xs
xsm
sm
md
lg

เรียลลิตี ‘กู้ชาติ’ ปรากฏการณ์ร้อยกว่าวันของการชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึงรายการเรียลลิตีที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของเมืองไทยแล้ว คงไม่มีเรียลลิตีใดที่นำเสนอเรื่องราวอย่างยาวนานเท่ากับเรียลลิตีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ ASTV ช่อง NEWS 1 มานานกว่า 140 วัน และเป็นการออนแอร์ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก อีกทั้งยังจัดเป็น‘เรียลลิตีการเมือง’รายการแรกและรายการเดียวในโลกด้วย

เรียลลิตีการชุมนุมของพันธมิตรฯเป็นการถ่ายทอดสดภาพการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้คนเรือนแสนเรือนล้านที่มารวมตัวกันด้วยจิตวิญญาณอันมุ่งมั่นที่จะ‘ปฏิบัติการกู้ชาติ’ มีทั้งการติดอาวุธทางปัญญาโดยนักวิชาการที่ขึ้นปราศรัยให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ความบันเทิงจากวงดนตรีและการแสดงศิลปะหลากหลายแขนง การเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบเพื่อต่อต้านการกระทำอันมิชอบของรัฐบาลซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งบรรยากาศในการชุมนุมทั้งในห้วงเวลาที่สนุกสนาน เปี่ยมด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ และช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียด แว่วยินแต่เสียงปืนรัวกระหน่ำท่ามกลางคราบเลือดและหยาดน้ำตา

ทำไมต้องถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง

หลายคนสงสัยใคร่รู้ว่าเรียลลิตีที่ออกอากาศนานที่สุดในโลกเช่นนี้ทำได้อย่างไร เหตุใดจึงต้องมีการถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง และทำไมรายการนี้จึงมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นชนิดดึงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ‘ผู้จัดการ LITE’ ถึงพาท่านไปพูดคุยกับทีมช่างภาพเทคนิคของสถานีโทรทัศน์ ASTV ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดการชุมนุมของพันธมิตรฯในรูปแบบของเรียลลิตี 24 ชั่วโมง

พีระยศ เสลานนท์ ช่างภาพเทคนิคสถานีโทรทัศน์ ASTV ซึ่งทำงานที่ ASTV มาตั้งแต่มีการชุมนุมพันธมิตรฯภาคแรก เมื่อปี 2549 บอกกับเราว่า การถ่ายทอดการชุมนุมของพันธมิตรฯ ภาค 2 (ปี 2551) ในรูปแบบของเรียลลิตีนั้นมีสาเหตุมาจากแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จ้องจะสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงแรกๆที่เริ่มชุมนุมเลยทีเดียว ทำให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ASTV ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ต้องใช้กลยุทธ์ ‘เสนอความจริงผ่านสื่อ’ มาเป็นเกราะป้องกันการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ และก็คิดไม่ผิดเพราะแม้รัฐบาลจะพยายามสกัดกั้นการชุมนุมทุกรูปแบบแต่ก็ไม่สามารถสลายการชุมนุมได้ ขณะเดียวกันการชุมนุมเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯนอกจากจะยืดเยื้อยาวนานมากว่า 4 เดือนแล้ว ผู้ชุมนุมยังทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ ตอนแรกเรากะจะถ่ายทอดในลักษณะเดียวกับการชุมนุมปี 2549 คือถ่ายทอดเฉพาะช่วงบ่ายไปจนถึงกลางดึก โดยในช่วงแรกเราออนแอร์ 24 ชั่วโมงก่อนเพื่อตรึงผู้ชุมนุมเอาไว้ หลังจากนั้นสัปดาห์หนึ่งเราก็เริ่มหยุดถ่ายทอดในช่วงตี 4 ถึง 6 โมงเช้า เพื่อพักเวที แต่ปรากฏว่าช่วงที่หยุดถ่ายทอดเนี่ยปฏิกิริยาชัดเจนเลยว่าตำรวจพยายามจะเข้ามาสลายการชุมนุม ตอนนั้นกดดันมาก ผู้ใหญ่ก็เลยสั่งให้ออนแอร์ 24 ชั่วโมง เพราะมองว่าตราบใดที่มีภาพเผยแพร่ออกไปตำรวจก็จะไม่สลายเรา เพราะนอกจากพันธมิตรที่เมืองไทยแล้ว ASTV ยังเผยแพร่ไปถึงอเมริกาด้วย ซึ่งเวลาของอเมริกาจะตรงข้ามกับไทย เรากลางคืนเขากลางวัน เพราะฉะนั้นแปลว่าจะมีประชาชนจับจ้องมองการชุมนุมของพันธมิตรอยู่ 24 ชั่วโมง” พีระยศ กล่าว

ผนึกกำลังช่างภาพมืออาชีพ

เมื่อเจอกับโจทย์ที่ท้าทาย ต้องถ่ายทอดรายการสดตลอด 24 ชั่วโมง ทีมช่างภาพเทคนิคจึงต้องปรับรูปแบบการทำงานของทีมใหม่เพื่อรองรับการทำงานที่หนักหนาสาหัสขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ เอกราช ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าช่างภาพเทคนิคสถานีโทรทัศน์ ASTV บอกเล่าถึงการทำงานของทีมช่างภาพให้ฟังอย่างน่าสนใจ ว่า การทำรายการเรียลลิตีพันธมิตรฯนั้นเขาจะแบ่งช่างภาพเทคนิคของ ASTV ซึ่งมีทั้งหมด 36 คน ออกเป็น 3 ทีม คือ ทีม A , B และ C ทีมละ 12 คน จัดเป็นเวรเช้า ทำงานตั้งแต่ 05.00-17.00 น. และเวรบ่าย 17.00-05.00 น. ช่วงละ 1 ทีม แต่ละทีมจะทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน สลับกันไป ดังนั้นแม้แต่ละทีมจะต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมง แต่ในช่วงพักก็จะได้พักอย่างเต็มที่ ช่างภาพเทคนิคของ ่หนักหนาสาหัสขึ้น พืกล้า ้ รียลลิตี้ 24 ชั่วโมง

“ คนจะสงสัยว่าเอ...ออกอากาศ 24 ชั่วโมง เป็นเวลาหลายๆเดือนเนี่ยช่างภาพได้หลับได้นอนกันบ้างหรือเปล่า (หัวเราะ) จริงๆก็ได้พักนะเพราะเราสลับกันทำงาน ทำให้ไม่หนักจนเกินไป ซึ่งแต่ละกะ ที่มีกะละ 12 คนเนี่ย เราก็จะแบ่งครึ่งหนึ่งถ่ายภาพในสตูดิโอและอีกครึ่งหนึ่งถ่ายภาพที่เวทีพันธมิตรฯ เพราะนอกจากถ่ายทอดสดการชุมนุมแล้วช่างภาพเทคนิคยังต้องรับผิดชอบการถ่ายรายการอื่นๆในสตูดิโอด้วย และในกรณีที่สัญญาณถ่ายทอดสดจากเวทีมีปัญหาเราก็จะตัดเข้ารายการข่าวในสตูฯซึ่งสแตนบายด์รอไว้ตลอด ช่างภาพที่อยู่ในสนามก็จะรับผิดชอบในแต่ละจุดที่กำหนดไว้ คือจะมีกล้องที่อยู่บนนั่งร้าน 2 ตัว และกล้องที่อยู่บนเวที 2 ตัว ผลัดกันถ่ายคนละ 3 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้ล้าเกินไป แต่ทีมช่างภาพของเราจะไม่เกี่ยวกับช่างภาพทีมข่าวซึ่งเขาออกไปเก็บภาพข่าวต่างๆ เราจะถ่ายการชุมนุมอย่างเดียว ส่วนข่าวบางข่าวที่เอาขึ้นหน้าจอในระหว่างถ่ายทอดการชุมนุมก็จะเป็นหน้าที่ของช่างภาพข่าวไป

คือก่อนที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ผมจะบอกกับน้องๆช่างภาพทุกคนเลยว่าคุณต้องเจองานหนักนะ ต้องมีความรับผิดชอบสูง แรกๆพอรู้ว่าต้องถ่ายทอดสดเขาก็จะเกร็งเพราะภาพที่เขาถ่ายมันออกสดเดี๋ยวนั้น ไม่สามารถตัดต่อได้ ผมก็คุยกับน้องๆว่าแนวทางของภาพที่ผมกับโปรดิวเซอร์วางไว้จะออกมาประมาณนี้ พอทำงานไปสักระยะช่างภาพเขาก็จะรู้เองว่าจังหวะแบบนี้ต้องถ่ายภาพมุมกว้าง แบบนี้ต้องซูมภาพเข้ามาเพื่อให้เห็นอารมณ์ของคนหรือเห็นรายละเอียด มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นเขาก็จะแพลนกล้องไปจับ เช่น กลุ่มผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดที่กำลังเคลื่อนขบวนเข้ามาในที่ชุมนุม ป้ายการ์ตูนล้อเลียนที่ผู้ชุมนุมถือ สิ่งเหล่านี้มันทำให้ภาพการชุมนุมมีสีสัน ไม่น่าเบื่อ” เอกราช พูดถึงการทำงานของทีมช่างภาพเทคนิค

สู้แดดสู้ฝน

ที่ผ่านมาการทำรายการเรียลลิตี (รายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากสถานการณ์จริง ไม่มีบท ไม่มีการตัดต่อ) ของไทยนั้นมีเพียงรายการในแนวบันเทิงที่นำผู้ที่สมัครเข้าร่วมรายการมาอยู่และและทำกิจกรรมร่วมกัน การถ่ายทำก็จะมีการเซ็ตสถานที่ ระบบแสง ระบบเสียง และอุปกรณ์กล้องต่างๆไว้พร้อมสรรพ แต่เรียลลิตีการชุมนุมของพันธมิตรฯนั้นเป็นการถ่ายทอดสดจากสถานที่ชุมนุมจริงซึ่งไม่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมหลายๆอย่างได้ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ต้องเจอทั้งแสงแดดที่แผดกล้าและพายุฝนโหมกระหน่ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างยิ่ง

“ จุดที่ยากที่สุดสำหรับพวกเราคือการถ่ายภาพในช่วงที่มีพายุฝน เพราะนอกจากภาพที่ถ่ายผ่านสายฝนจะออกมาเบลอแล้ว อุปกรณ์กล้องก็ไม่ถูกกับน้ำ โดนละอองฝนนิดๆหน่อยๆก็อาจจะเจ๊งได้ แม้จะเอาพลาสติกคลุมก็ยังป้องกันลำบาก คือช่างภาพเรากลัวฝนยิ่งกว่ากลัวสลายม็อบอีกนะ (หัวเราะร่วน)
อีกจุดหนึ่งที่เหนื่อยและลำบากมากก็คือช่วงที่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุม เช่น ตอนที่เคลื่อนจากมัฆวานฯมาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล คือถ้าจะมีการเคลื่อนขบวนเราก็ต้องจัดคนและรถโอบีเล็ก (รถโอบี-รถที่มีอุปกรณ์เทคนิคซึ่งใช้สำหรับการถ่ายทอดสด) ไปสแตนด์บายรอไว้ในจุดที่ขบวนจะผ่านก่อน พอขบวนเข้าไปในเขตของกล้องที่สแตนด์บายไว้ กล้องที่อยู่หน้าเวทีจึงมูฟไปรอรับในจุดต่อไป ทีนี้กว่าจะตั้งเวทีใหม่เสร็จเนี่ย ตากล้องที่ถ่ายแกนนำฯซึ่งเขายืนปราศรัยอยู่บนรถก็จะต้องแบกกล้องไว้บนบ่าเป็นชั่วโมงๆ แดดก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ก็ต้องทนเพราะภาพมันต้องออนแอร์ต่อเนื่องตลอด” เอกราชบอกเล่าถึงความเหนื่อยยากในการทำงานของช่างภาพรายการเรียลลิตี

ไม่หวาดหวั่นแม้สถานการณ์รุนแรง

เหตุรุนแรงต่างๆที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าก็เป็นสิ่งหนึ่งที่บรรดาช่างภาพที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมของพันธมิตรฯต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตีของ นปก. การบุกเข้าจับกุมแกนนำพันธมิตรฯของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและอาวุธหนักเข้าใส่ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาจนถูกเรียกว่าปฏิบัติการเข่นฆ่าประชาชน

พีระยศ ถ่ายทอดประสบการณ์ในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงหลายต่อหลายครั้งให้ฟังว่า
“ วันแรกที่เริ่มชุมนุมใหญ่(25 พ.ค.2551)ก็เจอเลยครับ นปก.บุกเข้ามาตีเลย ช่วงนั้นยังไม่มีการตั้งเวที เพราะแกนนำนัดผู้ชุมนุมให้มารวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินก่อนที่เคลื่อนไปทำเนียบ พอเริ่มเคลื่อนขบวนปุ๊บ นปก.ก็กรูเข้ามาตีผู้ชุมนุมที่อยู่ท้ายขบวน เรามองจากรถโอบีก็เห็นคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มๆกรูกันเข้ามาที่รถ พวกผมก็ตกใจกันมาก รีบร้องบอกว่าเป็นสื่อ กลุ่มนี้ก็เลยเลี้ยวออกไป คือเขาไม่รู้ว่าเป็นรถ ASTV ไม่งั้นก็คงไม่เหลือแล้ว (หัวเราะ) อีกครั้งหนึ่งก็คือตอนที่ตำรวจบุกเข้ามาจับแกนนำฯในทำเนียบ ตอนนั้นผมนั่งอยู่บนสแตนด์หน้าเวที ใจหนึ่งก็กลัวเหมือนกันนะ แต่ด้วยหน้าที่ก็ต้องถ่ายต่อไปเรื่อยๆแล้วก็ทำใจว่าคงไม่เป็นไรหรอกน่า ก็ไม่เป็นอะไรจริงๆ ”

ขณะที่เอกราชเล่าถึงนาทีวิกฤตที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและปาระบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า
“ วันนั้นไม่มีใครคิดว่าตำรวจจะทำขนาดนี้ วันนั้นแก๊สน้ำตาเยอะมาก ขนาดผมอยู่ห่างจากรัฐสภามากยังแสบตาไปหมด พอเริ่มมีระเบิด มีการยิงเข้าใส่ประชาชน ช่างภาพทุกคนก็รู้ว่ามันอันตรายมาก แต่วินาทีนั้นไม่มีใครกลัว ขอแค่ให้ได้ภาพ คือตรงนี้มันเป็นเหมือนจิตวิญญาณของคนทำงานนะ”


* * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – ชไมพร จันทร์แก้ว

เอกราช ทรัพย์สุวรรณ หัวหน้าช่างภาพเทคนิคสถานีโทรทัศน์ ASTV
พีระยศ เสลานนท์ ช่างภาพเทคนิคสถานีโทรทัศน์ ASTV
เสี่ยงกับการทำงานบนสแตนด์สูง
สู้แดดสู้ฝน
ฟังคำสั่ง ประสานกับฝ่ายโปรดิวเซอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น