ปลาเสือ ปลาชะโด ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาแรด ฯลฯ ชื่อปลาน้ำจืดสายพันธุ์ไทยเหล่านี้ จะมีเด็กๆ สักกี่คนรู้จักหรือเคยเห็นหน้าค่าตาพวกมันจริงๆ นอกเหนือจากในหนังสือหรือในสารคดีทางโทรทัศน์
เรื่องเล่าสมัยคุณตาคุณยายยังเด็ก ที่นำข้าวก้นขันไปโปรยท่าน้ำ...ครู่เดียว ฝูงปลาสารพัดก็จะมาปรากฏตัวให้เห็น ทั้งปลาบู่ที่สมัยโบราณบางท้องถิ่นจะไม่จับมากิน ปลาซิว ปลาสร้อย หรือปลาชะโดที่คอยมาฮุบโผงลูกปลาช่อน รวมทั้งปลาเสือพ่นน้ำและปลาเสือตอที่ในอดีตมีอยู่ดาษดื่น แต่ปัจจุบันกลายเป็นปลาหายากที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่นักเลี้ยงปลาสวยงาม โดยเฉพาะเสือตอที่แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้วนั้น เดิมเป็นปลาแม่น้ำที่นิยมจับขึ้นมาเพื่อบริโภค เพราะเป็นปลาเนื้อดีรสอร่อยและมีราคาแพง
หากทุกวันนี้ เด็กไทยส่วนใหญ่จะได้เห็นปลาไทยท้องถิ่นก็ต้องไปดูตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหรืออะควาเรียม น่าเสียดายหากภูมิปัญญาหรือความรู้เรื่องพันธุ์ปลาท้องถิ่นจะต้องหมดไป เพราะทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเช่นปลาน้ำจืดของไทยตามแหล่งธรรมชาติลดน้อยลง
แม่น้ำของชีวิต
เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง พอถึงเดือนอ้ายเดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง...
คำโบราณพื้นบ้านที่บัญญัติถึงกระแสน้ำขึ้นน้ำลงในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ผุดขึ้นมาขณะมองดูสายน้ำสีน้ำตาลอ่อนไหลเอื่อยคดเคี้ยวผ่านทุ่งนา บ้านเรือนและวัดเก่าแก่ที่มองเห็นยอดโบสถ์จากริมแม่น้ำ ผักตบชวาออกดอกสีม่วงลอยเกาะกลุ่มเป็นแพ ขณะที่เรือโยงขนสินค้าลำหนึ่งล่องตามกระแสน้ำที่ไหลไปบรรจบรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร
เพียงหนึ่งชั่วโมงจากกรุงเทพ ฉากและชีวิตผู้คนริมสองฟากฝั่งลำน้ำน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังคงเรียบง่ายเฉกเช่นในอดีต เด็กๆ บางส่วนยังไปโรงเรียนด้วยเรือข้ามฟาก หน้าบ้านที่ปลูกเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง มีบันไดทอดลงไปในท่าน้ำ สำหรับใช้อาบน้ำ ซักผ้าโดยไม่ต้องพึ่งน้ำประปา ตามลำคลองที่แยกออกจากลำน้ำสาขามีเรือหาปลาจอดนิ่งรอวางตาข่ายดักปลาอยู่ใต้สะพาน
แต่ท่ามกลางความเรียบง่ายงดงามดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงกำลังคุกคามลำน้ำที่ประดุจเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนในที่ราบลุ่มภาคกลางสายนี้ ขยะเหลือใช้ลอยปะปนกับกอผักตบชวา ปริมาณปลาในแม่น้ำที่เคยมีอย่างอุดมสมบูรณ์ลดลงเหลือน้อยจนแทบไม่พอบริโภคในครัวเรือน หลายบ้านทั้งที่อยู่ติดแม่น้ำแท้ๆ แต่ต้องขุดบ่อบนฝั่งเพื่อเลี้ยงปลาไว้กินไว้ขาย อาชีพชาวประมงพื้นบ้านกำลังจะหายไป เด็กรุ่นใหม่น้อยคนที่จะรู้จักเครื่องมือหาปลาเก่าๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
ผลสำรวจคุณภาพน้ำของแม่น้ำน้อย ตั้งแต่หน้าที่ว่าการอ.บางไทรไปจนถึงหลังโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี พบว่า เกณฑ์คุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของแม่น้ำที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดชีวิตแห่งนี้ซึ่งเข้าใกล้ภาวะวิกฤตขึ้นทุกที
วาสนา สุขพลกิจ ที่ยึดอาชีพชาวนาและทำประมงในแม่น้ำน้อยมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้สัตว์น้ำต่างๆ ในแม่น้ำน้อยมีปริมาณลดลงมาก จากเดิมที่เธอเคยดำลงไปงมกุ้งแม่น้ำด้วยมือเปล่าได้วันละนับสิบกิโลฯ แต่ทุกวันนี้กุ้งแม่น้ำหายากขึ้น ที่หาได้ก็ตัวเล็กลง
ช่วงน้ำแดงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน เป็นเวลา 3 เดือนที่น้ำในแม่น้ำเป็นสีแดง คือฤดูวางไข่ของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ช่วงนี้ชาวประมงจะไม่จับปลาตามกฎโดยงดใช้เครื่องมือหาปลาอย่างแห หรืออวน แต่เมื่อหมดฤดูวางไข่ก็จะเริ่มออกหาปลากันตามปกติ
"เดี๋ยวนี้ต้องออกไปหากุ้งหาปลาไกลขึ้น ใช้เรือพายออกไปช่วงน้ำลง อย่างสี่ห้าวันนี้น้ำจะลงมากเลย ส่วนใหญ่จะงมกุ้งมากกว่า " วาสนาเล่า ช่วงน้ำลดออกซิเจนในน้ำจะน้อยลง ปลาต่างๆ เริ่มลอยหัวกันให้เห็น พฤติกรรม "ลอยหัว" ของปลานี้ เกิดจากการที่ออกซิเจนในน้ำมีไม่พอ จนปลาต้องพยายามขึ้นมาหายใจเอาอากาศจากผิวน้ำ ตอนนี้เองที่ชาวบ้านจะถือโอกาสทอดแห หรือจับปลาโดยใช้อวนหรือสวิง
สาเหตุหนึ่งที่สัตว์น้ำเริ่มหายากขึ้นก็เพราะมีการใช้ยาโรยเบื่อปลา ทำให้ลูกปลาเล็กๆ และสัตว์น้ำอื่นๆ พลอยตายไปด้วย แม้แต่กุ้งแม่น้ำที่วาสนาจับขายเองอยู่ก็ตาม บางทีเธอบอกว่าพวกมันจะมีอาการ "เมาน้ำ" ให้เห็นชัดเจนจนจับได้ง่าย นั่นคือพวกที่มีสารพิษที่คนวางยาเบื่อสะสมอยู่ในตัว แม้จะมีราคาแพงกิโลกรัมละเกือบห้าร้อยบาท แต่ก็ไม่คุ้มกับความเสี่ยงของคนกิน ขณะที่กุ้งก็ใกล้จะสูญพันธุ์
"กุ้งบางทีมันกระโดดขึ้นมา เวลาเอามาแช่น้ำมันจะฟื้นขึ้น ส่วนมากตรงหัวมันชาวบ้านเขาจะไม่กินเลย บางคนกินแล้วท้องเสีย แล้วแต่ภูมิต้านทานแต่ละคน เพราะบางคนเขาก็ไม่เป็นอะไร"
เมื่อทุ่งนาไม่ใช่ "บ้าน" ของปลา
วัฒนา เกตุบรรเทิง ผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่ง บ้านช่างเหล็ก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พันธุ์ปลาตามธรรมชาติลงลงในมุมมองของเขาว่า นับตั้งแต่มีความเจริญเริ่มเข้ามาพร้อมกับการตัดถนน วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไป จากในอดีตที่เคยสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ก็เปลี่ยนมาเป็นใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะแทน แม่น้ำเริ่มลดบทบาทความสำคัญลง พร้อมๆ กับความเสื่อมโทรมในแหล่งน้ำต่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็น
"สมัยก่อนจะกินปลาอะไรก็ได้ มันหาง่าย ทั้งปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาหมอที่จะเป็นปลาประจำในท้องถิ่นแถวนี้ ทุกวันนี้มันหายากแล้ว ส่วนมากเป็นปลาเลี้ยงหมด เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ของปลาที่เรามีกินกันในทุกวันนี้เป็นปลาเลี้ยงแทบทั้งนั้น"
ซึ่งปลาที่เลี้ยงในบ่อหรือกระชังนั้นจะมีรสชาติไม่เหมือนปลาที่เติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ใหญ่วัฒนาบอกว่าเนื้อจะแน่นกว่า เพราะปลาได้กินอาหารตามธรรมชาติ สมัยก่อนจะมีคนสุ่มหาปลาตามแม่น้ำลำคลองเยอะ แต่ทุกวันนี้ มีชาวบ้านในหมู่บ้านช่างเหล็กที่ทำประมงพื้นบ้านในแม่น้ำน้อยเหลืออยู่ประมาณ 4-5 ครัวเรือนเท่านั้น
"สมัยก่อนอยากกินปลาหลด เวลาหน้าน้ำแห้งเอากระป๋องไปโกยเลนก็ได้กินแล้ว ไม่ต้องจับให้ยุ่งยาก หรืออย่างปลากระสงที่อยู่ตามหนองน้ำ พวกนี้หาง่ายที่สุดเลย เมื่อก่อนนี้จะกินเอาเบ็ดเกี่ยวกุ้งลงไปตกก็ได้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวนี้แทบจะสูญพันธุ์ไม่เห็นแล้ว"
อีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือการทำนาของชาวนาในที่ราบลุ่มภาคกลาง "ถ้าที่ไหนยังทำนาปีละหนึ่งหนอยู่เหมือนสมัยเก่า ที่นั่นจะปลาชุม" ผู้ใหญ่วัฒนาบอก เพราะในอดีต ชาวนาจะทำนาปีละครั้ง อายุการเก็บเกี่ยวจะนานถึงห้าเดือน ซึ่งในช่วงนั้นชาวนาจะปล่อยให้น้ำหลากท่วมทุ่ง เปิดโอกาสให้ปลามีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากกว่าการทำนาสมัยใหม่ ซึ่งปีหนึ่งทำนาถึงสามครั้ง อายุการเก็บเกี่ยวต้นข้าวในนาจึงสั้นลง และปลาในท้องนาก็พลอยมีโอกาสเจริญเติบโตน้อยตามไปด้วย
"นาปีสมัยก่อนน้ำท่วมอกท่วมเอว สามารถเอาเรือเข้าไปวิ่งได้ แต่นาสมัยใหม่นี่ปล่อยน้ำแค่ฝ่ามือเท่านั้น น้ำไม่ท่วมคันนา ปลาก็ขยายพันธุ์ไม่ได้ นอกจากในแม่น้ำลำคลองเท่านั้นเอง แล้วพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ต้องใช้สารเคมีเยอะ ซึ่งมันทำลายหลายอย่างทั้งกุ้ง หอย แต่จะไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะศัตรูพืชมันเยอะ" ผู้ใหญ่วัฒนาเล่าอย่างสะท้อนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
"สมัยก่อนช่วงหน้าน้ำลดจะเป็นฤดูกาลที่คนจับปลามาก ลงเบ็ด ทอดแห ลงข่าย แล้วสมัยก่อนเรื่องตลาดอะไรยังไม่มี มันเป็นทุ่งนา ชาวบ้านออกไปหาซื้อหมูซื้ออะไรเหมือนทุกวันนี้ไม่มีหรอก เขาจะเก็บปลาขึ้นไปย่าง เก็บปลาเค็มไว้กิน กักตุนปลาแห้งปลาเค็มไว้กินเป็นปีๆ พวกหมูเนื้อไก่ไม่ค่อยมี จะมีก็แต่ไก่บ้าน เพราะการเดินทางไปตลาดแต่ก่อนมันลำบาก"
ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวนา ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเหล่าปลาในธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ประโยคที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" อาจไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว เมื่อน้ำในนาเต็มไปด้วยสารพิษจากยาฆ่าแมลงปนเปื้อน และไหลลงสู่แหล่งน้ำอื่นๆ ขยายเป็นวงกว้าง
แม้หน่วยงานของรัฐ อย่างกรมวิชาการและส่งเสริมการเกษตรจะพยายามเร่งแก้ปัญหานี้ โดยการส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรแทนยาฆ่าแมลง แต่ก็ยากจะทานกระแสความเชื่อเก่าๆ ของเกษตรกรที่ว่า หากไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชที่มีฤทธิ์รุนแรงแล้ว แมลงจะดื้อยาและไม่คุ้มต่อการเสี่ยงทำให้ผลผลิตของพวกเขาเสียหาย
สถานการณ์พันธุ์ปลาในท้องนาของที่ราบลุ่มภาคกลางจึงยังคงน่าเป็นห่วง เมื่อที่อยู่และเป็นแหล่งขยายพันธุ์อย่างนาข้าวนั้น ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
เพาะปลาคืนถิ่น
ความพยายามที่จะเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาตินั้น มีหลายหน่วยงานเคยทำมาก่อนบ้างแล้ว แต่น้อยรายที่จะมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นต่อไปให้มีความรู้และหัวใจในการอนุรักษ์
ณ โรงเรียนวัดช่างเหล็ก (พิบูลเกียรติ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมสืบสานพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำในธรรมชาติ โดยจัดกิจกรรมคืนปลาสู่แหล่งน้ำ ตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในท้องถิ่นที่มีชื่อว่า "เยาวชนคนรักปลา"
โรงเรียนทั้ง 8 แห่งที่มีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดแม่น้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำภาคกลางอย่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา คือโรงเรียนต้นแบบในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในท้องถิ่น ตามเขตลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทยในระยะเริ่มต้นของโครงการฯ ที่คัดเลือกจากโรงเรียนในเขตลุ่มน้ำภาคกลางซึ่งมีที่ตั้งใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ และมีพื้นที่เพียงพอหรือเหมาะสมในการดำเนินโครงการ เช่น สามารถสร้างกระชังเลี้ยงปลา ณ แหล่งน้ำเพื่อใช้เป็นแหล่งในการอนุบาลปลา หรือมีพื้นที่ในการจัดทำบ่อคอนกรีต เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน ต้องมีความสนใจให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินงานโครงการ มีครูด้านการเกษตร และที่ปรึกษาด้านการเกษตรในชุมชนช่วยแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงในการเพาะเลี้ยงปลาของเด็กในโรงเรียนได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงสู่ชุมชน
ผศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่าโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกันดำเนินโครงการเยาวชนคนรักปลาใน 8 โรงเรียนต้นแบบ โดยมอบอุปกรณ์พร้อมพันธุ์ปลา ประกอบด้วยกระชังและบ่อซีเมนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคืนปลาสู่แหล่งน้ำ และสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาในท้องถิ่นแก่เยาวชน โดยจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในท้องถิ่นแก่โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติการผสมเทียมเพาะพันธุ์ปลาในห้องทดลอง
"สาเหตุที่เรามุ่งมาที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนมีเด็กและเยาวชนที่เราสามารถถ่ายทอดความรู้ในเชิงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้มาก เมื่อเด็กๆ ซึ่งเป็นเยาวชนในโรงเรียนต้นแบบเกิดจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในท้องถิ่น ทางเราตั้งใจจะขยายไปสู่การมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน ให้เป็นศูนย์กลางต้นแบบที่สำคัญในชุมชน ในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและลดการสูญพันธุ์ของปลาในท้องถิ่นต่อไป"
สำหรับประเภทปลาที่ส่งมอบให้โรงเรียนต้นแบบดำเนินการเลี้ยงและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรปลา คือ ปลาแรด ปลาสวาย ส่วนปลานิลและปลาดุก เป็นการเลี้ยงไว้เป็นอาหารกลางวันของนักเรียน ทั้งนี้ หลังการส่งมอบพันธุ์ปลาให้โรงเรียนต้นแบบ คณะประมงได้ติดตามเพื่อให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง การดำเนินโครงการในระยะเวลา 3 เดือน พบอัตราการรอดตายสูงสุด ร้อยละ 96 และอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด ร้อยละ 81
ผศ.ดร.สุริยัน กล่าวด้วยว่าระหว่างการลงมือปฏิบัติของโรงเรียนต้นแบบทั้ง 8 แห่ง คณะประมงได้มีการลงพื้นที่ติดตามให้คำแนะนำและแก้ไขสำหรับโรงเรียนที่มีปัญหาซึ่งเป็นไปตามสภาพพื้นที่ เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือปัญหาการจับสัตว์นำอย่างไม่มีทิศทาง ซึ่งองค์ความรู้ที่ทางคณะประมงมอบให้ทางเยาวชนแต่ละโรงเรียนนั้นจะไม่สลับซับซ้อนมาก โดยมุ่งเน้นเรื่องปลาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ด้านกรรภิรมย์ กรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายตลาด โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประเมินผลโครงการทั้งในส่วนของอัตราการรอดตายและอัตราการเจริญเติบโตของปลา อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และการจัดกิจกรรมคืนปลาสู่แหล่งน้ำเป็นส่วนหนึ่งที่ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการ รวมถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงไปยังประเด็นแวดล้อมและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนอย่างรอบด้าน
"เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าจากจุดเริ่มต้นที่เราให้ความสำคัญเรื่องทรัพยากรปลา นำมาซึ่งการเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ครอบคลุมทั้งการจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการจัดกิจกรรมฐานความรู้ โดยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ฐานความรู้เรื่องกฎหมายการจับสัตว์น้ำ การทำเกษตรกรรมบน วิถีพอเพียง การจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการทำเกษตรกรรมเป็นต้น นับเป็นการขยายผลสู่วิถีของชุมชนอย่างรอบด้าน"
รองผอ.ฝ่ายตลาดโรงงานยาสูบ กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการสืบสานพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนับวันจะลดน้อยลงไป จึงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยร่วมกันอนุรักษ์และดูแลแหล่งน้ำ รวมทั้งทรัพยากรปลาที่ อาศัยในแหล่งน้ำให้คงอยู่
"ความสำเร็จของโครงการในวันนี้ ทำให้โรงงานยาสูบมีแนวคิดที่จะต่อยอดโครงการ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่กว้างขวางและยั่งยืน โดยโครงการในปีถัดไป จะวางแนวทางให้โรงเรียนต้นแบบ ทั้ง 8 แห่งเป็นแหล่งเรียนรู้และพี่เลี้ยงของโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป"
การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น โดยผ่านโรงเรียนในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติในโครงการ "เยาวชนคนรักปลา" นี้ ทำให้เด็กๆ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปดำเนินการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาในชุมชน เพื่อเพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำของตน คืนความหลากหลายของชนิดปลา และรักษาสภาพสมดุลตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ อันจะนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน