xs
xsm
sm
md
lg

สุริยะใส สไตล์ชิล ชิล (ภาคต่อจากปี 49) ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ช่วงเริ่มแรกที่มีการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ‘ปริทรรศน์’ เคยพูดคุยกับหนุ่มผิวเข้มขวัญใจแม่ยกด้วยเรื่องราวในแง่มุมที่ห่างไกลการเมือง-สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จดจำได้ว่าครั้งนั้นบรรยากาศที่สวนลุมฯ ค่อนข้างสบายๆ มีรอยยิ้มแซมเป็นระยะๆ

ผ่านมา 2 ปี เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน หลากหลายเรื่องราววิ่งเข้ามากระทบกระทั่งชีวิตเขาเป็นแบบทดสอบแรงเสียดทาน

เรากลับไปพบเขาอีกครั้งที่หลังเวทีมัฆวาน พยายามจะสบายๆ ชิลๆ ที่สุด (แต่ก็ดูไม่ค่อยจะชิลนัก) พยายามอยู่ห่างเรื่องการเมืองเหมือนเดิม (แต่ก็มีแวะเวียนเข้าใกล้บ้าง) พูดคุยยาวๆ ถึง 2 ปีที่ผ่าน-การงาน ชีวิต จิตใจ มิตรภาพ...

*100 กว่าวันแล้ว คุณยังสบายดี?
มันลงตัวทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องจิตใจต้องยอมรับว่าช่วงแรกๆ เราสู้วันต่อวัน สถานการณ์ต่อสถานการณ์ พอช่วงย่างเข้าเดือนที่ 3 เราเห็นชัดว่าต้องกำหนดอะไรยาวๆ ได้ โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องการเมืองใหม่ อย่างการกำหนดจังหวะก้าวของการชุมนุม ผนวกกับปฏิกิริยาของสังคมเริ่มลงตัวมากขึ้นระหว่างสถานการณ์ข้างนอกกับการเคลื่อนตัวของการชุมนุม

ในช่วงแรกสถานการณ์มันกำหนดเราสูง อาจเป็นเพราะยุคปลายของรัฐบาลสมัครสถานการณ์ไม่นิ่ง แต่ตอนนี้ค่อนข้างจะนิ่งกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อสถานการณ์นิ่งจึงทำให้เรากำหนดสถานการณ์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเกมรุกต่อสังคมในเรื่องการเมืองใหม่ ซึ่งต้องเรียกว่าเราเป็นฝ่ายรุกกับทุกภาคส่วนของสังคม จนกลายเป็นวาระโดยพฤตินัยไปแล้ว

*คำว่า ‘นิ่งกว่า’ หมายรวมถึงแผ่วลง อ่อนลงด้วยหรือเปล่า
ถ้ามองจากข้างในผู้ชุมนุมออกไปมันอยู่ตัวของมันแล้ว ถ้าจะบอกว่าแผ่วก็แผ่วตั้งแต่เดือนแรกๆ แล้ว ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่อีกกี่เดือน แต่ผมเข้าใจว่าเป็นอาการอยู่ตัวมากกว่า อาการที่วันปกติธรรมดาก็จะเห็นผู้คนปริมาณขนาดนี้ สีสันหรือความหวือหวาก็ไม่ได้มีมากมาย ยกเว้นมีการเป่านกหวีดหรือเคลื่อนไหวดาวกระจาย มันก็จะเป็นช่วงที่สามารถระดมคนได้มาก กลายเป็นเรื่องที่ในกลุ่มผู้ชุมนุมรู้กันแล้วว่าสถานการณ์ปกติจำนวนคนอาจจะไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมากว่าม็อบมันแผ่วลง ตรงนี้ถือว่าเป็นแนวปฏิบัติของผู้ชุมนุมซึ่งเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว

*วันๆ หนึ่งคุณทำอะไรบ้าง
สารพัด หลักๆ ก็คงเป็นรับเรื่องทั้งภายในและภายนอก ภายในที่ชุมนุมก็ทุกเรื่อง เช่น บางทีการ์ดก็กระทบกระทั่งกันเอง กับนักข่าวบ้าง หรือกับพี่น้องประชาชนบ้าง ผมเป็นคนที่คนทั่วไปมีเบอร์ จึงเป็นคนแรกที่อาจจะเข้าถึง สถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินตลอด สแตนด์บายตลอด 24 ชั่วโมง บางทีตี 4 ตี 5 มีการทะเลาะวิวาทผมก็ต้องไปเคลียร์ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่หน้าที่ของผมโดยตรง หรือแม้กระทั่งที่นอนหมอนมุ้งไม่พอ ไฟไม่สว่าง หรือบางคนหนักถึงขั้นมาอยู่นานแล้วไม่มีค่ารถกลับ ป่วย ส่งโรงพยาบาล

ถ้าเป็นมวลชนที่อยู่รอบนอกที่มาชุมนุมบ้าง ไม่มาบ้าง เอาเป็นว่าตั้งแต่เมื่อไหร่จะจบ จะไปต่อยังไง จะอยู่กันอีกนานมั้ย จะต้องเตรียมตัวยังไงกับสถานการณ์แบบนี้ ต้องวิเคราะห์ให้เขาฟัง วันหนึ่งก็หลายสิบสาย แล้วเรื่องแบบนี้ต้องวิเคราะห์ให้เขาเห็น แลกเปลี่ยนกับเขา บางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ

งานที่ 3 คืองานพบปะสื่อมวลชนประมาณทุ่มหนึ่ง ทุกวัน บางวันไม่มีประเด็นหรือเรื่องที่ต้องแถลงก็จะไม่แถลง อีกงานหนึ่งก็เป็นงานประสานกับข้างนอก เช่น นักวิชาการ แนวร่วม หรือการเดินสายประชุมกับกลุ่มต่างๆ ส่วนใหญ่ผมก็จะได้รับมอบหมายจากแกนนำไปแทน ทั้งวงเปิด วงปิด ก่อนมีหมายจับแทบจะเรียกว่าต้องประชุมวันเว้นวัน

แต่พอถูกออกหมายจับก็มีออกไปบ้าง แต่ต้องไปแบบหลบๆ ซ่อนๆ พอสมควร ไปแบบประเจิดประเจ้อก็ไม่ดีเท่าไหร่ กลายเป็นท้าทายอำนาจรัฐไป ก็อยู่ในที่ชุมนุม 24 ชั่วโมงเป็นหลัก บางทีก็เข้านอนตอน 8 โมงเช้า ชินไปแล้ว ทำงานกลางคืน กลางวันนอน โทรศัพท์ที่มากลางวันเป็นร้อยๆ มิสคอลล์ ต้องมาตามไล่โทรตอนเย็นๆ อีกทีหลังจากตื่น กินนอนที่นี่ ลงตัวแล้ว

*การชุมนุมปีเมื่อ 49 กับปี 51 สำหรับคุณมันแตกต่างหรือเหมือนกันยังไง
มันก็มีมุมที่แตกต่าง มุมที่เหมือนกันก็มี มุมที่แตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือความเป็นปึกแผ่นของมวลชนมันสัมผัสได้ชัดเจน รวมทั้งความเป็นเอกภาพของแกนนำสัมผัสได้ชัดเจน ทั้งที่โจทย์การต่อสู้ในปี 51 และ 49 มีความสลับซับซ้อนแตกต่างกัน

ปี 49 โจทย์ไม่ค่อยซับซ้อน เพราะธงมันชัดว่าคือการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่เท่านั้นเอง แต่ปีนี้โจทย์มันซ้อนกันอยู่ เช่น เริ่มต้นจากไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมหยุด ยังเดินหน้า เราก็พัฒนามาเป็นไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดนอมินี ขณะเดียวกันก็เสนอทางออกเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองโดยการเสนอแนวทางเรื่องการเมืองใหม่ สามโจทย์นี้มันไปพร้อมๆ กัน มันซับซ้อนมากขึ้น ก็เลยทำให้เราต้องทำงานความคิดทั้งในและนอกที่ชุมนุม

นอกที่ชุมนุมนี่คงหมายถึงระดับสาธารณะ กับสังคม กับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายเหมือนปี 49 ฉะนั้น องค์กรส่วนนำที่เคยต่อสู้ในปี 49 หลายองค์กรอาจจะไม่กล้าเข้าร่วมหรือรักระยะห่างมากกว่าปี 49 แต่ว่ากำลังหลักก็ยังอยู่

อย่างในแง่ของตัวผมเองจะมีความระมัดระวังในแง่ความปลอดภัยสูงขึ้น เพราะปี 49 ไม่ได้มีการชุมนุมยืดเยื้อ แต่นี่อยู่กันสามสี่เดือน ขณะเดียวกันในปี 49 กำลังจัดตั้งของฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้เป็นปึกแผ่นขนาดนี้ ไม่ได้มีปฏิบัติการคู่ขนานหรือสร้างเรื่องตลอดเวลาเหมือนปี 51 แม้แต่เดินในที่ชุมนุมก็ต้องระมัดระวังเพราะเราก็รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามก็แทรกซึมเข้ามาตลอดเวลา ฉะนั้น ในแง่ของการรักษาความปลอดภัยระดับความเข้มงวดในปี 51 สูงกว่าปี 49 มาก บางทีเราก็รู้สึกอึดอัดบ้าง เพราะตัวตนเราเป็นคนที่ง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตรอง ไม่เข้มงวดอะไรมากกับความปลอดภัย แต่เราก็รู้ว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนไป ต้องมีกลไกการระมัดระวังตัวสูง

*แล้วตัวคุณมีความเปลี่ยนแปลงมั้ย
ถ้ามองจากจุดยืนของผมที่เข้าร่วมพันธมิตรฯ นะ ปี 49 ผมเองก็มองอยู่ว่าต่อให้คุณทักษิณไปจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ปัญหาไม่จบหรอก และก็ไม่จบอย่างที่ผมว่า ตอนนั้นก็คิดว่าการกลับมาใหม่ของพันธมิตรฯ ต้องมีแน่ แต่จะมารูปแบบไหนต่างหาก

ปี 49 ผมจัดวางตัวเองในระดับเข้าร่วมต่อสู้กับมวลชน แต่ยังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นว่าต้องออกแบบ วางแผน หรือยกระดับมวลชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สถานการณ์ปี 49 อาจทำให้เราคิดส่วนนี้ได้น้อย แต่ปี 51 ทำได้มากทีเดียว การยกระดับความคิดความอ่าน ยกระดับการต่อสู้ของมวลชน ทำงานความคิดได้มากขึ้น ปี 51 เราชูธงเรื่องการเมืองใหม่ด้วย ทำให้เราละเลยการทำงานความคิดไม่ได้ ต้องเลยออกแบบแผนตรงนี้ ซึ่งการชุมนุมยืดเยื้อก็ทำให้เราตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะทำให้เรามีเวลาพูดคุยมากขึ้น

*เห็นพูดในหนังสือว่าการที่มาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นจุดหักเห จุดเปลี่ยนในชีวิต
อาจจะไม่ให้จุดหักเหหรอก เพราะผมเองทำงานอยู่ ครป. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย) ผมทุ่มเทการทำงานหนุนเสริมและความร่วมการต่อสู้ของคนระดับล่าง คนยากคนจนเป็นด้านหลัก เป็นงานที่ ครป. ค่อนข้างจะทุ่มเทมาในรอบ 10 ปี ตอนนั้นเราก็เห็นว่าพลังชนชั้นกลางเป็นพลังที่เราไม่ค่อยเห็นความหวังเท่าไหร่

ครป. เกิดขึ้นและดำรงอยู่ตั้งแต่ปี 2521 ต่อเนื่องมา ช่วงปี 35 เราทำงานกับชนชั้นกลางพอสมควร หลังปี 35 เราก็เห็นว่าชนชั้นกลางเองยังไม่ได้เป็นพลังพอที่เราจะคาดหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยอะไรได้ ก็ทำให้เราหันเหและให้ความสนใจการทำงานกับคนยากคนจนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2540 เป็นต้นมา

แต่พอมาทำงานกับพันธมิตรฯ เราก็เห็นพลังของชนชั้นกลาง เรายอมรับว่ากำลังหลักของพันธมิตรเป็นชนชั้นกลาง เราเริ่มรู้สึกว่าการสรุปว่าชนชั้นกลางไม่ใช่ความหวังของการพัฒนาประชาธิปไตยอาจจะเป็นความคิดที่ผิด เพราะถ้าดูการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เห็นความเอาจริงเอาจัง เห็นการเสียสละของชนชั้นกลาง ผมคิดว่า ครป. หรือตัวผมเอง ถ้ายังต้องเดินถนนสายนี้ ผมว่าเราต้องกล้าและออกแบบในการทำงานกับชนชั้นกลางให้มากขึ้น เพราะเป็นจุดหักเหที่ผมเห็นว่าพลังของชนชั้นกลางสามารถพัฒนาและยกระดับได้ และอาจเป็นพลังที่หนุนเสริมพลังของผู้ด้อยโอกาส หรือถึงจุดหนึ่งอาจจะเป็นพลังชี้ขาดทางการเมืองได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งหลังจากนี้ไม่ว่าข้างหน้าจะเป็นอะไร งาน ครป. คงต้องคิดการทำงานกับชนชั้นกลางให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น

*ในฐานะที่คุณเป็นเลขาฯ ครป. การอยู่ตรงนี้คงต้องเจอกับคำถามมากมายนับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549
ไม่ว่าจะเป็น ครป. หรือองค์กรที่สังกัดตนเป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือเป็นพลังประชาธิปไตย ไม่ว่าจะชื่ออะไร อยู่ส่วนไหนของสังคมก็ตาม ผมว่าเราต้องยอมรับความจริงบางอย่างว่าพลังประชาธิปไตยในสังคมไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นพลังของการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการทหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ว่าบรรยากาศของการต่อสู้ในขณะนี้ ผมคิดว่าเราอยู่ในสถานการณ์ของการสร้างประชาธิปไตย แล้วเวลาเราพูดคำว่าสร้างประชาธิปไตย แน่นอนว่ามันจะมีปัญหาตั้งแต่การนิยามว่านิยามของผมเป็นแบบไหน ของคนอื่นเป็นแบบไหน ของคนใน ครป. อาจจะต่างกัน มิพักต้องพูดถึงองค์กรอื่นๆ ด้วย

ตอนนี้ผมก็สรุปได้ในใจตัวเองว่าการทำลายเผด็จการยากก็จริง แต่การสร้างประชาธิปไตยมันยากยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าพลังประชาธิปไตยในสังคมไทยกำลังเผชิญกับคำถามว่าประชาธิปไตยแบบไหนที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง มันเริ่มตั้งแต่นิยาม จึงไม่แปลกที่จะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่ ครป. หรือตัวผมเองเข้าร่วมกับพันธมิตรอย่างเต็มตัว มาถึงจุดนี้ผมเองไม่ได้วิตกหรือไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ถ้าพูดถึงปี 49 กับตอนนี้ ผมคิดว่าผมคลี่คลายตัวเองเยอะ ปี 49 บางทีเราก็อึดอัด ก็เครียดกับบทบาทที่เป็นอยู่และกับคำถามในหมู่มิตร แต่ปี 51 ผมคลี่คลายมาเยอะ ขณะเดียวกันสังคมก็คลี่คลายหรือตอบโจทย์บางตัวได้ เช่น ทำไมพันธมิตรฯ ถึงต้องฟืนขึ้นมาอีกเพื่อต่อต้านระบบทักษิณ ทำไมเราจึงต้องพูดถึงตุลาการภิวัตน์ ทำไมเราถึงต้องคิดเรื่องการเมืองใหม่ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้

*การทำงานของ ครป. ในอนาคตจะไม่มีปัญหาในแง่การทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชาธิปไตยด้วยกัน
มันก็มีบ้างบางส่วนที่เขาแตกตัวออกไป แต่เขาเองก็ต้องนิยามให้ชัดว่าประชาธิปไตยของเขาคืออะไร ถ้าในขณะที่บอกว่าไม่เอาพันธมิตรฯ แต่ดูเหมือนเขาเอียงข้างทักษิณเกินไป มันก็มีปัญหาอีก เขาวิจารณ์เราได้ เราก็วิจารณ์เขาได้ เช่น เขาบอกว่าพันธมิตรล้าหลัง เราก็ย้อนกลับได้ว่าแล้วทักษิณก้าวหน้าหรือไง มันก็ไม่ชัด

คือในขณะนี้พลังประชาธิปไตยมันก็ถูกบีบให้เลือกข้างระหว่างพันธมิตรฯ กับไม่พันธมิตรฯ หรือทักษิณกับไม่ทักษิณ เพราะถ้าคุณไม่เอาทั้งสอง แล้วขั้วที่สามคืออะไรล่ะ พอสร้างไม่ได้ มันก็กลายเป็นความขัดแย้งหลักของสังคม เป็นเรื่องพันธมิตรฯ กับระบอบทักษิณ นี่ก็เป็นคำถามที่ผมคิดว่าฝ่ายที่ประกาศตนไม่เอาทั้งสองขั้วต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า แล้วขั้วที่สามที่จะเสนอสังคมคืออะไร ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่าผมไม่เห็น

ผมมองว่าในวิกฤตมันมีโอกาส ถ้าเราจะบอกว่าวิกฤตสังคมการเมืองในขณะนี้ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ในทุกภาคส่วน แม้กระทั่งในขบวนการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ผมก็ไม่ปฏิเสธ ก็มีมาตั้งแต่ปี 49 เพียงแต่เราจะทำให้วิกฤตหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทบทวน สรุปบทเรียน หรือสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสังคมได้อย่างไร ผมว่าโจทย์มันก็ท้าทายเหมือนกัน ผมไม่ได้มองว่าในปัญหามีด้านลบอย่างเดียว

ผมยอมรับว่าเราถูกโจมตี มีแรงต้านจากพรรคพวกเดียวกันเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับเราต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะอธิบายอย่างไร บางเรื่องเขาก็ไม่รับหรือไม่มีวันเข้าใจ เช่น ก็จะมีความคิดชุดหนึ่งของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายประชาธิปไตย ยังไงเสียพันธมิตรฯ ก็ถูกนิยามว่าเป็นพลังล้าหลัง ขวาตกขอบ หรืออำมาตยาธิปไตย ก็แล้วแต่จะเรียก มันมีชุดความคิดแบบนี้ในปีกที่อ้างตนว่าก้าวหน้าอยู่ ฉะนั้น เวลาพันธมิตรฯ พูดอะไรที่ดูเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าหรือเป็นเรื่องที่ชี้นำสังคม เขาก็จะรับไม่ได้ เช่น เราพูดเรื่องการเมืองใหม่เขาก็ไม่รับ ทั้งที่การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ก็พูดชัดเรื่องอำนาจประชาชน ความหลากหลายทางชนชั้น สิทธิของคนด้อยโอกาส เราก็พูดชัด แต่เขาไม่เห็น เขาไปหยิบมุมเดียวมา แล้วก็มองว่าการเมืองของพันธมิตรฯ เป็นการย้อนกลับไปสู่อำมาตยาธิปไตย ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นอคติทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่ามันมีชุดความคิดชุดหนึ่งที่พยายามตีโต้พันธมิตรฯ ตลอดเวลา ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจและฝ่าข้ามไปให้ได้

*ตอนปี 49 พูดกันว่าถ้าไล่ทักษิณจบ ในบรรดาเอ็นจีโอคงมีเรื่องต้องคุย ต้องเคลียร์กันเยอะมาก แต่พอมาปี 51 นี่รู้สึกว่ายิ่งต้องเคลียร์กันหนักกว่าเก่าอีก จะยังไงกันต่อ
ย้อนไปสถานการณ์หลัง 49 นะ ไม่นิ่งเลยนะการเมือง นอกจากไม่นิ่งแล้ว ความขัดแย้งมันถูกปลุกเร้าให้เผชิญหน้ากันตลอดเวลา เพราะปี 49 มันไม่จบ แค่เปลี่ยนเกมใหม่เท่านั้นเอง แต่ตัวละครตัวเดิม แม้พันธมิตรฯ จะสลาย แต่เนื้อในยังเคลื่อนไหวกันตลอดเวลา เพราะเราเห็นว่าฝ่ายโน้นก็ไม่ยอม ไม่จบ ต้องกลับมาใหม่ คุณทักษิณก็ไม่ถอย ไม่วางมืออย่างที่ มันจึงไม่นิ่ง

เมื่อไม่นิ่งปุ๊บ การที่เราจะไปคุย ไปทบทวนอะไรกันกับหมู่มิตรเพื่อนฝูงที่เคยต่อสู้กันมาแล้วอาจจะเข้าใจกันผิดหรือวิวาทะกันน้อย ปรากฏว่ามันแทบจะไม่มีเวลาเลย มันจึงถูกตอกลิ่มด้วยสถานการณ์ตลอดเวลา ทำให้ความแตกแยกมันร้าวลึกและขยายตัวมาก ปีนี้ต้องยอมรับว่ามากกว่าปี 49 อีก

ส่วนเรื่องสมานฉันท์...อย่าเลยๆ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เกษียร เตชะพีระนะ อย่าไปคิดเลยให้หยุดทะเลาะกันน่ะ ขอให้ทะเลาะกันต่อไป แต่ว่าใช้เหตุผลและอยู่ในกรอบสันติวิธี แค่นั้นก็พอแล้ว

แม้ในวงการเอ็นจีโอจะมีความพยายามฟื้นฟูเอกภาพ ความสัมพันธ์เดิมๆ ที่มันจางหายหรือขาดช่วงไป มันก็ทำได้ระดับหนึ่ง เพราะมันต้องมีตัวเจ้าภาพที่น่าเชื่อถือซึ่งไม่มี พูดถึงในแวดวงเอ็นจีโอคนที่เคยได้รับความศรัทธา พี่พิภพ ธงชัย ก็อยู่ในอันดับต้นๆ เลย แต่เมื่อพี่พิภพเลือกยืนตรงนี้ก็ถูกหมายว่าเป็นฝ่ายพันธมิตรฯ เป็นเจ้าภาพคงไม่ได้ ผมนี่เคยประสานได้ทุกกลุ่ม หลังๆ ก็ไม่ใช่ แม้แต่น้อง สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ก็ไม่แฮปปี้กับผม ผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร

อย่าง สนนท. ไปวางหรีดผม ผมก็ถามว่าทำอะไรบ้าง ตัวน้องเองไปทำงานเถอะ ผมนี่วางหรีดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่หนึ่งปีผมเห็นชื่อคุณเฉพาะตอนไปวางหรีดผม ก็ถามว่าน้องทำอะไรอยู่ ธงของ สนนท. คืออะไร บางทีผมขำๆ ผมก็เลยเห็นว่าตัวเจ้าภาพที่น่าเชื่อถือในแต่ละส่วนมันถูกทำลายล้าง ถูกโจมตีกันทุกจุด ไม่มีคณะบุคคลที่มีบารมีพอ แม้แต่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ยังถูกด่าว่าเป็นพวกรัฐประหาร อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ก็ถูกโจมตีว่าเป็นพวกทักษิณ เป็นพวกไม่เอาเจ้า

มันก็มีมุมคิดบางมุมว่าไม่ต้องคุยกัน ใครเชื่ออะไรก็ลงมือกันทำ อยากได้ปลาต้องลงน้ำ ดาวอาจจะเป็นคนละดวง แข่งกันสร้างไป ทำงานกันไป สุดท้ายก็คงได้แค่นี้ หลายคนจึงเบื่อหน่ายที่จะเจรจา ไม่ใช่ไม่มีความพยายามนะ มันมี แต่ไม่ประสบผล เพราะมีการตั้งป้อม ที่ผมผิดหวังมากคือมีอคติชุดหนึ่งแทรกซึมเข้าไปในกระบวนการประชาชนจนทำให้ความพยายามที่จะฟื้นฟูความสมานฉันท์มันเกิดขึ้นไม่ได้หรือแค่เริ่มต้นก็พังแล้ว

*แล้วถ้าเกิดสถานการณ์ที่ต้องการการรวมพลังกัน
สถานการณ์สร้างทั้งเอกภาพและความแตกแยก วันหนึ่งอาจจะรวมกันได้ ไม่แน่ๆ อย่าเพิ่งไปตั้งกำแพงไว้ อาจจะมีสถานการณ์ใหม่ขึ้นมา เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ผมคิดว่าสังคมไทยมันเดินมาถึงจุดที่ต้องถูกเปลี่ยน ถูกปฏิรูปกันทุกจุด ดังนั้น มองในเชิงความหวัง ฝ่ายประชาชนก็ยังมีโอกาสที่จะสมานฉันท์กันได้ แต่ต้องรอสถานการณ์ที่อาจจะเป็นเจ้าภาพที่ดี

(โปรดติดตามตอนต่อไป พรุ่งนี้)

*************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล


กำลังโหลดความคิดเห็น