การก้าวเข้าสู่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย.. แต่ที่ยากยิ่งกว่าก็คือ การบริหารและการทำตลาดให้ประสบความสำเร็จ "พิพัฒน์ ภัทรประสิทธิ์" หรือที่เรียกกันติดปาก "หนุ่ม" กรรมการบริหาร บริษัท ฐากรกิจ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 1ใน 3 ผู้บริหารทายาทของ“วิศิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” ตระกูลดังเก่าแก่จากเมืองสองแคว "พิษณุโลก” ผู้พัฒนาโครงการมาสเตอร์พีซ ซีนเนอรี ฮิลล์ เชียงใหม่ เล่าย้อนถึงชีวิตในช่วงศึกษาอยู่ต่างประเทศ และแนวคิดที่นำมาใช้ในการบริหารธุรกิจอสังหาฯ หลังจากได้รับสืบทอดธุรกิจจากคุณพ่อผู้ล่วงลับ จากเดิมที่ก่อนหน้านั้น คลุกคลีกับธุรกิจนำเข้าส่องออก เซรามิค รองเท้าแบรนด์เนมจากประเทศอิตาลีว่า
ไม่เคยคิดว่าจะเข้ามาในธุรกิจอสังหาฯ เพราะหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นถือผมเป็นเด็กว่าเกเรคนหนึ่ง แต่เกเรในแบบของเด็กดื้อเงียบ และคุณพ่อเองก็มีลูกหลายคน ซึ่งไม่คิดว่าจะได้สานต่องานของคุณพ่อ แต่หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต ธุรกิจอสังหาฯสู่มือของผม พี่ชายคนโต" วัชร ภัทรประสิทธิ์" กรรมการผู้จัดการ และน้องชาย"พงษ์พิษณุ ภัทรประสิทธิ์ "ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
.... ณ วันที่ผมเรียนจบนั้น รู้สึกว่าอยากจะเรียนต่อในประเทศ จึงขอคุณพ่อ-แม่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขณะนั้นเองในเรื่องของภาษาอังกฤษ การเขียน การอ่าน ของผมก็ไม่ดี สื่อสารกับคนต่างชาติก็ลำบาก แต่ด้วยความอยากไปเรียนในต่างประเทศตามความนิยมก็ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ
ความดื้อรั้นทำให้ได้รู้รสชาติของความลำบาก จากเดิมที่เคยมีคนคอยช่วยเหลือเกือบทุกเรื่อง คุณพ่อ คุณแม่ดูแลอย่างดี แต่เมื่ออยู่ต่างประเทศ สิ่งแรกเลยที่ได้รับมา คือความเป็นอิสระ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบ ทำอะไรก็ต้องทำด้วยตนเองทุกอย่าง การใช้ชีวิตในประเทศไทยเราเท่าเทียมกันทุกคน การคบหาสมาคมกับเพื่อน สามารถทำได้ทุกระดับ
แต่ที่ต่างประเทศ คนเอเชียจะเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง มีเพื่อนที่ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นชาวเอเชีย ไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนจะอยู่ในกลุ่มคนเอเชีย เพราะคนอเมริกันจะอยู่ในสังคมของเค้าเท่านั้น แต่ก็มีเพื่อนชาวอเมริกันอยู่บ้าง แต่กิจกรรมในชีวิตส่วนตัวจะอยู่ในกลุ่มของคนเอเชียเท่านั้น เป็นเวลากว่า 3 - 4 ปีที่เรียนในระดับปริญญาตรีที่ Roger willium University ในสาขาบริหารธุรกิจ แต่หลังจากเรียนจบแล้วก็คิดว่าจะกลับประเทศไทย แต่ยังอยากจะเรียนต่อ จึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่ Nowhaven University
ถามว่าการเรียนที่ประเทศไทยกับต่างประเทศแต่ต่างกันอย่างไร ตอบได้เลยว่าแตกต่างกันมาก เมืองไทยจะยึดติดกับหลักสูตรการสอน ผลการสอบเป็นหลัก แต่การเรียนในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน ความร่วมมือกัน การตอบคำถามการอธิบายความเข้าใจในวิชาเรียน และความรับผิดชอบในการทำงาน ดังนั้นในเรื่องของความรับผิดชอบ และกรอบแนวคิดของนักศึกษาจะมีสูง และกว้างมาก
สำหรับแนวคิดการทำธุรกิจที่ได้รับจากการศึกษาในต่างประเทศ ที่นำมาใช้ในการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน คือ เรื่องของความรับผิดชอบ การตลาด และหลักการด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะแนวคิดด้านการตลาด เท่าที่เห็นในปัจจุบันการทำตลาดของคนไทยโดยมาก ส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ในตลาดแคบๆ เช่นมองเฉพาะตลาดในประเทศ หรือในกลุ่มตลาดเล็กๆ ในท้องถิ่น ทำให้โอกาสที่จะขยายตลาด หรือประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจของคนไทยนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จยาก หรือต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ
ในขณะที่ คนต่างชาติมีมุมมองธุรกิจ มองตลาดที่กว้าง มีขนาดใหญ่ กล้าที่จะลงทุน และผลิตสินค้าที่คาดว่าตลาดตอบรับดี โดยมองตลาดครอบคลุมไปถึงตลาดทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่ง ทำให้มีกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเราจะเห็นว่าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีบริษัทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในระยะเวลาไม่กี่ปี แต่เป็นบริษัทที่มีอัตราการขยายตัวเร็วมาก และประสบความสำเร็จเร็วในระยะเวลาไม่กี่ปีก็กลายเป็นบริษัทที่มีแบรนด์ดังไปทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน หากการลงทุนนั้นไม่ประสบความสำเร็จก็ล้มหรือจบกันไปเลย ซึ่งถือว่านี้เป็นจุดสำคัญ ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการสำรวจตลาด ศึกษาความต้องการของกลุ่มลูกค้า และมีการวางแผนธุรกิจที่ครอบคลุม เพราะในโอกาสก็ย่อมมีวิกฤตรวมอยู่ด้วย
“เดิมทีแนวคิดและประสบการณ์ที่ผมได้จากการศึกษาในต่างประเทศนั้น ทำให้ผมอยากให้คนไทยมองการทำธุรกิจแบบกว้างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่จำกัดกลุ่มลูกค้าอยู่เฉพาะในประเทศแต่ต้องมีตลาดที่กว้าง และครอบคลุมตลาดทั่วโลกได้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสก้าวสู่ความเป็นอินเตอร์เนชันแนล เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก และสามารถขยายตลาด หรือส่งสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ไม่ใช่ผลิตสินค้าออกมารองรับเฉพาะกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากตลาดนั้นไม่มีการขยายตัวธุรกิจก็ไม่มีโอกาสเติบโต หรือในกรณีที่กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนั้นลดลง โอกาสของธุรกิจก็หดตัวลงไปด้วย ”
แต่หลังจากที่ได้ผ่านประสบการการทำธุรกิจ นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในประเทศ จนกระทั่งเข้ามาสานต่องานด้านอสังหาฯของคุณพ่อ ทำให้แนวคิดการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งของแนวคิดที่เปลี่ยนไปนั้น เนื่องมาจากชีวิตของคุณพ่อ เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนในการใช้ชีวิตให้แก่ผม จากเดิมที่มองการทำธุรกิจต้องมุ่งหวังกำไร ต้องขยายธุรกิจให้กว้างครอบคลุมตลาด เป็นบริษัทที่ใหญ่โต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของคุณพ่อทำให้ผมเข้าใจการทำธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะมองเรื่องของกำไรมากจนเกินไป แต่ควรจะคืนกำไรให้แก่สังคม นั่นคือจุดเปลี่ยนของบริษัทฐากรกิจฯ ไม่ได้วางเป้าหมายต้องเติบโตทางด้านผลกำไรต่อเนื่องในระดับใดระดับหนึ่ง เพื่อให้สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้
"เราจะเติบโตแบบมั่นคง พร้อมๆ กับการคืนกำไรให้ลูกค้า เพื่อสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างบ้านคุณภาพในราคาที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้ โดยเราไม่ได้มุ่งไปที่ตลาดพรีเมียมราคาแพงๆ กำไรสูงๆ แต่เราขอแค่มีกำไรพอให้บริษัทเติบโตไปได้ และสามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงการออกมาตรงกับความต้องการของลูกค้า และคุ้มค่าเงินของลูกค้ามากที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกับมุมมองเดิมที่ผมเคยคิดไว้ในช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ”
เดิมที่ผมเคยคิดว่าการทำธุรกิจจะต้องมีผลกำไรที่สูง เพื่อก้าวเข้าใกล้จุดสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ขยายงานได้กว้างครอบคุลมทุกตลาด แต่ปัจจุบันผมคิดว่า " หากเราโตแต่ลูกค้าไม่ได้อะไรจากเราเลย มันทำให้รู้สึกว่า เราไม่ได้ให้อะไรแก่สังคม ผมคิดว่าชีวิตปัจจุบันของผม มีครอบครัว มีลูกสาว มีธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนพอประมาณ ทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง มันน่าจะมีความสุขมากกว่า เพราะทุกวันนี้ผมก็มีความสุขดี มีครอบครัวที่มีความสุข พอกินพออยู่ ไม่ต้องทุ่มเทอะไรมากมาย หรือต้องคิดต้องทำต้องสร้างกำไรให้มากๆ"
“คุณพ่อเหนื่อยกับการทำธุรกิจ การสร้างธุรกิจหาเงินไว้มากมาย ทำให้ชีวิตคุณพ่อมีคุณค่า การเหนื่อยของคุณพ่อทำให้ลูกหลานมีธุรกิจมีเงินใช้ มีสมบัติมากมาย แต่คุณพ่อไม่มีโอกาสได้ใช้ ได้มีความสุขกับสิ่งที่คุณพ่อสร้างมาตลอดชีวิตเลย ทำให้มุมมองการทำงาน การดำเนินธุรกิจผมเปลี่ยนไป และหันมาคิดว่าถ้าเรามีชีวิตที่พอเพียง ทำมาหาเก็บให้มีเหลือใช้พอประมาณ โดยไม่ต้องเดือดร้อน อดอยากไม่มีจะกินก็น่าจะเป็นชีวิตที่มีความสุขมากแล้ว”