xs
xsm
sm
md
lg

กาลครั้งหนึ่ง กับ Manolo R. Silayan

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในการเล่านิทาน การขึ้นต้นประโยคด้วย “กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว.....” อาจไม่สามารถตอบได้ว่า นิทานเรื่องนั้น จะจบลงอย่างสนุกสนานมากน้อยเพียงไร ทั้งนี้เพราะในการนำเสนอนิทานเรื่องนั้น ๆ ผู้เล่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นิทานเรื่องนั้นมีสีสัน และสนุกสนานได้อย่างมาก ล่าสุด ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ได้เชิญนักเล่านิทานมือฉมังชาวฟิลิปปินส์ "Manolo R. Silayan" (มาโนโล อาร์.สิลายัน) มาเมืองไทย พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ในการเล่านิทานอย่างมีรสชาติแก่ผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก

มาโนโลสวมบทบาทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้แก่บริษัท รวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ ในประเทศฟิลิปปินส์มายาวนาน โดยมากแล้วเขาจะรับอบรมในหลักสูตรการพัฒนาการพูดและบุคลิกภาพให้กับฝ่ายขาย และฝ่ายบริการลูกค้าขององค์กรของประเทศ แต่แล้วในปี ค.ศ. 1991 เขาได้แสดงความสนใจในการพัฒนาเด็กอย่างจริงจัง โดยเปิดโรงเรียนระดับก่อนวัยเรียนขึ้นที่เมือง Lian บ้านเกิดของเขา (ต่อมาได้ขยายเป็นโรงเรียนประถมศึกษา) ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนจำนวน 225 คน จุดเด่นของโรงเรียนของเขาก็คือ มีการจัดหลักสูตรวิชาการพูด พัฒนาบุคลิกภาพ การเล่านิทาน และการแสดงละครสำหรับเด็ก ๆ ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับ

สู่นักเล่านิทานมือฉมัง

มาโนโลมีประสบการณ์คร่ำหวอดอยู่ในวงการนิทานนานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอนวิชาการแสดง และการเปิดโรงเรียนเป็นของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นหากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครนักเล่านิทานที่ Museo Pambata ซึ่งในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร Alitaptap Storyteller Philippines, Inc., และเมื่อไม่นานมานี้เขายังเป็นตัวแทนนักเล่านิทานของประเทศฟิลิปปินส์เข้าร่วมงาน the Annual Asian Congress of Storytellers and the People to People Exchange Program on Storytelling ณ ประเทศสิงค์โปร์ด้วย

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากลายเป็นคำตอบในการเล่านิทานและสร้างจินตนาการให้กับเด็ก ๆ ชาวฟิลิปปินส์ เขากล่าวว่า เป็นเพราะพื้นฐานของครอบครัวที่โตมาในแวดวงบันเทิง ผู้เป็นพ่อของเขาก็คือ ดารานักแสดงชาวฟิลิปปินส์ชื่อ Vic R. Silayan ทำให้เขามีโอกาสได้สัมผัสกับการถ่ายภาพยนตร์ และละครตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาได้ซึมซับสิ่งที่เรียกว่าศิลปะการแสดงตั้งแต่นั้นมา และเมื่อต้องเข้ามหาวิทยาลัย มาโนโลได้เลือกเรียนคณะ AB Communication ภาควิชา Theatre Arts จาก มหาวิทยาลัย Far Eastern University ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการเลือกเรียนที่ตรงกับความถนัดและความต้องการของตนเองมากที่สุด

นอกจากบทบาทการเป็นนักเล่านิทานมืออาชีพแล้ว เขายังเปิดคอร์สสอนวิชา “Acting and Reading Techniques in Storytelling” (ARTIST) และเป็นผู้ริเริ่มโครงการแข่งขันเล่านิทาน อาทิ the Annual Alitaptap Children’s Storytelling Competition และ the Inter-College Storytelling Competition เพื่อให้ผู้ที่สนใจและรักในการเล่านิทานในฟิลิปปินส์ได้มีแรงบันดาลใจในการทำงานตามอุดมการณ์ต่อไป

เด็กต้องชอบหนังสือ ไม่ใช่ชอบคนเล่านิทาน

สำหรับมาโนโลนั้น ขณะที่เขาสวมบทบาทเป็นนักเล่านิทาน เขาจะสร้างความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และน่าติดตามเรื่องราวได้เป็นอย่างดี ซึ่งเขากล่าวว่า “ถ้าอยากให้เด็กตื่นเต้นเวลาเล่านิทาน ครูต้องยืนขึ้น อย่านั่งอยู่กับที่ เพราะเด็ก ๆ ชอบการเคลื่อนไหว ผู้เล่าจึงต้องสบตา ยิ้ม มีท่วงท่าที่ผ่อนคลาย ขณะเล่าเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ รวมถึงสามารถตั้งคำคามตอบโต้ระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง รวมไปถึงการทำตัวให้คล้ายการ์ตูนในเนื้อเรื่องมากที่สุด" แต่สำหรับตัวของเขาเอง เขาจะเน้นสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อเด็ก ๆ จะได้กำไรเพิ่มเติมจากการนั่งฟังเขาเล่านิทาน

แม้ว่าตามหลักสากลแล้ว คนเล่านิทานจะไม่นิยมถือหนังสือนิทานไว้กับตัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในเนื้อเรื่องและความมั่นใจในการดำเนินเรื่อง แต่สำหรับมาโนโลนั้น เขากลับมีความคิดเห็นตรงกันข้ามกันเพราะเขายึดหลัก “Read First Then Speak หรือ RFTS” ที่ต้องการให้อ่านเนื้อหาให้เข้าใจก่อนที่จะสื่อออกมา เพราะความเข้าใจบางส่วนอาจจะหายไป หรือผิดพลาดได้ ถ้าเด็ก ๆ หรือผู้ฟังสนใจแต่ท่าทางและความเคลื่อนไหว

จากเสียงหัวเราะของเด็กที่ตั้งใจฟังนิทาน และผู้ใหญ่ที่ตั้งใจดูท่าทางที่สมจริงสมจังของนักเล่านิทานชื่อดังนั้น เขากลับมองว่า “นักเล่านิทานที่ดีนั้น จะต้องระมัดระวังไม่ทำให้เด็ก ๆ ยึดติดกับตัวนักเล่านิทาน แต่ต้องสามารถทำให้เด็ก ๆ รักหนังสือ หรือก็คือ รักการอ่านได้ในที่สุด ดังนั้น งานของคุณไม่ใช่แค่การสร้างความสนุกสนาน ให้เด็ก ๆ อยากฟังและอยากติดตาม แต่ยังต้องทำให้เด็กกลุ่มนั้นรักการอ่านได้ด้วย”

แท้จริงแล้วเด็กชอบการอ่าน ?

จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้เขามองเห็นปัญหาเกี่ยวกับเด็กค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเลี้ยงดูลูกให้โตมากับโทรทัศน์ ซึ่งนำไปสู่ภาวะสมาธิสั้น หรือ การขาดอิสระทางความคิดของเด็กเมื่อโดนครูทำโทษบ่อยครั้ง ดังนั้น เขาจึงอยากปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น เพราะถ้าเด็กรักการอ่าน เด็กคนนั้นก็จะมีปฏิภาณไหวพริบที่เฉลียวฉลาด และมีสมาธิดีกว่าเด็กทั่วไป

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะเด็กส่วนใหญ่ชอบที่จะฟังเสียงสูง-ต่ำ ดูภาพเคลื่อนไหว หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้หยุดอยู่กับที่มากกว่า ดังนั้น การทำให้เด็กรักการอ่านขึ้นได้นั้น จึงต้องเลือกสื่อที่เหมาะสมกับวัย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 1 - 4 ขวบ ก็อาจจะเป็นหนังสือภาพ ให้หัดดูภาพ แยกแยะสีต่าง ๆ เพื่อเป็นการฝึกทักษะไปในตัว ถ้าโตพอที่จะอ่านออกเขียนได้แล้วก็ควรหาหนังสือที่น่าสนใจ มีความรู้และไม่ยากจนเกินไป เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติของเด็กในวัยนี้จะมานั่งอ่านหนังสือและมีนิสัยรักการอ่าน

“มันไม่ใช่เรื่องของสมอง การศึกษา หรือ อีคิว มันเป็นเรื่องของอารมณ์ จิตใจและหัวใจของเด็กว่าอยากจะอ่านหนังสือมากน้อยแค่ไหน เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันสำหรับเด็กที่เข้าใจอะไรยากและไม่ชอบการอ่านอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้ในขั้นแรกคือการใช้ เสียง เพราะเสียงคือการเริ่มต้นของการอ่าน”

“ดังนั้นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กเป็นนักอ่านได้นั้น การอ่านจะต้องสนุก มีการดำเนินเรื่องให้น่าติดตาม ตื่นเต้น ทำให้เด็กมีความรู้สึกอยากอ่านบ้าง ในขณะที่ครูและผู้ปกครองต้องปล่อยให้เด็กคิดตาม ให้เด็กมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และกล้าที่จะตอบคำถาม ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็ต้องให้เด็กกล้าแสดงออก อย่าไปปิดกั้น ไม่เช่นนั้นแล้วเด็กคนนั้นจะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจตัวเองได้ในอนาคต” มาโนโลกล่าว

แม้ว่าหนังสือนิทานแต่ละเล่มที่มีภาพประกอบและเนื้อหาเหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่านักเล่านิทานแต่ละคนต่างก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันไป ซึ่งความสนุกสนาน น่าติดตามและเสียงหัวเราะจากเด็กและผู้ใหญ่ภายในงานสัมมนาซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองไทย อาจเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า มาโนโล อาร์.สิลายัน นักเล่านิทานชาวฟิลิปปินส์ชื่อดังคนนี้ คือ หนึ่งในคำตอบสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ที่ชอบท่องเที่ยวในโลกนิทานเป็นชีวิตจิตใจก็เป็นได้

******ประวัติ*********
มาโนโล อาร์. สิลายัน
ตำแหน่งปัจจุบัน
ประธานบริษัท Traning Strategies, Inc.
ประธานบริษัท Alitaptap Storytellers Philippines, Inc.
คณะกรรมการหนังสือสำหรับเยาวชนแห่งฟิลิปปินส์
ผู้อำนวยการโรงเรียน YALE Children's School (โรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนที่เขาสร้างขึ้นโดยมีจุดเด่นคือ เด็กทุกคนจะได้เรียนหลักสูตรวิชาการพูดคาบละ 40 นาที)
กำลังโหลดความคิดเห็น