xs
xsm
sm
md
lg

สมพงษ์ ผลจิตจรูญ คนเซ็ต"ศูนย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครมีนามบัตรผมครบ ตั้งแต่สมัยอยู่ฮอนด้า นำมาแลกทองคำกับผมได้เลย

นั่นคือคำกล่าวสัพยอกของ "สมพงษ์ ผลจิตจรูญ" กับสื่อมวลชนสายยานนต์ที่คุ้นเคยกันดีมานับสิบปี ในวันแถลงข่าวเปิดตัว ทาทา มอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของทาทากรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย ภายใต้แบรนด์ ทาทา และล่าสุดยังเข้าไปซื้อรถยนต์ชื่อดังของอังกฤษ แลนโรเวอร์จากฟอร์ด มอเตอร์ส แถมยังมีธุรกิจอีกหลากหลายประเภททั่วโลก รวมมูลค่าสินทรัพย์สูงระดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว


ฟังดูหากคนที่ไม่รู้จักตัวตนของ สมพงษ์ อาจจะมองเขาเป็นเพียงผู้ชายคนหนึ่ง ที่ทำงานวนเวียนอยู่ในแวดวงธุรกิจยานยนต์ของไทย แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับเขาจะรู้ดีว่า เส้นทางชีวิตสมพงษ์ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ มีความพิเศษและแปลกกว่าคนส่วนใหญ่ ตรงที่เขาจะต้องเข้าไปมีบทบาทปลุกปั้น หรือเริ่มต้นนับศูนย์กับองค์กรนั้นๆ มาโดยตลอด

เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่สมพงษ์เข้ามาอยู่ในทีมบริหารของ ทาทา มอเตอร์ส ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นตัวแทนของ กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย โดยเริ่มรับบทบาทหน้าที่ตั้งแต่โครงการเข้ามาลงทุนในไทย ของทาทา มอเตอร์ส ยังเป็นเป็นวุ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้เจรจาชักจูง เสนอเงื่อนไข และร่วมทำแผนธุรกิจ จนที่สุดกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดียรายนี้ ตัดสินใจขอแต่งงานกับธนบุรีประกอบรถยนต์ ร่วมลงทุนผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ทาทา ในประเทศไทย

แต่หากย้อนไล่เรียงตลอดชีวิตการทำงานของสมพงษ์ ตั้งแต่ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เส้นทางเริ่มต้นในทุกๆ องค์กร ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันมากนัก

ผมเป็นชุดแรกที่เข้ามาทำงานกับรถยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย เมื่อประมาณปี 1984 จำได้ว่าเป็นลำดับที่ 13 ในตำแหน่งผู้จัดการที่ดูแลเครือข่ายการขาย ซึ่งเป็นการเซ็ตบริษัทเพื่อจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในไทยเป็นครั้งแรก สมัยนั้นโลโก้ตัวเอช(H) ของฮอนด้า ยังเป็นสีฟ้าอยู่เลย และเป็นที่เดียวในโลกที่เป็นสีฟ้า เพราะเราต้องการสร้างความแตกต่างจากรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ที่ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ จนเมื่อลูกค้าในไทยเริ่มคุ้นเคยจึงเปลี่ยนมาเป็นสีแดงเมื่อปี 1990

สมพงษ์ย้อนชีวิตการทำงานครั้งแรกของเขา และบอกว่าแม้จะดูแลโชว์รูม แต่สมัยนั้นต้องทำทั้งเรื่องขายและการตลาด โดยจำได้ยอดขายเดือนแรกของฮอนด้าในไทยทำได้ 27 คัน พากันมีความสุขมาก พร้อมกับกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า เขาเป็นผู้มีส่วนที่สร้างตำนาน ขายใบจอง และ รถป้ายแดง อันลือลั่นในสมัยนั้น ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ในแวดวงการขายรถยนต์ของไทย

หลังจากอยู่ฮอนด้าได้ประมาณ 5-6 ปี โดยสร้างผลงานทั้งพัฒนาโชว์รูมและขาย จนฮอนด้าเป็นแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงจากลูกค้าในไทย พอดีกับทาง อีซูซุ ต้องการจะพัฒนาเครือข่ายการขาย ให้มีรูปลักษณ์และความสวยงามเช่นเดียวกับฮอนด้า จึงได้เจรจาดึงตัวสมพงษ์เข้าร่วมงานด้วย

ผมเข้าไปมีหน้าที่วางระบบการปฏิบัติงานของอีซูซุ ให้มีความทันสมัยและรวดเร็วขึ้น สมัยนั้นอีซูซุยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดอยู่เลย ผมไปก็เปลี่ยนเป็นระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้ดูแลโครงการปรับรูปลักษณ์ของโชว์รูมห้องแถวให้ทันสมัย หรือที่เรียกกันว่า SALA FASTER สมัยนั้น ซึ่งเป็นการยกระดับจากโชว์รูมห้องแถว ที่มีคราบน้ำมันเต็มไปหมด กลายมาเป็นโชว์รูมที่มีเอกลักษณ์ สะอาด และเป็นระเบียบ

ต่อมาผมได้เข้ามาดูแลในส่วนของการขาย ซึ่งต้องวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิกอัพและรถตู้ของอีซูซุ และได้จับโครงการ I90 หรือปิกอัพ อีซูซุ ดีแมคซ์ ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการเลย

อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนเราย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับสมพงษ์แม้จะมีงานใหญ่ที่ต้องดูแล แต่ขณะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยกำลังเนื้อหอม ฟอร์ด ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากอเมริกาจึงตัดสินใจเข้ามาลงทุน และเป้าหมายทีมบุคลากรที่ฟอร์ดหมายตาเอาไว้ ย่อมต้องมีสมพงษ์รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

น้องๆ หรือคนที่ใกล้ชิดในอีซูซุ ต่างสงสัยและถามกันใหญ่เลย ทำไม? ผมถึงไปอยู่กับฟอร์ดที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร? ซึ่งผมก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี จึงตอบสั้นๆ ไปว่า เห็นแก่เงิน เพื่อตัดคำถามต่างๆ ที่จะตามมาอีก

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดแน่นอน ยอมรับเงินก็มีส่วนสำคัญ แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจย้ายไปฟอร์ด อยู่ที่การเปิดใจพูดของ เดวิด ชไนเดอร์ ผู้ที่เข้ามาเซ็ตการลงทุนและดำเนินงานทั้งหมดในไทย และเป็นประธานคนแรกของฟอร์ด ประเทศไทย โดยเขายอมกางแผนงานและการลงทุน ที่โรงงานออโต้อัลลายแอนด์ หรือเอเอที จ.ระยอง (รง.ผลิตรถฟอร์ดและมาสด้า) กับผม ซึ่งในเมื่อเขาจริงใจกับเราขนาดนี้ ที่สุดเลยทำให้ผมตัดสินใจย้ายไปอยู่ฟอร์ด

บทบาทของผมในฟอร์ด คือดูแลการตลาดผลิตภัณฑ์ปิกอัพ ฟอร์ด เรนเจอร์ ซึ่งเป็นรถตัวธงคันแรกของฟอร์ดขณะนั้น ดังนั้นผมจึงต้องวางตำแหน่งสินค้า กลยุทธ์การตลาด รวมถึงเลือกสเปกรถที่มั่นใจว่า จะทำให้ประสบความความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของลูกค้าชาวไทย

นับว่าเป็นเรื่องยากทีเดียว ที่จะแจ้งเกิดรถยนต์น้องใหม่ในตลาดปิกอัพที่หินสุดๆ เพราะมีเจ้าตลาดที่มีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอีซูซุ โตโยต้า มิตซูบิชิ หรือนิสสัน

ไม่ใช่เพียงคู่แข่งเท่านั้น แต่ผมต้องไปเลือกสเปกรถที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น แข่งกับพันธมิตรมาสด้าด้วย เพราะเป็นรถที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ฟอร์ดเกิดได้ต้องมีความแตกต่างและคุ้มค่า โดยจุดเด่นของฟอร์ดอยู่ที่ความคงทน แกร่ง ชนไม่ยุบ ผมเลยเพิ่มเรื่องความปลอดภัยเข้าไป จึงได้ขอเพิ่มสเปกรถเป็นระบบเบรก ABS คานเหล็กนิรภัย ถุงลมนิรภัย หรือแอร์แบ็ก

ที่ประชุมพอได้ฟังพากันหัวเราะทั้งโต๊ะ รวมถึงทีมของมาสด้าด้วย พวกเขาบอกว่าปิกอัพเมืองไทยไม่เคยมี แต่ผมบอกหากไม่ต่างกับปิกอัพทั่วไป ขายไปก็ไม่ต่างจากเดิม ในสมัยดิสทริบิวเตอร์ทำ ที่สุดทางผู้บริหารฟอร์ดก็เห็นด้วย นี่จึงเป็นที่มาของ ฟอร์ด รถนิรภัยคันแรก ซึ่งต่อมาภายหลังปิกอัพทุกยี่ห้อก็ตามกันหมด สิ่งนี้เป็นความภูมิใจของผมลึกๆ ที่ได้ช่วยยกระดับชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้าน และการเปิดตัวเรนเจอร์รุ่นแรกก็ประสบความสำเร็จมาก

การสร้างสิ่งใหม่ๆ และแตกต่างในรถยนต์ฟอร์ด สมพงษ์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ เขายังเดินหน้าสร้างปิกอัพรูปแบบใหม่ แค็บเปิดได้ ให้กับเรนเจอร์ที่ไทยด้วย

ผมต้องต่อสู้เรื่องนี้มาก เพราะไม่มีใครเอาด้วยกับผม นอกจากฝรั่ง 2-3 คน ผมต้องนำกฎระเบียบเรื่องภาษีสรรพสามิตมาอธิบายให้ผู้บริหารต่างชาติฟังเป็นข้อๆ ว่า แค็บเปิดได้อยู่ในเงื่อนไขของปิกอัพน่ะ และเมื่อฟอร์ดทำออกมาก็ต้องมาต่อสู้ทางกฎหมายกับหน่วยงานรัฐอีก จนในที่สุดฟอร์ดก็เป็นฝ่ายชนะ และเดี๋ยวนี้ยี่ห้ออื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน

ถึงอย่างนั้นสมพงษ์ก็ไม่ได้ทำหน้าที่แจ้งเกิดปิกอัพ ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นฟรีสไตล์แค็บ หรือแค็บเปิดได้ ก่อนรถรุ่นนี้จะเปิดตัวเสียอีก เพราะเขาถูกย้ายไปอยู่ในส่วนของการขายระยะหนึ่ง จึงถูกเรียกกลับมาสะสางสต็อกปิกอัพเรนเจอร์ที่ค้างอยู่จำนวนมากอีกครั้ง แต่ความแข็งในหลักการและเหตุผลของเขา ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างบริหารใหม่ ที่สุดสมพงษ์เลยเดินออกจากฟอร์ด ประเทศไทย

ผมเป็นมืออาชีพ เปรียบเสมือนเป็นมือปืนรับจ้าง เมื่อมีคนเอาปืน(สินค้า) และเงินมาให้ ผมก็ต้องทำเต็มที่ แต่เมื่อคนจ้างมาขวางการทำงานของผม และส่งผลให้ไม่บรรลุเป้าหมาย ทั้งที่เราทำเพื่อคนจ้าง(บริษัท) เมื่อทำไม่ได้ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

นั่นคือข้อสรุปตัวตนของเขา แต่พียงวันแรกที่ตกงานสมพงษ์ก็ได้รับคำชักชวนจาก รอบรู้ วิริยะพันธุ์ นายใหญ่แห่งค่ายธนบุรีประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ซึ่งรับจ้างผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ให้มาร่วมงานโดยบอกมีงานใหญ่ให้ทำหลายโครงการ

ผมรู้จักกับคุณแดง (พากเพียร วิริยะพันธุ์) ตั้งแต่สมัยผมอยู่ฮอนด้า พอคุณเบิ้ม(น้องชาย) ที่เข้ามาบริหารงานแทน รู้ว่าผมออกจากฟอร์ดจึงได้โทรมาชวนตั้งแต่วันแรกที่ตกงานเลย โดยให้ไปช่วยดูแลโครงการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ฮุนได ซึ่งได้ยุติการทำตลาดในไทยไปเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งก็พูดคุยเจรจากันจนจบและลงตัวแล้ว แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นทางเกาหลีฮุนได มอเตอร์ส เปลี่ยนพันธมิตรใหม่ ธนบุรีฯ จึงเป็นเพียงแค่ประกอบรถฮุนไดในไทยเท่านั้น

เมื่อรู้ว่าไม่สำเร็จผมจึงขาลาออก แต่คุณเบิ้มบอกไม่ต้องไปไหน มีอีกโครงการให้ช่วยทำ เป็นการเจรจาร่วมลงทุนผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทาทาจากประเทศอินเดีย ผมจึงเข้ามาเริ่มเจรจาและร่วมทำแผนธุรกิจักบทาทา ตั้งแต่ปลายปี 2004 จนสำเร็จนำมาสู่การลงนามร่วมทุนของธนบุรีประกอบรถยนต์ กับทาทา มอเตอร์ส เปิดบริษัทผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทาทาในไทย เมื่อปลายปี 2006 และโดยรถยนต์รุ่นแรกที่แนะนำสู่ตลาด เป็นปิกอัพ ทาทา ซีนอน ในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2008 ที่ผ่านมา

สมพงษ์เล่าย้อนเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา แม้ตลอดการทำงานจะต้องเหนื่อย และรับภาระหนักมาก จนไม่มีเวลาไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เขาก็เลือกเส้นทางนี้แล้ว โดยเดินไป ลาออก ด้วยตัวเอง และช่วงท้ายๆ ของการพูดคุย เขากล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า

ไม่รู้ชะตาชีวิตเป็นอย่างไร? ทุกที่ที่ผมทำงานจะต้องเป็นการเริ่มต้นเซ็ต ศูนย์ อยู่เสมอเลย

ไปดูฮอนด้า ซีวิค ที่ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อครั้งอยู่บ.ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น