกษาปริญญาตรี หรือนักศึกษาปี 4 จากต่างประเทศบินมาร่วมสอนให้กับเด็กประถม และมัธยมของโรงเรียน ส่วนมากเป็นวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ แล้วก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการของโรงเรียนเรากลับไป"

นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์เครื่องเล็กสำหรับเด็ก ๆ อย่าง One Laptop Per Child (OLPC) ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนของเด็ก ๆ ชั้นประถมศึกษา โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือจดบันทึกว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้างในแต่ละวัน ขณะที่เด็กชั้นมัธยมจะใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแทน เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน

"โลกยุคใหม่เป็นโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วฉับไว ผู้คนที่อยู่ในภาวะดังกล่าวจะได้พบกับแรงกดดันสูง แนวทางพัฒนาเด็กไทยให้สามารถแข่งขันบนโลกใบนั้นได้ก็คือ การทำให้เด็กรู้จักยืดหยุ่น ปรับตัว และยังคงใฝ่เรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ซึ่งหากทำได้เช่นนั้น แม้แต่สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป เด็กไทยก็สามารถแข่งกับเขาได้ ที่สำคัญคือ เด็กจะต้องมีความรู้สองภาษา ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี"

"ที่นี่เราฝึกเด็กเหมือนคนที่เรียนดอกเตอร์ ให้เขาสามารถคิดได้ด้วยตนเอง หาข้อมูลได้เอง และต่อยอดความรู้นั้นได้ด้วยตัวเอง แม้จะทราบดีว่าเด็กทุกคนแตกต่างกัน แต่ถ้าเด็กส่วนใหญ่ของเราเติบโตขึ้นได้ในลักษณะนั้น ผมก็มีความสุขแล้ว"
กำลังโหลดความคิดเห็น